ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ปฏิบัติการเดินสายของกลุ่มสามมิตร
ภายใต้ไฟเขียวแกนนำรัฐบาล คสช. ในการติดต่ออดีต ส.ส.พรรคต่างๆ เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ หรือ พปชร.
ต้องถอนคันเร่งชั่วคราว เมื่อนายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือต่อประธาน กกต. และเลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง
เรียกร้องให้ระงับ ไม่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ
และให้ดำเนินการไต่สวนรองนายกรัฐมนตรี 2 คน กับรัฐมนตรี 2 คน และกลุ่มสามมิตร ร่วมกันกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560
มีพฤติการณ์กระทำเป็นขบวนการและแบ่งหน้าที่กันทำ
มีการใช้ทำเนียบรัฐบาลยกร่างนโยบายพรรค นัดพบอดีต ส.ส. ที่โรงแรมแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม เวลา 14.00 น. โดยเสนอผลประโยชน์ให้ พร้อมให้ดูนโยบาย 10 ข้อที่จะดำเนินการให้เสร็จ ถ้าไม่เสร็จจะไม่มีการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และอีกหลายคน รวมตัวกันในนามกลุ่ม “สามมิตร” ใช้ “พลังดูด” สมาชิกเข้าพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการเสนอจะให้ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม เพื่อจูงใจ
การใช้พลังดูดกระทำโดยเปิดเผย เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ถึงขนาดมีการประกาศว่าได้ใช้พลังดูดใครสำเร็จแล้วบ้าง ซึ่งมีจำนวนกว่า 50 คน
เป็นการกระทำผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง ทั้งที่กลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยื่นคำขอเตรียมการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ
นายสุชาติอ้างด้วยว่า ที่ร้องเรียนเพราะตนเองและนายพิชัย เกียรติวินัยสกุล อดีต ส.ส.ลพบุรี เป็นคนโดนดูด โดยนายพิชัยได้พบรองนายกฯ และรัฐมนตรี ณ สถานที่แห่งหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีพยานหลักฐานจากการยืนยันของนายสุริยะเอง ว่าได้มีการติดต่อกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ สอดคล้องกับที่นายพิชัยมีข้อความการพูดคุยทาง “ไลน์” เป็นหลักฐานยืนยัน
ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวสนับสนุนการกระทำของนายสุริยะ ที่ใช้พลังดูดในนามกลุ่มสามมิตร สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป
ทั้งที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 169(4)
ห้ามมิให้คณะรัฐมนตรีใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง
การเคลื่อนไหวของอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยในการยื่นร้องต่อ กกต.
เกิดขึ้นหลัง 2 เหตุการณ์ที่ดำเนินไปในลักษณะ “สองมาตรฐาน”
มาตรฐานแรก คือ ความกระตือรือร้นของ กกต. ในการตรวจสอบกรณีวิดีโอคอลของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งทุกเขตในภาคอีสาน
ว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 28 และมาตรา 29 พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอม หรือมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรค ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งมีโทษเสนอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา “ยุบพรรค” หรือไม่
มาตรฐานที่สอง กรณีกลุ่มสามมิตร นำโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นัดพูดคุยกับอดีต ส.ส. ที่ได้รับทาบทามให้มาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ
เพื่อเช็กชื่อและหารือแนวทางเคลื่อนไหว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่สนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สท โดยมีอดีต ส.ส. มาร่วมกว่า 50 คน ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคอีสาน จากหลายพรรค อาทิ เพื่อไทย พลังประชาชน ไทยรักไทย และภูมิใจไทย
นายสุริยะขึ้นเวทีกล่าวกับผู้มาร่วมงานตอนหนึ่งว่า
ที่ผ่านมาได้สื่อสารผ่านนายสมคิด คุยกับนายสนธิรัตน์ นายอุตตม และแกนนำรัฐบาลมาตลอด จนรู้เบื้องลึกและเห็นความตั้งใจสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์จะทำต่อไป
จึงอยากสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป พร้อมแสดงความมั่นใจว่า พรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน
“ผมอยู่พรรคไหน พรรคนั้นสบาย ได้เป็นรัฐบาล ถ้านายสมศักดิ์ได้เป็น ส.ส. เมื่อไหร่ ก็ได้เป็นรัฐบาลทุกครั้ง จะไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง”
ไม่เพียงแต่พรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคก็กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรว่า
กกต.ต้องพิจารณาอย่างอิสระและตรงไปตรงมา ไม่หวั่นไหวกับแรงกดดันใดๆ เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต. และเพื่อเป็นบรรทัดฐานทางการเมือง
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. กล่าวชี้แจงตามสูตรว่า
กกต.เฝ้าระวังติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพฤติกรรมพรรคการเมืองบุคคลและกลุ่มการเมือง ที่ดำเนินกิจกรรมอันอาจฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมืองทุกกรณี ไม่เลือกปฏิบัติ
ขณะที่ผู้ถูกพาดพิงโดยตรง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งถูกกล่าวหา “เปิดไฟเขียว” ให้กลุ่มสามมิตรเดินสายดูดอดีต ส.ส. เข้าพรรคพลังประชารัฐ แต่กลับไม่ยอม “ปลดล็อก” ให้พรรคอื่น
ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ส่วนตัวไม่เคยรู้จักแกนนำกลุ่มสามมิตร ไม่เคยเจอ ไม่เคยคุย
ส่วนการเคลื่อนไหวนัดพบปะกันที่สนามกอล์ฟ ที่ผ่านมาพรรคอื่นๆ ก็นัดไปตีกอล์ฟ คุยกัน ยังไม่เห็นว่าอะไร ไม่ได้มองว่าเป็นการดูด ส.ส. เพราะพรรคพลังประชารัฐยังอยู่ในขั้นตอนขอจดแจ้งชื่อจัดตั้งกับ กกต. ยังไม่ได้เปิดตัวเป็นพรรคการเมือง
และไม่รู้เรื่องที่กลุ่มสามมิตรประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ พร้อมยืนยันไม่ได้ลำเอียง
สอดคล้องกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ระบุ ประชาชนทุกคนมีสิทธิพูดคุยกัน พรรคพลังประชารัฐก็เพียงแต่จองชื่อไว้ ยังไม่ได้รับการรับรองจาก กกต. จึงอย่ามองเป็นการได้เปรียบเสียเปรียบ
โครงการไทยนิยม โครงการประชารัฐเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่โครงการที่มุ่งไปสู่การเลือกตั้ง
ตนเองยังไม่รู้เลยว่าพรรคไหนเป็นอย่างไร รู้แต่ว่ามี 79 พรรค และ กกต. ยังไม่ได้รับรองทั้งหมด รอให้ประกาศก่อน วันข้างหน้ายังอีกยาวไกลหลายเดือน ค่อยมาว่ากัน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธไม่ได้เข้าข้างพรรคพลังประชารัฐ ส่วนที่มีการอ้างถึงตนเองนั้น ก็ต้องไปถามคนอ้าง เขาสามารถพูดคุยกันได้ ตนเจอนักการเมืองก็พูดคุยกันได้ ผิดตรงไหน
“ไม่ว่าพรรคไหนก็ตาม ถือว่าเท่ากันหมด วันนี้หลายพรรคก็พูดกันขรมไปหมดทุกวัน ผมก็ฟังทุกวัน อย่าไปจับกันไปมา ผมต้องอยู่ตรงกลางให้ชัดเจน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
การที่พลังประชารัฐยังไม่ใช่พรรคการเมืองที่สมบูรณ์ จึงดูเหมือนเป็นทางออกข้อร้องเรียน
ส่วนความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรในการรวบรวมอดีต ส.ส.เข้าร่วม ก็ยังมีช่องให้อ้างได้ว่า
เป็นการรวบรวมคนมีอุดมการณ์เดียวกัน ที่ต้องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ และสามารถนำมาใช้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องพลังดูด
หากใครได้ติดตามบทบาท กกต. ในกรณี “นาฬิกาหรู”
กรณีการใช้มาตรา 44 สั่งปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจาก กกต. ก็คงพอมองออกว่า
กรณีกลุ่มสามมิตรและพรรคพลังประชารัฐจะสามารถคาดหวังการทำหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลางได้มากน้อยขนาดไหน
ยิ่งหากดูคำให้สัมภาษณ์จาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ก็ยิ่งเห็นแนวโน้มว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร
นับจากนี้ไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง เป็นห้วงเวลาการเติบโตของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่แสดงจุดยืนสนับสนุน คสช. อย่างแท้จริง
ขณะที่พรรคฝ่ายตรงกันข้าม จะถูกดูดอดีต ส.ส.จากพรรคไปเรื่อยๆ ในขณะที่พรรคยัง “ติดล็อก” คำสั่งห้ามเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง
ใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ ใครแพ้-ใครชนะ ใครได้สืบทอดอำนาจ
คำตอบ “ล็อก” ไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว