ต่างประเทศ : “อินเดีย” ดินแดนที่อันตรายที่สุด สำหรับผู้หญิง…จริงหรือ

เป็นอีกครั้งที่ชาวอินเดียรวมตัวกันลุกฮือขึ้นมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มโทษขั้นรุนแรงแก่ผู้ก่อเหตุข่มขืน หลังจากเหตุการณ์ล่าสุดที่มีเด็กหญิงวัย 7 ขวบ ถูก 2 คนร้ายลักพาตัวไปขณะที่เด็กหญิงรอผู้ปกครองมารับที่โรงเรียน ที่เมืองมันด์ซูร์ รัฐอุตตรขัณฑ์ของอินเดีย และถูกล่อลวงไปข่มขืน

ก่อนที่คนร้ายทั้งสองจะพยายามฆ่าเด็กหญิงด้วยการเชือดคอ แต่เด็กหญิงรอดตายมาได้ แม้จะมีอาการสาหัสแต่ก็ดีขึ้น

ส่วนคนร้ายทั้งสองถูกจับกุมตัวในที่สุด

เหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การชุมนุมประท้วงในหลายเมืองของอินเดีย เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้อง “โทษประหาร” สำหรับผู้ก่อเหตุทั้งสอง และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินมาตรการลงโทษที่หนัก

โดยตัวเลขเมื่อปี 2559 พบว่ามีเหตุข่มขืนเกิดขึ้นในประเทศอินเดียถึงราว 40,000 ครั้ง และ 40 เปอร์เซ็นต์ของเหยื่อเป็น “เด็กหญิง”

และทุกๆ วันบนหน้าหนังสือพิมพ์ของอินเดียจะต้องมีรายงานข่าวเรื่องความรุนแรงที่มีต่อเพศหญิงเกิดขึ้น

 

ปัญหาเรื่องการข่มขืนในอินเดียนั้นมีให้เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง และผลการสำรวจของทอมสัน รอยเตอร์ ฟาวน์เดชั่น ล่าสุดระบุว่า “อินเดีย” ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิง แซงหน้าประเทศซีเรีย (อันดับ 2) และอัฟกานิสถาน (อันดับ 3) ที่อยู่ในภาวะสงคราม และซาอุดีอาระเบียไปเรียบร้อย

โดยการสำรวจของทอมสัน รอยเตอร์ครั้งนี้ เป็นการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ 548 คน ดูจากปัจจัยที่แตกต่างไป 6 อย่าง คือ สาธารณสุข การเลือกปฏิบัติ ประเพณีวัฒนธรรม ความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ และสุดท้าย เรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งจะให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้บอกว่าประเทศไหนใน 193 ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ถือว่าอันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิง ให้เลือกมา 5 อันดับด้วยกัน หลังจากนั้นก็ให้เลือกว่า ในแต่ละหัวข้อ ประเทศไหนที่ถือว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด

ปรากฏว่าประเทศอินเดียถูกระบุว่าเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิง โดยติดอันดับ 1 ทั้งในกลุ่มด้านประเพณี วัฒนธรรม ความรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์

ซึ่งในการสำรวจเดียวกันที่มีขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน อินเดียถูกจัดอยู่ใน “อันดับที่ 4” ส่วนอัฟกานิสถานอยู่อันดับที่ 1

ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในการสำรวจครั้งนี้ ระบุว่าเหตุที่อินเดียถูกจัดอยู่ในอันดับแรก เนื่องจากรัฐบาลเองมีมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้หญิงน้อยมาก นับตั้งแต่เกิดเหตุข่มขืนแล้วฆ่านักศึกษากายภาพบำบัดวัย 23 ปี เมื่อปี 2555 ที่ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจเป็นวงกว้างในอินเดีย และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเรื่องข่มขืนในที่สุด

ในรายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การก่ออาชญากรรมต่อผู้หญิงในอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 83 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2559 หรือเท่ากับว่า ทุกๆ ชั่วโมงจะมีผู้หญิงถูกข่มขืนถึง 4 ราย

นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นประเทศที่มีเจ้าสาววัยเด็กที่มากที่สุดในโลก คือมีเด็กสาว 1 ใน 3 ในอินเดีย ที่ต้องแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี

 

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดานักการเมืองอินเดียที่ไม่เห็นด้วยกับผลสำรวจ ที่ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่ดูอันตรายสำหรับผู้หญิงเช่นนี้

อย่าง เรขา ชาร์มา ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อสตรีแห่งชาติของอินเดีย ออกมาปฏิเสธอันดับดังกล่าว โดยระบุว่ากลุ่มตัวอย่างของการสำรวจนั้นน้อยเกินไป และว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ที่อินเดียจะอยู่อันดับ 1 ในการสำรวจเช่นนี้ เพราะบรรดาประเทศที่ได้อันดับรองๆ จากอินเดีย บางประเทศยังห้ามผู้หญิงพูดอยู่ในที่สาธารณะอยู่เลย

แม้ว่าอินเดียจะออกมาตอบโต้อย่างไรก็ตาม หากแต่ความเป็นจริงคือ แม้แต่ตัวเลขของทางการอินเดียเองก็ระบุไว้ว่า ปี 2559 มีผู้หญิงถูกข่มขืนทุกๆ 13 นาที และทุกวันมีผู้หญิง 6 คนที่ถูกพวกแก๊งข่มขืนกระทำชำเรา และทุกๆ 69 นาที จะมีเจ้าหน้าที่ถูกฆ่าเพื่อเอาสินสอด และในทุกๆ เดือนจะมีผู้หญิงที่ถูกทำร้ายด้วยน้ำกรดถึง 19 คน

เหล่านี้ยังไม่รวมถึงกรณีการคุกคามทางเพศ พวกโรคจิตสะกดรอยตาม พวกถ้ำมอง และความรุนแรงภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นหลายพันกรณีในอินเดีย

ตัวเลขเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงปัญหาความรุนแรงที่มีต่อเพศหญิงในสังคมอินเดีย ที่มีให้เห็นอยู่เรื่อยมา

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุข่มขืนเด็กหญิงวัย 8 ขวบและหญิงสาวรายหนึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในอินเดีย รัฐบาลอินเดียได้มีการปรับความเข้มข้นของการลงโทษผู้ที่ก่อเหตุข่มขืน และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ผ่านร่างกฎหมายการลงโทษผู้ก่อเหตุข่มขืนใหม่ โดยกำหนดให้ผู้ที่ก่อเหตุข่มขืนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี จะต้องโทษขั้นต่ำสุดคือการจำคุกตลอดชีวิตหรือต้องโทษประหาร ส่วนโทษขั้นต่ำสำหรับผู้ที่ข่มขืนเด็กอายุไม่ถึง 16 ปี คือจำคุกไม่เกิน 20 ปี

ด้วยหวังว่าจะสามารถลดปัญหาการข่มขืนที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียลงได้ หากแต่หลายคนก็มองว่า โทษประหารหรือการลงโทษรุนแรง อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง และกลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม ที่ไม่ได้ต่างไปจากในหลายประเทศ

ที่ยังคงมีการถกเถียงกันในเรื่องโทษประหารอยู่ในทุกวันนี้