แมลงวันในไร่ส้ม / ‘ข่าว’ เปิดพรรค-โชว์ดูด จัดหมวดหมู่ ‘พรรค’ ให้ ‘ผู้มีสิทธิ’ เลือกง่ายขึ้น

แมลงวันในไร่ส้ม

 

‘ข่าว’ เปิดพรรค-โชว์ดูด

จัดหมวดหมู่ ‘พรรค’

ให้ ‘ผู้มีสิทธิ’ เลือกง่ายขึ้น

 

พื้นที่สื่อกลายเป็นเวทีของสามข่าวใหญ่ ตั้งแต่ข่าว 13 เยาวชนนักเตะทีมหมูป่า อะคาเดมี่ กับโค้ชเข้าไปติดในถ้ำหลวง ก่อนที่หน่วยซีล และทีมประดาน้ำนานาชาติ ดำเข้าไปพบตัวทั้งทีมในสภาพปลอดภัย ในคืนวันที่ 2 กรกฎาคม

รองลงมา คือข่าวที่สูสีกัน ระหว่างฟุตบอลโลก กับการเมืองเรื่องของการเตรียมเลือกตั้ง ที่ตัวละครโดดเด่นได้แก่ “กลุ่มสามมิตร” ที่เปิดตัวแกนนำ คือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาฯ พรรคเพื่อไทย และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย ออกมาอย่างเกรียวกราว

สำหรับข่าวการเมือง การเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรไปทาบทามอดีต ส.ส. จัดประชุม ทำให้พรรคเดิมๆ อย่างเพื่อไทยและ ปชป. ตั้งคำถามถึง คสช. ว่าเป็นเรื่อง “สองมาตรฐาน” หรือไม่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ชี้แจงว่า กลุ่มสามมิตรไม่ได้ทำผิด เพราะรวมตัวก็ไม่ได้หารือต่อต้านรัฐบาล และยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นพรรค

“เขาไม่ได้ไปหาเสียงอะไร ขณะนี้พรรคการเมืองยังไม่มีการเปิดตัว” บิ๊กป้อมกล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การรวมตัวกันเกิน 5 คน เพื่อพูดคุยประเด็นการเมืองถือว่าผิดหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เขาไม่ได้คุยกันเรื่องต่อต้านอะไร ไม่ได้รวมตัวกันเพื่อปั่นป่วนทำให้เกิดความวุ่นวายในรัฐบาล การพูดคุยดังกล่าวเป็นเรื่องของบุคคลไม่ใช่การทำงานทางการเมือง

เมื่อถามว่า การเชิญบุคคลพูดคุยแต่ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง สามารถทำได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า หากทำกิจกรรมเพื่อปั่นป่วนไม่ได้

เมื่อถามอีกว่า หากพรรคเพื่อไทยนัดพูดคุยโดยไม่มีการปั่นป่วน ทำได้ใช่หรือไม่

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็อย่าด่ารัฐบาล หากทำอะไรไม่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ทั้งนั้น

 

การเปิดตัวของพรรคที่สนับสนุน คสช. และไม่สนับสนุน คสช. มีการเดินสายสนทนา รอเวลาปลดล็อก ช่วยทำให้บรรยากาศของการเตรียมเลือกตั้งคึกคักมากขึ้น

มติชนรายวันเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เปิดมุมมองนักวิชาการหลายคน เห็นว่าการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกให้ตัดสินใจ

นายยุทธพร อิสรชัย สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ชี้ว่า กลุ่มการเมืองมากขึ้น มองว่าประชาชนมีโอกาสเลือกมากขึ้น

เพราะกติกาที่เปลี่ยนไป ทั้งรัฐธรรมนูญ 2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ให้ ส.ว. ตั้งนายกฯ ได้ รวมถึงวิธีการเลือกตั้งเปลี่ยนใหม่

ก่อให้เกิดพรรคการเมืองมากมาย และเปลี่ยนไปจากเดิม จากที่ประชาชนมองการเมืองมิติเดียว คือการเมืองในระบบรัฐสภาจากนี้ไปประชาชนจะมองเชิงการเมืองที่เกี่ยวข้องถึงชีวิตประจำวันมากขึ้น

ทำให้ทางเลือกกับประชาชนมีมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดพรรคเฉพาะกลุ่มเฉพาะทาง อาทิ พรรคอนาคตใหม่ จะมีอุดมการณ์หัวก้าวหน้า หรือพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) มาจาก กปปส. อิงอุดมการณ์อนุรักษนิยม ตลอดจนพรรคอื่นๆ ที่ยึดแนวนโยบายประชารัฐของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

พรรคจะมีอุดมการณ์ให้ประชาชนได้รับรู้ว่า จะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ พรรคอนาคตใหม่ต่อต้านไม่เอานายกฯ คนนอก พรรค รปช. สนับสนุนนายกฯ คนนอก การเลือกตั้งจะเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์เข้มข้นขึ้น ระหว่างประชาธิปไตยกับอนุรักษนิยม

แม้ว่าระยะสั้นจะไม่เห็นภาพมากเท่าใดนัก แต่ระยะยาวจะทำให้ความคลุมเครือทางการเมืองไทยที่มียาวนาน คลี่คลายลงไปว่าประชาชนจะเลือกเอาอะไร ระหว่างประชาธิปไตยหรืออนุรักษนิยม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

ส่วนนายวิโรจน์ อาลี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การเมืองตอนนี้แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มแรก ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างพรรคพลังประชารัฐ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เช่น พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ หรือกลุ่มขั้วอำนาจเก่า

อีกกลุ่มก็คือกลุ่มที่อยู่ตรงกลางและพร้อมที่จะขยับไปมาได้ตลอดตามความเหมาะสมของสถานการณ์ทางการเมือง เช่น พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา

เป็นไปได้เหมือนกันที่จะแบ่งเป็นสองขั้วใหญ่ๆ อย่างกลุ่มเสรีประชาธิปไตย และขั้วอนุรักษนิยม แต่เอาเข้าจริงๆ ตอนนี้ยังมองอะไรได้ไม่ชัดนักเพราะพรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวกันได้เต็มที่

ต้องรอพรรคต่างๆ ออกมาแถลงนโยบายหรือจุดยืน ใกล้ช่วงเลือกตั้งเมื่อไหร่จะยิ่งชัดมากขึ้น และก็มีโอกาสที่กลุ่มที่เป็นกลางจะปรับเปลี่ยนไปตามกระแสของประชาชนและเปลี่ยนนโยบายสอดคล้องกับสถานการณ์ในตอนนั้น

เรื่องแยกกลุ่มก้อนทางการเมืองจากอุดมการณ์ต่างๆ พอเห็นชัดอยู่ แต่เรื่องเศรษฐกิจยังไม่เห็นฝ่ายต่างๆ งัดนโยบายอะไรขึ้นมาเลย

เป็นเรื่องสำคัญในการตัดสินใจของประชาชนมากพอสมควร ซึ่งฝ่ายอนุรักษนิยมอาจติดลบในแง่ที่ถูกมองว่าไม่เป็นประชานิยม ขณะที่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยจะมีชุดวิธีคิดที่สนับสนุนคนรากหญ้าเป็นหลัก ตรงนี้จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมากที่จะเปลี่ยนกระแสตอบรับจากประชาชน

คิดว่าประชาชนคงจะมีทางเลือกมากขึ้นในด้านของตัวเลือกพรรคการเมือง แต่ถ้าถามถึงแนวคิดใหม่ๆ มีมากขึ้นหรือเปล่า คงตอบว่าไม่ เพราะผมยังไม่เห็นความแตกต่างหรือการเสนอชุดความคิดใหม่ๆ อาจเป็นเพราะยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง บางคนเลยยังไม่ได้ปล่อยของออกมาให้ได้เห็น

ส่วนนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ เห็นว่ารอบนี้แบ่งพรรคการเมืองเป็นกลุ่มเสรีประชาธิปไตยและอนุรักษนิยมได้ ถ้าเอาเรื่องอุดมการณ์ให้เอาประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง อย่างน้อยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ มีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยคล้ายๆ กัน

ประชาชนมีทางเลือกในการเลือกพรรคการเมืองได้มากกว่าเดิม ภายใต้ข้อจำกัด เช่น พรรคการเมืองยังเถียงกันเรื่องการกำหนดนโยบายไม่ได้ เพราะฉะนั้น เป็นการได้เลือกมากขึ้นภายใต้ข้อจำกัดที่มากขึ้นด้วย

คนที่ชอบเรื่องประชาธิปไตยมากๆ ตอนนี้มีพรรคใหม่ๆ เช่น พรรคอนาคตใหม่ สำหรับคนที่ชอบนายกฯ คนนอก มีพรรคของคุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แต่ตอนนี้ก็มีทางเลือก เช่น พรรคของคุณสุเทพ ที่บอกว่านายกฯ คนนอกเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์

นั่นคือคำตอบว่า ประชาชนได้อะไร มีตัวเลือกที่ชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ จากสถานการณ์การเมืองที่คึกคักไปด้วยการดูดที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้