แมลงวันในไร่ส้ม/เทียบปอนด์ต่อปอนด์ คุณภาพข่าว ’13 หมูป่า’ สื่อไทย VS สื่อเทศ

แมลงวันในไร่ส้ม

 

เทียบปอนด์ต่อปอนด์

คุณภาพข่าว ’13 หมูป่า’

สื่อไทย VS สื่อเทศ

 

เหตุการณ์ 13 นักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี เชียงราย เข้าไปติดในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน คลี่คลายมาเป็นลำดับ

จากจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นักดำน้ำอังกฤษและทีมซีลดำน้ำในถ้ำเข้าไปเจอทั้ง 13 ชีวิตในสภาพปลอดภัย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม

นำไปสู่การนำหมูป่าชุดแรก 4 คนออกมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ชุดที่สอง 4 คนในวันที่ 9 กรกฎาคม และชุดหลังสุดในวันที่ 10 กรกฎาคม

ตลอดเหตุการณ์ข่าวนี้ดังกระหึ่มไปทั่วโลก โดยเฉพาะหลังจากพบว่า 13 หมูป่าปลอดภัย แต่ติดในถ้ำที่ยากแก่การนำตัวออกมา สำนักข่าวต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศส่งนักข่าวไปเกาะติดในพื้นที่

มีตัวเลขระบุว่า มีนักข่าวที่หน้าถ้ำหลวงถึง 1 พันคน

 

การเสนอข่าวของสื่อไทยและสื่อเทศ มีการเปรียบเทียบในหลายแง่มุม

ช่องทางเสนอข่าวที่มากขึ้น ทั้งสื่อกระดาษ ช่องทางออนไลน์ ทีวี โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่รวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญทำให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น อย่างชนิดไม่มีใครยอมใคร

โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าถ้ำหลวง จำนวนของสื่อที่แห่กันมาทำข่าวถ่ายภาพ กลายเป็นอุปสรรคสำหรับการกู้ภัยที่จะต้องใช้ถนนเข้าออก ใช้พื้นที่เพื่อการลำเลียงเครื่องไม้เครื่องมือ

มีการโจมตีกันเองว่า ละเมิดกฎกติกา กลายเป็นสภาพชุลมุน ทำให้เกิดเสียงด่าทอจากผู้ติดตามข่าว และลุกลามกลายเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อในสังคมวงกว้าง

ในช่วงแรกที่ทีมกู้ภัยยังไม่พบ 13 หมูป่า ทีวีช่องต่างๆ แข่งกันสัมภาษณ์ญาติของเด็กๆ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ ต่วย ภคพงศ์ พิธีกรข่าวจากช่อง 8 ตั้งคำถามผู้ปกครองของเด็ก 1 ใน 13 ชีวิตที่มาออกรายการว่า “ลูกมาเข้าฝันหรือเปล่า”

ก่อนที่เจ้าตัวได้ขอโทษผ่านทวิตเตอร์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ขออภัยและขอน้อมรับในคำวิจารณ์ที่เกิดขึ้น และจะนำไปใช้ปรับปรุงทางการทำงานต่อไป

การค้นหาโพรงหรือปล่องเพื่อเจาะทะลุลงไปรับตัว 13 หมูป่า ไม่พบโพรงที่สามารถไปถึงจุดที่พักของ 13 หมูป่า ประกอบกับสภาพฝนที่มีแนวโน้มจะหนักขึ้นเรื่อยๆ “ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย” หรือ ศอร. ที่มีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.เชียงราย ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ตัดสินใจ ส่งทีมดำน้ำเข้าไปนำตัว 13 หมูป่า

พร้อมๆ กันได้เตรียมเคลียร์พื้นที่ โดยออกระเบียบ ให้สื่อติดบัตรประจำตัวที่ได้รับการออกให้โดยศูนย์สื่อมวลชนโดยกรมประชาสัมพันธ์ประจำพื้นที่

ผู้ที่เดินทางเข้ามายังวนอุทยานถ้ำหลวงตั้งแต่บริเวณทางสามแยกที่จะขึ้นสู่ที่บริเวณอุทยานเป็นต้นไปให้ติดบัตรประจำตัวแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ นักข่าว หรือผู้ช่วยใดๆ

กำหนดพื้นที่ทำงานของสื่อให้อยู่ภายในจุดที่เจ้าหน้าที่ระบุ โดยอาจใช้สายกั้นหรือมีผู้ควบคุมดูแลให้อยู่ในเขต ห้ามล่วงเกินพื้นที่หวงห้ามภายในโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะศูนย์รองรับญาติผู้ประสบภัยทั้งสองจุด

กำหนดให้พื้นที่ทำงานในบริเวณรอบข้างไม่ล่วงล้ำไปบนผิวจราจรและให้เดินรถทางเดียว ทั้งนี้ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เจ้าหน้าที่จะริบบัตรประจำตัวที่ใช้สำหรับเข้าในพื้นที่อุทยาน และเชิญตัวออกทันทีโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ

และเมื่อทีมกู้ภัยเข้าไปรับตัวหมูป่าชุดแรก 4 คนออกมาในวันที่ 8 กรกฎาคม นับเป็นวันที่ข่าวสารต่างๆ สับสนอย่างมาก

มีกระแสข่าวว่าหมูป่าออกมาครบแล้ว ออกมา 6 คน โดยอ้างข้อมูลจากวิทยุสื่อสาร ก่อนที่ ศอร. จะแถลงในช่วงค่ำว่า ได้ช่วยออกมาชุดแรก 4 คน

โดยกันสื่อไม่ให้เข้าใกล้หมูป่าที่ออกมา และปิดชื่อเพื่อป้องกันปัญหากับครอบครัวของเด็กที่ยังไม่ได้ออกมา

ในวันที่มีข่าวหมูป่าออกมา และนำส่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำโดรนขึ้นบินเพื่อถ่ายรูป

ซึ่งต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม ทาง ศอร. ระบว่า การบินโดรนแทรกแซงกระบวนการทำงาน อาจทำให้เกิดความเสียหาย ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เรื่องนี้น่าเสียใจ ที่ขอความร่วมมือไปแต่ไม่ให้ความร่วมมือ แต่ก็เป็นส่วนน้อย โดยนักข่าวส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

และยังระบุว่าตรวจสอบพบมีการสแกนความถี่การสื่อสารในภารกิจลำเลียงทีมหมูป่าแล้วนำข้อมูลออกมาเผยแพร่ภายในกลุ่มสื่อมวลชน ทำให้เกิดความสับสนว่าจะมีการลำเลียงทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำหลวง 6 คน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ขณะนี้ตำรวจกำลังตรวจสอบว่าผู้กระทำการดังกล่าว จะมีการดำเนินการอย่างไร

ต่อมา พีพีทีวีซึ่งนำโดรนขึ้นบินได้ออกแถลงการณ์ขออภัย โดยระบุว่า มิได้มีเจตนาฝ่าฝืนข้อพึงปฏิบัติในฐานะสื่อมวลชนที่ประจำการอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางกองบรรณาธิการขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และขออภัยอย่างสูงหากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดผลกระทบใดๆ และยืนยันว่าจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

ส่วนทีมข่าวเวิร์คพอยท์ออกแถลงการณ์ขออภัยกรณีนำเสนอเสียงที่ได้มาจากสัญญาณวิทยุสื่อสาร ในรายการข่าวระหว่างภารกิจช่วยเหลือ 13 นักเตะ พร้อมกับชี้แจงว่า สัญญาณที่นำออกเผยแพร่ มาจากวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงของภาคประชาชน เป็นเสียงของอาจารย์พลสิงห์ แสนสุข ประธานศูนย์พญาอินทรี ถ่ายทอดผ่านแอพพลิเคชั่น Zello ที่ประชาชนเข้าถึงได้ปกติ และขอโทษที่รีบเผยแพร่เสียง จนเกิดความไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ที่มีความละเอียดอ่อน

กรณีโดรนของพีพีทีวี ทางกองทัพอากาศ โดยศูนย์สนับสนุนทางอากาศโดยตรงที่ 3 (ศสอต.3) ที่รับผิดชอบเหนือเขานางนอน และฝูงบิน 416 จังหวัดเชียงราย ยืนยันว่าไม่ได้อนุญาตให้โดรนขึ้นบินตามที่มีการกล่าวอ้าง และจะประสานกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งรับผิดชอบการใช้โดรนของพลเรือน เพื่อสอบสวนต่อไป

 

ส่วนในเชิงเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ จะพบว่าสำนักข่าวต่างประเทศ ทั้งสหรัฐ ยุโรป อาหรับ จากจีนและญี่ปุ่น โชว์ความโชกโชนในการรายงานข่าวนี้ ด้วยโมเดลที่ดูง่ายของทีวีญี่ปุ่น อินโฟกราฟิกและแอนิเมชั่นที่ใช้กันเกือบทุกช่อง แต่ทั้งหมดรองรับด้วยข้อมูลจากนักข่าวที่ส่งมาเกาะติดในพื้นที่

ขณะที่สื่อไทย เน้นการรายงานสดของผู้สื่อข่าวที่มาปักหลักในพื้นที่

พ้นจากงานนี้ นอกจากประเทศไทยต้องยกระดับระบบกู้ภัยแล้ว วงการสื่อก็ต้องทำการบ้านยกระดับการทำงานของตนเองเหมือนกัน