เชือด “ม.บูรพา-มทร.ตะวันออก” เซ่น “ม.ไร้ธรรมาภิบาล” ก๊อก 2

สัปดาห์ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 2/2559 ตามอำนาจมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เรื่องการกำหนดรายชื่อสถาบันอุดมศึกษาอื่น ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา

โดยปรากฏ 2 รายชื่อที่โดนมาตรา 44 คือ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ตะวันออก หลังจากที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สุรินทร์ และ มรภ.ชัยภูมิ โดนมาตรา 44 ล็อตแรกเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

คำสั่งของ คสช. มีผลให้สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีของทั้ง 2 แห่ง ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่

พร้อมทั้งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปปฏิบัติงานแทนสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี

นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ระบุว่า ปัญหาของ มบ. กับ มทร.ตะวันออก จะมีปัญหาน้อยกว่า มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.ชัยภูมิ

โดยในส่วนของ มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.ชัยภูมิ มีปัญหาทั้งเรื่องความขัดแย้งภายในสภามหาวิทยาลัย งบประมาณ การเงิน บุคคล และในส่วนของ มรภ.ชัยภูมิ มีปัญหาเพิ่มเติมในเรื่องการจ่ายเงินเดือนสูงด้วย

ขณะที่ในส่วนของ มบ. และ มทร.ตะวันออก จะมีปัญหาแค่เรื่องสรรหาอธิการบดีและความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย โดย มบ. มีปัญหาเรื่องการสรรหาอธิการบดี ส่วน มทร.ตะวันออก มีการเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก

“มองว่า มบ. และ มทร.ตะวันออก อาจจะแก้ไขปัญหาได้เสร็จเร็วกว่า มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.ชัยภูมิ เพราะมีปัญหาน้อยกว่า หลังมีคำสั่ง คสช. ส่งผลให้สภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และทางรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะแต่งตั้งคณะทำงานเข้าไปปฏิบัติงานแทนสภามหาวิทยาลัย ก่อนจะดำเนินการให้มีการสรรหาอธิการบดีต่อไป โดยขณะนี้ได้มีการเสนอรายชื่อคณะทำงานเข้าไปปฏิบัติงานแทน 2 สภามหาวิทยาลัยดังกล่าว มหาวิทยาลัยละ 10 คนให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. พิจารณาแต่งตั้ง โดยรายชื่อบางชื่ออาจซ้ำกับคณะทำงานที่ดูแล 2 มรภ.แรก ดังนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะพิจารณาเห็นชอบตามรายชื่อที่นำเสนอหรือจะเปลี่ยนแปลงรายชื่อ”

นายสุภัทร กล่าว

ขณะที่ นายสืบพงษ์ ม่วงชู รักษาการรองอธิการบดี มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย มองว่า คำสั่งไม่เป็นธรรม ที่ผ่านมาผู้บริหาร มทร.ตะวันออก และตนได้เข้าไปร้องขอความเป็นธรรมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และ พล.อ.ดาว์พงษ์ แล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจ

การใช้มาตรา 44 เข้าควบคุมมหาวิทยาลัยเท่ากับเป็นการตัดสินประหารชีวิตนายกสภา กรรมการสภา และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ด้วยข้อหาที่ว่าไม่มีธรรมาภิบาล

“อยากถาม พล.อ.ดาว์พงษ์ ว่า ทำไมไม่ทำตามที่พูด คือจะเชิญมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาไปพูดคุยและให้เวลาแก้ไข ทำไมถึงไม่เชิญ นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม นายกสภา มทร.ตะวันออก ไปหารือก่อน แต่กลับเสนอให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าควบคุมมหาวิทยาลัยเพื่อแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าไปดูแล ซึ่งคนที่จะเข้ามาก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ และหากคณะบุคคลเข้ามาตรวจสอบแล้วไม่พบปัญหา ก็อยากถามว่า คสช. และรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะคืนตำแหน่ง และคืนความเป็นธรรมให้แก่นายกสภา กรรมการสภา และผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือไม่” นายสืบพงษ์ กล่าว

นายสืบพงษ์ ยังมองด้วยว่าคำสั่งนี้ไปเข้าทางกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่เรียกร้องให้ คสช. ใช้มาตรา 44 เข้าควบคุมมหาวิทยาลัยเพราะเสียประโยชน์ ต่อไปจะเป็นบรรทัดฐานให้มหาวิทยาลัยอื่นที่หากไม่พอใจอะไร ก็สร้างเรื่องขัดแย้งทำให้มหาวิทยาลัยมีปัญหา แล้วขอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 เข้าควบคุม

อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวระบุว่าคงไม่ออกมาเรียกร้องอะไรอีกแล้ว เพราะเป็นแค่ครูตัวเล็กๆ ไม่มีปากมีเสียง คิดว่าสภาเองก็คงไม่มีการหารือ เพราะเลขาธิการ กกอ. ออกมาบอกแล้วว่าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรอคณะบุคคลเข้าไปตรวจสอบ

ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุว่าอยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติรายชื่อคณะบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่นายกสภา กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากมีผู้ทักท้วงการตั้ง นายวิชัย ริ้วตระกูล รองประธาน กกอ. ไปปฏิบัติหน้าที่กรรมการสภา มบ. เพราะเคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ มบ. มาก่อน หากไม่มีปัญหาอะไร ก็จะลงนามแต่งตั้ง

ต้นเหตุที่ทำให้ มทร.ตะวันออก โดนมาตรา 44 นั้น ก็เนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งภายในระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับอธิการบดี นำมาสู่สภามหาวิทยาลัย ที่มี นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เป็นนายกสภา มีมติ 20 ต่อ 1 ให้ถอดถอน นายสิน พันธ์พินิจ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี มทร.ตะวันออก ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่ามีความบกพร่องและหย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติงาน ส่วน มบ. มีปัญหาการสรรหาอธิการบดี จนนายกสภา ต้องลาออกและรักษาการอธิการบดีคนปัจจุบันต้องนั่งรักษาการมายาวนานหลายปี

ส่วนความคืบหน้าการเข้าไปแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลใน มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.ชัยภูมิ นั้น หลังจากมีการตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ เข้าไปดูแลปัญหาต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้ปัญหาทุเลาลงนั้น ขณะนี้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ยังไม่แล้วเสร็จ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ซึ่งก่อนที่นายสุภัทร จะเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการ กกอ. ได้ขอให้ทีมงานของผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ดูแล มรภ.สุรินทร์ และ มรภ.ชัยภูมิ ได้สรุปข้อมูลความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อรายงานนายสุภัทร ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ.

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม นพ.กำจร ตติยกวี อดีตเลขาธิการ กกอ. ระบุว่า สำหรับมหาวิทยาลัยและสภามหาวิทยาลัยที่รู้ตัวว่ามีปัญหา ขอให้กลับไปทบทวนและหาทางแก้ปัญหา กกอ. จะยังไม่เข้าไปตรวจสอบ หากไม่เร่งแก้ไข อาจเป็นคิวถัดไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. มีอำนาจในการออกคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาเหล่านั้นอยู่ในการควบคุมของ สกอ. โดยมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเร่งแก้ปัญหา มีอยู่ประมาณ 10% หรือคิดเป็นประมาณเกือบ 20 แห่ง

ในจำนวนนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาเรื่องการรับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้งให้ สกอ. รับทราบจำนวน 11 แห่ง นอกนั้นเป็นมหาวิทยาลัยที่มีปัญหาการทุจริตของผู้บริหาร ความแตกแยกของสภากับฝ่ายบริหาร สภาอาศัยช่องทางกฎหมายสั่งปลดอธิการบดี

มาถึงวันนี้มหาวิทยาลัยถูกสอยร่วงไปแล้ว 4 แห่ง หลายคนอาจมองว่ามาตรา 44 เป็นยาแรงเกินไป แต่อย่าลืมว่าปัญหามหาวิทยาลัยที่ไร้ธรรมาภิบาลหรือมีความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานนั้น หากให้คนนอกเข้าไปแก้ไข บางทีอาจได้ผลดีกว่าให้คนในแก้ไขกันเอง

มหาวิทยาลัยไหนที่รู้ตัวว่ามีปัญหา ควรเร่งแก้ไขเพราะมีมหาวิทยาลัยที่ถูกเชือดให้ดูเป็นตัวอย่างอยู่แล้ว