มุกดา สุวรรณชาติ คงจะต้องใช้เวลา 100 ปี จากระบบเก่า เพื่อเลือก…คณาธิปไตย… หรือ…ประชาธิปไตย ตอนจบ

มุกดา สุวรรณชาติ

กลุ่มต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.
กำลังหลักคือพรรคเพื่อไทย

1.นี่นับเป็นโอกาสดีที่สุดที่พรรคเพื่อไทยจะรีบฟื้นฟูพรรคให้เป็นพรรคอุดมการณ์

สิ่งที่เพื่อไทยมีคือมวลชนที่เคยได้รับผลประโยชน์จากนโยบายต่างๆ และที่สำคัญคือมวลชนที่เคยได้เข้าร่วมการต่อสู้และสนับสนุนมานานนับสิบปี

คนหลายล้านเคยลงคะแนนให้ตั้งแต่ปี 2544 และยังออกแรงเชียร์จนถึงปัจจุบัน

ในแง่แนวทางการต่อสู้ที่สร้างชื่อของพรรค ที่ผ่านมาคือหาจังหวะที่มีการเลือกตั้ง เสนอนโยบายที่จะสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชนและปฏิบัติให้เป็นจริง

แต่ครั้งนี้มีบทเรียนจากการรัฐประหาร 2 ครั้งจึงต้องต่อสู้กับระบอบเผด็จการอย่างไม่ประนีประนอมเพราะการอ่อนข้อให้ จะทำให้แนวสู้รบของส่วนที่ก้าวหน้าอ่อนยวบลงทั้งแผง และส่วนที่เข้มแข็งที่สุดอาจตีจากพรรคไป

ต้องเข้าใจว่าพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมานั้นไม่ได้มาใช้ต่อสู้ในช่วงที่เลือกตั้งเท่านั้น จะต้องมีฐานทางอุดมการณ์ที่แข็งแกร่ง มีการจัดตั้งฐานมวลชน และมีกำลังสนับสนุนที่เป็นจริงโดยเฉพาะตามกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ ที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมาจากการคัดเลือกของประชาชนตามเขตหรือท้องถิ่นต่างๆ ยิ่งถ้าเป็นแบบนี้พรรคก็ยิ่งจำเป็นต้องทำตามกฎหมาย

การมีมวลชนพื้นฐานเป็นผู้สนับสนุน 100 กลุ่มย่อมเข้มแข็งกว่าการมี ส.ส. สนับสนุนเพียงหนึ่งคน

2. การจัดระบบพรรคให้มีรากฐานการคัดเลือกแกนนำที่มาจากระบอบประชาธิปไตย จึงจะทำให้พรรคมีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการบริหาร ต้องมีคณะผู้นำหมู่ที่จะเป็นหัวหอกในการนำทัพต่อสู้ทางการเมืองให้ได้

การไร้ผู้นำพรรคตัวจริงยังเป็นจุดอ่อน และผู้นำคนนี้ต้องสามารถอยู่ในเกมการเลือกตั้ง แบบสู้กับทุกพรรคได้ และพร้อมจะถูกตัดสิทธิ์

3. การดูดและการแก้ปัญหา ถือเป็นการถ่ายเลือดแต่ไม่ควรเสียคนที่ดีไป ดังนั้น การแก้เกมการดูดจึงต้องทำอย่างจริงจัง ถ้าที่ไหนถูกดูดไปจะต้องมีคนใหม่ขึ้นมาแทน และจะต้องทุ่มกำลังต่อสู้ในเขตนั้นอย่างสุดกำลัง เพราะถ้าประสบความพ่ายแพ้ในเขตที่ถูกดูดออกไปจะเป็นการเสียหายทางการเมือง

ในขณะเดียวกันต้องถือโอกาสส่งม้าเมืองทรอยเข้าไปอยู่ในฝั่งตรงข้าม

ที่มีคนวิเคราะห์มาทั้งหมด เป็นการมองจากคนภายนอก ไม่แน่ว่าพรรคเพื่อไทยจะเห็นด้วย

 

พรรคอนาคตใหม่
จะเปลี่ยนความนิยม

มาเป็น ส.ส. ได้อย่างไร?

ปัจจุบันพรรคนี้กลายเป็นหัวหอก กองหน้าของการต่อสู้กับการสืบทอดอำนาจ

ในขณะเพื่อไทยกลายเป็นกำลังหลัก ตอนนี้พรรคอนาคตใหม่มีชื่อเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป

แต่การที่ไม่เคยลงรับเลือกตั้ง

ไม่มีฐานมวลชนกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ จึงยังเป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนความนิยมเป็นคะแนน

แม้ว่าพรรคมองการต่อสู้ระยะยาวว่า การตั้งพรรคมิใช่เพื่อการเลือกตั้งเท่านั้น

แต่ปัญหาเฉพาะหน้าในการเลือกตั้งกลับมีกฎเกณฑ์ที่บีบบังคับให้พรรคต้องเคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชนให้เป็นสมาชิกของพรรค และตั้งสาขาพรรคอย่างรวดเร็ว

ถ้าหวังจะมีเสียง ส.ส. ในสภาครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องส่งครบ 350 เขต เพื่อเก็บคะแนนศรัทธา

แม้จะไม่ได้ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามความมุ่งหวังทั้ง 350 เขต แต่ก็จะสามารถได้ผู้สมัครที่เป็นทั้งตัวทำคะแนนและเป็นการวางพื้นฐานในอนาคต

ถึงแม้พรรคอนาคตใหม่จะไม่มีนโยบาย…ดูด…แต่ในสภาพที่พรรคมีชื่อเสียงและมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบก้าวหน้าก็จะเป็นการดูดแบบธรรมชาติเหมือนกัน

เพียงแต่สิ่งที่ดึงดูดนั้นไม่ใช่เงินหรืออำนาจ

แต่เป็นอุดมการณ์ของคนที่อยากจะมาร่วมเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนั้นอาจจะมีคนส่วนหนึ่งซึ่งหวังประโยชน์ทางการเมือง หรือประโยชน์อย่างอื่นในการเข้าเล่นการเมือง ซึ่งก็ต้องถือเป็นธรรมดาของวงการนี้

อนาคตใหม่จะได้คนที่เสียสละมาลงสมัคร 350 เขต โดยมีคนเพียงน้อยนิดที่มีโอกาสชนะ คนสมัครทั้ง 350 คนนี้จึงเป็นส่วนที่ออกสู้รบในสนามจริง เพื่อส่งคะแนนไปให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

แต่สภาพในสนามจริงเมื่อลงเลือกตั้ง คะแนนสะสมจากคนที่แพ้เลือกตั้งในทุกเขตจะถูกแย่งชิงกันอย่างดุเดือด

ฝ่ายสนับสนุน คสช. จะขอเก็บคะแนนทุกคะแนนเนื่องจากเป็นการวัดผลงานเพื่อไปรับรางวัลของนักเลือกตั้ง

พรรคอนาคตใหม่จึงต้องเผชิญการต่อสู้แย่งชิงคะแนนเสียงแบบรอบด้านคือทั้งมิตรร่วมรบแบบเพื่อไทย พรรคแนวทางเดียวกันแบบประชาชาติหรือเสรีรวมไทย

และยังจะต้องแย่งคะแนนคนกลางๆ ซึ่งจะถูกพรรคการเมืองเก่าขนาดเล็กและพรรคสนับสนุน คสช. เข้ามาช่วงชิง

แต่คาดว่าคะแนนของพรรคอนาคตใหม่กับคะแนนของพรรครวมพลังประชาชาติไทยของคุณสุเทพน่าจะเป็นคนละกลุ่มกัน

ส่วนพรรคประชาชาติ มีข้อได้เปรียบตรงที่มีฐานเสียงกลุ่มก้อน จึงมีโอกาสได้ ส.ส.เขตหลายคน

และถ้าขยายพรรคให้กระจายออกจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถมีคนสมัครในเขตต่างๆ ได้เกิน 200 เขต อาจจะได้เสียง ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น

พรรคเสรีรวมไทย ต้องหาผู้สมัครกระจายลงตามเขตต่างๆ ให้ได้อย่างน้อย 200 เขต จะมีโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่ง

พรรคนี้สามารถดึงเสียงคนกลางๆ ที่ไม่ต้องก้าวหน้ามากได้จริง

 

กลุ่มนักการเมืองและนักเลือกตั้ง
นี่คือกลุ่มที่พร้อมเข้าร่วมรัฐบาล

คงต้องพูดถึงพรรค ปชป. เป็นอันดับแรกเพราะพรรคนี้น่าจะมีเสียง 100 กว่าเสียงขึ้นไป จะเป็นตัวแปรสำคัญในการจะให้ใครเป็นรัฐบาลหรือตัวเองเป็นรัฐบาล

นี่จึงทำให้จุดยืนของพรรคไม่สามารถประกาศชัดเจนได้จนกว่าจะเห็นสถานการณ์หลังเลือกตั้ง เห็นจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคแต่ละกลุ่ม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องยืนยันว่า พรรคไม่หนุนคนอื่นและพร้อมจะเป็นรัฐบาลเสมอจนถึงนาทีสุดท้ายหลังการเลือกตั้ง

ปชป.จะได้เป็นนายกฯ ถ้า ส.ว.หนุนประมาณ 200 คน หรือเพื่อไทยหนุน เมื่อรวมเสียงที่ ปชป. ได้จากการเลือกตั้ง จะเกิน 300 จากนั้นดึงพรรคเล็กๆ จำนวนหนึ่งมาร่วม ก็เพียงพอตั้งรัฐบาลได้

กลุ่มพรรคขนาดเล็กเดิมคือ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา (บรรหาร) และชาติพัฒนา (สุวัจน์) พรรคเหล่านี้พร้อมจะเข้าร่วมกับใครก็ได้ที่ได้เป็นนายกฯ

พรรคเล็กที่ตั้งใหม่มีโอกาสเกิดหรือไม่?

กฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง มิได้เปิดโอกาสให้พรรคใหม่ขนาดเล็กเกิดได้ง่าย

กฎหมายพรรคการเมืองมีข้อจำกัดอย่างมาก ตั้งแต่สมาชิกต้องเสียค่าสมัคร จะต้องมีเงินลงขันช่วงแรกเป็นล้าน มีสมาชิกตามเขต ตามจังหวัด และตามภาค

การกำหนดให้ผู้ลงสมัคร ส.ส. มาจากการคัดเลือกของสมาชิกพรรคที่เรียกว่าไพรมารีโหวต ซึ่งพรรคใหม่หรือพรรคเล็กจะสามารถทำได้จริงไม่กี่เขต ตอนนี้แม้ออกข่าวมาว่าไม่ยกเลิก แต่จะให้สมาชิกระดับภาคมาคัดเลือกแทน

ถ้าเป็นแบบนั้น ย่อมไม่บรรลุเป้าหมายที่ว่าผู้สมัครเป็นตัวแทนของคนในเขตนั้น มันจะต่างอะไรกับการให้กรรมการพรรคพิจารณา

พรรคเล็กๆ ที่ตั้งกันมามากมายก็หวังว่าจะได้ร่วมรัฐบาล (ถ้ามี ส.ส.) จึงอยากส่งหลายเขต

แต่ใครจะมีกำลังจริง ความหวังจะเป็นซินเดอเรลล่า จะจบลงตั้งแต่เริ่มสมัคร และจะเงียบหายไปตอนหาเสียง งานจะจบแค่ 3 ทุ่ม ไม่ใช่เที่ยงคืน

 

ความเป็นจริงในการเลือกตั้ง 2562
เป็นเรื่องของขาใหญ่

การตั้งพรรคในรัฐธรรมนูญใหม่แบบนี้ ต้องมีการหนุนของกลุ่มผู้มีกำลังอำนาจ หรือไม่เช่นนั้นต้องเป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างแรงกล้า มีคนนำและมีกำลังทุนพอสมควร จึงจะขับเคลื่อนต่อไปได้

ซึ่งดูแล้วไม่น่ามีพรรคใหม่เกิน 15 พรรค ที่จะเข้าต่อกรในการเลือกตั้งระดับทั่วประเทศ

เพราะถ้าหวังจะมีโอกาสต้องส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 100 เขต ซึ่งจะต้องใช้เงินจำนวนมากและมีผู้สนับสนุนจำนวนมากเช่นกัน

ส่วนกลุ่มที่มีลักษณะท้องถิ่นตอนนี้คงถูกดูดเข้าไปรวมเป็นพรรคใหญ่แล้ว

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะมีพรรคใหม่ที่ส่งไม่กี่เขต ไม่หวังได้ ส.ส. เพียงแต่ต้องการแสดงตัวตน แสดงอุดมการณ์

พรรคเล็กๆ ที่ตั้งกันมามากมายก็หวังว่าจะส่งหลายเขต แต่ใครจะมีกำลังจริง และในการแข่งขันจริงอาจได้คะแนนในเขตแค่หลักร้อย จะสะสมจนได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ อย่างน้อยต้องประมาณ 72,000 จึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

ดังนั้น อาจมีพรรคใหม่ที่รอดมาได้ ส.ส. ไม่ถึง 10 พรรค

ในการคำนวณตามสถานการณ์ล่าสุดของผู้สนใจการเมืองประเมินว่าพรรคที่สามารถจดทะเบียนและผ่านด่านกฎหมายลูกมาลงสมัครได้ น่าจะไม่เกิน 30 พรรค

แต่ที่จะส่งสมัครจริงจังเกินครึ่งคือ 175 เขต น่าจะไม่เกิน 15 พรรค

ถ้าประเมินจำนวน ส.ส. จากแนวโน้มการเมืองและเศรษฐกิจ คาดว่า

เพื่อไทยจะได้ประมาณ 210

ปชป. จะได้ประมาณ 120

พรรคพลังประชารัฐของ คสช. น่าจะได้ถึง 50

พรรคขนาดเล็กเดิมคือ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา (บรรหาร) และชาติพัฒนา (สุวัจน์) รวมกันไม่เกิน 70

พรรคอนาคตใหม่ ประมาณ 20

พรรคประชาชาติ ประมาณ 10

พรรครวมพลังประชาชาติไทย (สุเทพ+เอนก) ไม่เกิน 7

ที่เหลือเป็นพรรคที่ได้ ส.ส. แบบ 1-3 คนประมาณ 5 พรรค

หวังว่าการวิเคราะห์ของทีมงานคงไม่ถือเป็นการครอบงำพรรคจากคนนอก จนเป็นเหตุให้ยุบพรรค

 

ถึงเวลาที่ประชาชนต้องเลือก
ว่าจะเอาประชาธิปไตย หรือคณาธิปไตย

เพราะหลายปีที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่รู้แล้วว่า คสช. มาจากไหน

พวกเขาจำเหตุการณ์ตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ได้

จำการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ 2551 จนถึงมีการยึดสนามบินและเกิดตุลาการภิวัฒน์เพื่อล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้

จำเหตุการณ์ที่คนเสื้อแดงเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ยุบสภาจนถูกปราบด้วยอาวุธในปี 2553

หลังการเลือกตั้งปี 2554 ที่ได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์และมีการเคลื่อนไหวของ กปปส. ในปี 2556 จนถึงต้นปี 2557 การปิดเมือง ล้อมหน่วยเลือกตั้ง จนถึงการรัฐประหาร 2557 โดยคณะ คสช. หลังจากนั้น คสช.เข้าปกครองประเทศมาอีก 4 ปี กว่าจะถึงวันเลือกตั้งก็คงเกือบ 5 ปี

ถ้าเป็นคนธรรมดาย่อมรู้เหตุที่เกิดมาตลอด 12 ปี

และรู้ผลที่กระทบถึงคนทุกชั้นในสังคม มีใครได้ประโยชน์ ใครได้เกาะกินกับอำนาจและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ใครเป็นคนฉวยโอกาส ใครสู้ ใครถอย

เวลายาวนานพอ มีเหตุการณ์มากพอ ถึงเวลาที่ทุกคนต้องกล้าตัดสินใจเลือก เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากเย็น ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง แต่เป็นการแสดงพลัง แสดงเสียงส่วนใหญ่ว่าต้องการอย่างไร เราอยากให้อนาคตเราเป็นแบบไหน

 

อดทนอยู่ได้อย่างไรตั้งหลายปี
ถึงเวลาที่ต้องใช้สิทธิ์
และแสดงความคิดของตัวเอง

แม้ไม่ถึงขนาดที่จะใช้ขวานฟันรถที่มาจอดขวางประตูบ้าน แต่ก็ต้องรู้จักโวยบ้าง

มีคนบอกว่า ที่คนยังเงียบอยู่ เพราะระบบการปกครองแบบเก่า ที่ฝังรากระบบอุปถัมภ์ในหัวประชาชนมาหลายร้อยปี และวัฒนธรรมการชิงอำนาจที่ใช้กำลังต่อสู้แย่งชิงตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบันทำให้เคยชิน

ถ้าพิจารณาจากวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดสู่กลุ่มผู้ปกครองซึ่งชิงอำนาจและประชาชนถูกปกครอง ช่วงเวลา 30 ปีที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยนับว่าน้อยนิดมากในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง

สิ่งที่เราได้เห็นว่านี้คือการตื่นตัวของชนชั้นกลาง ปัญญาชนที่พยายามช่วงชิงสิทธิเสรีภาพของตนเองมาใช้ต่อสู้ปกป้องและเรียกร้องสิ่งที่ตัวเองต้องการนับแต่ 14 ตุลาคม 2516 และใน 10 ปีหลังนี้จึงได้เห็นการตื่นตัวของชนชั้นล่างที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองมากขึ้นเช่นกัน

เวลานี้เทคโนโลยีการสื่อสารกระจายกว้างไปทั่วและมีเทคนิค มีเครื่องมือใหม่ที่สามารถทำให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียผ่านสื่อต่างๆ โอกาสที่จะใช้เสียงตัวเองและความคิด แสดงความต้องการทางการเมือง การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

หัวเลี้ยวตรงนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะเลือกเดินทางแบบไหน

อีก 14 ปีก็จะครบ 100 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระยะเวลาสั้นกว่ายุทธศาสตร์ชาติ

ดังนั้น อย่าเพิ่งมั่นใจว่าประเทศจะเปลี่ยน หัวข้อบทความอีก 14 ปีข้างหน้า

อาจเขียนว่า… 100 ปีก็ไม่เปลี่ยน