นิตยา กาญจนะวรรณ : หนังสือลับในจินดามณี – ปฐมมาลา

หนังสือลับในจินดามณี (๕)

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ กล่าวไว้ว่า อักษรเลข คือ วิธีเขียนหนังสือลับโบราณ ใช้ตัวเลขแทนสระ

ตัวอย่าง อักษรเลข ใน จินดามณี ฉบับกรมศิลปากร (๒๕๖๑) มีดังนี้

ในฉบับไม่บอกวิธีถอดความไว้ให้ แต่หาได้ในหนังสือเรียนรุ่นหลังคือ ปฐมมาลา ของ พระเทพโมฬี (ผึ้ง หรือ พึ่ง) วัดราชบูรณะ ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

และในหนังสือ อักษรนิติ ของ พระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร) วัดบรมนิวาส ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

ปฐมมาลา อักษรนิติ

เลข ๑ = อุ อุ

เลข ๒ = อู อู

เลข ๓ = เอ เอ

เลข ๓๓ = แอ

เลข ๔ = อะ เครื่องหมายขีด ๑ ขีด (ฝนทอง)

เลข ๕ = ไม้หันอากาศ ไม้หันอากาศ

เลข ๖ = ไอ/ใอ ใอ

เลข ๗ = อิ อิ

เลข ๘ = โอ โอ

เลข ๙ = อา อา

เมื่อใช้สูตรข้างต้นก็ถอดความได้ว่า

คิดถึงรำพึงถ้า บวายวัน

หลังหลงใหลมเมอฝัน อยู่ด้วย

ในฝันว่ารศอัน เอมโอช

เปนนิรันดรฤๅม้วย แต่ตั้งคนึงถึง

ในบทโคลงข้างต้น มีคำที่เขียนต่างจากที่เก็บไว้ในพจนานุกรม เช่น ถ้า (ท่า ที่แปลว่า รอคอย) มเมอ (ละเมอ, มะเมอ) รศ (รส) เปน (เป็น) คนึง (คะนึง)

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” เขียนถึงเรื่องหนังสือลับ ใน จินดามณี มาได้ ๕ ตอนแล้ว ได้เวลาอันสมควรที่จะต้องจบเสียที

ขอตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า หนังสือจินดามณีในสมัยโบราณเป็นการคัดลอกกันต่อๆ มา ตัวสะกดการันต์จึงอาจจะต่างกันไปบ้าง

วิธีเขียนหนังสือลับก็นับได้ว่าเป็น กลบท ชนิดหนึ่ง แต่เป็นชนิดที่เล่นกับตัวอักษร ไม่ได้เล่นกับคำ ตัวอย่าง กลบท ชนิดที่เล่นกับคำ เช่น กลบทตรีประดับ ที่ว่า

เจ้าโศกแคนแค่นแค้นดั่งแสนศร มารานร่านร้านรอนให้ตักไษย

ว่าโอโอ่โอ้กำม์มาจำไกล เวรุชื่อใดจองจ่องจ้องประจาน

ใครท่องได้ก็เก่งมากจ้ะ