จิตต์สุภา ฉิน : เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า…เป็นบางคน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า หรือ Facial recognition เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่นับวันก็มีแต่จะทวีบทบาทและความสำคัญในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

นับตั้งแต่การใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป

อย่างการใช้ใบหน้าของเราปลดล็อกสมาร์ตโฟน-คอมพิวเตอร์

โซเชียลมีเดียที่สามารถแท็กใบหน้าเพื่อนในภาพถ่ายของเราได้โดยอัตโนมัติ

การอนุมัติการจ่ายเงินออนไลน์ด้วยการใช้ใบหน้า ไปจนถึงการใช้งานระดับมหภาคอย่างการที่ทางการบางประเทศนำเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าไปใช้เพื่อติดตามหาบุคคลที่กำลังต้องการตัว

ซึ่งดูเหมือนกับว่าจีนนั่นแหละที่กำลังเริงร่ากับเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าเป็นพิเศษ

ทว่า รู้หรือไม่คะว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถตักตวงประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน แม้จะเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีองค์ประกอบต่างๆ บนใบหน้า ตา หู จมูก ปาก คิ้ว เท่าๆ กัน

แต่กลับถูกกีดกันออกจากการพัฒนาเทคโนโลยีรู้จำใบหน้า เพียงเพราะมี “สีผิว” ที่แตกต่างไปเท่านั้น

เมื่อเร็วๆ มานี้ มีรายงานจากมีเดีย แล็บ ของเอ็มไอที ที่ระบุเนื้อหาว่า ระบบรู้จำใบหน้าของบริษัทไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม และเม็กวีของจีน ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพกับกลุ่มคนที่มีผิวสีเข้ม

โดยหากใช้งานกับคนที่ผิวสีเข้มจะระบุเพศผิดถึง 35 เปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าใช้งานกับกลุ่มคนผิวขาวหรือสีผิวที่สว่างกว่า จะสามารถทำงานได้ถูกต้องแม่นยำโดยไม่มีความผิดพลาดแม้แต่ประการเดียว

 

ปัญหาเรื่องการไม่สามารถแยกแยะใบหน้าของคนผิวสีได้นั้นมีมาตั้งแต่กำเนิดของเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าเลยทีเดียว

เคยมีคนผิวสีหลายคนที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ หรือนำความผิดพลาดของระบบนี้มาเล่นเป็นมุขตลกโปกฮามาแล้วหลายครั้ง

อย่างเช่น ในปี 2009 กับกรณีของกล้องเว็บแคมแบรนด์เอชพีที่จับเฉพาะผู้ใช้งานผิวขาว และไม่ยอมจับใบหน้าของคนผิวดำไม่ว่าจะพยายามขยับเคลื่อนไหวไปมาอย่างไรก็ตาม ตลกร้ายกว่านั้นก็คือ ในปี 2015 ระบบของกูเกิลก็เคยจับใบหน้าของคนผิวดำคนหนึ่งและระบุว่าเป็น “กอริลล่า” มาแล้ว

รายงานฉบับนี้ยังบอกอีกว่า หากจัดอันดับความแม่นยำของการทำงานของระบบรู้จำใบหน้าจากค่ายเทคโนโลยีสามค่ายที่กล่าวมาจะพบว่า ระบบจะทำงานได้แม่นยำที่สุดในกลุ่มผู้ชายสีผิวโทนสว่าง

และจะทำงานได้แย่ที่สุดในกลุ่มผู้หญิงที่มีผิวสีเข้ม

แน่นอนว่าเรื่องนี้ถูกตีความว่านี่คือการเหยียดในเหยียดเข้าไปอีก

เหยียดสีผิวเข้มก็ยกหนึ่งแล้ว ยังตามด้วยการเหยียดเพศอีกเป็นยกที่สอง

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระบบนี้เก่งกับบางกลุ่ม และไม่ได้เรื่องกับบางกลุ่ม ก็เป็นเพราะว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะเก่งแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ป้อนเข้าไปในระบบ

ซึ่งการที่ผลลัพธ์ออกมาเว้าๆ แหว่งๆ ก็เพราะข้อมูลที่ใช้ในการฝึกปรือเทคโนโลยีเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ครอบคลุมคนทุกชาติพันธุ์ตั้งแต่ต้น

เป็นไปได้ว่าเนื่องจากวิศวกรส่วนใหญ่เป็นผู้ชายผิวขาว ข้อมูลที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาระบบจึงเป็นข้อมูลที่คนกลุ่มนี้คุ้นเคย ซึ่งก็คือข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอง และคนอื่นๆ รอบตัว

ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ชายผิวขาวเหมือนกันนั่นเอง

 

ล่าสุดไมโครซอฟท์ออกมาประกาศว่าตอนนี้บริษัทสามารถลดความผิดพลาดเรื่องนี้ได้แล้วมากถึง 20 เท่า

ต่อจากนี้ไประบบของไมโครซอฟท์จะรู้จำใบหน้าของคนในหลากหลายสีผิวได้แม่นยำขึ้น

ซึ่งที่ผ่านมาทีมงานของไมโครซอฟท์ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านความลำเอียงและความยุติธรรมเพื่อปรับปรุงให้ระบบสามารถรู้จำใบหน้าของคนในทุกเพศและเฉดสีผิวได้ดีกว่าเดิม

โดยได้มีการขยายชุดข้อมูลที่ใช้ฝึกปัญญาประดิษฐ์ให้ครอบคลุมกว่าเก่า

สิ่งที่น่าสนใจที่นักวิจัยอาวุโสของไมโครซอฟต์ได้พูดเอาไว้คือ นอกเหนือจากความท้าทายทางด้านเทคนิคที่จะต้องเจอแล้ว ยังมีความท้าทายอีกอย่างที่จะต้องก้าวข้าม

นั่นก็คือสังคมมนุษย์เราเป็นสังคมที่มีความลำเอียง

ถ้าหากเราจะฝึกเครื่องจักรให้เลียนแบบวิธีการตัดสินใจของมนุษย์ซึ่งอาศัยอยู่ในสังคมที่มีความลำเอียง โดยใช้ข้อมูลที่ได้มาจากสังคมเดียวกันนี้ ก็แน่นอนอยู่แล้วว่าผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเป็นระบบที่ผลิตซ้ำความลำเอียงนั้นๆ ออกมาด้วย

ต้นไม้เป็นพิษ ก็ย่อมต้องให้ผลที่เป็นพิษ ไม่ผิดอยู่แล้ว

 

ในบล็อกของไมโครซอฟท์ที่ประกาศข่าวความสำเร็จยังได้ยกตัวอย่างที่น่าขบคิดอีกหนึ่งอย่างว่า ถ้าหากเราลองเสิร์ชคำว่า CEO บนเว็บ มีโอกาสสูงมากที่เราจะได้ผลลัพธ์การค้นหาเป็นผู้บริหารที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ ขององค์กรต่างๆ ทั่วโลก

และภาพที่จะปรากฏให้เราเห็นนั้นส่วนใหญ่จะเป็นภาพของผู้บริหารเพศชายอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะซีอีโอหญิงจากการจัดอันดับฟอร์จูน 500 มีอยู่น้อยนิดเพียงไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ดังนั้น จะว่าไปการที่ระบบจะลำเอียงไปอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชายผิวขาวมากกว่าผู้หญิงผิวสี ก็เป็นเรื่องที่เราน่าจะพอทำความเข้าใจได้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องที่เราอยากให้เป็น และต้องไม่ลืมด้วยว่าบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ก็มีความผิดด้วยส่วนหนึ่ง ที่ไม่ได้เตรียมชุดข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่แรก

ส่วนหนึ่งในกรณีของบริษัทที่ประสบความสำเร็จและไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับปัญหาเรื่องเทคโนโลยีเหยียดเพศเหยียดเชื้อชาติ ก็คือเทคโนโลยีเฟซ ไอดีของแอปเปิ้ล ที่เปิดตัวมาในโทรศัพท์ไอโฟนสิบ ใช้สำหรับการปลดล็อกโทรศัพท์เพื่อความรวดเร็วและปลอดภัย แอปเปิ้ลได้ชี้แจงว่าพัฒนาเทคโนโลยีนี้ด้วยการใช้ข้อมูลภาพคุณภาพสูงมากกว่าหนึ่งพันล้านภาพที่เก็บมาจากการทำงานร่วมกับคนทั่วโลกซึ่งมีความหลากหลายทางด้านเพศ อายุ เชื้อชาติ และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

ที่สำคัญ บริษัทก็ได้คำยินยอมให้ใช้ภาพเหล่านั้นอย่างถูกต้องด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้เราไม่เคยได้ยินว่ามีปัญหาแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับการใช้ระบบเฟซ ไอดีของแอปเปิ้ลเลย ส่วนใหญ่เราจะไปเถียงกันในประเด็นอื่นมากกว่า อย่างเช่น ฝาแฝดสแกนใบหน้าแทนกันได้ไหม ทำศัลยกรรม ไว้หนวด โกนหนวด ระบบจะยังจำหน้าได้หรือเปล่า

แต่ถ้าจำไม่ผิด ไม่เคยมีปัญหาเรื่องผู้หญิง ผู้ชาย หรือสีผิวเลย

 

ซู่ชิงคิดว่าการที่เราต้องสนใจเรื่องนี้และไม่ปัดมันทิ้งไปว่าเป็นปัญหาจิ๊บจ๊อยที่ไม่เห็นจะต้องร้องแรกแหกกระเชอให้วุ่นวาย ก็เป็นเพราะว่ามนุษย์ทุกคนควรมีโอกาสในการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีทันสมัยได้อย่างเท่าเทียมกัน ถ้าหากเราจะใช้ทรัพยากรของโลกที่เป็นของเราทุกคนในการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ มาอำนวยความสะดวกให้มนุษย์ ก็คงจะเป็นการยุติธรรมที่สุดที่มนุษย์ทุกคนจะสามารถใช้งานมันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเหมือนๆ กัน โดยไม่มีการแบ่งแยกสีผิวหรือเพศที่แตกต่าง จะทำให้มันเวิร์กกับคนหนึ่ง และไม่เวิร์กกับอีกคนหนึ่ง จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทเทคโนโลยีให้ความสำคัญในการปรับปรุงให้ถูกต้อง

พอรู้จำใบหน้าคนได้เท่าเทียมกันแล้ว ก็ยังไม่จบเท่านี้นะคะ หลังจากนี้ไปก็คงต้องมาต่อสู้ถกเถียงกันอีกว่า ใครใช้เทคโนโลยีนี้ทำอะไรได้บ้าง ถูกต้องแค่ไหนที่จะใช้ และละเมิดสิทธิอะไรต่อมิอะไรกันบ้างหรือเปล่า

สนุกแน่นอน