อุรุดา โควินท์ / ความทรงจำ : น้ำพริกแห่งป่าฝน

เราขึ้นเขาหลวงเป็นว่าเล่น

ไม่ใช่เพื่อสำรวจธรรมชาติ หรือค้นหาความหมายจากผืนป่า

สำหรับเรา ขึ้นเขาหลวงคือการพักผ่อน คล้ายๆ การเที่ยวแบบอ้อยอิ่ง ไม่มีพาหนะ ที่พาเราเคลื่อนไป คือสองขา สองมือ

หากจะกล่าวให้ครบถ้วน ฉันต้องใช้คำว่า ร่างกายและจิตใจ

เรา ประกอบด้วยฉัน นักเขียนร่วมบ้าน และเพื่อนชาวสวนที่ว่างในช่วงนั้น อย่างน้อยสองคน ป่าผืนกว้างใหญ่ เข้าไปไม่กี่คนย่อมเหงา แต่ถ้ามากไปก็ไม่คล่องตัว ดูเป็นการเยือนแบบโครมคราม ป่าอาจตกใจ และหาที่ผูกเปลยาก หาที่นั่งกินข้าวพร้อมกันยาก

เว้นเสียแต่เราเดินเข้ากรุงชิง

กรุงชิงเป็นที่ราบสูงในวงล้อมของภูเขา ตั้งอยู่ใน อ.นบพิตำ เราเดินเข้าทางด้านน้ำตกกรุงชิง ปะปนกับนักท่องเที่ยวที่มาชมน้ำตก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินราว 4 กิโลเมตร แต่เราจะแยกลงก่อนถึงน้ำตก เดินบริเวณที่ราบริมน้ำ ก่อนจะตัดขึ้นสันเขา แล้วเดินลงทางด้านอำเภอพิปูน

ใช้เวลาในกรุงชิงทั้งหมด 3 คืน 4 วัน

กับกรุงชิง พื้นที่ราบมาก เราเข้าไปครั้งละสิบคนได้สบาย แต่ไม่ว่ากี่คน หญิงหรือชาย ทุกคนต้องแบกข้าวสาร

สองอย่างที่ต้องเตรียมให้พอ ขาดไม่ได้เลย คือข้าวและยาสูบ

เราไม่เคยเอาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋องเข้าป่า

เราทิ่มเครื่องแกงไปจากบ้าน ห่อไข่ด้วยหนังสือพิมพ์ทีละใบ แล้วใส่ลงหม้อสนาม

เรามีปลาแดดเดียว ปลาดุกร้า กุนเชียง ไข่เค็ม กุ้งแห้ง แถมมีถั่วเขียว-ถั่วแดงสำหรับทำขนมหวาน

วัตถุดิบอื่นไปหาเอาข้างหน้า

กรุงชิงมีลำธาร ในน้ำมีปลา ริมน้ำมีผักกูด ยอดลำเพ็ง รวมทั้งหน่อไม้

 

ถ้ามีคนถามถึงอาหารที่ฉันประทับใจที่สุด คำตอบคือทุกมื้อที่กินในป่า เราเดินแบกเป้มาทั้งวัน ลุยน้ำ กระโดดไปบนก้อนหิน บางครั้งต้องไต่หน้าผา

ครั้นถึงมื้อ เราหิวจัด หิวโดยทั่วหน้า ความหิวทำให้อร่อย และเพื่อนร่วมวงข้าวทำให้อาหารมีความพิเศษ

ครั้นปลดเป้ลง เราต่างรู้หน้าที่ มีคนหาฟืนมาก่อไฟ คนเดียวกันนั้น มักจะรู้จักไฟดี เขาจึงรับหน้าที่หุงข้าวด้วย

ข้าวหุงหม้อสนามของพวกเราไม่เคยแฉะ ไหม้ หรือดิบ ตรงกันข้าม เปิดฝาหม้อ ก็ต้องกลืนน้ำลาย กลิ่นหอมฉุย ข้าวเรียงเม็ดสวยงาม

ข้าวที่เราช่วยกันแบกมา น้ำหนักบนบ่าทำให้รู้คุณข้าวมากขึ้น กินจนเกลี้ยงหม้อ ไม่เหลือทิ้งสักมื้อ

เรามักเลือกเดินริมลำธาร และหยุดพักบริเวณที่มีแอ่งน้ำลึกพอจะหาปลาได้ ทีมหาปลาไม่เคยกลับมามือเปล่า ได้ปลาน้อยเราต้มส้ม เน้นซดน้ำ ถ้าได้ปลามามาก ก็ทำอะไรได้หลายอย่าง แกงส้ม แกงพริก หรือทอดขมิ้น ปลาในป่าขนาดพอดีกิน เนื้อแน่น และเกล็ดบาง แค่ผ่าท้องเอาไส้ออก ก็พร้อมทำอาหาร

ฉันมักรับหน้าที่ทำปลา และรวบรวมเมนูที่ทุกคนนำเสนอ สำรวจวัตถุดิบที่เตรียมมา และตัดสินใจว่ามื้อนี้เราจะกินอะไร

 

ในป่ามีแค่สองเรื่องที่ฉันคิด 1.จะนอนที่ไหน 2.จะกินอะไร

ที่นอน ต้องไม่ไกลน้ำ มีที่กางเต็นท์เก็บของ มีที่ให้ก่อไฟกองใหญ่ มีต้นไม้พอให้ผูกเปลใกล้กัน และท้ายสุด ฉันต้องหันไปถามสมพร-เพื่อนรัก ไม่ได้กลิ่นเสือใช่มั้ย รอเขาพยักหน้ารับรอง ฉันจึงปลดเป้ เอาเปลออกมาผูก

อาหารล่ะ เราเหลืออะไรในเป้บ้าง หาอะไรมาได้บ้าง จะหุงข้าวแค่ไหนในมื้อนี้ จะทำขนมหวานมั้ย แต่ละมื้อเราตัดสินใจด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ แล้วช่วยกันทำ

ถ้าเลือกได้ ฉันอยากมีน้ำพริกทุกมื้อ แค่น้ำพริกกับข้าวและไข่เจียว ฉันก็ไม่ต้องการอะไรอีกเลย

แต่เราทำน้ำพริกทุกมื้อไม่ได้ เราไม่ได้เอาพริก มะนาว และหัวหอมไปมากมายขนาดนั้น

เราเลือกทำน้ำพริกหากได้ปลาน้อย แต่ได้ผักมามาก เอาปลามาต้มส้ม เอาผักมาเลียงกะทิ มีไข่เจียว โดยมีน้ำพริกเป็นศูนย์กลางของมื้อ

เปล่าเลย เราไม่อาจหาญแบกครกเข้าป่า น้ำพริกจึงเป็นน้ำชุบโจร หรือน้ำชุบขยำ แล้วแต่ใครจะเรียก

ฉันหัดทำน้ำพริกชนิดนี้ในป่า เริ่มจากเป็นลูกมือบ่าวน้อง บ่าวน้องขานนามว่าน้ำพริกโจร ฉันจึงขอเป็นโจรตามเพื่อน

 

นํ้าชุบโจร ประกอบด้วยพริกขี้หนูสวนซอยละเอียด (มากกว่าน้ำพริกแบบตำหนึ่งเท่า) หัวหอมซอยบางที่สุด (มากกว่าน้ำพริกตำอย่างเปรียบไม่ได้)

บ่าวน้องเคยบอก “ถ้าน้ำชุบโจรยังไม่หรอย เพิ่มหอมนะเติ่น”

กระเทียมซอยนิดหน่อยเพิ่มความจี๊ดจ๊าด กะปิอย่างดีห่อใบตองย่าง (ปริมาณเท่าความเค็มที่ต้องการ) น้ำตาลทรายนิดหน่อย ส่วนความเปรี้ยวจะมาจากมะนาวอย่างเดียว ระกำ มะม่วง มะดัน หรือจากผัก-ผลไม้รสเปรี้ยวชนิดใดก็ได้ หั่นให้ละเอียด ใส่อย่างแน่ใจว่าเปรี้ยวเท่าใจคนทำ

บ่าวน้องว่า เป็นเรื่องยากที่จะชั่งวัตถุดิบสำหรับน้ำพริก เพราะพริกแต่ละบ้านเผ็ดไม่เหมือนกัน เคยก็เค็มไม่เท่ากัน ความเปรี้ยวย่อมเปรี้ยวต่างกัน แถมรสที่ต้องการยังไม่เหมือนกันอีก

ฉันเห็นด้วยกับบ่าวน้อง แต่พอจะตั้งข้อสังเกตได้ เมื่อหัดทำอย่างจริงจัง ก็…ไม่ได้กินฝีมือบ่าวน้องแล้วนี่

ข้อสังเกตที่หนึ่ง หัวหอมต้องเยอะมาก พริกขี้หนูก็เช่นกัน เมื่อคลุกไปแล้ว เราจะรู้ว่ามันไม่ได้เยอะเลย สัมผัสของหัวหอมนุ่มนวลขึ้น ส่วนพริก ถ้าใส่น้อยจะไม่เผ็ด เพราะเราไม่ได้ตำ และหากใส่สองอย่างนี้น้อยไป น้ำชุบโจรจะกลายเป็นกะปิละลายน้ำมะนาว ไม่น่ากินเอาเลย

ข้อสังเกตที่สอง กะปิต้องดี มีความเค็มพอเหมาะ ต้องย่างให้กลิ่นสุขุมนุ่มนวลขึ้น น้ำพริกโจรอาศัยความเค็มจากกะปิเท่านั้น ไม่น้ำปลาหรือเกลือเด็ดขาด

สาม ใส่น้ำตาลมากสักหน่อย ปกติน้ำพริกของทางใต้แทบไม่มีน้ำตาล แต่กับน้ำพริกโจร ฉันใส่น้ำตาลทุกครั้ง อย่างน้อยครึ่งช้อนชา

ข้อสังเกตสุดท้าย เกี่ยวกับความเปรี้ยว ถ้าใช้ผัก-ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจะได้กลิ่นมาช่วย แต่หากเปรี้ยวไม่พอ เติมน้ำมะนาวสักนิดจะจี๊ดขึ้นโดยพลัน และหากใช้มะนาวอย่างเดียวควรเป็นมะนาวแป้น

ใช้มือ (ที่ใส่ถุงมือ) หรือช้อนก็ได้ แต่ต้องคลุกจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีกะปิเป็นก้อน ไม่มีน้ำตาลที่ไม่ละลาย แล้วเราก็ชิม

เปรี้ยวกับเค็มควรมาคู่กัน หวานตามหลังอยู่ไกลๆ ส่วนรสเผ็ด ตอนชิมร้อนพอประมาณ แต่ความเผ็ดจะถึงใจในคำที่กัดโดนพริก

น้ำชุบโจรถ้วยนี้ฝีมือฉัน เป็นไปตามวิถีโจร (อย่างบ่าวน้อง) โดยเพิ่มเนื้อกุ้งลวกนิดหน่อย

 

วันนี้ฉันไม่ได้กินข้าวบนเขา แต่คล้ายว่าได้กลิ่นควัน สมพรดงข้าวแล้ว ข้าวหม้อสนามร้อนๆ กับน้ำพริกคือสวรรค์ของเรา

ถ้าทำน้ำพริกในป่า เราต้องซอยหอมกับพริกอย่างครื้นเครง ใช้คนสองคนเพื่อน้ำพริกหนึ่งถ้วยโตๆ กินอิ่มแล้วก็นอนเปล สูบยา คิดว่ามื้อหน้าจะกินอะไรดี

วันนี้น่ะเหรอ หลังจากทำน้ำพริก ฉันต้องไปส่งแม่ทำธุระ ทำงานบ้าน ย้อมผ้า เขียนเรื่องลงเพจ เย็นๆ ค่อยไปวิ่ง ฉันทำอะไรมากมายหลากสิ่งในวันเดียว ต่างกับตอนเข้าป่าเหมือนอยู่คนละโลก

บางครั้งขณะนอนเปลบนเขา ฉันรู้สึก…ชีวิตคือความเบาสบาย ไม่มีอะไรยุ่งยากสักนิด

แล้วฉันก็ถามตัวเอง อยู่อย่างนี้ทุกวันได้มั้ยล่ะ

คำตอบในตอนนั้นคือได้-ถ้ามีน้ำพริกให้กินทุกวัน