ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (135) “คราโคว์” เมืองน่าอยู่

ได้เวลาท่องโลกกว้างระหว่าง 1 ซำเหมากับ 3 ทันตแพทย์ ผมไม่รอช้าเตรียมเอกสารพร้อมยื่นเข้าประเทศโปแลนด์ หมอแสง (ทพ.แสงชัย โสภณสกุลสุข) จัดโปรแกรมไว้เสร็จสรรพให้เริ่มต้นที่เมืองคราโคว์ (Krakow) จากนั้นมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปสิ้นสุดที่เมืองกดันสก์ (Gda?sk) ชายทะเลบอลติก

“คราโคว์” ตั้งอยู่ทางด้านใต้ติดกับแม่น้ำวิสตูลา ถ้าดูแผนที่เมืองนี้อยู่ใกล้ๆ กับสาธารณรัฐเช็กและประเทศสโลวะเนีย เป็นเมืองเก่าแก่และใหญ่ที่สุดของโปแลนด์

ตามประวัติศาสตร์ เมือง “คราโคว์” เป็นแหล่งค้าขายตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 แต่มีบันทึกเรื่องราวความเป็นมาของเมืองเมื่อ ค.ศ.966 หรือ 1,052 ปีที่แล้วระหว่างพ่อค้าชาวยิวเดินทางมาค้าขาย

ปี ค.ศ.1038 คราโคว์กลายเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์เปียสต์ (Piast) และในช่วงศตวรรษที่ 11 คราโคว์เป็นที่รวมศูนย์ด้านความรู้ แหล่งวัฒนธรรม ศาสนาและการเมือง ช่วงนั้นมีการก่อสร้างปราสาทวาเวล โบสถ์เซนต์อดัลเบิร์ตที่มีชื่อเสียง

หลังจากนั้นมีการก่อตั้งสถาบัน “คราโคว์” ต่อมาเป็นมหาวิทยาลัย Jagiellonian เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองของยุโรป

แม้กาลเวลาเปลี่ยนแปลง เกิดสงครามสู้รบหลายครั้ง คราโคว์ตกอยู่ในมือของกองทัพสวีเดน นาซี รวมทั้งโซเวียต แต่ตึกรามบ้านช่องที่สร้างมานานนับร้อยๆ ปี รอดพ้นการทำลายล้าง

ความสมบูรณ์ของเมืองและมีประวัติศาสตร์ฝังรากอันยาวนาน ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “คราโคว์” เป็นมรดกโลก

ไม่น่าแปลกใจที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือนเมืองนี้ปีละหลายล้านคน บางปีเช่นปีที่แล้ว มีสถิติพุ่งถึง 13 ล้านคน

 

ระหว่างเครื่องบินร่อนลงสนามบินเมืองคราโคว์ มองลงเบื้องล่างเห็นป่าเขียวครึ้มคลุมพื้นที่โดยรอบสนามบิน

จุดเด่นของคราโคว์อยู่ในเมืองเก่าซึ่งชาวโปลิสเรียกว่า Stare Miasto ห้อมล้อมไปด้วยตึก โบสถ์โบราณ สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมหลากหลายสไตล์ทั้งเรเนอซองส์ โกธิก มีกำแพงเมือง ประตูเมืองและหอคอย หันมองไปทางไหนตื่นตาอลังการ

บางหอคอย เช่น ที่หอประชุมเมืองหรือทาวน์ฮอลล์ สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 เป็นสไตล์โกธิก สูง 70 เมตร

การก่อสร้างอาคารสูงๆ อย่างนั้น ชาวคราโคว์จะต้องมีความรู้ทางวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และที่สำคัญต้องมีเงิน สะท้อนให้เห็นถึงรากฐานเศรษฐกิจและการศึกษาที่แน่นหนา

ใจกลางเมืองคราโคว์ถูกเว้นว่างให้เป็นพื้นที่สาธารณะหรือลานคนเมือง กว้างใหญ่มาก ส่วนรอบนอกสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า Planty park ล้อมเมืองไว้

ดูแผนที่เมืองเก่าของคราโคว์จะเห็นโครงสร้างเมืองและสวนสาธารณะอย่างในรูป

สวนสาธารณะดังกล่าวมีพื้นที่รวม 21,000 ตารางเมตร และยาว 4 กิโลเมตร ปลูกต้นไม้ล้อมไว้ทุกด้าน แบ่งพื้นที่จัดเป็นสวนเล็กๆ 30 แห่ง

แต่ละแห่งได้รับการออกแบบหลากหลาย เช่น สวนไม้ดอกไม้ประดับ สวนน้ำพุประดับด้วยประติมากรรม รูปหล่อบุคคลสำคัญหรือเทพสัญลักษณ์ประจำเมือง

 

ยํ่าเดินสำรวจเมืองเก่าท่ามกลางแดดร้อนจ้าในช่วงเริ่มต้นฤดูร้อนของโปแลนด์จนเหนื่อยล้าเหงื่อชุ่ม 3 หมอและซำเหมาพากันเดินออกมาชมสวนสาธารณะ

เลาะเลี้ยวเข้าไปในสวน เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบกับการเดินในเมืองเก่าซึ่งห้อมล้อมไปด้วยตึกคอนกรีต พื้นปูด้วยก้อนหิน

สวนสาธารณะของคราโคว์น่าจะเป็นสวนป่ามากกว่าเพราะสร้างมาเกือบ 200 ปีแล้ว

ต้นไม้แต่ละต้นปลูกไว้สูงใหญ่ บางต้นใหญ่มากอายุเป็นร้อยปี ระหว่างเดินให้ความรู้สึกเหมือนอยู่กลางป่าใหญ่ร่มรื่น

แม้สวนจะอยู่ใกล้กับชุมชน มีรถราง รถยนต์วิ่งไปมาอยู่ข้างๆ สวน แต่ได้ยินเสียงเครื่องยนต์แค่เบาๆ

นึกไม่ถึงว่าคราโคว์ทำให้ความคิดเก่าๆ ที่มีต่อประเทศโปแลนด์เปลี่ยนไป

 

ผมไม่เคยคิดวาดฝันไปโปแลนด์อีกเลยหลังจากไปกรุงวอร์ซอเมื่อโปแลนด์เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปใหม่ๆ

บรรยากาศกรุงวอร์ซอทึมๆ ตึกรามบ้านช่องเก่าๆ โทรมๆ เหมือนประเทศคอมมิวนิสต์ รู้สึกเอาเองว่าโปแลนด์ยังเป็นประเทศล้าหลังเมื่อเปรียบกับประเทศสมาชิกในกลุ่มอียู เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน หรือเดนมาร์ก

แต่เมื่อได้สัมผัส “คราโคว์” ในทริปนี้ ภาพ “โปแลนด์” ในห้วงความคิดของผมเปลี่ยน เกิดความรู้สึกชื่นชมเข้ามาแทนที่

ผมเห็นว่าคนโปแลนด์ฉลาดวางแผนสร้างเมืองได้ยอดเยี่ยม จัดแบ่งโซนให้เป็นทั้งเมืองค้าขาย เมืองน่าอยู่ มีพื้นที่สาธารณะโล่งกว้าง ผู้คนเดินสะดวก และสามารถรักษาเมืองได้อย่างยั่งยืนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

คราโคว์มีโบสถ์มากมายเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ เป็นแหล่งสืบสานทางวัฒนธรรม เช่น ใช้เป็นสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ต

พูดถึงคอนเสิร์ต นอกจากจัดแสดงในโรงละครและโบสถ์ ที่เมืองคราโคว์ นักดนตรีจำนวนไม่น้อยใช้พื้นที่สาธารณะโชว์ความสามารถในการเล่นไวโอลิน กีตาร์ แอ็กคอร์เดี้ยน หรือเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ

ผู้ชมหรือนักท่องเที่ยวคนไหนมีจิตใจศรัทธา ก็หย่อนเหรียญ แบงก์ในกล่องเครื่องเล่นดนตรี แค่คนละเหรียญ 5 ซอลตี้ หรือราว 50 บาท นักดนตรียิ้ม เล่นต่ออีกหลายเพลง ฟังจนชุ่มฉ่ำ

 

ระหว่างทางออกจาก “คราโคว์” ใจหวนประหวัดถึงบ้านเมืองของเรา

เชื่อว่าถ้าตั้งใจทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ไม่น่ายากแสนสาหัส แค่ปรับแบ่งให้มีพื้นที่สาธารณะหรือลานคนเมือง มีสวนหย่อมให้เหมาะสมกับประชากรเมือง

ตรงไหนมีประชากรหนาแน่น เปิดพื้นที่สาธารณะและสวนให้มากขึ้นอีก

ทุกพื้นที่สาธารณะต้องให้ผู้คนเข้ามารวมตัวทำกิจกรรมอย่างหลากหลาย เช่น แสดงดนตรี ร้องรำทำเพลง เป็นที่วิ่งเล่นของเด็ก พื้นที่โชว์ความสามารถของเยาวชนในด้านกีฬา ดนตรี ศิลปะ หรือกิจกรรมอื่นๆ

ทำได้อย่างนี้ บ้านเมืองเราน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะทีเดียว