แพทย์ พิจิตร : พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร – “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับช่วงเวลามวลชนปฏิวัติ”

จากการจากไปของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา

ผมจึงของพักเรื่องอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไว้ก่อน และขออุทิศข้อเขียนนี้เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร

โดยเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่ผมได้รับความกรุณาจากท่านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560

ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่ท่านจะจากไป

 

ในช่วงที่สังคมไทยเผชิญกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสงครามเย็น ในช่วงนั้น พล.ต.อ.วสิษฐ (ต่อไปจะใช้ว่า “อาจารย์วสิษฐ”) ได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาท โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีรับสั่งผ่านสมุหราชองครักษ์ให้อาจารย์วสิษฐตามเสด็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2509

อาจารย์วสิษฐบอกเล่าให้ฟังว่า ตอนที่มีรับสั่งให้ตามเสด็จนั้น “ผมก็ไม่รู้ ผมได้เข้าเฝ้าฯ โดยไม่ได้คาดหมาย เพราะตอนนั้นผมเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์กับลัทธิคอมมิวนิสต์ให้โรงเรียนตำรวจพลร่มอยู่ที่หัวหิน”

เหตุใดต้องมีการสอนวิชาประวัติศาสตร์และลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับตำรวจพลร่ม?

เหตุผลคือ ผู้บังคับค่ายนเรศวรที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจพลร่มเห็นว่า การออกคำสั่งให้ตำรวจพลร่มไปรบและต่อสู้กับคอมมิวนิสต์จนบาดเจ็บล้มตาย โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมถึงต้องออกไปต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ก็อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเหล่านั้นไม่เข้าใจว่าจะออกไปต่อสู้และบาดเจ็บล้มตายไปทำไม ทั้งๆ ที่คอมมิวนิสต์ก็เป็นคนไทยด้วยกัน หาใช่ข้าศึกศัตรูต่างชาติที่ไหน

ผู้บังคับบัญชาเลยเห็นความจำเป็นที่ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์และประวัติศาสตร์ไทยแก่เหล่าตำรวจที่ทำหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดินเหล่านั้น จะได้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องออกไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย

 

ฟังดูแล้วคล้ายๆ กับบรรดาชาวบ้านในอเมริกาที่ต้องจับอาวุธเป็นทหารจำเป็นในสมัยที่ชนชาวอเมริกันต่อสู้เพื่อประกาศอิสระจากการครอบครองของอังกฤษ ขณะนั้นมีนายทหารจากยุโรปมาช่วยฝึกซ้อมและบัญชาการรบร่วมกับผู้นำของชนอเมริกัน นั่นคือจอร์จ วอชิงตัน นายทหารจากยุโรปนั้นถูกฝึกมาในระบบของทหารจริงๆ ที่เหล่าพลทหารต้องรับฟังคำสั่งจากนายทหารและปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่พอมาเจอเหล่าทหารชาวบ้านหรือทหารจำเป็นที่ไม่ได้ถูกฝึกให้รับคำสั่งอย่างเดียว เขาก็ต้องมึนงง เพราะทหารชาวบ้านเหล่านี้ต้องการทราบเหตุผลที่จะต้องจับอาวุธรบกับทหารอังกฤษ เพราะทหารชาวบ้านเหล่านี้ต้องการทราบเหตุผลที่พวกเขาจะต้องไปรบทัพจับศึก จอร์จ วอชิงตันและแกนนำจึงต้องอธิบายขยายความให้เหตุผลถึงความชอบธรรมที่จะต้องไปต่อสู้เพื่ออิสรภาพ

การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ก็ต้องมีคำอธิบาย ซึ่งผมว่า ในมุมกลับกัน ทางฝ่ายชาวบ้านที่เข้ากับพวกคอมมิวนิสต์ก็เช่นกัน ก็ต้องมีคำอธิบายให้เหตุผลว่าทำไมต้องเข้าป่าจับอาวุธต่อสู้กับคนไทยด้วยกัน ฝ่ายรัฐก็เข้าใจว่าตนกำลังปกป้องผืนแผ่นดินและความเป็นเอกราช ไม่ให้ตกเป็นของต่างชาติที่มีแนวคิดลัทธิที่แปลกแยก แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็คิดว่า จะต้องต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประชาชนจากการครอบงำภายใต้คำกล่าวอ้างจอมปลอมที่อ้างความเป็นไทย เอกราช โดยที่จริงแล้วคือการกดขี่ประชาชนผู้ยากไร้โดยชนชั้นปกครองผู้ครอบครองความมั่งคั่ง และจริงๆ แล้วการปกป้องผืนแผ่นดินนี้ก็หาใช่อะไรอื่นไม่ คือการปกป้องทรัพย์สินความมั่งคั่งของคนหยิบมือหนึ่งเท่านั้น คนจนมีอะไรให้ปกป้องนอกจากเสื้อผ้าเก่าๆ รองเท้ายางเก่าๆ นอกนั้นคือความยากไร้และร่างกายอันเปล่าเปลือย

ในสมัยนั้นเป็นสมัยของการปะทะกันระหว่างคำอธิบายสองชุดนี้!

ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า ทำไมจึงจะต้องมีการให้ความรู้แก่เหล่าตำรวจพลร่ม

 

แต่ทำไมผู้บังคับบัญชาจะต้องเจาะจงมาที่อาจารย์วสิษฐให้เป็นผู้ไปสอนเรื่องเหล่านี้

อาจารย์วสิษฐก็เป็นตำรวจ ไปรู้เรื่องลัทธิอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มาจากไหน?

หรือเป็นเพราะก่อนที่อาจารย์วสิษฐจะเป็นตำรวจ ท่านจบการศึกษามาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย?

อาจารย์วสิษฐเล่าว่า “ผมเรียนเอง เพราะคณะของเรา (รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาทั้งของอาจารย์วสิษฐและของผม) ไม่ได้สอนหนัก อาจารย์ที่สอนเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ที่สอนผมมากที่สุดก็คือ ดร.สุจิต หิรัญพฤกษ์ อาจารย์สุจิตนี่สอนวิชาประวัติศาสตร์การปกครอง แล้วก็ผมสอบวิชานี้ได้ที่ 1 แล้วท่านนั่นแหละที่เป็นคนสอนเรื่อง Marxism Leninism ความจริงท่านสอนหนักเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง”

นอกจากสอนแล้ว อาจารย์วสิษฐยังเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งชื่อ “ความผิดพลาดของนายหมาก” หมากที่ว่านี่ก็คือคาร์ล มาร์กซ์ นั่นเอง ซึ่งใครอยากอ่านก็หาไม่ยาก อย่างน้อยที่ห้องสมุดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (ห้องสมุด รูฟุส ดี สมิธ และชำนาญ ยุวบูรณ์) ก็มีหนังสือเล่มนี้

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ อาจารย์วสิษฐเขียนหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ท่านเป็นนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่ 4

 

ผมถามอาจารย์วสิษฐว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระองค์ท่านได้ทรงอ่านหนังสือ “ความผิดพลาดของนายหมาก” และเป็นเหตุผลหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงโปรดให้อาจารย์วสิษฐไปรับใช้เบื้องพระยุคลบาท

อาจารย์วสิษฐสันนิษฐานว่า พระองค์ท่านน่าจะได้อ่าน “เพราะพระเจ้าอยู่หัวเป็นนักอ่าน…”

เมื่อมาถึงจุดนี้ เลยมีการถามอาจารย์วสิษฐต่อไปว่า ท่านพอทราบไหมว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงอ่านหนังสืออะไรบ้าง?

คำตอบที่ได้คือ “หนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ อ่านหมด รายวันรายสัปดาห์ท่านอ่านหมด เพราะเหตุนั้นถึงได้ทรงรู้จักผม เพราะผมเขียนหนังสือขายมาตั้งแต่ตอนอยู่ปี 4 หนังสือบทความบทแรกที่ทำให้ผมดังเลยนะคือ “ปากกาพาให้เป็นไป” ลงในหนังสือ “มหาวิทยาลัย” ปี 2493 พอลงปั๊บก็ดังเลย คุณวิลาศ มณีวัต เลยมาขอให้เขียนลงชาวกรุงเลย แล้วก็เขียน ปี 4 ผมก็เลยได้อาศัยเงินที่เขียนหนังสือขายมาส่งตัวเองให้ผมเรียนหนังสือ”

“ผมไม่มีสตางค์ อยู่จุฬาฯ นี่เกือบทุกปีเลยต้องมีชื่อขึ้นป้าย ชื่อคนที่ยังไม่ได้ชำระค่าเล่าเรียน (หัวเราะ) แล้วทีนี้ก็เพราะเหตุว่าเรื่องคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องที่กินใจผมอยู่ ผมก็เลยเขียนเรื่องมาร์กซ์ กับประวัติศาสตร์ ชีวประวัติของมาร์กซ์ ทีแรกก็ลงเป็นตอนๆ ในสยามรัฐ แล้วต่อมาก็เอามารวมเล่ม”

เราได้คุยกับท่านต่อไปว่า เราได้อ่านเจอในหนังสือ The Revolutionary King ของวิลเลียม สตีเวนสัน (William Stevenson) ที่อ้างว่า ในหลวงทรงตรัสว่า ตำรารัฐศาสตร์ที่เรียนจากโลซานน์ไม่มีประโยชน์เลย แต่มีหนังสือ 3 เล่มที่มีประโยชน์คือ เล่มแรกคือสามก๊ก เล่มที่สองคือ The way of Musashi และเล่มที่สามคือ The Prince ของ Machiavelli

เราเลยอยากทราบว่า อาจารย์วสิษฐเห็นอย่างไรกับคำกล่าวอ้างของสตีเวนสัน

อาจารย์วสิษฐตอบว่า “ผมคงตอบไม่ได้ แต่ผมเคยไปเข้าเฝ้าฯ ที่ห้องทรงงานของพระองค์ท่านในสวนจิตร เห็นหนังสือเยอะเลยครับ แล้วต้องไม่ลืมว่า ที่แรกพระองค์ท่านทรงเรียนวิชาวิทยาศาสตร์มาก่อนใช่ไหมครับ แต่พอรู้ว่าจะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ท่านก็มาเรียนรัฐศาสตร์ อย่างไรเสียตำราภาษาอังกฤษพวกนั้นพระองค์ท่านก็ต้องได้อ่าน”

และอาจารย์วสิษฐได้เล่าต่อไปถึงนวนิยายที่ท่านแต่งว่า

“ส่วนมากผมเขียนเป็นนวนิยาย และเรื่องที่ดังที่สุดคือเรื่องที่พระเอกชื่อธนุส นิราลัย เริ่มต้นตั้งแต่สารวัตรเถื่อน มาจนกระทั่งเล่มสุดท้ายคือประกาศิตอสูร แล้วครั้งหนึ่งพอนำไปทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ท่านเสร็จแล้ว พอได้ไปเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่านแล้ว พระองค์ท่านก็มีรับสั่งว่า ไม่ได้เรื่องเลย ผมก็ใจหายเลย แล้วพระองค์ท่านตรัสว่าเขียนอย่างนี้ผู้ร้ายเอาอย่างไปใช้หมด เพราะผมเขียน technic เรื่องการต่อสู้ การสืบสวน พระองค์ท่านตรัสว่า แบบนี้ทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามรู้ว่าเราทำอะไร”