นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นักบวชหญิงในศาสนาชาย

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ศาสดาของศาสนา “สากล” ที่เรารู้จักทุกวันนี้ล้วนเป็นผู้ชายทั้งหมด ศาสนาสากลหมายถึงศาสนาที่ข้ามเผ่า, ข้ามชาติพันธุ์, ข้ามเขตทางภูมิศาสตร์และการเมือง ไปครอบงำผู้คนหลากหลายนานาประเภท ไม่แต่เพียงศาสดาเป็นผู้ชายเท่านั้น แม้แต่ “ศาสนา” เองก็อาจเป็น “ผู้ชาย” ด้วย โดยเฉพาะตัวองค์กรศาสนา (ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ)

แต่ “ศาสนา” ที่ไม่ใช่ศาสนาสากล และว่ากันว่ามีมาเก่าแก่ก่อนจะเกิดศาสนาสากลด้วยซ้ำ อาจไม่ใช่ศาสนาของ “ผู้ชาย” ฝ่ายเดียว ยิ่งไปกว่านั้น ตัวองค์กรศาสนาซึ่งไม่เป็นทางการคือแทบไม่มีการจัดองค์กรอย่างเป็นระบบเอาเลยก็ยังเต็มไปด้วย “ผู้หญิง” บางกรณีกีดกันไม่ให้ผู้ชายเข้ามามีบทบาทเลยก็มี เช่น นึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่าเขาจะให้ผู้ชายรำแม่ศรีได้อย่างไร แม่มดคนทรงอีกอย่างหนึ่งซึ่งอย่างไรเสียก็ไม่ใช่ผู้ชาย พระยาอนุมานราชธนเล่าว่า สมัยก่อนแต่ละหมู่บ้านมีหญิงแม่มดคนทรงซึ่งสืบตระกูลกันมา ทำหน้าที่บวงสรวง “ผี-เจ้า” รวมทั้งรำถวายมือด้วย แล้วก็เป็นสื่อให้เจ้าประทับทรง เพื่อให้พรและทำนายชะตากรรมของคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านทั้งหมด (เมืองสวรรค์และผีสางเทวดา)

ถึงเป็นศาสนาที่ให้ผู้ชายมีบทบาทบ้าง แต่ผู้หญิงนั้นขาดไม่ได้ มีปู่แสะ ก็ต้องมีย่าแสะ มีปู่สังกะสา ก็ต้องมีย่าสังกะสี

ศาสนา “ไม่” สากลเหล่านี้ ยังรักษาบทบาทของผู้หญิงให้มีความสำคัญสืบมาจนถึงปัจจุบัน ม้าทรงที่ผมได้พบเห็นในเชียงใหม่สมัยยังหนุ่มล้วนเป็นผู้หญิงทั้งนั้น เพิ่งมาเห็นผู้ชายเป็นม้าทรงเอาเมื่อเริ่มแก่ลงแล้ว ผู้ประกอบพิธีใน “ลัทธิ” (เป็นคำเหยียดศาสนาที่ไม่สากลทั้งหลาย) ซาตานหรือต่อต้านพระคริสต์ในโลกตะวันตก ล้วนเป็นผู้หญิง

ผู้หญิงเหล่านี้คือตัวกลางระหว่างมนุษย์กับสิ่ง “ศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งอาจเป็นสภาวะที่คล้ายๆ คน (จึงสามารถเข้าใจความต้องการของคนผู้ร้องขอได้) หรืออาจเป็นสภาวะหลักการนามธรรมอะไรสักอย่างหนึ่งก็ตาม (เช่น ความงอกงามหรืออุดมสมบูรณ์, ความมั่นคงปลอดภัย, หรือพลานุภาพของผู้ “บรรลุ” ศาสนธรรมนั้นๆ) ตัวกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า, โลกกับสวรรค์, หรือความตายกับความรอด ฯลฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกศาสนาสากล เรียกว่า “นักบวช” และมักเป็นผู้ชาย หรือมักมีผู้ชายเป็นผู้คุมองค์กรและทำหน้าที่หลัก

แม้ศาสนาสากลบางศาสนา ไม่มีคนทำหน้าที่ตัวกลางระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือหลักการศักดิ์สิทธิ์ เช่น ฮินดู, คริสต์โปรเตสแตนต์ และอิสลาม แต่ก็มี “ผู้รู้” ที่อาจช่วยชี้นำหนทางสู่พระเจ้า (เช่น นักเทศน์หรือ ulema) หรือมีคนที่เกิดในวรรณะหนึ่งซึ่งช่วยผดุงระเบียบของโลกอันสะท้อนสภาวะของพระเจ้าให้ปรากฏบนโลก รวมทั้งมี “ฤษี” หรือผู้เห็นความจริงแท้ที่คนทั่วไปมองไม่เห็นด้วยฤทธานุภาพของพระเจ้า แม้กระนั้นคนเหล่านี้ก็ล้วนเป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่หรือทั้งหมด

เมียของพราหมณ์หรือนางพราหมณีนั้น ตำน้ำพริกอยู่บนเรือนมากกว่าจะมีหน้าที่ทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นด้านคำสอนหรือพิธีกรรม

เมื่อเกิดศาสนาสากลแล้ว บทบาทของผู้หญิงในศาสนา “ไม่” สากลก็สูญเสีย “ศักดิ์ศรี” ลงไปอย่างแทบจะสิ้นเชิง ผมไม่ทราบว่าผู้เผยแพร่ศาสนาสากลตั้งใจทำ หรือในการเผยแพร่ศาสนาสากลไม่ว่าเข้าสู่ดินแดนอะไร ก็ต้องเผชิญกับศาสนา “ไม่” สากลในที่นั้นเป็นธรรมดา ฉะนั้น ศาสนาสากลทุกศาสนาจึงมีศัตรูร่วมกันที่ศาสนา “ไม่” สากล การสูญเสีย “ศักดิ์ศรี” ของนักบวชหญิงในศาสนา “ไม่” สากล เกิดขึ้นเพราะเมื่อผู้คนหันไปนับถือศาสนาสากลเสียแล้ว “นักบวช” หญิงเหล่านี้จึงได้รับความนับถือน้อยลงเอง

แต่ร่องรอยของการเหยียดก็มีให้เห็นอยู่เหมือนกัน เช่น การเรียกศาสนาเหล่านั้นว่า “ลัทธิ” ในภาษาไทย หรือ animism ในภาษาฝรั่ง นอกจากฟังดูไม่เป็นศาสนาแล้ว ยังมีสำเนียงดูหมิ่นว่ามีแต่เรื่องเซ่นวักตั๊กแตนด้วย นี่เป็นอคติของนักวิชาการด้านศาสนาในยุคแรกๆ ซึ่งต่างก็เป็นคริสเตียนผิวขาว ยากที่จะเห็นศาสนาของคนผิวสีอื่นเป็น “ศาสนา” เทียบกับศาสนาคริสต์ได้ (นักวิชาการฝรั่งปัจจุบันเลิกใช้คำนี้แล้ว หันไปใช้คำว่า indigenous beliefs หรือความเชื่อชาวพื้นถิ่นแทน)

ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เพียงเพราะศาสดาและสาวกรุ่นแรกๆ ของศาสนาสากลเป็นผู้ชาย หรือนักบวชซึ่งเป็นมิชชันนารีรุ่นแรกๆ ก็มักเป็นผู้ชายเท่านั้น ผมคิดว่าแม้แต่ตัวศาสนาเองก็มี “เพศสภาพ” (gender) เป็นผู้ชายด้วย

สวรรค์แบบไทยและแขกนั้นชัดเลย ผมนึกไม่ออกว่าจะมีอะไรให้ผู้หญิงทำบนสวรรค์ นอกจากเป็นผู้รับใช้หรือเป็นเมียและนางบำเรอของผู้ชายที่ทำดีจนได้ขึ้นสวรรค์ ซ้ำร้ายการทำดีขั้นสูงสุดคือบวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งผู้หญิงทำไม่ได้เสียอีก สวรรค์ฝรั่งเป็นอย่างไรกันแน่ ผมไม่รู้รายละเอียด แต่ภาพของพระยะโฮวาร์ในจินตนาการของฝรั่งนับตั้งแต่โบราณมาคือผู้ชาย ส่วนใหญ่ของชาวฮินดูที่เดินตามคำสอนในอุปนิษัท จนรวมอาตมันเล็กของตัวเข้ากับมหาตมันที่เป็นหนึ่งเดียวได้คือผู้ชาย

ถ้าวิเคราะห์หลักธรรมคำสอนของศาสนาสากลต่างๆ ลงไปในรายละเอียดให้มากกว่านี้ ก็คงเห็นเพศสภาพชายเต็มไปหมด แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ยอมรับว่า ในยุคสมัยและในสังคมที่เป็นแหล่งกำเนิดศาสนาสากล ล้วนอยู่ในวัฒนธรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ หรือเป็นสังคมสืบสายพ่อ สังคมสืบสายแม่ หรือแม้แต่สืบทั้งสายแม่และสายพ่อพร้อมกัน เท่าที่ผมมีความรู้ ไม่เป็นแหล่งกำเนิดของศาสนาสากลสักศาสนาเดียว

เช่น สังคมไทยซึ่งสืบทั้งสองสาย ไม่ได้เป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา เพียงแต่เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาสู่สังคมไทย เราก็ให้บทบาทสำคัญแก่แม่มากกว่าพ่อในพิธีกรรม (บวชนาค, ทำขวัญนาค, หรือแม้แต่การอุปฐากวัดและพระสงฆ์) ผมเคยได้ยินว่า ประเพณีของบางชนเผ่าในทิเบต เป็นสังคมหลายผัว (polyandry) แต่ทิเบตก็ไม่ใช่แหล่งกำเนิดพระพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง

ผู้หญิงในศาสนาสากลหลายศาสนา เป็นได้แค่ผู้ศรัทธาแรงกล้า (devotee) แต่ไม่ได้เป็นนักบวช คือไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นักบวชสตรีในศาสนาคาทอลิก รับสารภาพบาปจากประสกสีกาไม่ได้ ให้ศีลจุ่มก็ไม่ได้ และไม่ได้อีกหลายอย่าง ส่วนพุทธศาสนาแบบไทยนั้นไม่ต้องพูดถึง คืออย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าแม้แต่บวชเป็นภิกษุณีก็ไม่ขึ้น และภิกษุณีสงฆ์นั้นไม่นับเป็น “สงฆ์” ในพุทธศาสนาทีเดียวนัก เช่น ภิกษุณีสงฆ์ให้อุปสมบทแก่ผู้หญิงที่ขอบวชโดยลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยความยินยอมพร้อมใจของภิกษุสงฆ์ด้วย ทั้งๆ ที่แยกอยู่กันคนละวัด คนละ “ชุมชน-หมู่คณะ” (คือคำว่าสงฆ์นั่นเอง) กับพระภิกษุ เหตุใดจึงไม่มีอิสรภาพที่จะพิจารณาและให้ความยินยอมเอง

แน่นอนว่า ในยุคสมัยก่อน ผู้นำศาสนาคงไม่ได้คิดถึงเรื่องเพศสภาพ ถึงคิดก็ต้องคิดในเงื่อนไขของยุคสมัยที่เขามีชีวิตอยู่ แต่ศาสนาสากลที่เราได้พบเห็นในทุกวันนี้ ก็ยังมีเพศสภาพชายอยู่นั่นเอง

ผมคิด (ในสิ่งที่คงมีผู้ไม่เห็นด้วยอยู่มากทีเดียว) ว่า ศาสนาต่างๆ จะมีเพศสภาพอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ศาสนานั้นตั้งมั่นขึ้นในสังคมหนึ่งๆ ทำไมผู้หญิงจึงมีบทบาทค่อนข้างมากในศาสนา “ไม่” สากลหลายศาสนาทีเดียว ผมสงสัยว่า เพราะ “ศาสนา” ไม่สากลเหล่านั้นเกิดขึ้นในสังคมที่ผู้หญิงมีความสำคัญอย่างมาก

เช่น สังคมก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่งที่ผู้หญิงทำหน้าที่เก็บพืชป่ามาทำอาหาร ขณะที่ผู้ชายออกล่าสัตว์ (ไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์ป่าเสมอไป สัตว์น้ำ สัตว์ทะเล หนอน แมลง และที่อยู่ใต้ดิน ฯลฯ ก็กินได้ทั้งนั้น) ผู้ประกันความอิ่มของผู้คน (ในเผ่า, ครอบครัว, กลุ่มทางสังคม) คือผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายอาจล้มเหลวในบางวันได้ (ผมเคยได้ยินแต่การประกอบพิธีกรรมก่อนออกล่าสัตว์ของผู้ชาย ไม่เคยได้ยินการประกอบพิธีกรรมก่อนออกไปเก็บพืชป่าของผู้หญิงเลย) สภาพอย่างนี้แหละครับที่ทำให้ “ศาสนา” ที่เกิดขึ้นต้องเปิดบทบาทให้ผู้หญิงอย่างมาก และถ้าเรารู้รายละเอียดมากกว่านี้ก็อาจมีเพศสภาพเป็นหญิงด้วย

จนกระทั่งมนุษย์รู้จักการเกษตร ซึ่งเป็นการปฏิวัติใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ อันทำให้ผู้ชายเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการประกันความอิ่ม แล้วจากนั้นผู้หญิงก็ถูกผลักดันให้เป็นแรงงานที่ด้อยความสำคัญกว่า และสูญเสียสถานภาพทางสังคมและการเมืองไปแก่ผู้ชาย ศาสนาสากลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นจึงมีเพศสภาพเป็นชาย

แต่สภาวการณ์ในโลกยุคใหม่ก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว นับวันผู้หญิงก็จะมีสำนึกถึงคุณค่าของตนเองมากขึ้น และไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมจะต้องถูกวางไว้ให้ด้อยกว่าผู้ชาย ในความเป็นจริงของเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ผู้หญิงกลับเข้ามาเป็นหลักประกันความอิ่มไม่น้อยกว่าผู้ชายแล้ว ด้วยเหตุดังนั้น หากศาสนาสากลจะยังคงมีชีวิตสืบต่อไปในสังคมสมัยใหม่ได้ในอนาคตยาวไกลข้างหน้า อย่างไรเสียก็ต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้รองรับบทบาททางเศรษฐกิจ-สังคมที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิง

ศาสนาสากลจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง? ผมคิดว่ามีทางเป็นไปได้อยู่สามทาง

1.รื้อฟื้นศาสนา “ไม่” สากล ซึ่งผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นมาใหม่ แต่เพราะองค์กรศาสนาสากลในปัจจุบันไม่ได้เข้มแข็งมีอำนาจมากเหมือนสมัยก่อน การรื้อฟื้นบทบาทผู้หญิงในศาสนา “ไม่” สากล จึงมักเลือกที่จะไม่ทำภายใต้หรือภายในศาสนาสากล เช่น ลัทธิแม่มดหมอผีในโลกตะวันตก รวมถึงลัทธิซาตาน ลัทธิดรูอิดส์ ฯลฯ ต่างก็ตั้งตัวเป็นคู่แข่งกับศาสนาสากลที่มีอิทธิพลในสังคมตนเอง นี่เป็นแนวทางหนึ่ง

รื้อฟื้นศาสนา “ไม่” สากลอีกแนวทางหนึ่งซึ่งทำกันมาแต่โบราณ และพบได้ในแทบจะทุกศาสนา ก็คือการทำให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาททั้งในหลักธรรมคำสอน, พิธีกรรม และองค์กรนักบวช นับตั้งแต่กวนอิมในพุทธศาสนาจีน, ศักติและเจ้าแม่กาลีในฮินดู, พระแม่มารีในคาทอลิก, เจ้าแม่ตะเคียนทอง (หรืออื่นๆ) ในพุทธศาสนาไทย, นัตผู้หญิงในพุทธศาสนาพม่า ฯลฯ

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าในโลกยุคปัจจุบัน แนวทางนี้เกิดขึ้นได้ยากกว่าในอดีตอย่างมาก ผู้นำศาสนา “ไม่” สากลอาจเลือกจะสถาปนาความเชื่ออิสระที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับองค์กรนานาชนิดของศาสนาสากลไม่ดีกว่าหรือ ความยากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศาสนาสากลในโลกสมัยใหม่ถูกขีดเส้นพรมแดนที่ชัดเจนอย่างมาก ด้วยความแพร่หลายของ “คัมภีร์” ผ่านการพิมพ์ (แถมในภายหลังยังมีเทปและซีดีรอมเสียอีก) การจัดองค์กรนักบวชอย่างองค์กรสมัยใหม่ ฯลฯ เส้นพรมแดนที่ชัดเจนเช่นนี้ทำให้ศาสนาสากลหมดชีวิตที่จะปรับเปลี่ยนโดยการผนวกอะไรใหม่เข้าไปในศาสนาอย่างสมัยก่อน

เหมือนไวยากรณ์บวกราชบัณฑิตและคณะอักษรศาสตร์ ทำให้ภาษาไทยสูญเสียชีวิต ที่จะปรับเปลี่ยนอะไรได้ง่ายๆ อย่างแต่ก่อน

2.แนวทางที่เป็นไปได้ยากคือตั้งศาสนาสากลใหม่ ซึ่งมีเนื้อหา, พิธีกรรม และการจัดองค์กรซึ่งให้ความสำคัญแก่ผู้หญิงเสมอบ่าเสมอไหล่กับผู้ชาย ที่ผมคิดว่าเป็นไปได้ยากก็เพราะว่าศาสนาในโลกยุคปัจจุบันมีความหมายในชีวิตของผู้คนน้อยลง (ยกเว้นพิธีกรรม) คนที่มีความคิดแบบนี้ จึงไม่อยาก (ลดตัว) มาเรียกความคิดของตนว่า “ศาสนา” อีกต่อไป

ขึ้นชื่อว่าศาสนาจะต้องมีพลังกำหนดลึกลงไปถึงระดับโลกทัศน์ของศาสนิก (ไม่นับพิธีกรรมและเครื่องประดับอื่นๆ ในการปฏิบัติศาสนา) อย่างที่ดาราชอบพูดว่าตักบาตรแล้ว “สบายใจ” (สบายใจว่าตัวได้บุญ หรือสบายใจว่าพระจะได้ไม่อดก็ไม่ทราบ) อันที่จริงความคิดที่มีผลระดับลึกเช่นนี้ก็มีคนคิดในโลกสมัยใหม่อยู่มากทีเดียว เช่น scientism หรือวิทยาศาสตร์นิยม, Marxism และ Feminism เป็นต้น คนที่เชื่อความคิดเหล่านี้จำนวนไม่น้อย ยึดถือความคิดเหล่านี้เหมือนศาสนาทีเดียว คือกำหนดวิธีมองโลกของเขาไปทุกเรื่อง ได้ปีติและเอกัคตธรรมอยู่บ่อยๆ แถมความคิดเหล่านี้ยังมีลักษณะคล้ายศาสนาหลายอย่าง เช่นมี “ศาสดา” (องค์เดียวหรือหลายองค์) มีนักบุญหรือพระอรหันต์อีกจำนวนหนึ่ง มีการแยกนิกาย รวมทั้งมี “ศีล” และ “ธรรม” ที่ต้องปฏิบัติและตระหนัก (เช่น นิกายโบราณหนึ่งของ Feminism บัญญัติให้ผู้หญิงงดเว้นเสียจากการสวมบราเซียร์) ความคิดเหล่านี้ล้วนประกาศอย่างโจ่งแจ้งว่าผู้หญิงไม่ได้ด้อยกว่าผู้ชาย (แม้กระนั้นก็ยังอาจถูกนักวิชาการสาย Feminism ชี้ว่าลำเอียงทางเพศสภาพในเชิงโครงสร้างได้) และทุกความคิดเชื่อเหมือนกับศาสนาสากลว่า ความจริงที่ได้ค้นพบนั้นสามารถประยุกต์ใช้ได้กับมนุษย์ทั้งโลก

AFP PHOTO / STRINGER

สรุปก็คือ หากจะมีศาสนาสากลเกิดขึ้นใหม่ในโลกปัจจุบัน ก็จะไม่มีรูปลักษณ์เป็น “ศาสนา” อย่างที่เรารู้จักคุ้นเคย ที่วิตกกันว่าคนรุ่นใหม่จะไม่มีศาสนา ก็ไม่ต้องวิตก เพราะเขาน่าจะมี “ศาสนา” แน่ ซ้ำอาจปฏิบัติศาสนาเคร่งครัดกว่าคนรุ่นก่อนเสียอีก เพียงแต่ไม่ใช่ศาสนาในชื่อเดียวกันกับศาสนาของเรา และอาจเป็นศาสนาที่ไม่มีหรือไม่ห่วงเรื่องโลกหน้าเท่านั้น

3.แนวทางที่สามคล้ายแนวทางที่หนึ่ง องค์กรศาสนาสากลในโลกปัจจุบันลดเพศสภาพชายในศาสนาลงด้วยวิธีต่างๆ แต่ไม่ใช่โดยการอัญเชิญเทพสตรีของศาสนา “ไม่” สากลมาแปลงเป็นเทพสตรีของศาสนาสากลอย่างอดีต หากหันกลับมาเน้นหรือให้ความสำคัญแก่บทบาทของผู้หญิงในศาสนา เช่น นางแม็กดาลีนในศาสนาคริสต์ หรือเริ่มยอมรับว่า “พระ” ผู้หญิงก็อาจทำพิธีทางศาสนาได้เท่ากับพระผู้ชาย นิกายเถรวาทในบางประเทศยอมรับให้มีภิกษุณี อภิปรัชญาของศาสนาฮินดู หรือแม้แต่ศาสนาอิสลาม อาจได้รับคำอธิบายจากนักปราชญ์หญิงก็ได้ ฯลฯ

เพศสภาพที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิง-ชาย (ที่จริงรวม LGBT ด้วย) เป็นการท้าทายยิ่งใหญ่และสำคัญของศาสนา-สากลในยุคปัจจุบัน หากไม่ตอบสนองหรือตอบสนองอย่างเคร่งคัมภีร์ ก็เท่ากับปฏิเสธครึ่งหนึ่งของศาสนิก ซึ่งกำลังมองตนเองต่างไปจากแม่และยายเสียแล้ว