นงนุช สิงหเดชะ/อังกฤษ-ฝรั่งเศส ‘เวลคัม’ บิ๊กตู่ เรื่องของ ‘เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง’

บทความพิเศษ / นงนุช สิงหเดชะ

 

อังกฤษ-ฝรั่งเศส ‘เวลคัม’ บิ๊กตู่

เรื่องของ ‘เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง’

 

ผ่านไปแล้ว สำหรับการเยือนอังกฤษและฝรั่งเศส ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้นำของทั้งสองประเทศต่างเปิดประตูบ้านต้อนรับผู้นำจากไทยด้วยดี ซึ่งแน่นอนว่ามีเรื่องราวดราม่ามากมาย

ในห้วงยามที่การเมืองตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ การเยือน 2 ประเทศสำคัญในยุโรป หนีไม่พ้นที่ฝ่ายเชียร์และฝ่ายต้าน ย่อมมีแง่มุมในการ “ดราม่า” ของตัวเอง

ฝ่ายรัฐบาลเองก็ย่อมยกมาเป็นประเด็นในการอ้างความชอบธรรมว่าตัวเองได้รับการยอมรับจากชาติยุโรปแม้ว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งอ้างว่ามีคนไทยมาต้อนรับและเชียร์ตนเองมากกว่าฝ่ายที่มาประท้วง

ส่วนฝ่ายต้านนั้น แน่นอนอยู่แล้วว่าดราม่าย่อมเข้มข้นมากกว่า

 

เริ่มตั้งแต่บางคนก็อ้างว่า การไปเยือนครั้งนี้เจ้าภาพไม่ได้เป็นฝ่ายเชิญไป แต่ทางไทยเป็นผู้ขอไปเอง ซึ่งอันที่จริงแล้ว เจ้าภาพจะเชิญไปหรือไม่อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับว่าทำไมจึงยอมต้อนรับผู้นำประเทศที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับมาตรฐานของยุโรป

อันที่จริงจุดเริ่มต้นของการเยือนยุโรปครั้งนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดจากสหภาพยุโรป (อียู) ได้มีมติเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วในการฟื้นระดับความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทย

ซึ่งแม้ว่าจะมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อไม่ให้น่าเกลียดเกินไปในการยอมคบหากับผู้นำที่ถูกเรียกว่าเผด็จการ เช่น ให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ (2561)

แต่เนื้อใหญ่ใจความก็คือยุโรปต้องการผ่อนคลายท่าทีลงเพื่อทำให้การติดต่อกันทุกระดับอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะทางการเมืองเดินหน้าไปได้

นอกจากนั้นอียูอ้างว่าไทยมีพัฒนาการที่ดีในหลายด้าน ประกอบกับพอใจไทยหลายเรื่องในการทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในอาเซียน

เมื่ออียูผ่อนคลายท่าทีลง ก็ทำให้ทุกระดับของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งระดับผู้นำประเทศสามารถไปเยือนกันและกันได้ จากเดิมที่ทำไม่ได้

ขณะเดียวกันจะเห็นว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสส่งตัวแทนมาเยือนไทยก่อน ได้แก่ บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ และฌอง บาติสต์ เลอมวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส

การนำร่องจากอังกฤษและฝรั่งเศสเท่ากับแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติตามข้อมติของอียูในการฟื้นสัมพันธ์กับไทย โดยแน่นอนว่าสิ่งที่ทั้งสองประเทศสนใจก็คือเรื่องการค้าขาย การเปิดตลาด เพราะไทยตั้งอยู่ในทำเลดีที่สุดสำหรับการเป็นศูนย์กลางอาเซียน

เมื่อมาประจวบกับการที่รัฐบาลไทยชุดนี้ริเริ่มโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีเป้าหมายให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนและดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ก็ยิ่งทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

 

ในกระแสระดับโลก เป็นที่ทราบกันดีว่าศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกเริ่มจะย้ายจากซีกตะวันตกมาสู่เอเชีย หลังจากจีนและอินเดียมั่งคั่งมากขึ้น ขณะที่อาเซียน 10 ประเทศก็กำลังขยายตัว มีประชากรรวมกัน 600 กว่าล้านคน มีแรงงานวัยหนุ่มสาวมาก ถือเป็นตลาดที่มองข้ามไม่ได้

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักดันให้ยุโรปต้องมุ่งหน้ามาเอเชียและอาเซียน และรวมทั้งต้องรีบหันมามีปฏิสัมพันธ์กับไทยทั้งที่ยังไม่คืนสู่ประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เปลี่ยนนโยบายแบบกลับหลังหันโดยเฉพาะด้านการค้า ซึ่งทรัมป์ย้อนยุคกลับไปใช้การตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องผลประโยชน์สหรัฐ ไม่เอาการค้าเสรี

นโยบายดังกล่าวของผู้นำสหรัฐ สร้างความร้าวฉานกับชาติยุโรปและพันธมิตรหลักอื่นๆ ทั้งแคนาดาและญี่ปุ่น โดยเฉพาะกรณีที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากยุโรป 25% และ 10% ตามลำดับ และกำลังจ้องจะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 20% อีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ทำให้ยุโรปต้องมุ่งหาคู่ค้าและฐานการลงทุนใหม่ ซึ่งจะเป็นที่ไหนไม่ได้นอกจากเอเชียและอาเซียน

 

ส่วนอังกฤษนั้นก็มีปัญหาเฉพาะของตัวเองเมื่อชาวอังกฤษลงมติออกจากการเป็นสมาชิกอียู ซึ่งทำให้อังกฤษเกิดรอยร้าวกับอียูและเคว้งคว้างเพราะยังไม่มีอะไรรับประกันว่าจะสามารถอยู่ในตลาดอียูได้ในเงื่อนไขเดิม พูดง่ายๆ คืออาจหาตลาดขายของได้ลำบากขึ้น

การเยือนยุโรปในครั้งนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นธรรมดาที่จะมีเสียงโวยวายมาจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างองค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้) โดยกลุ่มนี้เรียกร้องให้นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประณามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลังจากรัฐบาลทหารชุดนี้เข้าบริหารประเทศ โดยอ้างว่ารัฐบาลชุดนี้ควบคุมการแสดงความคิดเห็นของพลเมือง

“การพบกันครั้งนี้ ไม่ควรเป็นแค่การเจรจาค้าขายกันเพื่อชดเชยการที่อังกฤษออกจากอียู อังกฤษต้องไม่ยอมสละการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในไทย เพื่อแลกกับผลประโยชน์ใดๆ” แอมเนสตี้ระบุ

ไม่มีใครรู้ว่าเนื้อหาการพูดคุยลึกๆ เป็นอย่างไร มีการกดดันเรื่องเลือกตั้งในไทยหรือไม่ แต่ถ้ามองจากภายนอก การที่ทั้งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ยอมเปิดทำเนียบต้อนรับผู้นำจากไทย (ไม่ได้ต้อนรับตามร้านกาแฟข้างถนน) ก็เท่ากับยอมรับที่จะคบค้าสมาคมกับรัฐบาลไทย

แม้ฝ่ายต่อต้านจะพยายามปลอบใจตัวเองว่า ยุโรปยอมคบค้ากับไทยภายใต้เงื่อนไขหลายข้อ ไม่ได้เต็มใจจะคบค้าด้วยสักเท่าไหร่ แต่เอาเข้าจริงเงื่อนไขที่ว่านั้นก็แทบไร้ความหมาย เพราะหากยุโรปต้องการจะบีบไทยและเอาจริงเอาจังเพื่อธำรงอุดมการณ์ประชาธิปไตยจริง พวกเขามีทางเลือกที่จะแสดงออกด้วยการปิดประตูตายทุกกรณีไม่ยอมคบหากับผู้นำไทยจนกว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น

แต่นี่ทั้งที่รัฐบาลไทยผิดสัญญา เลื่อนการเลือกตั้งจากปีนี้ไปเป็นต้นหรือกลางปีหน้า ก็ยังยอมเปิดประตูบ้านต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมองจากภายนอกนั่นก็เท่ากับเป็นการยอมรับไปโดยปริยาย จะยอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์หรือยอมรับครึ่งเดียวก็ไม่ต่างกัน

ขณะเดียวกันอย่าลืมว่า ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ตอนที่อียูมีมติปรับระดับความสัมพันธ์กับไทย สถานการณ์ด้านเสรีภาพ โดยเฉพาะการแสดงออกทางการเมือง ไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่ประการใดเมื่อวัดตามมาตรฐานยุโรป

 

การที่อียูรีบปรับระดับความสัมพันธ์กับไทยทั้งที่การเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น จึงมองเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากกลัวตกขบวนรถไฟแห่งโอกาสทางการค้าการลงทุน เข้าตำราเกลียดปลาไหลกินน้ำแกง

จริงอยู่โดยความรู้สึกส่วนตัวของเทเรซา เมย์ และเอ็มมานูเอล มาครง อาจไม่ได้ชื่นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะสถานะและตำแหน่งที่พวกเขานำมาต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ คือตำแหน่งผู้นำประเทศ ไม่ใช่นางเมย์และนายมาครง คนธรรมดาแต่ประการใด

ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้ว ที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลนำมาอ้างได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า เขาไม่ได้เป็นที่รังเกียจของผู้นำจากชาติประชาธิปไตย เท่ากับหักล้างข้อกล่าวหาจากฝ่ายต่อต้านไปได้บางส่วนที่ว่าโลกประชาธิปไตยไม่คบหาสมาคมด้วย

ไม่ว่าสื่อระดับโลกอย่างไทม์ อย่างซีเอ็นเอ็น บีบีซี หรือแอมเนสตี้ จะโจมตี พล.อ.ประยุทธ์อย่างไร ก็ยังไร้ผล เพราะผลลัพธ์สุดท้ายคือ ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเปิดทำเนียบต้อนรับผู้นำไทยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ไม่เพียงท่าทีอ่อนลงจากยุโรปเท่านั้น ใหม่หมาดเลยคือสหรัฐอเมริกาปรับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้น จากเดิมถูกจัดให้อยู่ในระดับ “เทียร์ 2 เฝ้าระวัง” ขึ้นสู่ระดับ “เทียร์ 2 ปกติ”

ซึ่งจะส่งผลดีคือทำให้ภาพพจน์สินค้าไทยดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประมง ที่จะช่วยให้ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศทั้งในอเมริกาและยุโรปได้ง่ายขึ้น