วงค์ ตาวัน : รอวันที่มีแต่เสียงชื่นชมกองทัพ

วงค์ ตาวัน

เรื่องราวของ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตกเป็นข่าวที่คนทั่วทั้งประเทศเฝ้าติดตาม รวมไปถึงคนหลายๆ ชาติทั่วโลกด้วย เพราะสำนักข่าวยักษ์ใหญ่ระดับโลก ต่างพากันนำเสนอข่าวนี้อย่างเกาะติดเช่นกัน

ตั้งแต่เริ่มหายตัวไป จนกระทั่งทีมนักดำน้ำของอังกฤษสามารถตะลุยเข้าไปลึกจนพบทั้ง 13 ชีวิตอยู่ในสภาพปลอดภัย หลังจากใช้เวลา 10 วัน สร้างความยินดีปรีดาให้กับคนไทยถ้วนหน้า และรวมไปถึงคนที่ตามข่าวในทั่วโลกด้วย

ความรู้สึกดีอกดีใจแผ่กว้างไปทั่ว พร้อมทั้งเสียงยกย่องชื่นชมผู้ร่วมในปฏิบัติการกอบกู้ 13 ชีวิตครั้งนี้

โดยเฉพาะทีมนักประดาน้ำกู้ภัยจากอังกฤษ ฮีโร่ที่เข้าไปพบทั้ง 13 ชีวิตเป็นชุดแรก ไปจนถึงนักกู้ภัยจากหลายๆ ชาติที่เข้ามาร่วมกัน

บรรดาทีมกู้ภัยในไทยเราเอง หน่วยราชการต่างๆ ทั้งมหาดไทย ทหาร ตำรวจ

รวมทั้งหน่วยซีลของกองทัพเรือ ที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมฝ่าสายน้ำภายในถ้ำ ไปกับนักดำน้ำกู้ภัยระดับโลกจากต่างชาติ

ขณะที่ตำรวจนำโดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. แต่งชุดสนาม เดินเข้าป่าปีนขึ้นเขาไปกับทีมตำรวจพลร่ม เพื่อหาหาทางเข้าไปกอบกู้ 13 ชีวิตอีกทาง จนกลายเป็นพระเอกในโลกโซเชียล

“ที่แน่นอนก็คือ ภาพการทำงานหนักของทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ เป็นที่ประทับใจในหมู่ประชาชนคนไทยอย่างมาก!”

เสียงชื่นชมที่มีให้กับทหารเป็นไปอย่างกว้างขวาง

“จนกล่าวกันว่า ถ้าไม่มีการนำกองทัพไปทำอะไรที่นอกเหนือภารกิจที่ควรจะทำแล้ว เชื่อได้เลยว่ากองทัพจะเป็นขวัญใจประชาชนไปได้ตลอดกาล”

แต่ที่ผ่านมา ทหารมักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อเข้ามายุ่งเกี่ยวในเรื่องที่ไม่ใช่ภารกิจทหาร

โดยเฉพาะการเข้ายึดอำนาจทางการเมือง ซึ่งแม้จะมีคนที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมการเมืองสนับสนุน เพราะอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ถูกควบคุมด้วยอำนาจเด็ดขาด

แต่คนที่เชื่อในหลักประชาธิปไตย จะไม่มีใครยอมรับกับการรัฐประหาร และจะต้องแสดงการต่อต้าน เสียดสี วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

“เท่ากับว่า ทหารเข้ามายุ่งกับการเมืองทุกครั้งก็ต้องโดนในซีกประชาธิปไตยแสดงการต่อต้านไม่ยอมรับทุกครั้งเช่นกัน”

ไปจนถึงการนำทหารเข้ามาสลายการชุมนุมของประชาชน มักจะนำมาซึ่งการสูญเสีย เนื่องจากทหารได้รับการฝึกฝนมาเพื่อการสู้รบในสงครามเช่นเดียวกัน ทหารเข้ามาร่วมสลายม็อบจนล้มตาย ก็จะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนในฝ่ายที่สูญเสีย

หนล่าสุดก็คือเหตุการณ์สลายม็อบ นปช. ในปี 2553 ที่มีคนตายถึง 99 ศพ ยังเป็นประเด็นฝังในใจจนถึงทุกวันนี้

ทำอย่างไร ที่ให้ทหารได้เป็นที่ยกย่องชื่นชม ไม่ต้องมาเป็นคู่กรณีกับฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ต้องมาเป็นคู่กรณีกับประชาชนที่สูญเสียเมื่อถูกสลายม็อบ

ซึ่งเรื่องแบบนี้ หลายประเทศในโลกเขาทำกันได้ จนกองทัพไม่ต้องมีปัญหาถูกโจมตีใดๆ อีกเลย!

ภารกิจของกองทัพนั้นแน่นอนว่าต้องเป็นผู้รักษาอธิปไตยของชาติ เป็นแนวหน้าปกป้องประเทศชาติให้พ้นจากข้าศึกศัตรู ที่เปรียบกันว่าคือรั้วของชาติที่เข้มแข็ง ซึ่งหลายประเทศ ทหารก็เน้นทำหน้าที่นี้เป็นหลัก ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภารกิจอื่น เช่น ไม่เข้าไปร่วมแทรกแซงทางการเมือง

ภารกิจที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การร่วมช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรง กอบกู้ชีวิตชาวบ้านที่ตกอยู่ในภัยธรรมชาติ เนื่องจากกองทัพเป็นหน่วยงานที่มีเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น รถบรรทุกขนาดใหญ่และมีความสูงพอจะสามารถลุยฝ่าพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ในการลำเลียงประชาชนออกมา

มีเครื่องบิน มีเฮลิคอปเตอร์ ที่สามารถบรรทุกสิ่งของไปช่วยเหลือ หรือรับประชาชนที่ประสบภัยได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีกำลังพลที่มีร่างกายเข้มแข็ง

“ทุกชาติที่เจริญแล้ว เขาจะมีกองทัพไว้ทำภารกิจหลักๆ แบบนี้เท่านั้น คือรักษาอธิปไตยและความมั่นคงของชาติ กับเป็นหน่วยหลักในการกอบกู้วิกฤติภัยธรรมชาติ”

มีแต่ประเทศที่ล้าหลัง ซึ่งไปนำเอากองทัพมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง มายึดอำนาจ หรือปกป้องรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

“หนักหนากว่านั้น คือยังใช้กองทัพมาสลายการชุมนุมประท้วงของประชาชน”

ในประเทศไทยเรามีการใช้ทหารปราบม็อบจนนองเลือดไปทั่วท้องถนนครั้งใหญ่ก็คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในยุครัฐบาลทหารถนอม-ประภาส ครั้งต่อมาคือพฤษภาทมิฬ 2535 ในยุครัฐบาลทหาร รสช.

หลังเหตุพฤษภาคม 2535 นี่เอง รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเข้ามาแก้ปัญหา ได้มีมติสำคัญข้อหนึ่งคือ ให้ยกเลิกการให้ทหารเข้ามาสลายการชุมนุมประท้วงอีกต่อไป ให้จัดตั้งตำรวจหน่วยปราบจลาจลที่เต็มกำลัง สมบูรณ์แบบ และจัดซื้ออุปกรณ์ปราบจลาจลตามหลักสากล เช่น ชุดสวมใส่ของตำรวจปราบจลาจล โล่ กระบอง ปืนแก๊สน้ำตา กระสุนยาง

“มติ ครม.อานันท์ เมื่อปี 2535 ระบุชัดว่า ต่อไปนี้ประเทศไทยต้องใช้แต่ตำรวจปราบจลาจลที่จัดตั้งอย่างครบพร้อมแล้วเท่านั้นในการสลายม็อบ เช่นเดียวกับที่ทำกันทั่วโลก”

จนกระทั่งในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุรรณ ที่รู้กันว่าเข้ามามีอำนาจด้วยการพลิกขั้วทางการเมือง โดยมีกองทัพอยู่เบื้องหลัง ยุคนี้แหละที่นำทหารกลับมาใช้ปราบม็อบอีก ด้วยข้ออ้างว่ามีผู้ก่อการร้ายชายชุดดำปะปนในที่ชุมนุม อนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ จนลงเอยตายไป 99 ศพ

แล้วทุกศพ ไม่มีศพไหนเลยที่เป็นผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ

อีกทั้งศาลยังได้ชี้ผลไต่สวนชันสูตรศพไปแล้ว 17 รายว่าตายด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงจากฝั่งทหารที่ปฏิบัติการตามคำสั่ง ศอฉ.

แม้คดีนี้ยังไม่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลย แต่ฝ่ายแกนนำ นปช. และญาติผู้ตายยืนยันว่าจะต้องทวงความเป็นธรรมไม่จบสิ้น

การฝืนมติ ครม.อานันท์ การปฏิบัติที่ขัดแย้งกับหลักสากล ซึ่งทั่วโลกยกเลิกการใช้กองทัพเข้ามาสลายม็อบแล้ว

ทำให้กองทัพต้องตกเป็นคู่กรณีกับประชาชนฝ่ายที่สูญเสียในคดี 99 ศพไปอีกยาวนาน

ในการสอบสวนทำสำนวน 99 ศพนั้น มีประเด็นสำคัญที่พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำตัวแทนกองทัพระบุว่า โดยปกติทหารจะต้องทำหน้าที่ในด้านการปกป้องอธิปไตย ป้องกันตามแนวชายแดน ทหารไม่สามารถเข้ามาปฏิบัติหน้าที่บนท้องถนนในกรุงเทพฯ ได้เลย เพราะไม่ได้ให้อำนาจตามกฎหมายเอาไว้

แต่เหตุการณ์สลายม็อบปี 2553 นั้น เนื่องจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้จัดตั้ง ศอฉ. ขึ้นมา เพื่อควบคุมสั่งการในสถานการณ์ดังกล่าว

แล้ว ศอฉ. ก็ใช้อำนาจในการสั่งการให้ทหารเข้ามาปฏิบัติการใน กทม.

ข้อมูลประเด็นนี้ชัดเจนว่า รัฐบาลและ ศอฉ. อุตส่าห์ใช้อำนาจพิเศษในการนำเอากองทัพเข้ามาปฏิบัติการสลายการชุมนม ด้วยอ้างเรื่องผู้ก่อการร้าย แต่ตายไป 99 ศพ ไม่มีผู้ก่อการร้ายแม้แต่ศพเดียว

“เป็นเรื่องน่าเศร้าแทนกองทัพ ที่ต้องการเป็นคู่กรณีกับประชาชนฝ่ายที่สูญเสีย ทั้งจะเป็นบาดแผลที่ดำรงอยู่ต่อไปอีกยาวนาน”

ไม่เท่านั้น หลังจากนั้นแกนนำรัฐบาลยุคปี 2553 นั่นเอง ก็เป็นแกนนำม็อบ กปปส. ชัตดาวน์ เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 จนลงเอยเกิดการรัฐประหาร

แกนนำ กปปส. ที่มาจากรัฐบาลยุคปี 2553 และแกนนำกองทัพซึ่งก็เป็นแกนนำใน ศอฉ.

“แล้วก็ร่วมกันในกระบวนการที่นำมาสู่การยึดอำนาจปี 2557 จัดตั้งรัฐบาล คสช. แถมจะยังเดินหน้าทำทุกอย่างเพื่อให้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งต่อไปอีก”

เมื่อมาถึงการปฏิบัติหน้าที่กอบกู้ 13 ชีวิตในถ้ำหลวง เราได้เห็นภาพดีๆ ของทหาร ทั้งหน่วยซีลและ 3 เหล่าทัพในการทุ่มเทกำลังและเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อช่วยเหลือประชาชน เกิดเสียงชื่นชมยินดีและเกิดภาพที่ดีๆ ให้กองทัพ

ทำอย่างไรให้ทหารได้รับการยกย่องตลอดไป ไม่ต้องกลายเป็นคู่กรณีกับฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ต้องเป็นคู่กรณีกับประชาชนที่เป็นเหยื่อการสลายม็อบ

นั่นก็คงต้องรอวันที่ไม่มีการนำกองทัพออกมาในภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักอีกต่อไป