หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/’อบอุ่น’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวาง - สำหรับสัตว์ป่า การเรียนรู้และรับถ่ายทอดประสบการณ์จากแม่ของลูกสัตว์ คือสิ่งจำเป็น

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

 

‘อบอุ่น’

 

ทุกครั้งที่ได้พบเห็นสัตว์ป่าแม่กับลูก

ผมรับรู้ถึงความรู้สึกแบบหนึ่ง นั่นคือความอบอุ่น ไม่ว่าจะเป็นนกชนิดต่างๆ เหล่าสัตว์กินพืช หรือบรรดาสัตว์ผู้ล่า รวมถึงสัตว์ที่หากินอยู่บนเรือนยอดไม้ อย่างค่าง ลิง และชะนี

ตั้งแต่เกิด ลูกชะนี ลูกค่าง จะเกาะติดอยู่กับอกแม่ราวสองปี เมื่อได้เวลาอันเหมาะสม ลูกจะค่อยๆ ผละจากอกแม่ โหนตัวไปตามกิ่งไม้ แม่คอยดูอยู่ใกล้ๆ พวกลูกๆ จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้วิถีของตัวเองให้รู้แจ้งตอนอยู่ในวัยเริ่มต้น ไม่เพียงเพื่อเอาชีวิตให้รอด สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ทำงานที่ได้รับมอบหมายมา และถ่ายทอดความรู้ความชำนาญให้กับรุ่นลูกต่อไป

ชะนีแสดงภาพเช่นนี้ให้เห็นอย่างชัดเจน

พวกมันอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว พ่อ แม่ และลูกเล็ก มีอาณาเขตเป็นของตัวเอง

ในป่าเวลาเช้า เสียงชะนีดังกึกก้องกังวานไปทั่วหุบเขา

ตัวผู้มีทำนองสูงๆ ต่ำๆ ส่งเสียงโต้ตอบระหว่างตัวผู้สองครอบครัวที่มีอาณาเขตใกล้ๆ กัน

ส่วนใหญ่ไม่มีการลงมือ ทั้งคู่เพียงประกาศให้อีกฝ่ายรับรู้ถึงอาณาเขตที่ห้ามรุกล้ำ

เมื่อถึงเวลาเหมาะสม รวมถึงลูก ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ จนครบถ้วนดีแล้ว

บรรยากาศของการจากลาจะเริ่มต้นขึ้น

ถึงเวลาที่ลูกจะถูกขับให้ออกไปสร้างครอบครัวของตัวเอง

ไม่มีแม่หรือลูกตัวไหนชื่นชมยินดีกับบรรยากาศจากลานี้หรอก

แต่ในที่สุดก็ต้องยอมรับในวิถี

การอยู่ลำพังในป่าใหญ่ ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าจะกลับไปหาความอบอุ่นกับอกแม่ไม่ได้แล้ว

โดยปกติลูกชะนีจะอยู่กับอกแม่สองปี

ส่วนใหญ่อยู่จนครบเวลา

แต่ก็มีลูกชะนีจำนวนไม่น้อยไม่มีโชค ถูกพรากจากอกแม่

โดนพรากเพราะแม่ถูกยิงตาย

 

“พวกค่าง พวกชะนี นี่ ถ้ามีลูก มันจะห่วงลูกมากกว่าตัวเอง” อาแซ จารู ชาวบ้านเชิงทิวเขาบูโด คุยให้ผมฟัง

“เราเคยยิงแม่ค่างที่มีลูกอยู่ที่หน้าอก ก่อนจะตกจากกิ่งไม้ มันส่งลูกให้อีกตัวรับไว้ ส่งเป็นทอดๆ และรีบพาตัวเล็กหนีไป”

อาแซเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แต่เห็นเป็นภาพชัดเจน

ภาพความห่วงใยระหว่างแม่กับลูก ของสัตว์จำพวกค่าง ลิง และชะนี ทำให้ผู้พบเห็น ใจอ่อนเสมอ

ใจอ่อน แม้ว่ามือจะถือปืน

ลุงมับ คนรับจ้างล่าสัตว์ในป่าเขาใหญ่ ก็หยุดล่า เพราะชะนีตัวหนึ่งที่แกยิง

“มันตกลงมา พยายามลุกขึ้นแกะลูกออกจากอก ลูกไม่ยอมร้องเสียงดัง จนแม่ล้มลงตาย ลูกก็ร้องไม่หยุด ผมน้ำตาซึม และบอกกับตัวเองว่า ตั้งแต่วันนั้นจะเลิกยิงสัตว์” ลุงมับเล่า

สำหรับบางคน เรื่องบางเรื่องไม่ซับซ้อนอะไร

เรื่องราวเล็กๆ บางอย่าง

ก็ทำให้บางคนเปลี่ยนหนทางชีวิต

 

ร่วมสิบปีแล้ว ที่ผมกลับจากทิวเขาบูโด

พร้อมกับความรู้สึกว่า “เหตุการณ์ความไม่สงบ” ทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูจะ “รุนแรง” เมื่อฟังข่าวอยู่ไกลๆ

ผมอยู่ร่วมกับโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก (ส่วนภาคใต้) ใช้เวลาอยู่ในบริเวณพื้นที่ซึ่งนับเป็นพื้นที่สีแดงของความไม่สงบ

ใช่ว่าจะไม่ได้ยินข่าวหรือไม่พบเห็นเหตุร้ายต่างๆ แต่ขณะอยู่ในหมู่บ้าน บนภูเขา ผมรู้สึกได้ถึงความอบอุ่น และห่างไกลอันตราย

กอเซ็ม สอนให้ผมนุ่งโสร่ง อาแซพาผมไปร่วมละหมาดที่มัสยิด ซอเลให้ผมอยู่ในวงเสื่อที่กั้นไม่ให้คนภายนอกเข้า นอกจากญาติ วันที่ลูกชายเขาทำพิธีสุหนัด

อีกทั้งกอเซ็มไม่ลงจากภูเขาในวันศุกร์ในวันที่ผู้ชายทุกคนต้องไปมัสยิด เพราะเขาห่วง ไม่อยากให้ผมอยู่บนเขาคนเดียว

“เราขาดละหมาดได้ 3 ครั้ง แต่ถ้ากอแซเป็นอะไรไป เราจะบาปมากกว่า” พวกเขาเรียกผมว่า กอแซ ชื่อนี้ได้มาจากการเอาชื่อหลายๆ คนมารวมกัน

ชื่อและนามสกุลของผม คือ กอแซ บูจารู

 

วันหนึ่ง ขณะอยู่บนเขา เพื่อเฝ้ารอนกชนหิน นกเงือกอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งสถานภาพไม่ปลอดภัยนัก หัวตันๆ ของพวกมันมีราคา เป็นที่ต้องการในตลาดค้าซากสัตว์ป่า

มัสบูด ชายหนุ่มร่างล่ำสัน ผิวคล้ำ อุ้มลูกค่างแว่นถิ่นใต้ ที่ยังเป็นขนสีทองมาให้ดู

เรานำลูกค่างตัวนั้นไปวางไว้โคนต้นไม้ จนกระทั่งแม่มารับตัวไป

ลูกค่างตัวสีทอง ยังไม่ถึงเวลาของการแยกจากอกแม่

ขนสีทองของมันตัดกับผิวเข้มของมัสบูด ชายหนุ่มผู้เลือกวิถีชีวิตของตัวเอง

ครอบครัวเขาเป็นคนตัดไม้ มัสบูดรับจ้างลากไม้ลงจากภูเขาตั้งแต่เด็ก

ชีวิตมัสบูดเปลี่ยนไปเมื่อมาร่วมงานกับพี่ๆ ในหมู่บ้านที่ช่วยกันดูแลนกเงือก

ผมมีโอกาสร่วมทำงานกับมัสบูดเสมอ ความสนิทสนมของเราไม่ต่างจากพี่น้อง

วันนั้น ผมเห็นลูกค่างตัวสีทองที่ยังต้องเกาะติดอยู่กับอกแม่

และเห็นชายหนุ่มผิวคล้ำคนหนึ่ง

มัสบูด หะแว

ที่พ้นจากอกแม่มานานแล้ว

 

บนภูเขาทางตอนเหนือ สายลมหนาวเดินทางมาถึง

นี่เป็นช่วงเวลาที่สายฝนอย่างจริงจังปกคลุมทิวเขาบูโด

“เมื่อไหร่กอแซจะกลับมา พวกเราคิดถึง” ห่างไกลนับพันกิโลเมตร มัสบูดส่งเสียงมา

“เร็วๆ นี้แหละ” ผมบอกเขา งานชิ้นใหม่ของผมอยู่ที่นั่น

“มาเร็วเลยครับ แต่เราไปช่วยงานไม่ได้มากแล้วนะ ต้องดูแลเมียด้วย” เขาหัวเราะชอบใจ

 

ทุกครั้งที่พบเห็นสัตว์ป่าแม่ลูก

พวกมันทำให้ผมรับรู้และสัมผัสได้

ว่า อ้อมอกของแม่นั้น “อบอุ่น” เพียงใด

แม้ว่าจะพ้นจากอกแม่มานานแล้ว…