บทวิเคราะห์ [ก่อสร้างและที่ดิน] : เมื่อยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์ขยับ! ปรับแผนสู้

ช่วงกลางปี 2561 ในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีการขยับตัวอย่างน่าสนใจ

คือไม่ได้มีแต่แผนการเปิดตัวโครงการใหม่ ปรับเป้ายอดขายใหม่ หรือการมีดีไซน์ใหม่เหมือนที่มีกันอยู่เสมอเท่านั้น แต่เป็นการปรับตัวเพื่อขจัดจุดอ่อนสร้างจุดแข็งใหม่ของแต่ละบริษัท ให้เหมาะสมสอดคล้องกับผู้บริโภคและการแข่งขันยุคใหม่

บมจ.แสนสิริ ผู้นำตลาดที่อยู่อาศัยลักซ์ชัวรี่หรูหรา มาแนวแปลกแตกต่างไปจากเดิมของตัวเอง โดยเปิดแคมเปญรณรงค์ “Sansiri Security Sytem” โชว์ทีมงานมืออาชีพกับ PropTech ล้ำๆ ที่แสนสิริลงทุนไว้ ได้แก่ Digitalfence ระบบรั้วอัจฉริยะ Face Recognition ระบบจัดเก็บภาพใบหน้า ลายน้ำมือและข้อมูลผู้รับเหมา SMART ACCESS QR code และ Visitor Management System (VMS)

มีเรื่องเล่าไม่เป็นทางการว่า เศรษฐา ทวีสิน ซีอีโอแสนสิริ เคยทดสอบด้วยการขับรถเข้าไปในโครงการของแสนสิริ แล้วยื่นนามบัตรให้ รปภ. ดูว่าเป็นใคร รปภ. เปิดทางให้เข้าไปในโครงการได้ ซึ่งเศรษฐาเห็นว่าเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข เพราะไม่ควรมีใครได้รับการยกเว้น ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นที่มาของระบบรักษาความปลอดภัยใหม่และแคมเปญนี้หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ สร้างความรับรู้และความมั่นใจให้กับลูกค้าในโครงการแล้วว่า มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เหนือกว่าด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำกับทีมงานที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี เหนือกว่าคู่แข่งขันในตลาด

บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ก็เปลี่ยนเกมเล่น จากแรกเริ่มที่ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งพร้อมกับทีมงาน สร้างการเติบโตของบริษัทอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้าง คือระบบการผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูปพรีคาสต์ และระบบการก่อสร้าง REM ที่ร่นระยะเวลาการก่อสร้างให้เร็วขึ้น จนทำให้พฤกษาฯ เป็นแชมป์อสังหาฯ ที่มียอดขายสูงสุดต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ในยุคที่ลูกค้าที่กู้เงินซื้อบ้านจากธนาคารถูกปฏิเสธการปล่อยกู้และพฤกษาก็มีลูกค้าระดับกลาง-ล่างเป็นจำนวนมากที่ต้องการกู้ พฤกษาฯ จึงได้ตัวผู้บริหารระดับสูงที่เป็นอดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เพื่อช่วยจัดระบบแก้ไขปัญหาต่างๆ

ล่าสุดไม่นานมานี้ พฤกษาฯ ได้ตัวสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ อดีตซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่การตลาด “ยูนิลีเวอร์” มาเป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มพฤกษาโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ก็เข้าใจได้ไม่ยากว่าเกมต่อจากนี้ไปของพฤกษาฯ ที่จะเพิ่มเติมเข้ามาคือ เรื่องแบรนด์ เรื่องการตลาด อย่างแน่นอน

ขณะนี้แบรนด์ของบ้านคอนโดฯ ที่เคยมีมากถึง 48 แบรนด์ย่อย ก็สรุปเหลือเพียง 13 แบรนด์สินค้ากับแบรนด์บริษัท สโลแกนก็ปรับใหม่เป็น “Pruksa ใส่ใจ…เพื่อทั้งชีวิต”

จากนี้ไปคงจะเห็นการเพิ่มคุณค่าทาง emotional ของที่อยู่อาศัยจากค่ายพฤกษาฯ มากขึ้น

และอีกกรณีที่น่าจับตาคือ

อนันต์ อัศวโภคิน ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ บริษัทอสังหาฯ ที่มีขนาดมาร์เก็ตแค็ปใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งปัจจุบันลาออกจากตำแหน่งการบริหารงานในบริษัททั้งหมดแล้ว ได้ทำหนังสือแจ้งเสนอซื้อหุ้นบางส่วน (Tender Offer) จำนวน 10% ของหุ้นทั้งหมดในราคาหุ้นละ 11.80 บาท มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทโดยใช้เงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์

การซื้อหุ้นครั้งนี้จะทำให้อนันต์ อัศวโภคิน มีสัดส่วนการถือหุ้น LH เพิ่มจาก 23.93% เป็น 33.93%

ไม่มีคำชี้แจงใดๆ มากกว่านี้จากแลนด์แอนด์เฮ้าส์หรืออนันต์ อัศวโภคิน

จึงมีคำถามและข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุจูงใจต่อกรณีนี้กันหลายแง่มุม

บ้างว่าเป็นการปรับสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อเตรียมนำบริษัทไปสู่บริษัทระดับภูมิภาคเช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายดำเนินการอยู่ในขณะนี้

บ้างก็เห็นว่าน่าจะเป็นการเตรียมตัวป้องกันการเทกโอเวอร์ เพราะ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์มี 2 สถานะ ด้านหนึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวสูงชั้นนำ และอีกด้านหนึ่งก็เสมือนเป็นโฮลดิ้งคอมปานี เพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.โฮมโปรฯ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ และธนาคาร LH ซึ่งทำให้แลนด์แอนด์เฮ้าส์มีรายได้จากเงินปันผลปีละประมาณ 3 พันล้านบาท อาจเป็นที่หมายของของกลุ่มทุนใหญ่ระดับโลกก็ได้

เนื่องจากไม่มีคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ทุกความเห็นจึงเป็นเพียงข้อสังเกต ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริง

หากมีใครไปถามเจ้าตัว อนันต์ อัศวโภคิน อาจจะได้คำตอบที่เรียบง่ายว่า ถ้าแลนด์แอนด์เฮ้าส์ปันผลเฉลี่ยปีละ 7-9% มาตลอด และถ้ากู้เงินได้มีอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3% มาซื้อ ก็คุ้มนะ

หักดอกเบี้ยแล้วก็ยังมีเหลือ