ล้านนาคำเมือง : คูบาสีวิไจแป๋งหนตางขึ้นดอยสุเต้บ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “คูบาสีวิไจแป๋งหนตางขึ้นดอยสุเต้บ”

แปลว่า “ครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ”

ในอดีตการเดินทางขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุดอยสุเทพเป็นไปด้วยความลำบาก คนล้านนาจะต้องเดินเท้าขึ้นไปใช้เวลาหลายชั่วโมง

จนกระทั่งปี พ.ศ.2460 เมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชฯ ซึ่งเป็นอุปราชมณฑลพายัพได้มีดำริให้นายช่างกองทางสำรวจก่อสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ สรุปประมาณการว่าจะต้องใช้งบประมาณ 2 แสนบาท และใช้เวลาในการทำถนนนาน 3 ปี

ทางราชการไม่มีเงิน จึงได้สั่งระงับการสร้างทางลงตั้งแต่บัดนั้น

ต่อมาหลวงศรีประกาศและเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้กราบอาราธนาครูบาศรีวิชัย อธิษฐานจิตนั่งสมาธิดูความเป็นไปได้ในการสร้างถนนขึ้น ซึ่งครูบาศรีวิชัยท่านนัดให้มาฟังคำตอบในวันรุ่งขึ้น

วันต่อมา เมื่อสองท่านมากราบนมัสการครูบาศรีวิชัยอีกครั้งหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบว่า “จะเสร็จภายใน 6 เดือนนี้”

และท่านยังพูดเป็นปริศนาอีกว่า “วันศุกร์ขึ้นเขา วันเสาร์ลงห้วย” ขอให้เริ่มพิธีได้

หลวงศรีประกาศ จึงรีบเดินทางไปปรึกษาคุณนายเรือนแก้วซึ่งเป็นภริยา ก็ได้รับการตอบรับด้วยดี พร้อมยังอาสาทำหน้าที่เป็นแม่ครัว

หลวงศรีประกาศจึงได้ใช้เงินส่วนตัวจัดพิมพ์ใบปลิวเกี่ยวกับการจะสร้างทางขึ้นดอยสุเทพจำนวนห้าหมื่นฉบับ และเจ้าแก้วนวรัฐก็ได้จัดพิมพ์เพิ่มอีกห้าหมื่นฉบับ ออกแจกจ่ายให้แก่คนล้านนาทั่วภาคเหนือ

ครูบาศรีวิชัยได้ถือเอาฤกษ์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2477 โดยได้มอบหมายให้ครูบาเถิ้ม เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง เป็นผู้ขึ้นท้าวทั้ง 4 ในเวลา 01.00 น.

ครั้นพอถึงเวลา 10.00 น. พระยาพหลพลพยุหเสนาได้อาราธนานิมนต์ครูบาศรีวิชัย จากวัดพระสิงห์มาสู่บริเวณพิธีบริเวณเชิงดอย (บริเวณวัดศรีโสดาปัจจุบัน) เพื่อทำพิธี “ลงจอบแรก” สร้างทางขึ้นดอยสุเทพ มีครูบาเถิ้ม วัดแสนฝางเป็นผู้สวดเจริญพระพุทธมนต์และสวดชัยมงคลคาถา พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ลงจอบแรกพอเป็นพิธี และครูบาศรีวิชัยท่านลากมูลดิน เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย

จากนั้นเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงได้ลงจอบแรกประเดิมเป็นปฏิบัติการจริง ติดตามด้วยหลวงศรีประกาศ คุณนายเรือนแก้ว เจ้านายฝ่ายเหนือ พ่อค้าคหบดี ต่างร่วมลงจอบประเดิมการสร้างทางอย่างทั่วถึง ทำให้การสร้างทางขึ้นดอยสุเทพเป็นไปอย่างรวดเร็ว

เวลาเช้าทุกคนก็มุ่งปฏิบัติหน้าที่ที่ตนมีอยู่ในหมู่หมวดนั้นๆ ค่ำลงก็จัดการแสดงรื่นเริงประสาชาวบ้าน ใครมีอะไรก็จะนำมาแสดง ไม่ว่าจะเป็นชาวเขาชาวดอยหรือชาวพื้นราบ ต่างผลัดกันขึ้นมาแสดงกันอย่างสนุกสนาน

ด้วยพลังมหาชนเรือนหมื่น ซึ่งหลั่งไหลมาจากหลายอำเภอ หลายจังหวัด เช่น ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เชียงแสน ตลอดจนแถบชายแดนพม่า ด้วยบุญญาบารมีอันแรงกล้าของครูบาศรีวิชัย ประกอบกับหยาดเหงื่อแรงกายแรงใจ และแรงศรัทธาของประชาชน

ไม่นานทางขึ้นสู่ดอยสุเทพก็สำเร็จลุล่วง ด้วยระยะทาง 11 กิโลเมตรกับอีก 530 เมตร โดยใช้เวลาในการก่อสร้างเพียง 5 เดือน 22 วัน

ในวันเปิดถนนให้รถขึ้นดอยสุเทพเป็นครั้งแรก ครูบาศรีวิชัย ครูบาเถิ้ม หลวงศรีประกาศ เถ้าแก่โหงวและบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพมาชุมนุมอยู่กันอย่างพร้อมพรั่ง เพื่อรอเวลาที่เจ้าแก้วนวรัฐมาทำพิธีเปิดถนนขึ้นดอยสุเทพ และนั่งรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพเป็นปฐมฤกษ์

เมื่อรถยนต์ของเจ้าแก้วนวรัฐมาถึงปะรำพิธีที่เชิงดอยสุเทพ จุดธูป-เทียนบูชาพระรัตนตรัย และก็ขึ้นรถยนต์ไปตามถนนที่เพิ่งสร้างเสร็จ จนกระทั่งถึงเชิงบันไดนาควัดพระบรมธาตุวัดดอยสุเทพใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษตามสภาพถนนที่เป็นเพียงถนนดิน จากนั้นเจ้าแก้วนวรัฐขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพแล้วกลับลงมา

ถนนสายดังกล่าวเมื่อสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีชื่อว่า “ถนนดอยสุเทพ” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “ถนนศรีวิชัย” เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูบาศรีวิชัย เจ้าตนบุญแห่งล้านนาพร้อมทั้งจัดพิธีฉลองสมโภชอีก 15 วัน 15 คืน

ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นนักบุญแห่งแผ่นดินล้านนา

เป็นผู้ซึ่งทำคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อเชียงใหม่และล้านนา

ศรัทธาชาวล้านนาจึงได้ร่วมกันสร้างอนุสาวรีย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ประดิษฐานไว้ ณ เชิงดอยสุเทพ บริเวณที่เริ่มพิธีลงจอบแรก เพื่อให้ศรัทธาประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้บูชามาจนถึงปัจจุบัน

ถึงวันนี้ เราได้ใช้ถนนศรีวิชัยขึ้นดอยสุเทพมานาน 83 ปีแล้ว