ในประเทศ : “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” โมเดลผู้นำ จากกรณีถ้ำหลวง เหตุผลถูกย้ายที่หลายคนยังข้องใจ

“ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน” คือประโยคที่คนไทยคุ้นชิน

เป็นการสรุปความว่าด้วยหลักยึดหากผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการต้องการเติบโตในชีวิต

ว่าที่จริงวลีนี้ก็เหมือนเป็นการเยาะเย้ยดูถูก เพราะเป็นการวิจารณ์โดยตรงต่อวัฒนธรรมเช้าชามเย็นชาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ต้องยอมรับว่าข้าราชการไทยก็มีคนเก่งอยู่มาก มีทุนเพื่อส่งเสริมข้าราชการให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศเป็นจำนวนมาก หลายคนกลับมารับใช้ประชาชน

ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดล่าช้าทางการพัฒนาเปลี่ยนแปลงใดๆ การกล่าวโทษเฉพาะตัวข้าราชการอย่างเดียวคงไม่ถูกต้อง

อาจจะลืมที่จะมองโครงสร้างการบริหารราชการ และโครงสร้างการเมืองของประเทศด้วย

พูดแบบนี้เพราะเราได้เห็นข้าราชการที่เก่งอย่างนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ปัจจุบันเป็นอดีตผู้ว่าฯ เชียงราย จากภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่สำคัญระดับโลก ได้รับการจับจ้องและติดตามจากชาวไทยและนานาชาติ ท่ามกลางสภาวะบีบคั้น ทุกนาทีคือความเป็นความตาย

ไม่ได้พูดเกินจริง เพราะในโลกโซเชียล เกินเลยไปถึงขนาดปลอมเฟซบุ๊กแอบอ้างเป็นผู้ว่าฯ กันเลยทีเดียว จนต้องมีการออกมาชี้แจงกันวุ่นวาย

 

แต่ระหว่างกำลังปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม คำสั่งให้นายณรงค์ศักดิ์ย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยามีผลบังคับใช้ ทำให้ต้องย้ายไปทำงานที่จังหวัดพะเยาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่โยกย้ายข้าราชการระดับผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา

ซึ่งการย้ายนายณรงค์ศักดิ์ ในความเป็นจริงแม้ระดับจะเท่ากัน แต่ในวงการมหาดไทยต่างรู้ว่านี่คือการลดขั้นอย่างชัดเจน

ด้วยข้ออ้างว่านายณรงค์ศักดิ์ทำงานในพื้นที่มีความไม่ราบรื่นเกิดขึ้น

อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่านายณรงค์ศักดิ์แสดงความไม่พอใจปัญหาเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณและการอนุมัติโครงการบางอย่าง ท่ามกลางกระแสสังคมซึ่งวิจารณ์ว่าก่อให้เกิดความไม่พอใจ จนต้องถูกย้ายข้ามจังหวัด ไปอยู่จังหวัดที่เล็กลง

โดยปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับคำชี้แจงที่เหมาะสม

มีเพียงการออกมาบอกว่านายณรงค์ศักดิ์เป็นคนดี อยู่ที่ไหนก็เจริญ

เมื่อถูกตั้งคำถามอย่างหนัก ต่อมามีคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ที่ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา (คนใหม่) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จ.เชียงราย เฉพาะภารกิจอำนวยการและบริหารจัดการช่วยผู้สูญหายบริเวณวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจก็จะกลับมาจังหวัดพะเยา

ถามว่าทำไมคนในสังคมจึงพูดถึงนายณรงค์ศักดิ์ด้วยความชื่นชม

 

หากสังเกตผ่านสื่อตลอดช่วงปฏิบัติการ ตั้งแต่ลีลาการให้สัมภาษณ์และการแถลงข่าว ต้องยอมรับว่านายณรงค์ศักดิ์เป็นคนที่คิดและทำอะไรอย่างเป็นระบบ

ในคำพูดมีความเด็ดขาดในตัว

การตอบคำถามนั้นกระชับ-ชัดเจน สำหรับคนที่มีลักษณะออกนอกลู่นอกทาง นายณรงค์ศักดิ์ก็ใช้ลีลาการพูดตักเตือนอย่างดี ไม่ได้สร้างความเกลียดชัง พูดจาด้วยข้อเท็จจริง หลักฐาน สิ่งที่มักเน้นย้ำเสมอว่า จะไม่คาดเดาสิ่งต่างๆ เน้นย้ำการทำงานจากข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ที่ดูหน้างาน

“ใครที่บอกว่าไม่เสียสละพอที่จะทำงาน ใครจะกลับบ้านไปนอนกับลูกกับเมีย เชิญเซ็นชื่อแล้วออกไปเลย ผมไม่รายงานใครทั้งสิ้น ใครจะทำงาน วันนี้ขอให้พร้อมทุกนาที ให้คิดว่าเขาเป็นลูกของเรา” คำพูดจากคลิปของสื่อมวลชนในช่วงแรกๆ ที่ได้รับการเผยแพร่ สะท้อนความเด็ดขาดชัดเจนในการสั่งการข้าราชการ

ต้องอย่าลืมว่าปฏิบัติการที่ถ้ำหลวงเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากหลายพันคน นายณรงค์ศักดิ์มีความชัดเจนในเรื่องการกำหนดเป้าหมาย

ในส่วนการสั่งการ เวลาจะอธิบายอะไรก็ชัดเจนเข้าใจง่าย

ซึ่งเป้าหมายการช่วยเหลือก็ต้องยอมรับว่านายณรงค์ศักดิ์มีความเปิดกว้าง และพูดอยู่บ่อยครั้งว่าไม่ปิดกั้นหรือทิ้งแนวทางอื่น ตามที่เราจะได้เห็นข่าว เช่น การหาโพรงหรือปล่อง การเจาะผนังถ้ำ การขยายปลายถ้ำ วิธีการลดน้ำต่างๆ ทั้งสูบน้ำออก การเจาะน้ำบาดาล ทำทุกอย่างเพื่อเปิดทางให้ทีมช่วยเหลือเข้าไปเจอทั้ง 13 ชีวิต

ในส่วนปฏิบัติการนอกถ้ำ ก็มีการเตรียมการรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เช่น การซักซ้อมการเคลื่อนย้ายทั้ง 13 ชีวิต โดยเฉพาะความกดดันเมื่อเจอแล้ว การเอาออกก็เป็นปัญหาใหญ่ จะทำอย่างไรที่จะปกป้องและรักษาไม่ให้สูญเปล่า เพราะหากเกิดความผิดพลาดก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน

“ผมเป็นผู้อำนวยการในพื้นที่ก็จริง แต่ทุกชีวิตเราถือว่ามีคุณค่าสำคัญเหมือนกันหมด เราสั่งให้เขาไปช่วยชีวิตคนอื่น แต่เราไม่ได้สั่งให้เขาเอาชีวิตไปทิ้ง” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจในการรักษาชีวิตคนที่เข้าไปช่วยด้วย

ยังไม่นับการแชร์ภาพนายณรงค์ศักดิ์ไปต่อคิวรับอาหารกับเจ้าหน้าที่ จนได้รับการชื่นชมจากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมาก

 

มีการแชร์คำสัมภาษณ์คุณลุงประสาน โอสถธนากร พ่อของนายณรงค์ศักดิ์ กล่าวกับ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ระหว่างพบเจอและพูดคุยกันเรื่องการเลี้ยงดูลูกจนเติบโตเป็นผู้ว่าฯ ซึ่งกำลังได้รับการชื่นชมในขณะนี้ว่า

“ลูกผมโตมาในกรมที่ดิน มีผลประโยชน์เยอะ ข้าราชการในกรมที่ดินทราบดีว่าให้เงินให้ทองลูกผมไม่รับ แต่ถ้าเป็นผลไม้นิดๆ หน่อยๆ ของที่ไม่มีราคาเป็นน้ำใจแก่กัน ผมบอกว่าให้ลูกผมรับ คุณไปถามในกรมที่ดินได้เลยว่าคนในกรมเขาชมลูกผมเรื่องนี้อย่างไร ผมสอนลูกผมมาแบบนั้น ผมบอกให้ลูกทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง ให้ลูกประคองตัว ลูกผมมีหัวหน้ามาหลายคน มีสองคนเข้าคุกไปแล้ว คนหนึ่งเรื่องคดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ อีกคนเรื่องการเลือกตั้ง ผมบอกลูกว่าให้ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น แล้วลูกผมก็เป็นคนโผงผาง ตรงไปตรงมา ไม่กลัวใครเสียด้วย”

หันมาดูประวัติการศึกษาก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา

นายณรงค์ศักดิ์จบระดับปริญญาตรีถึง 4 ใบ คือ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมนิติศาสตรบัณฑิต, เทคโนโลยีบัณฑิต และรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

แถมยังจบปริญญาโทจาก Master of Science (Geodetic Science and Surveying) จากสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ตรงนี้น่าสนใจ ในแวดวงคนมหาดไทย จะรับรู้การแบ่งเป็นสิงห์สีต่างๆ เช่น “สิงห์ดำ” คือคนที่จบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “สิงห์แดง” คือคนที่จบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “สิงห์ขาว” คือคนที่จบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “สิงห์ทอง” คือคนที่จบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

แต่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมของสิงห์สีใดๆ เลย แต่ก็สามารถทำงานในกระทรวงมหาดไทยได้ครบเครื่อง

อันนี้เป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยยืนยันว่าไม่ต้องเป็นสิงห์ที่อิงกับสถาบันการศึกษาใด ก็สามารถเป็นข้าราชการที่ดีและเก่งได้

สุดท้ายผลงานที่ดีจะได้รับการชื่นชมจากสังคมเอง

 

และแม้จะถูกโยกจากจังหวัดใหญ่ไปจังหวัดเล็กก็ไม่ได้โอดครวญ นายณรงค์ศักดิ์ยังคงยืดอก ยึดมั่นในการทำงาน โดยบอกว่า “อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

ไม่ผิดหากเราจะชื่นชมบุคลากรที่มีวิธีคิดและการทำงานที่ดีจากการบริหารจัดการในสถานการณ์พิเศษ โดยเฉพาะกรณีการกู้ภัยถ้ำหลวง ซึ่งไม่สามารถมีหน่วยงานใดสามารถแก้ปัญหาครั้งนี้ได้ เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงทำให้เราได้รู้ว่า การเปิดกว้างต่อความหลากหลายในความคิดเพื่อค้นหาวิธีการแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง รัฐฝ่ายเดียวไม่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้แน่

จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากย้อนกลับมาดูเหตุผลการย้ายนายณรงค์ศักดิ์ที่ว่า ย้ายเพื่อประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด เพราะที่ผ่านมาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นมีความไม่ราบรื่น

คนเชียงรายหลายคนเสียดาย ที่คนเขาห่วงก็เรื่องนี้เอง เพราะมันสะท้อนว่าคนในพื้นที่ไม่มีอำนาจการเลือกผู้นำสูงสุดของเมือง ส่วนกลางเป็นคนกำหนดนิยามว่าใครมีประสิทธิภาพสูงสุดแต่เพียงฝ่ายเดียว