ดังได้สดับมา : สัมผัสท่านนาคารชุน ‘เสถียร โพธินันทะ’

หากฉายภาพ “มหายาน” โดยมีนามของ “นาคารชุน” โดดเด่นต่อจากพระอัศวโฆษ ก็จะต้องโยงไปยังคัมภีร์ 2 คัมภีร์

เห็นได้จากหนังสือ “ลัทธิของเพื่อน” โดย “เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป”

ให้ความสนใจไปยัง 1 คัมภีร์ปรัชญาปารมิตา (หนทางอันเข้าสู่ปัญญา) และ 1 หลักในลัทธิที่นาคารชุนแสดง ซึ่งเรียกว่า “มาธยมิก” หรือนิกายสายกลาง

นั่นก็คือ “โศลกมูลฐานว่าด้วยทางสายกลาง (มูลมัธยมกการิกา)”

ซึ่งต่อมา โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ ได้แปลและเรียบเรียงแล้วตีพิมพ์ผ่าน “มูลนิธิพันดารา” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551

ถามว่า เสถียร โพธินันทะ วางน้ำหนักของ “นาคารชุน” ไว้อย่างไร

รายละเอียดของเรื่องนี้ในหนังสือ “ปรัชญามหายาน” มีรายละเอียดในบทว่าด้วย “นิกายตรีศาสตร์” (ซาหลุงจง)

โดยเริ่มจากประวัติของนิกายว่า

นิกายนี้อาศัยศาสตร์ 3 ปกรณ์ คือ มาธยมิกศาสตร์ ศตศาสตร์ และทวาทศนิยายศาสตร์ รวมกันเป็นชื่อของนิกาย อาจารย์นาคารชุนเป็นปฐมาจารย์แห่งนิกายนี้ (บ้างว่าพระมัญชุศรีโพธิสัตว์)

ท่านเป็นผู้ตั้งทฤษฎีศูนยตาวาทิน

อรรถาธิบายหลักปัจจยาการและอนัตตาของพระพุทธองค์โดยวิถีใหม่ คัมภีร์ที่ท่านรจนามีจำนวนมาก แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือมาธยมิกศาสตร์ และมหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์

มาธยมิกศาสตร์ นอกจากประกาศแนวทฤษฎีศูนยตาแล้วยังได้วิพากษ์นานามติของประดานิกายในพระพุทธศาสนา และมติของปรัชญาฮินดู เซนไว้ด้วย อรรถกถาของศาสตร์นี้มีผู้แต่งกันไว้มาก ฉบับที่แปลสู่พากย์จีนมี 2 ฉบับ เป็นของนีลเนตรและของภาววิเวก

ส่วนคัมภีร์ศตศาสตร์นั้นเป็นของอาจารย์เทวะ เป็นหนังสือวิพากษ์ปรัชญาฮินดูทั้งเวทานตะ สางขยะ ไวเศษิกนะ นายยะ โยคะ และเซนไว้อย่างถึงพริกถึงขิง เผยให้เห็นความเลิศเด่นของพระพุทธธรรม

คัมภีร์ที่ 3 นั้นเป็นของอาจารย์นาคารชุน จัดเป็นหนังสือเบื้องต้นสำหรับศึกษาปรัชญาศูนยตวาทิน

เนื่องด้วยอาจารย์นาคารชุนได้ยกและกอบกู้ฐานะของพระพุทธศาสนาให้รุ่งโรจน์ ประกอบทั้งความเป็นบรมปราชญ์ปราดเปรื่องของท่าน พุทธศาสนิกชนมหายานทุกๆ นิกายย่อมยกย่องท่านในฐานะคุรุผู้ยิ่งใหญ่เสมอ

ปรัชญาศูนยตวาทินได้แผ่เข้าไปในประเทศจีนโดยกุมารชีพ

กล่าวกันว่า กุมารชีพเป็นศิษย์ร่ำเรียนปรัชญานี้กับเจ้าชายสูรยโสมะแห่งยารกานต์ ผู้ซึ่งได้ศึกษาถ่ายทอดจากนีลเนตร ศิษย์ของราหุละ

และราหุละได้ศึกษาโดยตรงจากอาจารย์เทวะทีเดียว

กุมารชีพแปลปกรณ์ทั้ง 3 ที่นครเชียงอาน และบรรดาสานุศิษย์เอกๆ ของกุมารชีพหลายรูปได้เทศนาสั่งสอนปรัชญานี้ให้แพร่หลาย ตกถึงแผ่นดินซุ้ยมีคันถรจนาจารย์ผู้หนึ่งชื่อกิกจั๋ง ได้แต่งอรรถกถาศาสตร์ทั้ง 3 เป็นภาษาจีน ทำให้นิกายนี้เจริญถึงขีดสูงสุด

ครั้นเข้ายุคราชวงศ์ถัง เมื่อท่านติปิฎกธราจารย์เฮี่ยงจังประกาศปรัชญาวิชญาณวาทินอยู่ เลยทำให้รัศมีฝ่ายศูนยตวาทินอับลงตราบเท่าทุกวันนี้

คัมภีร์สำคัญ

(1) มาธยมิกศาสตร์ (ตงหลุง) ของพระนาคารชุน (2) ทวาทศนิกายศาสตร์ (จับยี่มึ้งหลุง) ของพระนาคารชุน (3) ศตศาสตร์ (แปะหลุง) ของพระอารยเทวะ (4) มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ (ไต้ตี้โต่หลุง) ของพระนาคารชุน

ทั้ง 4 ศาสตร์นี้กุมารชีพแปล

(5) กรตลรัตนศาสตร์ (เจียงเตียงหลุง) ของภาววิเวก (6) อรรถกถาแห่งศาสตร์ทั้ง 3 ของคันถรจนาจารย์กิกจั๋ง

(7) พระสูตรในหมวดปรัชญาปารมิตา มีมหาปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นต้น

อาจารย์นาคารชุนได้ประกาศทฤษฎีศูนยตวาทินด้วยอาศัยหลักปัจจยาการและอนัตตาของพระพุทธองค์เป็นปทัฏฐาน

ทั้งหมดนี้เป็นการนำร่องของเสถียร โพธินันทะ ในหนังสือ “ปรัชญามหายาน”

ก่อนอื่นขอนำชาวเราไปทำความเข้าใจต่อรายละเอียดในตอนว่าด้วย “หลักธรรม” อันเสถียร โพธินันทะ อรรถาธิบาย

เป้าหมายมี 2 ประการ

ประการ 1 ย่อมเป็นการทำความเข้าใจต่อหลักการอันท่านนาคารชุนได้วางเอาไว้ ขณะเดียวกัน ประการ 1 ย่อมอาศัยความเข้าใจของเสถียร โพธินันทะ เป็นพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจต่อท่านนาคารชุน

เป็นการอ่านเพื่อเข้าใจท่านนาคารชุน และเพื่อเข้าใจเสถียร โพธินันทะ