ศัลยา ประชาชาติ : ไม่ทันช่วย “หมูป่า” แต่ได้ใจ รู้จัก “อีลอน มัสก์” แห่งอาณาจักรสเปซเอ็กซ์

การกู้ภัยทีมนักฟุตบอลเยาวชนหมูป่าและโค้ช 13 คนออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตลอด 17 วันที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวมาตั้งแต่วันแรก ก็คงไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องระดับโลกขนาดนี้

การติดถ้ำของ 13 ชีวิตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ น่าจะอนุมานได้ว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่โลกต้องถอดบทเรียนไปอีกนาน ตลอดช่วงเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่ทีมหมูป่าติดอยู่ในถ้ำ คือการที่มนุษย์ต้องต่อสู้กับธรรมชาติอย่างแท้จริง

ทำให้เกิดปรากฏการณ์รวมตัวของผู้เชี่ยวชาญการค้นหาและการช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำน้ำในถ้ำมากมายจากทั่วโลก กระทั่งผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการการค้นหาทีมหมูป่าในครั้งนี้ ต้องออกปากยกย่องทีมค้นหาทุกคนทุกชาติว่าเป็นระดับ “ออลสตาร์”

 

แต่ที่พีกสุดสำหรับคนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ คงหนีไม่พ้น “อีลอน มัสก์” เจ้าพ่อเทคโนโลยีสุดล้ำ ที่รู้จักกันดีว่าเป็นเจ้าของบริษัทรถยนต์ “เทสลา” (Tesla) รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ และเจ้าของ “สเปซเอ็กซ์” (SpaceX) บริษัทที่วาดฝันพามนุษย์ท่องอวกาศในราคาถูก พร้อมการสำรวจพื้นที่อาณานิคมใหม่ในต่างดวงดาว

แม้ว่าที่สุดปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 หมูป่าออกมาอย่างปลอดภัยทุกคน จะไม่ได้ใช้ “แคปซูล” อุปกรณ์ความช่วยเหลือของอีลอน มัสก์ ก็ตาม

แต่จากที่เจ้าพ่อเทคโนโลยีแห่งอนาคตระดับโลกอย่าง “อีลอน มัสก์” เข้ามาให้ความสนใจกับการนำเสนอเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ ช่วยเหลือทีมหมูป่าก็กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก

และไม่มีใครคาดคิด มัสก์ได้เดินทางข้ามโลก 17 ชั่วโมงด้วยเครื่องบินส่วนตัว พร้อมกับแคปซูลช่วยชีวิตที่เขาตั้งชื่อว่า “หมูป่า” มาที่จังหวัดเชียงราย

หลังจากติดต่อบริษัทพันธมิตร “แมด ริเวอร์ ยูเนี่ยน” (Mad River Union) ให้ผลิตแคปซูลช่วยชีวิต หรือ “Rescue Pods” จากไอเดียของเขาภายในไม่ถึงวัน ที่เป็นทรงจรวดขนาดเล็ก สามารถต่อท่อออกซิเจนได้ 4 จุด ตัวจรวดดัดแปลงมาจากท่อออกซิเจนเหลวของจรวดฟอลคอน ทีมหมูป่าแค่นอนในแคปซูลเฉยๆ โดยมีนักดำน้ำผูกเชือกแล้วลากออกมาได้โดยง่าย

ไม่มีใครรู้ว่าเขามา จนกระทั่งมัสก์โพสต์คลิปวิดีโอลงอินสตาแกรมส่วนตัวเมื่อ 10 กรกฎาคม ระบุว่าเขาเพิ่งออกมาจากโถง 3 ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

ขณะที่รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลก็ระบุด้วยว่า มัสก์และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พบกันที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังเดินทางกลับจากถ้ำหลวง

ถือเป็นการเปิดตัวต่อเมืองไทยแบบเงียบๆ แต่ได้ใจไปเต็มๆ

 

“อีลอน มัสก์” เข้ามาเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการที่หลายคนเรียกว่าเป็น “มิชชั่น อิมพอสสิเบิล” ในครั้งนี้ ภายหลังจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งได้ส่งข้อความถามมัสก์ว่าเป็นไปได้ไหมที่เขาจะส่งความช่วยเหลือเพื่อนำตัว 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง

ท่าทีในตอนแรกมัสก์ตอบกลับเพียงว่า “ผมคิดว่ารัฐบาลไทยน่าจะคุมสถานการณ์ได้ แต่ผมยินดีมากที่จะช่วยถ้าพอมีทางที่ผมทำได้”

จากนั้นเขาได้เสนอไอเดียว่า อาจใช้วิธีสอดท่อลมที่เป่าลมให้พองตัวและฟิตกับส่วนต่างๆ ของถ้ำ เพื่อให้ทีมหมูป่าคลานออกมาได้โดยไม่ต้องโดนน้ำ

พร้อมประกาศส่งทีมวิศวกรพร้อมอุปกรณ์สุดล้ำจาก “บอริ่ง คอมปะนี” (Boring Company) หนึ่งในบริษัทของมัสก์ซึ่งทำเกี่ยวกับการขุดเจาะใต้ดินมายังไทย

แต่เมื่อปฏิบัติการช่วย 13 หมูป่ากลายเป็นเรื่องระดับโลกที่คนดังทั่วโลกในทุกวงการให้ความสนใจและส่งกำลังใจมาที่ประเทศไทย แม้แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ

ทำให้งานนี้ “อีลอน มัสก์” บุคคลที่รัฐบาลไทยได้เคยประกาศว่าต้องการให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยก็เดินทางมาแบบเซอร์ไพรส์

 

นักประดิษฐ์ล้ำโลก “อีลอน มัสก์” ปัจจุบันเพิ่งอายุครบ 47 ปีไปเมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา เกิดที่ประเทศแอฟริกาใต้ พ่อเป็นวิศวกรไฟฟ้าชาวแอฟริกาใต้ และแม่เป็นนางแบบชาวแคนาดา และผู้ให้คำปรึกษาด้านการลดน้ำหนัก มักส์มีน้องชายและน้องสาวอย่างละคน

ในวัยเด็ก มัสก์ชอบเก็บตัว อ่านหนังสือ ไม่ค่อยสู้คน ทำให้ถูกเพื่อนๆ แกล้งบ่อยๆ

และครั้งหนึ่งหนักที่สุดเมื่อเขาถูกโยนลงมาจากบันไดจนต้องเข้าโรงพยาบาล

ความแปลกแยกจากสังคมโรงเรียนทำให้เขาทุ่มความสนใจให้หนังสือทั้งหมด คล้ายยึดคติว่าไม่รู้อะไรก็อ่านให้รู้

ก่อนที่มัสก์จะเริ่มหันมาสนใจด้านคอมพิวเตอร์โปรแกรมมิ่งในวัย 12 ปี โดยเรียนรู้ทั้งหมดด้วยตัวเอง

ตอนอายุ 17 ปี พ่อแม่เขาตัดสินใจแยกทางกัน มัสก์ย้ายตามมารดา ใช้ชีวิตในแคนาดาพร้อมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยควีนส์ได้ 2 ปี และลงเอยด้วยการย้ายมาเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา และตามด้วยปริญญาอีกหลายใบทั้งสาขาฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์

จากนั้นย้ายมาแคลิฟอร์เนียเพื่อทำปริญญาเอกด้านแอพพลายฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์เมื่อตอนอายุ 24 ปี แต่หลังเริ่มเรียนได้ 2 วัน เขาก็ตัดสินใจเลิกเรียนเพื่อมาก่อตั้งธุรกิจตามความฝัน

ในปี 1995 เขาและคิมบาลน้องชายได้ร่วมก่อตั้งซิปทู (Zip2) บริษัทซอฟต์แวร์แผนที่ในอินเตอร์เน็ต ต่อมาในปี 1999 ซิปทูได้ถูก “คอมแพค” (Compaq) บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ในยุคนั้นเทกโอเวอร์ ด้วยมูลค่ากว่า 340 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากนั้นก็ได้ก่อตั้งบริษัท “เอ็กซ์ดอตคอม” (X.com) ในฐานะบริษัทออนไลน์เพย์เมนต์ในปี 2000 ก่อนที่จะควบรวมกับบริษัทคอนฟินิตี้ (Confinity) และเปลี่ยนชื่อเป็นเพย์พาล (Paypal) เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเมื่ออีเบย์ (Ebay) เข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2002

เรียกว่ามัสก์ได้ปั้นธุรกิจสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จทำเงินไปหลายบริษัทก่อนที่จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

 

จุดเปลี่ยนสำคัญและทำให้ชื่อของมัสก์เป็นที่รู้จักมากขึ้นคือ ในช่วงปี 2002 เป็นต้นมา เมื่อเขาก่อตั้ง “สเปซเอ็กซ์” บริษัทนำมนุษย์ท่องอวกาศในราคาถูก แม้ว่าเริ่มแรกจะไม่มีใครเชื่อแนวคิดนี้ว่าจะเป็นไปได้ แต่มาวันนี้ สเปซเอ็กซ์เป็นบริษัทเอกชนรายเดียวที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยกระสวยอวกาศ และได้ลงนามความร่วมมือพัฒนากับองค์การนาซ่าในปี 2008

ผลผลิตอื่นๆ ที่โดดเด่นคงหนีไม่พ้น “เทสลา” ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า 100% ที่ได้มีการผลิตและส่งมอบผู้บริโภคแล้ว ถึงแม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเทสลาจะประสบปัญหาผลิตไม่ทันหรือส่งมอบรถไม่ได้ตามกำหนด นอกจากนี้บริษัทยังเดินหน้าเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดชื่อว่า “กิกะแฟกตอรี่”

“บอริ่ง คอมปะนี” เป็นอีกบริษัทของมัสก์ที่น่าจับตาในฐานะบริษัทก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ใต้ดิน “ไฮเปอร์ลูป” ที่นำเสนอแนวคิดการเดินทางรูปแบบใหม่ ด้วยยานพาหนะทรงแคปซูลผ่านท่อสุญญากาศด้วยความเร็ว 1,200 ก.ม./ช.ม. โดยยานพาหนะจะลอยตัวด้วยคลื่นแม่เหล็กไร้แรงเสียดทานทำให้เคลื่อนที่ได้เร็วสุดๆ เรียกว่าเป็นการปฏิวัติรูปแบบการเดินทาง

และในปีนี้ทางบริษัทบอริ่งได้รับเลือกจากเมืองชิคาโกให้เป็นผู้ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงให้บริการระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติโอแฮร์ ชิคาโก ไปยังตัวเมืองชิคาโก

นอกจากบรรดาบริษัทข้างต้นแล้ว มัสก์ยังเป็นเจ้าของธุรกิจอื่นอีกมากมาย ทั้งโซลาร์ซิตี้ (SolarCity) บริษัทด้านพลังงานที่ซัพพอร์ตเทสลา, โอเพ่นเอไอ (OpenAI) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในการสนับสนุนการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างเป็นมิตร, นูราลิงก์ (Neuralink) บริษัทพัฒนาด้านการเชื่อมต่อคลื่นสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์

 

หลายคนเทียบ “อีลอน มัสก์” กับ “โทนี่ สตาร์ก” เจ้าของชุดเกราะไอรอนแมน ซูเปอร์ฮีโร่คนดังจากภาพยนตร์ค่ายมาเวลล์ ดูจะไม่เกินจริงแต่อย่างใด (แถมเคยปรากฎตัวทักทายกับโทนี่ สตาร์ค ในภาพยนตร์ “ไอรอน แมน ภาค 2” อีกด้วย)

เพราะหลายอย่างที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอายุที่ไล่เลี่ยกัน ความร่ำรวย ความอัจฉริยะและชื่นชอบในสิ่งประดิษฐ์ล้ำโลก

ที่สำคัญคือความต้องการที่จะปกป้องมนุษยชาติให้อยู่รอด

แบบที่เขาเข้ามาสร้างความฮือฮาในเมืองไทย แม้ถึงที่สุดจะไม่ได้ใช้แคปซูล ช่วย “หมูป่า” อุปกรณ์พิเศษที่ทีมงานคิดค้นกันขึ้นมา แต่ก็สร้างเซอร์ไพรส์ในการปรากฏตัวที่ถ้ำหลวง และได้ใจคนไทยไปเต็มๆ เหมือนกัน