คุยกับทูต ‘ลง วิซาโล’ ไทย – กัมพูชา สัมพันธ์อันราบรื่นไร้พรมแดน

คุยกับทูต ลง วิซาโล ไทย – กัมพูชา สัมพันธ์อันราบรื่นไร้พรมแดน (1)

“ผมเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ.2017 และได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อถวายพระราชสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทยในวันที่ 28 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ตำแหน่งล่าสุดของผมก่อนที่จะมาประจำประเทศไทย คือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ และประธานที่ 1 ของสำนักเลขาธิการกิจการเขตแดนแห่งชาติ ราชอาณาจักรกัมพูชา”

นายลง วิซาโล (H.E. Mr.Long Visalo) เอกอัครราชทูตจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยมาประจำที่นี่กว่าหนึ่งปีแล้ว ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ณ ห้องรับรองของสถานทูตกัมพูชา

ซึ่งตัวอาคารสถานทูตด้านหน้าเป็นสีชมพูหม่น ตกแต่งตามสถาปัตยกรรมเขมรโบราณด้วยศิลปะของนครวัด มรดกโลกทางวัฒนธรรมของกัมพูชา แลเห็นธงกัมพูชาผืนใหญ่โบกสะบัดอยู่เหนือเสาธงด้านหน้าอาคารสถานทูต ณ ถนนประชาอุทิศ หรือรามคำแหง 39

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.1950 ทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ และรูปแบบการดำรงชีวิตของประชาชนที่คล้ายคลึงกัน

โดยเฉพาะประชาชนบริเวณแนวชายแดนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันและมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าปริมาณมาก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภค

ในอดีตที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาผกผันบ่อยครั้ง สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การเมืองภายใน การปลุกกระแสชาตินิยมในหมู่ประชาชน และปัญหาเขตแดน

“เรามีกลไกการหารือในระหว่างประเทศเพื่อนบ้านด้วยกันคือ ไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา” ท่านทูตลง วิซาโล ชี้แจง

“สำหรับกลไกการหารือระหว่างกัมพูชาและไทย อันดับแรกคือการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission on Bilateral Cooperation – JC) เป็นการพบปะหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของแต่ละประเทศ เป็นเวทีสำหรับการเจรจาตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา การท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งถือว่ากัมพูชากับไทยมีความร่วมมือกันมากที่สุดในบรรดาประเทศที่กล่าวมานี้”

“อันดับที่สองคือการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission – JBC) อันดับที่สามคือการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee – GBC) การประชุมนี้จัดขึ้นที่เมืองเสียมเรียบ กัมพูชา เมื่อปีที่แล้วคือ ค.ศ.2017 และปีนี้ที่กรุงเทพฯ โดยมีการพบหารือกันระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองฝ่าย”

การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) นี้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ความมั่นคง และปกป้องความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองประเทศควบคู่กันไป

“ส่วนอันดับที่สี่คือการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (RBC) มีแม่ทัพของแต่ละภูมิภาคทหารของทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน ประชุมปีละ 2 ครั้งสลับกันเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระดับท้องถิ่น แก้ไขปัญหาอาชญากรรม สินค้าผิดกฎหมาย ส่งเสริมการค้าชายแดนตลอดจนโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในพื้นที่ตามแนวชายแดน”

ในระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประธานจัดการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Summit) ครั้งที่ 8 เรื่อง “การก้าวไปสู่ประชาคมลุ่มแม่น้ำโขงที่เชื่อมโยงกัน” จากความร่วมมือกันของ 5 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย

โดยเห็นพ้องให้มีแผนแม่บท ACMECS ระยะ 5 ปี (ค.ศ.2019-2023) ตามที่ประเทศไทยเสนอ

ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค ที่จะใช้กำหนดแนวทางการดำเนินการระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อให้การดำเนินการสอดรับกับแผนแม่บทอาเซียน

“สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เดินทางมาประเทศไทยเมื่อ 14 มิถุนายน เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งนี้ อันเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือซึ่งมาจากแม่น้ำสำคัญ 3 สายในภูมิภาคที่ไหลผ่านประเทศสมาชิก คือ แม่น้ำอิรวดี (เมียนมา) แม่น้ำเจ้าพระยา (ไทย) และแม่น้ำโขง (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น การค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร โดยกัมพูชาพร้อมสนับสนุนแผนแม่บท ACMECS ซึ่งช่วยผลักดันความร่วมมือและสร้างผลประโยชน์ให้เกิดแก่สมาชิกอย่างแท้จริง”

ทั้งสองฝ่ายได้หารือทวิภาคี เพื่อผลักดันท่องเที่ยวชายฝั่งไทย-กัมพูชา-เวียดนาม พร้อมกับการเร่งรัดเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

นอกจากนี้ ไทยยังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมที่ทั่วโลกจะจับตามองอีก 2 การประชุมใหญ่คือ ASEAN Summit ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพตลอดปี ค.ศ.2019 และการประชุมเอเปคในปี ค.ศ.2022

สำหรับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ในกัมพูชา

“ก่อนการประกาศอย่างเป็นทางการ จีนได้เชิญสมเด็จฯ ฮุน เซน เข้าร่วมหารือกัน เมื่อปี ค.ศ.2013 หลังจากนั้นได้มีการพบกับจีนทุกปี จึงก่อให้เกิดความคืบหน้าในโครงการก่อสร้างต่างๆ มากมาย จากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยเน้นทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างถนนหนทางหลายสาย เพื่อให้กัมพูชาเชื่อมต่อกับจีน กับประเทศเพื่อนบ้าน จนถึงเอเชียใต้และเอเชียกลาง” ท่านทูตกัมพูชากล่าว

“ตัวอย่าง เรามีถนนหมายเลข 6 อยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบเขมร หรือโตนเลสาบ (Tonle Sap) เชื่อมพนมเปญกับกำปงจาม กำปงธม และเสียมเรียบ จากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนี้ เรายังได้สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งแรกของแม่น้ำเซซาน (Sesan) ในจังหวัดสตึงเตรง (Steung Treng) เพื่อเชื่อมโยงกับเวียดนามและลาว”

เขื่อนแห่งนี้มีชื่อว่า “เขื่อนเซซานตอนล่าง 2” (Lower Sesan II) เป็นเขื่อนแห่งแรกใน “ลุ่มน้ำสามเซ” ซึ่งประกอบด้วย แม่น้ำเซกอง แม่น้ำเซซาน และแม่น้ำเซปรก และจากการทดสอบเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อน Lower Sesan II จำนวน 2 เครื่อง จากทั้งหมด 8 เครื่อง ก็เป็นส่วนช่วยในการเพิ่มกำลังผลิตของกัมพูชาให้มากขึ้น

โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้จะเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ภายในปีนี้

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าและแหล่งทุนอันดับแรกของกัมพูชา

ทั้งสองฝ่ายได้ขยายความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน พลังงานและทรัพยากร

การสนับสนุนจากจีนจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อกัมพูชา กัมพูชาได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากการลงทุนของจีนในโครงสร้างพื้นฐาน

ไม่เพียงเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งขั้นพื้นฐานในท้องถิ่น เช่น ถนน รถไฟ ท่าเรือ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (hydropower)

แต่ยังช่วยเชื่อมกัมพูชากับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของกัมพูชาจึงสอดคล้องกับแผนการริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ของจีน

โดยกัมพูชามุ่งหวังเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน ในอนุภูมิภาค หรืออย่างน้อยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งสำหรับไทยและเวียดนาม

“โครงการเหล่านี้เราได้รับเงินทุนส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ปีต่อปี และตอนนี้จีนกำลังเตรียมกองทุนเพื่อสร้างสนามบินใหม่ที่จังหวัดเสียมราฐ หรือเสียมเรียบ และอีกแห่งคือที่พนมเปญเพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินและผู้โดยสารรวมทั้งนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เราสร้างถนนและทางหลวงจากพนมเปญไปยังเสียมเรียบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการสร้างถนนจากพนมเปญไปยังเมืองกำปงสม การพัฒนาประเทศของเราจึงมีความคืบหน้ามาก”

เมื่อประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีนริเริ่มยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ในปี ค.ศ.2013 โดยมีธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) เป็นสถาบันให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศที่จีนยื่นความช่วยเหลือ ปล่อยเงินกู้เพื่อสร้างสาธารณูปโภค

นับเป็นการแผ่อิทธิพลแบบหนึ่ง หรือ Soft Power ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

“กัมพูชามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับลาว เวียดนาม จีน และเพื่อนๆ ในภูมิภาคนี้ เราจึงสนับสนุนกันอย่างมาก ส่วนกับจีนนั้น เรามีการประชุมกันทุกปี ซึ่งเกี่ยวกับความคืบหน้าของการก่อสร้างในกัมพูชาภายใต้กรอบหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

ในด้านความสัมพันธ์ทางการทูตและการเมืองระหว่างกัมพูชาและไทยนั้น ราบรื่นและกลับสู่ระดับปกติช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินเมื่อปี ค.ศ.2013 ช่วยให้ความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ใกล้ปราสาทเขาพระวิหารสงบลง

ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลกัมพูชายังสานสัมพันธ์ชื่นมื่นเกินคาดกับรัฐบาลไทย ท่านทูตลง วิซาโล เล่าว่า

“ไทยและกัมพูชาได้แยกการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ออกจากภาพรวมความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านอื่นๆ โดยเราได้ใช้กลไกการหารือทวิภาคีดังที่กล่าวตอนต้น ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิผล”

“ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการติดต่อแลกเปลี่ยนกันและกันในระดับประชาชนต่อประชาชนก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจยิ่ง”