จรัญ มะลูลีม : ดะโต๊ะ ศรี มหฎิร โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 และคนที่ 7 ของมาเลเซีย (2)

จรัญ มะลูลีม

มหฎิร โมฮัมมัด ต้องการให้ชาวมาเลเซีย “เรียนรู้และฝึกฝนจริยธรรมการทำงานจากญี่ปุ่นและเกาหลี”

เขากล่าวว่า “หากว่าความปรารถนาของเราสำเร็จ” มาเลเซียจะต้องมองตะวันออกที่ซึ่งประชาชนทำงานหนักเพื่อให้เราพ้นไปจากค่านิยมของตะวันตก ซึ่งเราซึมซับเอาไว้เพื่อที่จะเอาอย่างความขยันในการทำงาน ประสิทธิภาพในการจัดการความสัมพันธ์ทางการค้าและแง่มุมอื่น ซึ่งพบได้ในตะวันออก ดังนั้น การเปลี่ยนทิศทาง (reorientation) จากตะวันตกมาตะวันออกจึงเป็นเรื่องที่ “ชี้ขาดในจุดเชื่อมต่อของการพัฒนาประเทศ”

นอกจากนี้ เขายังได้อธิบายถึงความสำเร็จในทางเศรษฐกิจของมาเลเซียจนทำให้ประเทศอยู่ในระดับที่มีอิสระ และมีที่ทางพอที่จะวางรูปแบบของตนเองในระดับนานาชาติ

เมื่อมีเศรษฐกิจดีอยู่ในบ้านของตัวเองแล้ว นายกรัฐมนตรีก็สามารถที่จะบรรยายให้ผู้นำของประเทศอื่นๆ ฟังได้

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มาเลเซียสามารถก้าวไปตามแนวทางของตัวเอง ไม่ว่าในประเด็นของการนำเมียนมาเข้าร่วมใน ASEAN หรือในเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เป็นต้น

สัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองในทางวัตถุอย่างหนึ่งก็คือ การที่มาเลเซียมีตึกที่สูงที่สุดในโลก ผู้นำมาเลเซียในเวลานี้ก็ถูกดันขึ้นไปอยู่ในระดับสูงของนานาประเทศแล้ว

ครั้งหนึ่งนักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจได้กล่าวว่าความสนใจของมหฎิร โมฮัมมัด เกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องเศรษฐกิจ หากว่าเศรษฐกิจไปได้ดี โครงการทั้งหมดซึ่งเขาและที่ปรึกษาของเขาได้วางแผนไว้ก็จะมีโอกาสได้รับความสำเร็จ

หากว่าเศรษฐกิจไม่ดี เรื่องอื่นๆ ก็เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิสัยทัศน์ 2020 หรือเรื่องอื่นๆ

 

ด้วยจุดมุ่งหมายเช่นนี้ มหฎิร โมฮัมมัด จึงถูกล้อมรอบไปด้วยคนสนิทและที่ปรึกษา ซึ่งช่วยเขาในการวางแผนและนำแผนการต่างๆ มาใช้ เพื่อทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศที่ได้รับการพัฒนาแล้ว

ในทางอุตสาหกรรม มีโรงงานและเศรษฐกิจที่พึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งจะเริ่มต้นในศตวรรษใหม่ “วิสัยทัศน์ 2020” จึงเป็นเป้าหมายสำหรับอนาคตของมาเลเซีย การควบคุมองค์กรต่างๆ และการออกข้อจำกัดในเรื่องสิทธิของผู้ใช้แรงงานก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มหฎิรนำมาใช้

การเข้าสู่อำนาจของมหฎิร โมฮัมมัด ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่อาวุโสที่สุดของโลกในวัย 92 ปี จึงน่าจับตาและศึกษาว่าที่ผ่านมามหฎิรยังคงอยู่ในใจของชาวมาเลเซียได้ด้วยเหตุอันใด

อย่างไรก็ตาม มโนทัศน์ 2020 ซึ่งมหฎิรปูทางเอาไว้อาจไม่เป็นไปตามความมุ่งหวัง

เพราะหลังจากการเป็นนายกรัฐมนตรีมายาวนานในสมัยแรกแล้ว

ผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากเขาทั้งสองคนไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่จุดหมายที่เขาต้องการได้

 

สําหรับมหฎิรแล้ว มโนทัศน์ 2020 ถือเป็นมโนทัศน์ในการพัฒนาสถานะของประเทศระยะยาว นั่นคือการคาดหมายให้ประเทศมีความสามารถยืนหยัดและดำรงการเติบโตอย่างถาวรทางเศรษฐกิจในระยะยาวเอาไว้ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 7 และให้การลงทุนที่มาจากต่างประเทศไหลลื่นต่อเนื่อง

นับเป็นชัยชนะส่วนตัวที่มหฎิรยืนหยัดอยู่ได้อย่างสง่างามในหมู่ประเทศที่อยู่ในระดับเดียวกัน และได้รับการเคารพชื่นชม ทั้งจากมิตรสนิทและปรปักษ์ของเขา ในแง่มุมหนึ่งเขามีความสามารถในการอ่านทิศทางและมีความสามารถในการคาดการณ์โลกทั้งผองและแนวโน้มด้านเสรีนิยม ซึ่งห้อมล้อมโลกอยู่ในช่วงเวลาที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกได้ดี

เขาคิดได้อย่างยาวไกลและลุ่มลึก และสิ่งนี้เองส่งผลสะท้อนถึงการวางนโยบายต่างประเทศว่าหนทางที่ดีที่สุดที่วางอยู่ข้างหน้าควรจะไปในทิศทางใดเพื่อที่จะก้าวไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในหลายๆ เหตุการณ์ก็ไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหมายจะให้เป็น แนวคิดว่าด้วยโลกที่สามนิยม (Third-Worldism) และลัทธิการประกอบสร้างแบบมหฎิร (Mahathirian Constructivism) นั้น แม้จะได้รับการยกย่องและถูกวิพากษ์มาจากทั่วโลก แต่แนวคิดดังกล่าวก็ยืนหยัดท้าทายต่อกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน

ในท้ายที่สุดนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียก็ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากบรรดาผู้นำของโลก นักวิชาการที่เอาจริงเอาจังได้เขียนวิพากษ์เขา

ซึ่งมหฎิรเองก็ตอบโต้การวิพากษ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะส่งผลที่เป็นไปในทางลบต่อนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียไปพักใหญ่ก็ตาม

 

มหฎิรนั้นต่างไปจากตุนกู อับดุรเราะห์มาน ซึ่งนโยบายต่างประเทศของเขาคือการนำเอารูปแบบจากอังกฤษมาใช้ ในเวลานั้นมาเลเซียจึงมีบทบาทสำคัญอยู่ในกิจการของเครือจักรภพ ในทางการทหารมีข้อตกลงถึงการเตรียมการด้านกลาโหมระหว่างอังกฤษกับมาเลเซียเพื่อความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศ รวมทั้งการได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่ตามมาด้วยการพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การมีเชื้อสายไทยทำให้ตุนกู อับดุรเราะห์มาน มีจุดยืนที่ดีกับประเทศไทย เขาจะมีชื่ออยู่ในลำดับแรกๆ เคียงคู่กับผู้เป็นแกนนำของไทยในเวลานั้นอย่างถนัด คอมันตร์ และถนอม กิตติขจร ความมั่นคงตามชายแดนของไทยและมาเลเซียจึงมีความสงบในสมัยของเขา อันเป็นสมัยที่นโยบายต่างประเทศมีศูนย์รวมอยู่ในประเทศแทนที่จะอยู่ภายนอกประเทศ

สำหรับมหฎิร เสาหลักที่สามในกระบวนทัศน์ของเขานอกเหนือไปจากแนวคิดว่าด้วยโลกที่สามนิยมและลัทธิการประกอบสร้างตามแบบฉบับของเขาเองก็คือลัทธิพหุภาคีนิยม (Multilateralism) ในกระบวนทัศน์ดังกล่าวเราก็จะเห็นลักษณะแห่งบุคลิกของมหฎิร ทั้งที่มาจากระดับภายในและภายนอก และมีที่ทางสำคัญอยู่ใน ASEAN และความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก (EAEC) ในฐานะที่เป็นผู้ปกป้องพหุภาคีนิยมของชาติต่างๆ

ตัวอย่างเช่น ในระดับที่เป็นจุดหมายแห่งผลประโยชน์ของชาตินั้น มหฎิรได้นำเอาการทูตทางเศรษฐกิจมาใช้และเป็นแกนนำของประเทศที่อยู่ในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในทางยุทธศาสตร์ แน่ละ มหฎิรต้องการทิ้งมรดกของเขาไว้เบื้องหลัง เมื่อเขาออกไปจากภาพที่เคยปรากฏ เขาจึงเป็นแบบอย่างที่ผู้นำระดับโลกแสวงหาทั้งจากโดยบุคลิกและการกระทำเพื่อทำให้ประเทศชาติได้รับความรุ่งเรืองและทำให้มาเลเซียอยู่ในแผนที่ที่เป็นส่วนสำคัญของโลก

ดังนั้น การกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในวัยที่ใกล้จะถึงอายุ 93 ปีของเขาจึงได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากชาวมาเลเซีย เมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำคนอื่นๆ ที่ไม่สามารถพัฒนาประเทศได้เหมือนกับที่มหฎิรได้กระทำมาก่อน

 

จากข้อมูลข้างต้น มหฎิรในฐานะชาวมาเลเซีย ในฐานะนักบริหารได้วางนโยบายต่างประเทศที่น่าประทับใจเอาไว้มายาวนานกว่า 2 ทศวรรษหรือมากกว่า

จึงไม่น่าแปลกใจว่าหลายๆ คนพยายามที่จะหาหลักฐานและประเมินคุณูปการที่เขาได้ทำเอาไว้

นักวิชาการคนสำคัญของมาเลเซียอย่าง Khoo Boo Teik ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดคำว่า “ลัทธิมหฎิร” ได้อ้างถึง “อุดมการณ์ที่โดดเด่น” ของมหฎิรว่ามาจากส่วนประกอบห้าอย่าง ได้แก่

ลัทธิชาตินิยม ทุนนิยม อิสลาม ประชานิยม และลัทธิเผด็จการ