ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ช่วยทีมหมูป่า บทเรียนเพื่อเปลี่ยนประเทศสู่อนาคต

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ความสำเร็จของการช่วยชีวิตผู้ช่วยโค้ชและเด็กๆ จากการติดถ้ำตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน เป็นชัยชนะของคนทั้งประเทศที่น่าภาคภูมิใจ เพราะเราไม่เคยเผชิญเหตุร้ายแบบนี้จนมีต้นทุนความรู้และความชำนาญเรื่องนี้เป็นศูนย์ ปฏิบัติการที่สังคมรวมพลังช่วยคนเกือบยี่สิบวันจึงเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าที่ต้องมีคำอธิบาย

 

นายกพูดถูกว่าปฏิบัติการถ้ำหลวงต้องมีการถอดบทเรียน แต่หัวใจของคำว่า “ถอดบทเรียน” ที่คุณประยุทธ์จำมาจาก NGOs คือการจัดการความรู้บนความเชื่อว่าปฏิบัติการทุกเรื่องล้วนมีผู้เกี่ยวข้องมหาศาล ประสบการณ์ของแต่ละคนจึงเป็นทรัพยากรที่ควรสกัดเป็นความรู้ของสังคมเพื่อการทำงานในระยะยาว

 

ในแง่นี้  จะ “ถอดบทเรียน” ได้จึงต้องตระหนักเป็นอันดับแรกว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของปฏิบัติการนั้นๆ , ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากใครที่ตั้งตัวเป็นเทวดาเพียงกลุ่มเดียว, ต้องยอมรับความสำคัญของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และต้องให้ผู้ที่มีบทบาททั้งหมดร่วมกันสะท้อนและไตร่ตรองเพื่อเห็นบทเรียนบางอย่างร่วมกัน

 

ประตูบานแรกเพื่อเปิดทางให้การถอดบทเรียนประสบความสำเร็จคือคือไม่มีใครในปฏิบัติการนี้ที่แตะต้องไม่ได้ และไม่มีใครอ้างความเป็นซี ๑๑ นั่งหัวโต๊ะแล้วพูดคนเดียว

ไม่มีใครรู้ว่าคุณประยุทธ์และข้าราชการที่พูดคำว่า “ถอดบทเรียน” เข้าใจคำนี้อย่างไร แต่วิธีที่ผู้เกี่ยวข้องแถลงเมื่อทีมหมูป่าพ้นถ้ำวันที่สองส่อว่า “ถอดบทเรียน” จะเป็นการคุยกันเองของชนชั้นซี ๑๐ ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการสรรเสริญบุคคลและหน่วยงานที่แถลงข่าวด้วยกันโดยขอบคุณคนอื่นน้อยจนน่าตกใจ

 

ถ้าความสำคัญของคนมหาศาลถูกข้าราชการละเลยในวันที่ปฏิบัติการเอาเด็กออกจากถ้ำเพิ่งผ่านไปแค่สองวัน จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าการ “ถอดบทเรียน” จะไม่ใช่การประชุมข้าราชการที่ผู้มีอำนาจสูงนั่งหัวโต๊ะ,  ขอบคุณทุกคนที่ร่วมงานกันอย่างดี และขอเชิญทุกฝ่ายรับประทานอาหารพร้อมถ่ายรูปร่วมกัน

 

คนไทยทุกคนตระหนักเหมือนคนทั้งโลกว่าปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าลุล่วงเพราะคนธรรมดา  การสรุปบทเรียนของภารกิจที่ใช้ทรัพยากรส่วนรวมมหาศาลจึงต้องเริ่มที่ข้อเท็จจริงว่าคนธรรมดาคือพลังสำคัญที่สุด หาไม่บทเรียนที่ได้ก็จะเป็นแค่ข้ออ้างในการเลื่อนขั้นหรือปั่นความนิยมให้คนที่แสวงหาอำนาจการเมือง

 

วันแรกที่มีข่าวติดถ้ำคือวันที่กระแสข่าวว่าเด็กเข้าถ้ำเพื่อไปฉลองวันเกิดรุนแรงที่สุด แต่วันนั้นคนธรรมดายอมวางความแคลงใจจนงานตามหาเด็กๆ ขององค์กรเอกชนแม่สายเป็นภารกิจระดับประเทศและระดับโลก ยิ่งกว่านั้นคือภารกิจนี้แสดงศักยภาพด้านบวกที่คนทั้งโลกร่วมสู้เพื่อคนที่ไม่รู้จักอย่างอัศจรรย์

เราถูกทำให้เชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่เลว, โหดร้าย, ริษยา, และเห็นแก่ตัว แต่ปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ดีอย่างน้อยสามเรื่อง หนึ่งคือความเอื้อเฟื้อ สองคือความกล้าหาญ และสามคือการอุทิศตัวเพื่อผู้อื่น ซึ่งทั้งหมดนี้คือยาชูกำลังให้ภารกิจกู้ชีวิตเด็กทีมหมูป่าจบลงอย่างสง่างาม

 

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากครอบครัวแจ้งเหตุเด็กหายให้จิตอาสาและตำรวจในพื้นที่ ความตระหนกของชาวบ้านในเขตชายแดนก็กลายเป็นความทุกข์ของประเทศและของโลก ถึงแม้ผู้ติดถ้ำจะเป็นคนแปลกหน้าที่ในความรับรู้และในชีวิตจริงแล้วอยู่ไกลราวคนละโลกกับผู้ที่ห่วงใยพวกเขาทั้งหมดก็ตาม

 

เท่าที่โค้ชนพรัตน์ผู้เป็นหัวหน้าผู้ฝึกทีมหมูป่าระบุ เด็กบางส่วนในทีมคือเด็กชาติพันธุ์และเด็กขาดโอกาสกลุ่มที่เรียกว่า “เด็กบัตรหัวศูนย์” ผู้สามารถอยู่อาศัยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งขึ้นทะเบียบกับราชการเอาไว้  หลายคนจึงไปนอกเขตโดยนายอำเภอไม่อนุมัติไม่ได้  หรือพูดอีกแง่คือเด็กๆ มีชีวิตคล้ายถูกรัฐกักกันตลอดเวลา

 

ในโลกแห่งความเป็นจริงก่อนเด็กจะเข้าถ้ำด้วยเหตุที่คงเป็นปริศนาไปชั่วชีวิต โน้ต, เติ้ล, มาร์ค และเพื่อนผู้ออกทีหลังอย่างอดุลย์, มิค, นิคฯลฯ มีสถานะในประเทศแบบเด็กที่แค่จะไปเตะบอลนอกพื้นที่ก็ยังยุ่ง แต่สิบวันของการติดอยู่ในถ้ำคือสิบวันที่เชื่อมต่อเด็กกับโลกภายนอกจนโลกของพวกเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล

นับจากคืนที่ 23 มิถุนา คนหลายสิบล้านโอบรับความทุกข์ของเด็กจนมีชีวิตใต้ฝันร้ายว่าข่าวร้ายคืออวสานของเรื่องนี้  เข็มนาฬิกาที่เดินหน้าคือเวลาที่นับถอยหลังบนความหวั่นไหวในความล่าช้าของสงครามกู้ชีวิต แต่สิ่งที่ทุกคนทำคือการปลุกธรรมชาติที่ดีที่สุดของมนุษย์มาเป็นทรัพยากรที่ทรงพลังจนเกินจินตนาการ

 

ท่ามกลางความจริงที่แรงต้านจากธรรมชาติแกร่งกว่าศักยภาพของประเทศและระบบราชการ การอุทิศตัวของคนธรรมดาและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศคืนชีพให้ปฏิบัติการกู้ชีวิตที่อยู่ในสภาพแทบสิ้นชีวิต จากนั้นห้วงยามที่มืดมิดจนพลังลึกลับคือความหวังก็ถูกแทนที่ด้วยภารกิจที่เดินหน้าจนจบแบบทุกคนปลอดภัย

 

เมื่อใดที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ราชการเผชิญอุปสรรคจนการช่วยเด็กติดถ้ำไปต่อไม่ได้ เมื่อนั้นสามัญชนที่ไม่รู้จักเด็กๆ กลายเป็นผู้จุดไฟไล่ความมืดให้ปฏิบัติการทั้งหมดมองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

 

ประตูบานที่สองที่การถอดบทเรียนต้องคิดคือทำอย่างไรให้การคำนึงถึงผู้อื่นกลายเป็น “ถ้ำหลวงโมเดล” ที่คนธรรมดาๆ เชื่อมั่นพอจะใช้ธรรมชาติด้านที่ดีเป็นทรัพยากรขับเคลื่อนสังคมมากกว่าการพร่ำเพ้อเรื่อง “ประชารัฐของโลก” จนเหมือนเอาการอุทิศตัวของประชาชนไปโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

 

ถ้าเปรียบเทียบนักดำน้ำหลายเชื้อชาติเป็นทัพหลวงที่กอบกู้ชีวิต คุณสุรทินและทีมนักเจาะน้ำบาดาล, ทีมพญานาคซิ่ง รวมทั้งชาวบ้านและองค์กรท้องถิ่นก็คือทัพหน้าที่กรุยทางให้ทัพหลวงทำงานได้ในที่สุด เช่นเดียวกับทีมนักเก็บรังนกเพื่อสำรวจทางออกอื่นและชาวนาผู้เสียที่นาหลายพันไร่เพื่อรับน้ำด้วยเช่นกัน

ในหนังสือพิมพ์ The Guardian วันที่ ๑๑ กรกฎาคม  Glen McEwen หัวหน้าหน่วยดำน้ำออสเตรเลียที่ร่วมปฏิบัติการช่วยเด็กๆ ระบุว่าช่วงแรกนั้นทีมนักดำน้ำและทหารเรือใช้เวลาเดินทางจากปากถ้ำไป “โถงสาม” 4-5 ชั่วโมง แต่ลดลงเหลือไม่ถึงชั่วโมงทันทีที่ทีมสูบน้ำและทีมผันน้ำของชาวบ้านทำงานราว ๑ สัปดาห์

 

หากปราศจากการอุทิศตัวของคนธรรมดาๆ ที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีพื้นบ้านเพื่อเบี่ยงทางน้ำ, อุดตาน้ำ, ลดน้ำเข้า และลดปริมาณน้ำท่วมภายในถ้ำ การตั้งฐานปฏิบัติการของข้าราชการในถ้ำส่วนที่ลึกขึ้นย่อมไม่มีทางทำสำเร็จได้โดยง่าย  ไม่ต้องพูดถึงการค้นพบคนติดถ้ำและการนำคนกลุ่มนั้นออกมาในอีกสัปดาห์

 

นอกจากการอุทิศตัวของชาวบ้านจะช่วยให้ราชการปฏิบัติงานได้อย่างที่กล่าวไป ความสำเร็จในการช่วยชีวิตเด็กๆ ยังมาจากการนำปฏิบัติการโดยผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศทั้งหมด  ต่อให้เจ้าหน้าที่ราชการและรัฐวิสาหกิจหลายหน่วยงานจะเป็นกำลังในภารกิจค้นหาและนำเด็กออกจากถ้ำด้วยก็ตาม

 

แม้วัฒนธรรมเอาหน้าในสังคมไทยจะทำให้เกิดการแถลงข่าวขอบคุณตามชนชั้นในระบบราชการขึ้นทุกวัน คนไทยกับคนทั้งโลกล้วนรู้เหมือนกันว่าสองนักดำน้ำอังกฤษเป็นหัวหอกค้นหาจนพบเด็กเป็นทีมแรก ยิ่งกว่านั้นคือหมอออสเตรเลียและนักดำน้ำนานาชาติเป็นแกนวางแผนและลงมือนำเด็กจากถ้ำในบั้นปลาย

 

ในบรรดา ๑๘ นักดำน้ำที่อยู่ในถ้ำจนลำเลียงสิบสามชีวิตทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวงอย่างน่าชื่นชม นักดำน้ำต่างชาติ ๘ ราย คือผู้ทำหน้าที่นำเด็กออกมาทั้งหมด , ทีมเทคนิคต่างชาติปฏิบัติหน้าที่ ๓ ราย, ทีมช่วยเหลือฉุกเฉินต่างชาติอยู่ในถ้ำ ๒ คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารเรือไทยมีจำนวนทั้งสิ้น ๕ ราย

แน่นอนว่าข้าราชการนั้นสำคัญต่องานปฏิบัติการ แต่คนธรรมดาทั้งชาวไทยและต่างประเทศผู้ไม่ได้ค่าตอบแทนและความชอบนั้นควรถูกยกย่องอย่างเป็นรูปธรรมไม่น้อยกว่าข้าราชการด้วย ไม่ต้องพูดว่าคนกลุ่มนี้สูญเสียรายได้และทำงานเสี่ยงภัยเพื่อมนุษยธรรมที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของตัวเองแม้แต่นิดเดียว

 

เท่าที่มีข้อมูลปรากฎ คุณสุรทินผู้ขนเครือข่ายนักเจาะน้ำบาดาลมาเปิดทางให้นักดำน้ำต่างชาติและทหารเรือช่วยเด็กๆ เปิดเผยว่าตัวเองสูญเสียรายได้ในช่วงนั้นไปราว ๓๐๐,๐๐๐ บาท เช่นเดียวกับพลเรือนอีกเป็นพันที่ร่วมภารกิจช่วยชีวิตโดยไม่หวังผลและไม่มีทางได้บำเหน็จจากรัฐแบบมนุษย์มีซีในระบบราชการ

 

ล่าสุด รัฐมนตรีมหาดไทยไม่ยอมตอบคำถามสื่อเรื่องเงินเยียวยาชาวนาผู้นาล่มเพราะรับน้ำจากถ้ำแล้วด้วยซ้ำ ทั้งที่คนเหล่านี้ได้ค่าชดเชยเพียงไร่ละหนึ่งพันกว่าๆ แม้ต้นทุนในการไถและหว่านต่อไร่จะสูงเกินสองพัน ส่วนรายได้จากการขายข้าวเหนียวเมื่อคำนึงถึงผลผลิตเฉลี่ยแถวเชียงรายอยู่ที่ไร่ละ 6,000-7,000 ก็ตาม

 

แทนที่นายกจากระบบราชการจะเอาภาษีประชาชนไปเลี้ยงฉลองให้ข้าราชการที่ทำหน้าที่เพื่อประชาชน ทำไมเราไม่กันเงินก้อนนี้ไปเยียวยาชาวนาที่นาล่มเพราะนโยบายรัฐให้สมกับความเสียสละของเขาจริงๆ?

ภายใต้ยุคสมัยที่คนไทยรับรู้ว่าความหวังของประเทศเหือดแห้งกว่ายุคสมัยใดๆ ประทีปแห่งชีวิตที่คืนชีวิตให้เด็กๆ มาจากมือที่มองไม่เห็นของคนนิรนามมหาศาลที่ผสานเป็นพลังกอบกู้ประเทศให้ไม่ร่วงหล่นสู่หุบเหวแห่งความสิ้นหวังที่มาพร้อมกับสายฝนในต้นเดือนกรกฎาคม

 

บทเรียนข้อสามจากงานช่วยทีมหมูป่าคือการเขียนประวัติศาสตร์ถ้ำหลวงให้ครอบคลุมสามัญชนทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ได้  ไม่อย่างนั้นคนธรรมดาที่อุทิศตัวเองจนเกิดวีรกรรมเหนือราชการย่อมถูกกดทับให้เป็นแค่ตัวประกอบหรือ “ผู้ช่วย” ของรัฐบาลทหารที่มีผู้ว่าและกองทัพเป็นแกนกลางอย่างผิดข้อเท็จจริง

 

ความยิ่งใหญ่ของปฏิบัติการถ้ำหลวงคือคนทั้งโลกทุ่มเททรัพยากรเพื่อคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก คนไทยธรรมดาๆ สละรายได้ไปสู้เพื่อคนที่ในชีวิตจริงถูกกฎหมายของรัฐทำให้อยู่กันคนละโลก คนต่างชาติเสี่ยงตายเพื่อช่วยเด็กในประเทศที่แสดงสำนึกเรื่องโลกน้อยมาก ไม่ใช่แค่การเชิดชูราชการที่ทำตามคำสั่งราชการ

 

ขณะที่คุณประยุทธ์และคนบางส่วนไขปริศนานี้ด้วยคำตอบประเภท “คนไทยสามัคคี” ข้อเท็จจริงคือสามัญชนอย่างนักเจาะน้ำบาดาลหรือคนเก็บรังนกในปฏิบัติการนี้พูดถึงเชื้อชาติของเด็กน้อยมาก คำว่า “ไทย” เป็นส่วนย่อยของคำว่า “เด็ก” ซึ่งเป็นแรงขับให้จิตอาสาร่วมช่วยทีมหมูป่ามากที่สุดในความเป็นจริง

ถึงที่สุดทีมหมูป่าคือคนชายขอบที่อัตลักษณ์อย่างน้อยสามอย่างซ้อนกัน หนึ่งคือความเป็นเด็ก สองคือความเป็นชาติพันธุ์ สามคือความเป็นไทย  แต่สังคมไทยในปฏิบัติการนี้กลับพูดถึงทีมหมูป่าโดยเน้นความเป็นเด็กเหนืออัตลักษณ์เรื่องเชื้อชาติหรืออื่นๆ ไม่ว่าจะในการนำเสนอของรัฐหรือสื่อมวลชน

 

โดยปกติแล้วรัฐถือว่าเด็กหลายคนในทีมหมูป่าเข้าข่ายระบุสัญชาติไม่ได้จนถูกจำกัดสิทธิหลายอย่าง  การตอกย้ำความเป็นเด็กจึงปลดล๊อคอุปสรรคทางอารมณ์ซึ่งพลังชาตินิยมเชิงลบอาจมีต่อประเด็นชาติพันธุ์และสัญชาติของเด็กได้แน่ๆ และตรงนี้ต่างหากที่ปฏิบัติการนี้ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคม

 

เป็นเวลานานแล้วที่นักวิชาการตะวันตกพูดถึงสำนึกเรื่องพลเมืองโลก (Cosmopolitanism) ที่เติบโตขึ้นในหลายสังคม แนวคิดนี้เชื่อว่ามนุษย์ทุกวันนี้เชื่อมโยงกันจนทำให้ตระหนักว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกยิ่งขึ้น จากนั้นความคิดเรื่องมนุษยธรรมก็จะขยายตัวถึงจุดที่อาจมีการเปลี่ยนกฎหมายหรือพฤติกรรมสังคม

 

ในอดีตนั้น “ชาติ” คือวาทกรรมที่ทำให้คนที่ไม่รู้จักกันเกิดสำนึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน แต่ในปัจจุบันนี้ความเป็น “พลเมืองโลก” กลับทำให้คนที่ในชีวิตจริงไม่เกี่ยวข้องกันรู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกันจนต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะรับรู้ว่าจริงๆ มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์, วัฒนธรรม ฯลฯ ก็ตาม

 

แน่นอนว่าความเอื้ออาทรที่คนธรรมดามีต่อทีมหมูป่าเริ่มต้นจากการโอบรับความทุกข์ของเด็กๆ ในฐานะเป็นคนร่วมชาติเดียวกัน แต่วิธีที่สังคมไทยปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้มีร่องรอยความคิดที่ขยับจากชาติในเชิงเชื้อชาติจนน่าคิดว่าเราอาจช่วยเด็กๆ เพราะเป็น “คนไทย” พอๆ กับที่เป็น “เด็กๆ” ซึ่งเป็นเพื่อนมนุษย์กับเรา

คุณกรณ์ จาติกวณิช อธิบายว่าคนทั้งโลกช่วยทีมหมูป่าเพราะชอบ “เด็กไทย” ที่เป็น “เด็กดี” แต่ที่จริงนักดำน้ำอังกฤษหรืออภิมหาเศรษฐีอย่างอีลอน มัสก์  พูดถึงทีมหมูป่าในแง่ความเป็นเด็กโดยไม่ระบุเรื่องเชื้อชาติกับศีลธรรมสักครั้ง คำอธิบายของคุณกรณ์จึงสะท้อนว่าคุณกรณ์เป็นคนแบบไหนยิ่งกว่าโลกคิดอะไรจริงๆ

 

ความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่เปิดทางสู่การค้นพบและนำสิบสามชีวิตทีมหมูป่าออกจากถ้ำนั้นมาจากสำนึกเรื่อง “พลเมืองโลก” แน่ๆ เช่นเดียวกับที่ปรากฎการณ์นี้แสดงหน่ออ่อนของความคิดนี้ในสังคมไทย ต่อให้รัฐพยายามทำให้สามัญชนคนไทยและต่างชาติที่มีสำนึกโลกเป็นแค่ผู้ช่วยของราชการก็ตามที

 

ชัยชนะของปฏิบัติการถ้ำหลวงคือแสงสว่างที่ชี้ทางสังคมสู่อนาคต วิริยภาพของมนุษย์ชนะธรรมชาติซึ่งคล้ายชนะไม่ได้ คนสามัญให้ความหวังยามความหวังของประเทศใกล้สิ้นสุด  มนุษยธรรมเชื่อมให้ทุกคนทำเพื่อคนที่ไม่รู้จัก และเหนืออื่นใดคือร่องรอยของสำนึกที่ไม่คำนึงถึงความต่างทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์

 

จริงอยู่ว่าปฏิบัติการนี้ในช่วงท้ายมีแววจะจบด้วยการเอาหน้าของผู้ใหญ่ในระบบราชการ แต่เนื้อแท้แล้วทุกคนรู้ว่าความสำเร็จในการกู้ชีวิตเด็กๆ เกิดจากภราดรภาพของคนนอกวรรณะซี 10 การถอดบทเรียนจึงต้องไม่เป็นการยอกันเองของข้าราชการ, ไม่โหนกระแส และไม่คิดแต่เรื่องจัดสรรความดีความชอบอย่างเดียว

 

ถ้ำหลวงโมเดลเป็นงานใหญ่ที่วีรกรรมสามัญชนเจิดจ้าจนต้องไม่ถูกลบทิ้งให้เหลือแค่นิยายว่าด้วยความสามัคคีใต้ระบบราชการ