จิตต์สุภา ฉิน : รู้จำหน้าฉัน รู้จำหน้าเธอ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ฉบับที่แล้วได้เล่าถึงเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า หรือ facial recognition ที่ไม่สามารถใช้งานกับคนผิวสีได้อย่างแม่นยำเท่าคนผิวขาว

ฉบับนี้ขอชวนคุยเรื่องการรู้จำใบหน้าต่ออีกสักหน่อยค่ะ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร เทคโนโลยีนี้ก็มีแต่จะถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ

และประเด็นแตกย่อยของมันก็มีให้เราได้ถกเถียงกันอีกมากมาย

กรณีล่าสุดที่ทำให้เราได้เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า คือเหตุการณ์กราดยิงสำนักงานหนังสือพิมพ์แคปปิตอล กาเซ็ตต์ ในมลรัฐแมรี่แลนด์ของสหรัฐอเมริกาช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตห้าคน ตำรวจสามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ แต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าชื่อเสียงเรียงนามคืออะไร เป็นใครมาจากไหน เนื่องจากเขาไม่มีหลักฐานแสดงตัวตนใดๆ ติดตัวอยู่ ไม่ยอมพูดคุย

และที่ทำให้สถานการณ์ยุ่งยากไปกว่านั้นคือเขาได้ทำลายลายนิ้วมือของตัวเองหมดทุกนิ้ว

ตำรวจส่งภาพถ่ายของเขาเข้าไปยังระบบเก็บภาพของแมรี่แลนด์เพื่อจับคู่กับภาพถ่ายหลายล้านภาพในคลังข้อมูลที่มี ทั้งคลังข้อมูลภาพใบขับขี่ ภาพถ่ายผู้กระทำผิด และภาพถ่ายอาชญากรของเอฟบีไอ ทำให้สามารถระบุตัวตนของแจร็อด รามอส ชายผู้ก่อเหตุคนนี้ได้ในที่สุด

ซึ่งหากปราศจากเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า ตำรวจก็คงจะใช้เวลานานกว่านี้มากกว่าจะระบุตัวตนได้ว่าผู้ก่อเหตุคนนี้เป็นใคร

การใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้ามาระบุตัวตนผู้ก่อเหตุครั้งนี้พอจะทำให้ประชาชนได้เริ่มเห็นถึงประโยชน์ของมันอยู่บ้าง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการส่งเสียงแสดงความไม่สบายใจว่านี่อาจจะเป็นการล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคล และมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ผิดพลาด เนื่องจากตัวระบบเองยังไม่สามารถทำงานได้แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์

แค่การใช้งานกับคนผิวขาวและคนผิวสีก็ได้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกันแล้ว ยังไม่นับว่าใครจะเป็นคนตรวจสอบว่าตำรวจที่ใช้เทคโนโลยีนี้จะใช้อย่างถูกต้องโปร่งใสไม่มีเจตนาแอบแฝง

ความเป็นห่วงทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มีเหตุมีผลค่ะ และแม้ว่าตำรวจจะใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าในการระบุตัวตนของรามอสได้ในครั้งนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราควรหยุดถกเถียงประเด็นความเป็นห่วงทั้งหมดที่ว่ามา

ตรงกันข้าม เราจะต้องถกเถียงอย่างหนักหน่วงขึ้นกว่าเก่าเพื่อหาข้อสรุปให้ได้ด้วยซ้ำ

คราวนี้มาดูอีกตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า ที่ก่อให้เกิดทั้งเสียงว้าวและเสียงโวยกันค่ะ

 

เมื่อปีที่แล้วมีการนำเสนอผลการวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดซึ่งได้ระบุว่าอัลกอริธึ่มของคอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์ภาพถ่ายและแยกแยะได้ว่าใครมีรสนิยมรักต่างเพศ หรือรักเพศเดียวกัน

ซึ่งระดับความแม่นยำของการวิเคราะห์สูงถึง 81 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ชาย และ 74% สำหรับผู้หญิง

จนถูกเรียกว่าเป็นเอไอ เกย์ดาร์ (เรดาร์ส่องเกย์) เลยทีเดียว

ผู้อยู่เบื้องหลังการวิจัยครั้งนี้คือ มิคาเอล โคซินสกี้ และหยี่ ลุ่น หวัง ซึ่งทั้งคู่ได้ใช้ตัวอย่างภาพถ่ายใบหน้ามากกว่า 35,000 ภาพ แล้วนำมาแยกส่วนต่างๆ ของใบหน้าเพื่อให้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์

ผลปรากฏว่าผู้หญิงและผู้ชายที่ชอบเพศเดียวกันนั้นมักจะมีลักษณะบนใบหน้าบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากกลุ่มคนที่ชอบเพศตรงข้าม

เช่น ผู้ชายที่เป็นเกย์จะมีกรามที่แคบ จมูกที่ยาว และหน้าผากที่กว้างกว่าผู้ชายที่ชอบผู้หญิง

ส่วนผู้หญิงที่ชอบเพศเดียวกันก็จะมีกรามที่ใหญ่ และหน้าผากที่เล็กกว่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ชอบผู้ชาย

คุณผู้อ่านอาจจะคิดว่าไม่เห็นจะต้องไปพึ่งคอมพิวเตอร์เลย มองด้วยสายตาปราดเดียวก็รู้แล้วว่าใครเป็นเกย์ ไม่เป็นเกย์

งานวิจัยครั้งนี้เขาก็เลยนำสถิติที่คอมพิวเตอร์ทำนายได้ไปเทียบกับมนุษย์ แล้วพบว่ามนุษย์ก็ยังทำได้ไม่แม่นยำเท่า

ซึ่งก็แปลว่าใบหน้าของเราสามารถบ่งบอกข้อมูลรสนิยมทางเพศได้มากเกินกว่าที่สายตาและสมองของมนุษย์จะตีความได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับผลวิจัยครั้งนี้

ผู้เชี่ยวชาญบางคนออกมาตอบโต้ว่านี่เป็นการวิจัยที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง เพราะระบบคอมพิวเตอร์ของนักวิจัยสองคนนี้ไม่ได้วิเคราะห์ที่ลักษณะของใบหน้า แต่มันไปจับรายละเอียดอย่างอื่น อย่างเช่น การแต่งหน้า หนวด เครา แว่นตา หรือมุมองศาของการถ่ายภาพต่างหาก

ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้แหละที่บ่งบอกว่าใครเป็นหรือไม่เป็นเกย์มากกว่าลักษณะของกราม จมูก หรือหน้าผากเสียอีก

ตัวมิคาเอลเองก็ยอมรับว่าระบบแมชชีน เลิร์นนิ่งของเขาตรวจจับสัญญาณอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย

แต่ก็ยืนยันว่าตัวซอฟต์แวร์สามารถแยกลักษณะใบหน้าของคนที่เป็นเกย์กับคนที่ไม่เป็นเกย์ได้อยู่ดี

ซึ่งเรื่องรายละเอียดของการวิจัยครั้งนี้ก็จะต้องถูกถกเถียงลงรายละเอียดกันต่อไปอีก

แต่อีกประเด็นที่น่าห่วงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศออกมาประณามการวิจัยครั้งนี้ว่าเป็นการวิจัยที่อันตราย

และอาจนำไปสู่การตัดสินลงโทษคนที่เป็นเกย์ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อย่างเช่นอิหร่าน หรือซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

 

มาที่ตัวอย่างสุดท้าย เฟซเซ็ปชั่น (Faception) บริษัทที่ให้บริการซอฟต์แวร์ที่สามารถสแกนภาพถ่ายใบหน้า อย่างเช่นภาพในหนังสือเดินทาง วีซ่า หรือโซเชียลมีเดีย แล้วจัดคนออกเป็นหมวดหมู่

ซู่ชิงเข้าไปดูในเว็บไซต์พบว่าหมวดหมู่ที่ว่าก็อย่างเช่น คนที่มีไอคิวสูง นักวิชาการ นักเล่นบิงโก ไปจนถึงหมวดหมู่คนร้าย อย่างผู้ก่อการร้าย หรือคนที่เป็นโรคใคร่เด็ก และมีคำอธิบายลักษณะนิสัยของคนในแต่ละหมวดหมู่ไว้อย่างละเอียด

ไม่รู้เหมือนกันนะคะว่าซอฟต์แวร์นี้ทำงานได้ดีตามที่โฆษณาไว้หรือเปล่า แต่สื่อของอิสราเอลสัญชาติเดียวกับบริษัทได้รายงานไว้ว่า เฟซเซ็ปชั่นมีสัญญากับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ในอีกหลายประเทศ ตัวมิคาเอลเองก็เคยเข้าไปพูดคุยกับบริษัทนี้มาแล้วด้วยเหมือนกัน

กรณีสุดท้ายนอกจากจะทำให้ประหวั่นพรั่นพรึงไปว่าถ้าภาพในหนังสือเดินทางของเราถูกนำไปสแกนที่ตรวจคนเข้าเมืองประเทศอื่น แล้วเด้งผลลัพธ์ออกมาว่ามีแนวโน้มเป็นผู้ก่อการร้ายเนี่ยจะทำยังไง ก็ยังทำให้นึกไปถึงการที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเราอาศัยการใช้ศาสตร์ของโหงวเฮ้งมาดูว่าใครเป็นคนน่าคบ ไม่น่าคบ ใครน่าจะมีนิสัยอย่างไรบ้างโดยดูจากลักษณะของอวัยวะต่างๆ บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ แต่หากเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าได้รับการพัฒนาให้มีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้กับความผิดพลาด ต่อไปเราก็คงไม่ต้องทำความรู้จักนิสัยใจคอของใครด้วยตัวเองอีกแล้ว เพราะเพียงแค่เราให้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์ภาพถ่ายก็จะรู้ได้ว่าไม่ควรเสียเวลาในชีวิตไปกับใครบ้าง จะแต่งงานกับใครก็ไม่ต้องจับดวงชะตาให้เมื่อยตุ้มเพราะคอมพิวเตอร์ช่วยได้แค่ปลายนิ้วคลิก

แต่คิดยังไงก็ยังคิดไม่ออกนะคะว่านี่จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นหรือแย่ลงกันแน่