หนุ่มเมืองจันท์ : “ดอกไม้” ที่ถ้ำหลวง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมก็คงเหมือนกับคนไทยทั่วประเทศที่เอาใจช่วย “ทีมหมูป่า” ทั้ง 13 คน

ติดตามทั้งข่าวโทรทัศน์และโซเชียลมีเดีย

วินาทีที่เด็กคนแรกออกจากถ้ำ

ผมชูมือร้อง “เย้” เหมือนกับตอนทีมบอลที่เชียร์ยิงประตูได้

ประมาณนั้นเลย

เหตุผลที่ดีใจมีอยู่ 2 เรื่องครับ

เรื่องแรก เด็กปลอดภัย

เรื่องที่สอง ดีใจที่เด็กออกมาทันดูบอลโลก

เรื่องนี้เรื่องใหญ่นะครับ

อย่าลืมว่าเด็กกลุ่มนี้คือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี

มั่นใจได้เลยว่าทุกคนชอบดูบอล

และ “ฟุตบอลโลก” คือสุดยอดของเกมฟุตบอล

พลาดครั้งนี้ต้องรออีก 4 ปี

ตอนอยู่ในถ้ำ ทีมหมูป่าคงนึกในใจ

ติดถ้ำตอนไหนก็ไม่ติด

มาติดตอนฟุตบอลโลก

และถ้าตอนติดถ้ำมีโทรศัพท์มือถือและบังเอิญรับสัญญานอินเตอร์เน็ตได้

บางทีวันที่นักประดาน้ำชาวอังกฤษโผล่ขึ้นมาเห็น “หมูป่า” 13 คน

แทนที่เขาจะเจอเด็กทุกคนนั่งหงอยๆ บน “เนินนมสาว”

เขาอาจโผล่ขึ้นมาแล้วได้ยินเสียงน้องๆ ตะโกนเชียร์บอลอยู่ก็ได้

หรือเรื่องหนึ่งที่ผมอยากรู้ คือ ตอนที่น้องๆ นอนอยู่โรงพยาบาล

ตรงกับรอบรองชนะเลิศ

“ฝรั่งเศส-เบลเยียม”

และ “อังกฤษ-โครเอเชีย”

น้องๆ คงรบเร้าอยากดู

ผมอยากรู้ว่าคุณหมอจะอนุญาตให้เด็กๆ ดูบอลหรือเปล่า

เรื่องแบบนี้สัปดาห์ที่แล้วเขียนไม่ได้นะครับ

แต่ตอนนี้เด็กปลอดภัย

เขียนเล่นได้แล้ว 555

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมากจากวิกฤตครั้งนี้

คือ ความงดงามบริเวณ “ถ้ำหลวง”

ท่ามกลางวิกฤต เราเห็น “ดอกไม้” แห่ง “น้ำใจ” บานสะพรั่งอยู่ที่นี่

สถานการณ์แม้จะเลวร้าย แต่กลับทำให้เรามี “ความหวัง” ต่อโลกใบนี้

วันที่คน ณ จุดใดในโลกเดือดร้อน

ทุกคนพร้อมที่จะยื่นมือมาช่วยเหลือ

ผมชอบคำสัมภาษณ์ของ “จอห์น โวลันเธน” นักประดำน้ำชาวอังกฤษที่เป็นคนแรกที่พบเจ้า “หมูป่า”

เขาบอกว่าเขาดำน้ำด้วยความหลงใหลและสงสัยมาตลอดว่าทั้งหมดนี้ทำไปเพื่ออะไร

“จนกระทั่ง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือคำตอบของทุกอย่างที่ฉันทำมาทั้งชีวิต”

ก้มหัวคารวะเลยครับ

ในภาพข่าวเราอาจจะเห็น “ตัวละคร” ที่คุ้นตาซึ่งทุกคนทุ่มเทกับงานนี้อย่างเต็มที่

ไม่ว่าจะเป็นคุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย

คนนี้สุดยอดจริงๆ

หรือนักประดาน้ำจากทั่วโลก

หน่วยซีลของกองทัพเรือ

ทหาร-ตำรวจและคนจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว

แต่ในสถานการณ์จริง ยังมีคนตัวเล็กๆ มากมายที่เข้ามาช่วยกัน

จำได้ไหมครับว่าตอนแรก ทุกคนคิดแต่จะสูบน้ำออกจากถ้ำ

แต่สูบเท่าไรก็ไม่ลด

เพราะมีน้ำใหม่เติมเข้าไปตลอดเวลา

ผมชอบ “วิธีคิด” ของการแก้ปัญหาครั้งนี้

เมื่อปัญหานี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา

วิธีการที่ดีที่สุด คือ คิดให้รอบด้านที่สุด

แล้วลงมือทำทุกอย่าง ก่อนจะประเมินผลเป็นระยะๆ

ภาพของทีมงานขุดเจาะบาดาลที่เข้ามาช่วยเพื่อลดน้ำใต้ดิน

หรือทีมที่ขึ้นไปบนยอดเขาเพื่อเบี่ยงทางน้ำ

เจอน้ำตรงไหนที่ไหลเข้าถ้ำก็หาทางเบี่ยง

สร้างกำแพงดิน ใส่ท่อเบี่ยงทางน้ำ

มีทีมหนึ่งท่อหมด ถ้ากลับลงมาก็ขึ้นไปไม่ทันเพราะค่ำแล้ว

เขาก็ตัดต้นไผ่เอามาแทนท่อน้ำ

หรือทีมงานเครื่องสูบน้ำพญานาคจากจังหวัดหนึ่งแถบภาคกลาง

อยากนำเครื่องมาช่วย

ผมเจอเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กของทีมงานอาสากู้ภัย

เขามีการประสานงานครับ

รถเทรลเลอร์บรรทุกท่อขนาดใหญ่วิ่งผ่านจังหวัดไหน

ทีมงานอาสากู้ภัยจังหวัดนั้นจะรับนำขบวนเปิดไฟนำทางให้

มีการบอกต่อกันเป็นช่วงๆ

ถึงจังหวัดนี้แล้ว รับต่อด้วยนะ

เพราะทุกคนรู้ว่าทุกวินาทีมีความหมาย

ยังมีเรื่องของ “คนตัวเล็ก” ที่มากด้วยน้ำใจอีกหลายคน

งานในถ้ำเป็นงานที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ

คนจำนวนมากอยากช่วยแต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร

เมื่อช่วยทางตรงไม่ได้

ก็ขอช่วยทางอ้อม

เรื่อง “อาหาร” ชัดเจนที่สุด

เป็นงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อาหารครบถ้วนสมบูรณ์

จะกินอะไร มีหมด

แต่บางมุมเป็นเรื่องที่นึกไม่ถึง

อย่างเช่น “รวินท์มาศ ลือเลิศ” เจ้าของร้านซักรีดที่เชียงราย

เห็นอาสาสมัครต้องใส่เสื้อผ้าที่เปื้อนโคลน

เธอก็ประกาศรับซักรีดเสื้อผ้าให้อาสาสมัครทุกคนฟรี

นโยบายง่ายๆ คือ อยากให้อาสาสมัครมีเสื้อผ้าที่สะอาดใส่ในขณะปฏิบัติงาน

หรือชาวบ้านแถบนั้นบางคนไม่รู้จะช่วยอะไร

ก็เข้าไปช่วยล้างห้องน้ำ

บางคนก็รับนวดผ่อนคลายให้อาสาสมัคร

เห็นอะไรทำได้ก็ทำเลย

แต่ที่ผมชอบที่สุดคือ หลังจากเด็กกลุ่มแรกได้รับการช่วยเหลือออกจากถ้ำ

หลายจังหวัดเลยครับที่มีการทำพิธีแก้บน

คือ อยู่ก็ไกล ไม่รู้จะช่วยอะไร

“บน” ดีกว่า

บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือ

ถ้าเด็กออกมาจะเลี้ยงอาหาร หรือทำโน่นทำนี่

เป็นการแสดงน้ำใจแบบ “วิถีโค้ง” ครับ

หลังจบงานนี้แล้วผมเชื่อว่าคนไทยก็จะเริ่มสรุปบทเรียน

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นบอกอะไรกับเราบ้าง

คนไทยไม่สรุปยาวครับ

เราจะสรุปสั้นๆ

เป็น “เลข” แค่ 2 ตัว

วันที่ 16 นี้…รวย