นิตยา กาญจนะวรรณ : ทําไม ไดนะซอร์/ไดนาซอร์ ถึงเขียนว่า “ไดโนเสาร์”

การเทียบคำเทียงเสียงภาษาอังกฤษ จาก ไดโนเสาร์ ถึง ฮาร์เวิร์ด (๑)

ทําไมคำว่า ไดโนเสาร์ กับ ฮาร์วาร์ด จึงปรากฏอยู่ในภาษาไทย ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันเรารู้แล้วว่า ๒ คำนี้ออกเสียงใกล้เคียงกับ ไดนะซอร์/ไดนาซอร์ และ ฮาร์เวิร์ด ตามลำดับ

หากจะถอยหลังกลับไปสู่สมัยที่สังคมไทยรับคำภาษาอังกฤษเข้ามาใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เรามักจะใช้วิธีเทียบเสียงชื่อคนตามที่หูได้ยิน แล้วเขียนลากความเข้าสู่ภาษาไทยโดยมิได้สนใจว่าคำนั้นเขียนอย่างไรในภาษาเดิม

เช่น Bradley =ปลัดเล Cartwright = ครูกัดไร Crawford = การะฟัด/กะระฝัด Henry Burney = หันตรี บาระนี Hunter = หันแตร Jackson = ยักสอน McFarland = เมฆฟ้าลั่น Rangin = แร้งกิน Sir James Brooks =เซอร์เยี่ยมบุรุก, เยสัปบุรุษ

คำอื่นๆ ที่มิใช่ชื่อคนก็ถูกลากความเข้ามาในทำนองเดียวกัน เช่น beater = อีเต้อ colony = กะละนี commercial = กัมมาจล corporal = ขบฟ้าลั่น credential =กระดานสาร/สาน government = กัดฟันมัน lemonade = (น้ำ)มะเน็ด lieutenant = โหลดตะเลนเต madam = แม่ดำ phosphorus = ฝาศุภเรศ Royal Patent = ราชปะแตน telegraph = ตะแล็บแก๊บ

เมื่อคนไทยคุ้นกับภาษาอังกฤษมากขึ้น เราก็พยายามเขียนใหม่ให้ใกล้กับเสียงมากยิ่งขึ้น เช่น madam = มาดาม phosphorus = ฟอสฟอรัส คำบางคำเราก็บัญญัติศัพท์ขึ้นใช้แทน เช่น government = รัฐบาล Lieutenant General = พลโท Lieutenant Colonel = พันโท telegraph = โทรเลข

คำบางคำได้กลายเป็นคำไทยติดอยู่ในภาษา เช่น น้ำมะเน็ด เสื้อราชปะแตน

ต่อมาได้มีการบัญญัติศัพท์วิชาการขึ้นใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่แม้จะยึดหลักว่าพยายามคิดคำขึ้นใหม่ โดยผสมขึ้นจากคำไทยหรือคำบาลีสันสกฤตที่ใช้อยู่ในภาษาไทยแล้ว ก็ยังมีคำอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถหาคำไทยมาใช้ให้ตรงกับความหมายที่ต้องการได้ จึงต้องใช้วิธีทับศัพท์

นอกจากนี้ การเขียนคำวิสามานยนาม เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีทับศัพท์เช่นเดียวกัน ราชบัณฑิตยสถาน (ปัจจุบันคือราชบัณฑิตยสภา) ได้เคยกำหนดหลักเกณฑ์การทับศัพท์ไว้ โดยจัดทำเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องบัญญัติศัพท์ ฉบับที่ ๑ ใบแนบที่ ๑ วิธีทับศัพท์ และประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๕

หลักเกณฑ์ดังกล่าวเมื่อนำมาใช้จริงก็เกิดปัญหาขึ้นหลายประการ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๒

ในครั้งนั้นราชบัณฑิตยสถานได้พยายามวางหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงปัญหาต่างๆ ที่จะพึงมีในการทับศัพท์ นอกเหนือจากการเทียบเสียงสระและพยัญชนะที่ได้แสดงไว้ในตารางอย่างละเอียดเท่าที่จะทำได้แล้ว ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ เครื่องหมายทัณฑฆาต ไม้ไต่คู้ เครื่องหมายยัติภังค์ ตลอดจนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทับศัพท์คำคุณศัพท์ คำที่มีพยัญชนะซ้อน ผสม คำย่อ ฯลฯ ไว้ด้วย

สังคมไทยเมื่อเกือบ ๓๐ ปีก่อนโน้น (ขณะที่เขียนอยู่นี้คือ พ.ศ.๒๕๖๑) แม้จะได้เห็นรูปเขียนในภาษาอังกฤษแล้ว แต่โอกาสที่จะได้ยินเสียงจริงยังมีน้อยมาก จึงมักจะใช้วิธีเทียบเสียงแบบหนึ่งต่อหนึ่ง นั่นคือ เลียนแบบอักขรวิธีไทยที่พยัญชนะกับสระมีเสียงกำหนดแน่นอน โดยเทียบเคียงกับหลักการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน พ.ศ.๒๔๘๒ ที่ว่า อะ/อา = a เอะ/เอ = e อิ/อี = i โอะ/โอ/เอาะ/ออ = o อุ/อู/อึ/อือ = u

เมื่อจะทับศัพท์จากภาษาอังกฤษจึงใช้หลักว่า a = อะ/อา e = เอะ/เอ i = อิ/อี o = โอะ/โอ/เอาะ/ออ u = อุ/อู/อึ/อือ เราจึงได้คำอย่าง central = เซ็นทรัล technology = เทคโนโลยี telephone = เทเลโฟน ฯลฯ

แต่คำบางคำก็ใช้หลักเทียบอย่างอื่น เช่น capital = แคปปิตอล, แค๊ปปิตอล แล้วคำบางคำก็ติดอยู่ในภาษาไทย