ต่างประเทศ : เกรตเตอร์เบย์แอเรีย กับนโยบายหลอมรวมฮ่องกงกับจีน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง รวมถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนหนึ่งกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนให้ชาวฮ่องกง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนอายุน้อยคิดถึงการย้ายออกจากเกาะฮ่องกงไปตั้งรกรากอยู่บริเวณชายแดนตอนใต้ของประเทศจีนให้มากขึ้น

แรงจูงใจสำคัญของแนวคิดดังกล่าวมาจากโอกาสด้านตำแหน่งงานที่มีเพิ่มมากขึ้น

และการหลีกหนีออกจากสภาวะค่าครองชีพสูงในดินแดนที่มีราคาอสังหาริมทรัพย์แพงเป็นอันดับ 1 ของโลก

รัฐบาลฮ่องกงกำลังพยายามผลักดันแผนของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ในการควบรวมฮ่องกงเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่เรียกว่า “เกรตเตอร์เบย์แอเรีย” หรือจีบีเอ แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่รวมเอา 11 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง หรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำเพิร์ลตอนใต้ของจีนเข้ากับฮ่องกงและมาเก๊า

กลายเป็นพื้นที่ซึ่งจีนตั้งเป้าให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ติดอันดับ 5 ของโลกในปี 2030 มีจำนวนประชากร 70 ล้านคน

โดยรวมเอาชาวฮ่องกงที่ในเวลานี้มีจำนวน 7.4 ล้านคนเข้าไปด้วย

 

การย้ายไปตั้งหลักแหล่งในพื้นที่จีนแผ่นดินใหญ่นั้น หมายถึงการที่เยาวชนที่เกิดในยุคหลังปี 2000 ที่อาจไม่สามารถสู้ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพงหูฉี่ในระดับถึงกว่า 60,000 บาทต่อตารางฟุต สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ แทนที่จะเป็นการเช่าห้องพักขนาดเล็กราวกับรูหนูบนเกาะฮ่องกง

และยังมีโอกาสในการทำงานที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

พื้นที่เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำเพิร์ล เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จากพื้นที่การเกษตร ยากจนและเงียบเหงา ไปสู่หนึ่งในพื้นที่ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของโลก เป็นพื้นที่ซึ่งแต่ละเมืองมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในประเทศจีนไปแล้ว

แน่นอนว่าโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นแกนหลักสำคัญในการก่อให้เกิดการ “หลอมรวม” ระหว่างฮ่องกงและจีบีเอ กำลังจะเสร็จสิ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รวมไปถึงสะพานเชื่อมที่จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจากเกาะฮ่องกงได้ทั้งไปและกลับ

“ระยะทางนั้น ผมเชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปเมื่อพวกเขาได้รู้ความคืบหน้าล่าสุดของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่เชื่อมกับเบย์แอเรีย” แมตธิว ชุง หัวหน้าคณะรัฐมนตรีเขตปกครองพิเศษฮ่องกงระบุผ่านบล๊อกในหัวข้อ “ลบล้างความเชื่อผิดๆ ของกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เบย์แอเรีย”

 

แผนการหลอมรวมทางเศรษฐกิจในมุมของรัฐบาลจีนนั้น แน่นอนว่าเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งของอำนาจอธิปไตยของจีนที่มีต่อฮ่องกงไปอีกทางหนึ่ง และแน่นอนว่าได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน

“เราจะไม่ใช่ชาวฮ่องกงอีกต่อไป แต่จะเป็นชาวเกรตเตอร์เบย์แอเรีย” โจนาธาน ชอย ประธานหอการค้าฮ่องกงระบุกับฮ่องกงอีโคโนมิกไทม์ส เมื่อเดือนก่อน และว่า “เราควรมองไปที่การหลอมรวมเศรษฐกิจมากกว่าผลประโยชน์ของฮ่องกง”

ขณะเดียวกันการหลอมรวมดังกล่าวก็ถูกมองด้วยเช่นกันว่า การกระจายชาวฮ่องกงอายุน้อยออกไปตั้งถิ่นฐานในจีนแผ่นดินใหญ่จะส่งผลให้กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงนั้นอ่อนกำลังลงด้วยเช่นกัน

ล่าสุดตัวเลขชาวฮ่องกงที่ย้ายถิ่นเข้าไปยังจีบีเอเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมามีจำนวนมากถึง 500,000 คน สูงขึ้นจากปี 2009 ที่ 155,000 คน และปี 2003 ที่มีเพียง 62,000 คน

อย่างไรก็ตาม การซื้ออสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จีบีเอ ส่วนใหญ่ยังคงเกิดจากนักลงทุนชาวฮ่องกงที่มีประสบการณ์ที่หวังผลเก็งกำไร หรือซื้อเป็นบ้านพักตากอากาศ มากกว่าที่จะเป็นกลุ่มเยาวชนอย่างที่รัฐบาลฮ่องกงตั้งเป้าเอาไว้

 

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ขัดขวางการตัดสินใจย้ายไปยังพื้นที่จีบีเอของเยาวชนชาวฮ่องกง นั่นก็คือ “เสรีภาพ” ที่จะขาดหายไปภายใต้นโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” ที่คงอยู่ในฮ่องกงเป็นเวลายาวนานกว่า 50 ปี หลังอังกฤษส่งมอบฮ่องกงให้กับจีนเมื่อปี 1997

สมาคมพลังเยาวชนฮ่องกงเผยแพร่ผลสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าเยาวชนกว่า 60 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด 878 คนที่ทำการสำรวจระบุว่าไม่ได้คิดถึงการไปทำงานในจีบีเอ โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการอยู่ไกลจากบ้าน ไม่อยากเสียภาษีเงินได้ในอัตราที่สูงกว่า และไม่คุ้นเคยกับนโยบายของรัฐบาลจีน

ด้านนาธาน ลอว์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชื่อดังของฮ่องกง วัย 24 ปี ยืนยันเช่นกันว่า ชาวฮ่องกงสนใจแต่การไปเที่ยวมากกว่าการตั้งถิ่นฐาน โดยเน้นไปที่เสรีภาพที่มีอยู่อย่างจำกัด

“คุณไม่สามารถใช้วอตส์แอพพ์ หรือดูวิดีโอจากยูทูบ คุณโดดเดี่ยวตัวเองออกจากโลก” ลอว์ระบุ