วิเคราะห์การเมืองตุรกี : การงัดข้อกับลัทธิเคมาลกับกองทัพ

AFP PHOTO / BULENT KILIC

วิกฤติประชาธิปไตย (11)

การงัดข้อกับลัทธิเคมาลกับกองทัพ

การงัดข้อระหว่างระบอบแอร์โดอานกับลัทธิเคมาลและกองทัพ เป็นความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำตุรกี ว่าจะนำพาประเทศไปสู่หนทางใดในศตวรรษที่ 21 ที่มากด้วยความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงสูง

ระบอบแอร์โดอานมีความสดใหม่และมีลักษณะเชิงปฏิบัติ การพลิกพลิ้วที่สูงกว่า อยู่ในกระบวนรุก

ขณะที่ลัทธิเคมาลที่ใช้ปฏิบัติมานาน ค่อนข้างอุ้ยอ้าย เคลื่อนไหวช้า และหวั่นเกรงการเปลี่ยนแปลง อยู่ในกระบวนรับ

แม้เริ่มต้นจะดูเข้มแข็งกว่ามาก แต่เมื่องัดข้อกัน นานเข้าก็แสดงอาการอ่อนล้า จนตกเป็นเบี้ยล่างในที่สุด

การงัดข้อดังกล่าวมีผู้ร่วมแสดงจำนวนมาก และมีความซับซ้อนยิ่ง มีทั้งภายในชนชั้นนำตุรกีเอง ประชาชนตุรกีที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานับสิบปี ชนชาติส่วนน้อยชาวเคิร์ดที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี และทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรียและตอนเหนือของอิรัก ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน สร้างขบวนการแบ่งแยกดินแดนในตุรกีตั้งแต่ปี 1924

นอกจากนี้ยังมีผู้แสดงเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่าน ที่มีทรัพยากรพลังงานมาก

อาร์เมเนียที่มีกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนชนักปักหลัง

กลุ่มประเทศอาหรับมีอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ เป็นต้น ที่เคยอยู่ในจักรวรรดิออตโตมานมาก่อน ประเทศในเอเชียกลางที่มีคนเชื้อสายตุรกีอยู่จำนวนหนึ่ง ไปจนถึงประเทศซูดานในแอฟริกา และยังมีผู้แสดงสำคัญเป็นมหาอำนาจตะวันตก มีสหรัฐและรองลงมาคือสหภาพยุโรป และรัสเซียที่เป็นคู่แข่งกันมานานในประวัติศาสตร์ มีทรัพยากรพลังงานมาก มีความสัมพันธ์ที่พลิกไปมาระหว่างศัตรูกับมิตร

นอกจากนี้ยังมีมหาอำนาจห่างไกลอย่างเช่นจีนที่มีโครงการแถบและทาง สร้างเส้นทางสายไหมใหม่ซึ่งดึงดูดตุรกีที่มีอภิโครงการของตนเองจำนวนมากเข้าร่วมด้วย

ไม่เพียงมีผู้แสดงมาก สถานการณ์ก็ยังหลากหลาย มีทั้งสงครามกลางเมือง สงครามเศรษฐกิจ การจลาจล การพลิกผัน โอกาสใหม่และวิกฤติทางเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งและช่องว่างทางชนชั้น ระบอบแอร์โดอานต้องโลดเต้นไปบนสภาพที่ไม่แน่นอนเหล่านี้อย่างน่าติดตาม

ในการงัดข้อที่ดุเดือด พบว่าลัทธิเคมาลใช้พลังอาวุธอยู่สามประการใหญ่ ได้แก่

ก) การควบคุมสื่อกระแสหลัก ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางการเมือง เพื่อโจมตีพรรคและนักการเมืองที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางและผลประโยชน์ของกองทัพ หรือใช้สร้างกระแสการเคลื่อนไหวสนับสนุนหรือการต่อต้านในเรื่องต่างๆ

ข) การใช้สถาบันศาล มีศาล รัฐธรรมนูญ เป็นต้น เพื่อตัดสินไปในทางที่ต้องการ เช่น ยุบพรรค หรือห้ามบุคคลลงสมัครเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นทำนอง “ตุลาการภิวัฒน์”

ค) ใช้การก่อรัฐประหารที่เป็นมาตรการเด็ดขาด เป็นการล้างไพ่ทางการเมือง มีการยุบพรรคการเมืองทั้งหลาย การฉีกและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นต้น หลังจากนั้นก็เปิดให้มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลพลเรือน ซึ่งย่อมเป็นปีกขวาเหมือนกันและอยู่ในการควบคุมสอดส่องจากกองทัพ

ส่วนระบอบแอร์โดอานนั้น หลังจากพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (ต่อไปจะเรียกย่อตามสื่อมวลชนว่าพรรคเอเคพี) ได้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปปี 2002 ด้วยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดถึงสองในสาม

แอร์โดอานรู้สึกว่าตนเป็นผู้ที่ถูกเลือกโดยประชาชนตุรกีให้ขึ้นมาปกครองประเทศ เพราะว่าในตุรกีมีพรรคการเมืองจำนวนมาก คะแนนเสียงจึงแตกกันไป จำต้องตั้งรัฐบาลผสมกันเกือบโดยตลอด

และเพื่อป้องกันเสียงแตกมากไป ได้มีกฎหมายเลือกตั้งกำหนดว่า พรรคใดได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 10 ของคะแนนเสียงทั้งหมดก็จะไม่ได้ที่นั่งในสภาเลย

และคะแนนที่ได้มาก็ต้องยกให้แก่พรรคที่มีคะแนนมากตามสัดส่วนกันไป

พรรคเอเคพีได้รับคะแนนเสียงทั้งหมดในการเลือกตั้งครั้งนั้นร้อยละ 34.8 ได้ที่นั่ง 363 จากทั้งหมด 550 ที่นั่ง พรรคสาธารณรัฐประชาชนที่เป็นพรรคเก่าแก่ ได้คะแนนเสียงร้อยละ 19.39 ได้ที่นั่ง 178 ที่นั่ง ผู้สมัครอิสระได้ 9 ที่นั่ง

แอร์โดอานได้เคลื่อนไหวในเชิงรุกอย่างรอบด้าน เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนตุรกีเห็นว่าระบอบแอร์โดอานมีความเหมาะสมกว่าลัทธิเคมาล และสามารถนำพาประเทศไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้ในศตวรรษที่ 21

ในฉบับนี้จะกล่าวถึงการเคลื่อนไหวสองประการที่มีส่วนสำคัญในการทำให้ระบอบแอร์โดอานขึ้นมาเหนือกว่าลัทธิเคมาล (ตั้งแต่ราวปี 2011)

ได้แก่การปฏิรูปเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน

และนโยบายไร้ปัญหากับเพื่อนบ้าน

Turkish president Recep Tayyip Erdogan delivers a speech at the Presidential Complex in Ankara, on January 17, 2017. / AFP PHOTO / ADEM ALTAN

การปฏิรูปเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน

เศรษฐกิจของตุรกีทรุดหนักในปี 2001 จนต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟ ที่บังคับให้มีวินัยทางการเงินการคลังเข้มงวด

ตุรกีเองก็ยอมตามโดยหวังว่าจะได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหลังผ่านวิกฤติ

เมื่อรัฐบาลแอร์โดอานได้ขึ้นมาปกครองประเทศ ได้ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวทางไอเอ็มเอฟอย่างจริงจัง

ได้แก่การควบคุมรายจ่ายเข้มงวด เพิ่มความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน

ให้ธนาคารกลางมีอิสระมากขึ้น และการปฏิรูปตลาดให้มีลักษณะ เปิดและดูแลจัดการได้ดีขึ้นจนเศรษฐกิจฟื้นตัว สามารถลดภาวะเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว ลดหนี้ของประเทศ และการส่งออกพุ่ง 325 เปอร์เซ็นต์ในช่วงสิบปีนับแต่ปี 2002

ความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลให้ในปี 2016 ตุรกีเป็นชาติผลิตอาหารใหญ่ที่สุดอันดับแปดของโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้มาเที่ยวมากที่สุดอันดับหกของโลก

ในบริษัทก่อสร้างใหญ่ของโลก 250 บริษัท เป็นบริษัทของตุรกี 43 แห่ง (สืบเนื่องจากมีอภิโครงการของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008)

แต่หลังจากประสบความสำเร็จแล้ว มีผู้วิเคราะห์ว่าการปฏิรูปก็เริ่มหย่อนยานลง เช่น การจัดซื้อจัดจ้างไม่ได้โปร่งใสเหมือนก่อน เกิดการเล่นพวก นักธุรกิจต้องหาเครือข่ายความสัมพันธ์กับผู้กุมอำนาจ รัฐบาลเริ่มเข้ามาแทรกแซงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง เป็นต้น

พบว่าระหว่างปี 2002 ถึง 2007 เศรษฐกิจตุรกีเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.8

แต่หลังจากนั้นอัตราการเติบโตลดลง ที่สำคัญเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะของสหภาพยุโรปที่เป็นคู่ค้าสำคัญ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศก็ลดลง

จากจุดสูงสุดที่ 22 พันล้านดอลลาร์ในปี 2007 เหลือเพียง 12.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2014

ในปัจจุบันถือว่าอัตราการเติบโตร้อยละ 3-3.5 เป็นสิ่งปกติ

การปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นการดำเนินนโยบายตามแนวเสรีนิยมใหม่ มีด้านที่เร่งการเติบโต แต่ก็มีด้านลบของมัน ได้แก่ ปัญหาหนี้สิน หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากราวร้อยละ 5 ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2002 เป็นราวร้อยละ 55 ของครัวเรือนทั้งหมด

ในปี 2013 เงินออมของครัวเรือนก็ลดลงเหลือราวร้อยละ 12.6 ของจีดีพีประเทศ

ในปี 2014 อยู่ในระดับต่ำสุดของประเทศตลาดเกิดใหม่ ซ้ำเกิดการเก็งกำไรในหลักทรัพย์ต่างๆ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ดูรายงานพิเศษชื่อ Erdoganomics ใน The Economist 06.02.2016)

Turkish President Recep Tayyip Erdogan arrives to deliver a speech on June 24, 2018 in Istanbul, after initial results of Turkey’s presidential and parliamentary elections.
Erdogan on June 24 declared victory in a tightly-contested presidential election, extending his 15-year grip on power in the face of a revitalised opposition. Turkish voters had for the first time cast ballots for both president and parliament in the snap polls, with Erdogan looking for a first round knockout and an overall majority for his ruling Justice and Development Party (AKP). / AFP PHOTO / BULENT KILIC

นโยบายไร้ปัญหากับเพื่อนบ้าน

นโยบายไร้ปัญหากับเพื่อนบ้านเป็นนโยบายต่างประเทศสำคัญของตุรกีในระบอบแอร์โดอาน เป็นนวัตกรรมทางการเมืองของตุรกี ส่งผลให้เมื่อประกอบกับเหตุปัจจัยอื่นทำให้ตุรกีกลายเป็นอำนาจภูมิภาคที่ใครจะมองข้ามได้ยาก

อนึ่ง แม้มันเป็นนโยบายต่างประเทศ แต่ความจริงนั้นนโยบายต่างประเทศทั้งหลายเริ่มจากนโยบายภายในประเทศ เมื่อมีนโยบายภายในที่ดี มีเอกภาพ สร้างความเข้มแข็ง ความเป็นปึกแผ่นภายในชาติ จึงสามารถสร้างนโยบายต่างประเทศที่ดีและมีเอกภาพได้

นโยบายไร้ปัญหากับเพื่อนบ้าน เป็นสำนึกทางการเมืองใหม่

เป็นการค้นพบตัวตนใหม่ของตุรกีในศตวรรษที่ 21 ให้เกิดความมั่นใจและการกล้าก้าวเดินไปข้างหน้า

การมีนโยบายนี้นับเป็นเครื่องมือและอาวุธที่วิเศษ เมื่อเทียบกับสหภาพยุโรปที่มีสถาบันทางเศรษฐกิจ-การเมืองมั่นคงพัฒนากว่าของตุรกีเป็นอันมาก และมักดูหมิ่นตุรกีที่เป็นประเทศมุสลิมว่าล้าหลัง ไม่เป็นประชาธิปไตย ชอบละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่สหภาพยุโรปไม่สามารถสร้างนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระจากสหรัฐ แม้ว่าจะถูกเหยียบย่ำจากประธานาธิบดีทรัมป์อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงไม่สามารถก้าวไปได้ไกล จนกว่าจะสามารถสร้างนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระของตนขึ้นมาได้

ผู้แสดงสำคัญในการสร้างนโยบายต่างประเทศใหม่ของตุรกี ได้แก่ นายอาห์เหม็ต ดาวูโตกลู (Ahmet Davutoglu เกิด 1959) เขาเป็นนักวิชาการ (ศาสตราจารย์วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) นักการเมือง นักการทูต ทำงานใกล้ชิดกับแอร์โดอานมายาวนาน โดยเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาต่างประเทศของแอร์โดอานตั้งแต่เริ่มเป็นนายกรัฐมนตรี (2003-2009) เป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ (2009-2014) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (2014-2015)

ลาออกกะทันหัน เนื่องจากมีแนวคิดขัดกับแอร์โดอาน เช่น ประเด็นที่แอร์โดอานต้องการเปลี่ยนเป็นระบอบประธานาธิบดีเพื่อการรวมศูนย์อำนาจ

แต่เขาก็ยังสนับสนุนแอร์โดอานต่อไป

ดาวูโตกลูเป็นผู้วางรากฐานและทำให้นโยบายต่างประเทศของตุรกีเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เป็นเวทีใหญ่สำหรับแอร์โดอานผู้ลื่นไหลและพลิกพลิ้ว และต้องการเป็นที่สนใจบนเวทีโลกได้แสดงอย่างเต็มที่

ผลงานของดาวูโตกลูชิ้นสำคัญได้แก่หนังสือชื่อ “ยุทธศาสตร์เชิงลึก” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 2001 ปีก่อตั้งพรรคเอเคพี) และบทความจำนวนมาก

จากงานเขียนและการปฏิบัติจริง สามารถสรุปความคิดและนโยบายไร้ปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านได้ดังนี้

ก) นโยบายนี้มีแนวคิดแบบ “สัจนิยมใหม่เชิงจิตนิยมหรืออุดมคติ” ที่เป็นสัจนิยมใหม่เป็นการวิเคราะห์แนวภูมิรัฐศาสตร์แบบพลวัต เพื่อค้นหาระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างประเทศในโลก ทั้งบนบกและในทะเล ทั้งในภูมิภาคใกล้เคียง ได้แก่ คาบสมุทรบอลข่าน ตะวันออกกลาง และบริเวณคอเคซัส และข้ามทวีปไปจนถึงจีนและสหรัฐ เป็นต้น

ศึกษาอำนาจแห่งชาติและความสัมพันธ์ทางอำนาจนั้น ส่วนที่เป็นเชิงจิตนิยมหรืออุดมคติ เป็นการยึดโยงการวิเคราะห์เข้ากับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งในกรณีของตุรกีมีภูมิหลังและวัฒนธรรมที่เป็นจักรวรรดิออตโตมานที่เป็นอิสลาม และมีอำนาจในภูมิภาคนี้มายาวนาน

ข) เป็นการเปลี่ยนจากนโยบายเดิมที่ต้องการรักษาสถานะเดิมและโอนอ่อนไปตามอิทธิพลของสหรัฐและตะวันตกเป็นสำคัญ มาเป็นนโยบายที่เน้นให้ตุรกีเป็นผู้กระทำมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค ไม่ยอมให้ผลประโยชน์ของชาติถูกมองข้ามไปง่ายๆ

ค) เปลี่ยนจากนโยบายที่ถือตุรกีเป็นแนวปะทะ หรือการเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านล้วนมีปัญหากระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติไปสู่การสร้างสันติภาพ เป็นการจัดระเบียบภูมิภาคให้สงบและเจริญรุ่งเรือง (ดูบทปริทัศน์หนังสือ “ยุทธศาสตร์เชิงลึก” ของดาวูโตกลู ชื่อ The Review Article : Strategic Depth (Stratejik Derinlik) โดย M. Cuneyt Yenigum ใน researchgate.net ฤดูหนาว 2002 ประกอบ)

จากการปฏิบัติตามนโยบายนี้ ตุรกีได้ผูกมิตรกับรัสเซีย อิหร่าน อิรักและซีเรีย เปิดเจรจากับกลุ่มชาวเคิร์ด ญาติดีกับอาร์เมเนีย เข้าไปเป็นมิตรกับประเทศมุสลิมในตะวันออกกลาง สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ จนถึงขั้นปะทะกับอิสราเอล ซึ่งเป็นธรรมดาที่สหรัฐและตะวันตกย่อมไม่พอใจ

แม้ว่าตุรกีจะพยายามถนอมรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐและตะวันตกไว้

อย่างไรก็ตาม ตุรกีก็สะดุดขาตนเอง ในปี 2011 ตุรกีละทิ้งนโยบายไร้ปัญหากับเพื่อนบ้าน และสร้างปัญหาแก่ประเทศเพื่อนบ้านไปทั่ว เช่น ขัดใจอิหร่านในการยินยอมให้นาโต้ติดตั้งระบบเตือนภัยขีปนาวุธ เพื่อป้องกันการโจมตีอิสราเอล

และที่ร้ายแรงที่สุดคือการเข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมืองซีเรียเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีอัลอัสซาด ถึงขั้นยิงเครื่องบินรบของรัสเซียที่เข้าช่วยอัสซาดตกในเดือนพฤศจิกายน 2015

การพลิกตัวครั้งนี้อาจเนื่องจากประเมินอำนาจแห่งชาติของสหรัฐ-นาโต้ ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอลสูงเกินไป หรือต้องการแข่งอิทธิพลกับอิหร่านมากเกินไป

จากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ทำให้ตุรกีโดดเดี่ยวและอ่อนแอ ถูกคลื่นก่อการร้ายโจมตีถึงกลางเมืองหลายครั้ง กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถูกกระแสการประท้วงใหญ่ ได้แก่ การประท้วงที่สวนสาธารณะเกซีที่ยืดเยื้อ

เป็นช่วงการหลงทางห้าปีของตุรกี จนกระทั่งแอร์โดอานยอมขอโทษรัสเซียในเดือนมิถุนายน 2016 วิจารณ์กันว่าตุรกีอาจฟื้นนโยบายไร้ปัญหากับเพื่อนบ้านขึ้นมาอีกครั้ง

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงกรณีงัดข้อทางการเมืองและการเคลื่อนไหวสำคัญที่ทำให้แอร์โดอานผงาดขึ้นมาเต็มตัว