“ธรรมจักษุ” พึงปรากฏ : เสถียร โพธินันทะ

หากอ่านทั้งบทส่งท้ายและปณิธานกถาของเสถียร โพธินันทะ ในหนังสือ “ปรัชญามหายาน” ก็จะเข้าใจในทิศทางว่าดำเนินไปอย่างไร

นั่นเห็นได้จาก “คำประกาศ”

“ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า มีพระพุทธองค์เป็นพระบิดาทางใจ เลื่อมใสได้ทุกนิกาย ข้าพเจ้าเป็นทั้งพุทธศาสนิกชนฝ่ายสาวกยานและมหายาน”

นั่นเห็นได้จาก “ปณิธานกถา”

“ข้าพเจ้าพึงเป็นผู้ปราศจากโรคาพาธและอุปัทวะอันตรายทั้งผอง ประสบแต่ความเย็นใจในกาลทุกเมื่อ

“ข้าพเจ้าถึงซ่องเสพแต่กัลยาณมิตร มีความยินดีเลื่อมใสในการปฏิบัติตามโอวาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ยังตนห่างไกลจากอกุศลธรรมทั้งปวงในทุกๆ ภพด้วยธรรมจักษุพึ่งปรากฏแก้ข้าพเจ้าโดยพลัน

“ก็ในกาลใดแลที่พระทศพลผู้มีพระนามธัยว่า “เมตไตรย” อุบัติขึ้นแล้วในโลก ขอข้าพเจ้าพึงได้โอกาสเป็นอุปัฏฐากแห่งพระตถาคตพระองค์นั้น

“ผลอันอุดมเลิศใดซึ่งบัณฑิตปรารถนา กล่าวคือ อรหัตผล ข้าพเจ้าพึงบรรลุซึ่งผลนั้น”

นี่ย่อมเป็น “ปณิธาน” ในทิศทางแห่ง “พระโพธิสัตว์” โดยแท้

หากยึดกุมตามหลักการอันปรากฏในบทว่าด้วย “อรรคคำว่ามหายาน” ตามแนวทางที่เสถียร โพธินันทะ ให้อรรถาธิบาย

ที่ว่า “มหายาน” เป็นคำเรียกที่อาศัยเปรียบเทียบจาก “หีนยาน”

หมายถึงการขนสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากกว่าหีนยาน ในมหาปรัชญาปารมิตาอรรถกถา อาจารย์นาคารชุนได้อธิบายไว้ว่า

“พระพุทธธรรมมีเอกรสเดียวคือ รสแห่งวิมุตติ ความรอดพ้นจากปวงทุกข์

“แต่ชนิดของรสมี 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเพื่อตัวเอง ชนิดที่สองเพื่อตัวเองและสรรพสัตว์ด้วย”

หมายความว่า ฝ่ายหีนยานมุ่งความหลุดพ้นเฉพาะตน ไม่มีปณิธานในการโปรดสรรพสัตว์ แต่ฝ่ายมหายานตรงกันข้าม ย่อมมุ่งพุทธภูมิกันเพื่อขนสัตว์ให้พ้นทุกข์จนหมดสิ้น อธิบายว่าพุทธศาสนิกชนฝ่ายหีนยานย่อมมุ่งแต่อรหันตภูมิเท่านั้น จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าสาวกยาน

ส่วนพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานล้วนมุ่งพุทธภูมิทั้งนั้น จึงเรียกว่าโพธิสัตวยานบ้าง พุทธยานบ้าง

ในสัทธรรมปุณฑริกสูตรกล่าวว่า “ถ้าสรรพสัตว์ได้สดับธรรมจากพระภควา บังเกิดศรัทธาความเชื่อปสาทะความเลื่อมใส ได้วิริยะบำเพ็ญบารมีเพื่อสรรพเพชุดาญาณอันเป็นธรรมชาติ ญาณอันปราศจากครูอาจารย์ ญาณแห่งพระตถาคต

“กำลังความกล้าหาญมีความกรุณาปรารถนาต่อความสุขของสรรพสัตว์ บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์ต่อทวยเทพและมนุษย์ โปรดสรรพนิกรให้พ้นทุกข์นั้นชื่อว่า “มหายาน” ”

อาจารย์นาคารชุนกล่าวไว้ใน “ทวาทศกายศาสตร์” อีกว่า

“มหายาน” คือยานอันประเสริฐกว่ายานทั้ง 2 (ทวิยานได้แก่ สาวกยาน ปัจเจกญาณ) เหตุนั้นจึงชื่อว่ามหายาน

พระพุทธเจ้าทั้งหลายอันใหญ่ยิ่งทรงอาศัยซึ่งยานนี้จะสามารถนำเราเข้าถึงพระองค์ได้ เหตุนั้นจึงชื่อว่ามหายาน ปวงพระพุทธเจ้าผู้มหาบุรุษได้อาศัยยานนี้ เหตุนั้นจึงชื่อว่ามหา แลอีกทั้งสามารถดับทุกข์อันไพศาลของสรรพสัตว์และประกอบประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้ถึงพร้อม เหตุนั้นจึงชื่อว่ามหา

อนึ่ง พระโพธิสัตว์ทั้งปวง มีพระอวโลกิเตศวร พระมหาสถามปราปต์ พระเมตไตรย เป็นต้น ปวงมหาบุรุษได้ทรงอาศัย จึงชื่อว่ามหา

อนึ่ง เมื่ออาศัยยานนี้แล้วก็ย่อมเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวง เหตุนั้นจึงชื่อว่ามหา

นิยามแห่งพระโพธิสัตว์โดยพื้นฐานก็คือ “ถือว่าทุกคนที่ปรารถนาพุทธภูมิเป็นพระโพธิสัตว์”

การทำความเข้าใจต่อชีวิตและความคิดของเสถียร โพธินันทะ จึงนอกจากจะศึกษาเส้นทางในแต่ละก้าวย่างแล้วยังจำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อ “มหายาน”

เพราะที่เสถียร โพธินันทะได้แสดงออกอย่างเปิดเผยคือ

“ข้าพเจ้าเป็นทั้งพุทธศาสนิกชนฝ่ายสาวกยานและมหายาน เวลาสวดมนต์ก็สวดทั้งพระสูตรบาลีและสันสกฤตของมหายาน ที่บูชาภายในบ้านมีพระพุทธรูปมหายานและพระโพธิสัตว์ไว้บูชา

“ข้าพเจ้าเลื่อมใสในหลักธรรมของเถรวาท เลื่อมใสในปรัชญาของนาคารชุน”