อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปินจอมป่วนแห่งโลกศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนที่ผ่านมา เรากล่าวถึงศิลปินที่ทำงานศิลปะแสดงสดสุดอื้อฉาวไปแล้ว ในตอนนี้เลยขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินอีกคนที่มีชื่อเสียงอื้อฉาวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

เมาริซิโอ คัตเตลาน (Maurizio Cattelan)

ศิลปินชาวอิตาเลียนผู้เป็นที่รู้จักในฐานะนักเสียดสีกระตุ้นเร้าผู้ชม ด้วยความขี้เล่น เปี่ยมอารมณ์ขันตลกร้าย ยียวนป่วนอารมณ์ และท้าทายสังคมจนอื้อฉาว

จนได้ฉายาว่าเป็น “จอมป่วนแห่งโลกศิลปะ”

เขาเกิดในปี 1960 ที่เมืองปาดัว ประเทศอิตาลี แรกเริ่มเดิมทีเขาไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านศิลปะ หากแต่เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ไม้

ก่อนที่จะหันเหมาทำงานศิลปะ โดยในช่วงแรกเขาทำงานศิลปะที่ล้อเลียนคนในโลกศิลปะ และศิลปินผู้ล่วงลับในอดีต

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Errotin, le vrai Lapin (Errotin, the real Rabbit) (1995) ที่เขาหว่านล้อมเพลย์บอยเจ้าของแกลเลอรี่จอมฉาว เอ็มมานูเอล ลาแปง (Emmanuel Lapin) ให้สวมชุดกระต่ายยักษ์สีชมพูที่มีรูปร่างคล้ายกับองคชาตขนาดยักษ์เดินโชว์ตัวหราในวันเปิดแกลเลอรี่ของเขา

หรือในผลงาน Untitled (Picasso) (1998) ที่คัตเตลานสวมหัวมาสคอตรูปศิลปินชื่อดังระดับตำนานอย่างปาโบล ปิกัสโซ่ เดินทักทายประชาชีชาวอเมริกันหน้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในนิวยอร์ก (MoMA)

นอกจากนั้นเขายังทำประติมากรรมที่ทำจากซากศพสัตว์นานาชนิดมาสตัฟฟ์ และจัดวางท่าทางในลักษณะและสถานการณ์ต่างๆ กันไป

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Untitled (1997) ที่เป็นนกกระจอกเทศสตัฟฟ์ ที่แทนที่จะมุดหัวลงไปในพื้นดินตามปกติ ก็กลับมุดหัวทะลุลงไปในพื้นไม้กระดานซะอย่างงั้น

Untitled (1997) ภาพจาก https://bit.ly/2Mtzv2B

หรือผลงาน Novecento (20th Century) (1997) ประติมากรรมจัดวางที่ทำจากร่างสตัฟฟ์ของม้าแข่ง แขวนด้วยอานและบังเหียนห้อยต่องแต่งลงมาจากเพดาน

หรือผลงาน Bidibidobidiboo (1996) ประติมากรรมจัดวางขนาดเล็ก ที่เป็นกระรอกสตัฟฟ์นั่งทรุดกายลงบนโต๊ะเก้าอี้ขนาดจิ๋ว ปลายเท้ามีปืนพกตกอยู่บนพื้น จนดูเหมือนกับว่ามันเพิ่งฆ่าตัวตายมาหมาดๆ ยังไงยังงั้น

Bidibidobidiboo (1996) ภาพจาก https://bit.ly/2tEmYmb

ในช่วงปี 1999 เขาเริ่มทำประติมากรรมหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงแบบไฮเปอร์เรียลลิสม์ (Hyperrealism) ขนาดเท่าคนจริง ของบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนรอบตัวในวงการศิลปะ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ยังมีชีวิตและไม่มีชีวิตอยู่ (หรือแม้แต่ตัวของเขาเอง)

หนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักอย่างอื้อฉาวที่สุดของเขาคือ La Nona Ora (The Ninth Hour) (1999) ประติมากรรมจัดวางหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงรูปสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ที่ถูกอุกกาบาตตกทะลุหลังคากระจกลงมาทับใส่ร่าง

La Nona Ora (The Ninth Hour) (1999) ภาพจาก https://bit.ly/2tEmYmb

ผลงานสุดช็อกชิ้นนี้ท้าทายสถาบันสูงสุดของคริสต์ศาสนาจนเป็นที่เลื่องลือ และถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีอย่างเผ็ดร้อนจากคริสต์ศาสนิกชนเป็นอย่างมาก

หรือผลงานที่อื้อฉาวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันอย่าง Him (2001) ประติมากรรมหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงรูปอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการนาซีที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกว่าล้านชีวิต ที่กำลังคุกเข่า สองมือประสานกันนิ่งงัน สายตาทอดมองไปยังเบื้องสูงราวกับกำลังสวดภาวนาอ้อนวอนขอไถ่บาปต่อพระผู้เป็นเจ้า?

Him (2001) ภาพจาก https://bit.ly/2tEmYmb

คัตเตลานตั้งคำถามกับผู้ชมผ่านผลงานอันสุดท้าทายชิ้นนี้ว่า ท้ายที่สุดแล้วเราจะสามารถให้อภัยสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายอย่างถึงขีดสุดอย่างเช่นฮิตเลอร์ได้หรือไม่?

ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่ชวนช็อกและสั่นสะเทือนจิตใจผู้ชมที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเลยก็ว่าได้

ผลงานของเขาเล่นกับเรื่องราวและตัวละครใกล้ตัวทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันอันซ้ำซากจำเจ ไปจนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความศรัทธาและสถาบันทางศาสนา หรือแม้แต่ประเด็นทางสังคม, การเมือง

เขามักใช้ผลงานศิลปะของเขาแสดงออกถึงเรื่องราวต่างๆ ด้วยท่าทีอันขบขันและเหลวไหลไร้สาระ เพื่อตั้งคำถาม กระตุ้นเร้า และเล่นตลกกับระบบระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเปิดโปงความตอแหลจอมปลอมของสังคมรอบตัวด้วยความท้าทายอย่างยิ่ง

และถึงแม้ในปี 2011 เมาริซิโอ คัตเตลาน จะประกาศเกษียณตัวเองจากวงการศิลปะ (แบบเดียวกับที่ดูชองป์เคยทำในปี 1923) แต่อีกห้าปีหลังจากนั้น เขาก็หวนคืนสู่วงการอีกครั้ง

และเรียกชื่อเสียงกลับมาได้อีกครั้งกับผลงานอย่าง America (2016)

America (2016) ภาพจาก https://bit.ly/2cLr037

งานศิลปะในรูปส้วมที่ทำจากทองคำ 18 กะรัตล้วนๆ ทั้งโถ (ชักโครก) ที่ไม่ได้เป็นแค่ส้วมศิลปะที่ตั้งโชว์ในห้องแสดงงานให้คนดูเฉยๆ หากแต่เป็นส้วมจริงๆ ที่คัตเตลานสั่งทำขึ้นเลียนแบบส้วมในห้องน้ำสาธารณะชั้นห้าของพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ในนิวยอร์ก (Solomon R. Guggenheim Museum, New York) และนำมาติดตั้งให้คนใช้งานจริงๆ แทนที่ส้วมเดิม โดยเปิดให้แขกผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทุกคนทั้งหญิงและชายเข้าไปใช้งานทั้งถ่ายเบาถ่ายหนักกันได้ตามอัธยาศัย (ถ้าใครสงสัยว่าทำไมเข้าได้ทั้งสองเพศ นั่นเพราะมันเป็นส้วมสาธารณะรวมแบบไม่แยกเพศน่ะนะ)

คัตเตลานไม่เปิดเผยมูลค่าของทองคำที่ใช้สร้างผลงานชิ้นนี้ แต่คาดว่าน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผลงานชิ้นนี้ของเขาเป็นที่อื้อฉาวตั้งแต่ครั้งแรกที่มันเปิดตัว ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์กว่าแสนคนต่างเข้าคิวรอใช้ห้องน้ำที่ติดตั้งส้วมทองคำอย่างเอิกเกริก เพื่อจะได้มีโอกาสสนิทชิดเชื้อกับศิลปะที่แสดงถึงธรรมชาติเบื้องต้นของมนุษย์อย่างแน่นแฟ้นและหรูหราที่สุดชิ้นนี้

โดยทางพิพิธภัณฑ์จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้หน้าห้องน้ำ และจะมีพนักงานเข้าไปทำความสะอาดขัดถูเจ้าส้วมทองคำในทุกๆ 15 นาที เพื่อให้มันคงความเปล่งปลั่งเมลืองมลังอยู่เสมอ

ถึงแม้คัตเตลานจะไม่ใช่ศิลปินคนแรกที่สร้างคุณค่าให้แก่สิ่งของต่ำต้อยด้อยค่าและสกปรกโสโครกในความรู้สึกของคนทั่วไปอย่างสุขภัณฑ์ที่ใช้รองรับสิ่งปฏิกูล ด้วยการยกระดับมันให้เป็นงานศิลปะ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 1917 ศิลปินชาวฝรั่งเศสอย่างมาร์เซล ดูชองป์ ก็หยิบเอาโถฉี่ธรรมด๊าธรรมดามาตั้งบนแท่นโชว์เป็นงานศิลปะจนสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นวงการ ดังที่เราเคยกล่าวถึงไปแล้วในตอน “ดูชองป์พ่อทุกสถาบัน” นั่นแหละ

และถึงแม้คัตเตลานจะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากดูชองป์ แต่เขาก็ไม่ได้ลอกเลียนมาแบบเปล่าๆ ปลี้ๆ

หากแต่พัฒนาแนวคิดแบบเรดดี้เมด (readymades) ของดูชองป์ ที่หยิบฉวยเอาข้าวของเก็บตกเหลือใช้ธรรมดาที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมาเปลี่ยนให้เป็นศิลปะ โดยคัตเตลานหยิบฉวยเอาประสบการณ์, ข่าวสาร, ข้อเท็จจริง ไปจนถึงเรื่องราวความขัดแย้งอันเหลวไหลไร้สาระในสื่อต่างๆ รอบตัวมาแปรเปลี่ยนให้เป็นงานศิลปะ ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า

“เราสามารถหาแนวคิดเชิงปรัชญาได้จากโทรทัศน์ที่เราดูอยู่ทุกวี่วันนั่นแหละ”

และในผลงานชิ้นนี้ คัตเตลานก็ไปไกลยิ่งกว่าโถฉี่ที่ตั้งโชว์เป็นงานศิลปะในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ของดูชองป์ ด้วยการใช้วัสดุสูงค่าอย่างทองคำมาทำเป็นของต่ำต้อยด้อยค่าอย่างโถส้วม และที่สำคัญ เขาอนุญาตให้คนทั่วไปได้สัมผัส ใช้งาน หรือแม้แต่ขี้เยี่ยวลงในผลงานศิลปะของเขาชิ้นนี้ด้วยซ้ำไป!

ผลงานชิ้นนี้ของคัตเตลาน นอกจากจะเป็นการเสียดสีแดกดันการกระหายความมั่งคั่งความล้นเกิน และความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจของคนต่างชนชั้นในสังคมอเมริกันแล้ว

เขายังเปิดโอกาสและเชิญชวนให้คนทั่วไปมีโอกาสได้เห็นและสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สุดหรูที่พวกเขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน และได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ปกติจะสงวนไว้สำหรับอภิมหาเศรษฐีผู้เป็นคนจำนวนน้อยนิดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ จากคนเดินดินทั่วๆ ไปที่เป็น 99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือในสังคม

ด้วยงานศิลปะชิ้นนี้ คัตเตลานกระตุ้นให้ผู้ชมหวนรำลึกถึงความฝันแบบอเมริกันที่เปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้น รวมถึงย้ำเตือนให้เราระลึกถึงข้อเท็จจริงทางกายภาพที่มนุษยชาติมีร่วมกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง นั่นก็คือการ “ขับถ่าย” ดังที่ศิลปินจอมแสบผู้นี้กล่าวเอาไว้ว่า

“ไม่ว่าคุณกินอะไรเข้าไป จะเป็นอาหารเที่ยงราคา 200 เหรียญ หรือฮอตดอกอันละ 2 เหรียญ ตอนขี้ออกมาก็เป็นเหมือนกันหมดนั่นแหละ!”

แหม่…พูดจาได้สมกับที่มีฉายาว่าเป็นจอมป่วนแห่งโลกศิลปะ จริงๆ อะไรจริง!