เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา พระน้องนางแห่งเมืองเหนือกับวีรกรรม “หงายเมือง” จากกรุงธนสู่กรุงเทพฯ ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา พระน้องนางแห่งเมืองเหนือกับวีรกรรม “หงายเมือง” จากกรุงธนสู่กรุงเทพฯ ? (1)

เรื่องราวของเจ้าครอกฟ้าศรีอโนชานั้นน่าสนใจยิ่งนัก เพราะเป็นสตรีผู้อยู่กึ่งกลางระหว่าง “ช้างเหนือ” กับ “เสือใต้”
กล่าวคือได้มีการอุปมาอุปไมยเปรียบเปรย สองแม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้ากรุงธนบุรีคือ “พระญากาวิละ” กับ “เจ้าพระยาสุรสีห์” ว่ามีฉายาประดุจ “พระญาช้างแห่งเมืองเหนือ-พระญาเสือแห่งเมืองใต้” เรียกได้ว่าเป็นยอดนักรบที่ปราบข้าศึกอย่างเกริกไกรที่สุด ในยุคสมัยนั้น ชนิดที่ว่าต่างก็มีฝีมือระดับพระกาฬ เฉือนกันไม่ลง
และช่างบังเอิญเหลือเกินที่สตรีแห่งล้านนานาม “เจ้าศรีอโนชา” ต้องมาอยู่ตรงกลาง ในฐานะเป็นพระน้องนางแห่งพระญากาวิละ พระเจ้ากรุงเชียงใหม่ และเป็นอัครชายาของสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้าในรัชกาลที่ 1)


ซ้ำช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เอกสารพงศาวดารหลายฉบับมีการกล่าวถึงเจ้านางองค์นี้ว่ามีส่วนช่วยปราบกบฏพระยาสรรค์อย่างเข้มแข็ง ด้วยวีรกรรมที่ใช้คำเพียงคำเดียวก็เห็นภาพอย่างอยู่หมัดว่า “หงายเมือง” นำไปสู่การอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเสด็จกลับจากการยกทัพไปปราบเขมร เพื่อปราบดาภิเษกราชวงศ์ใหม่
เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชาคือใคร ทำไมจึงมีนามฟังดูแปลกและแปร่ง มาพบรักกับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา-พระเจ้าเสือ-วังหน้า) ได้อย่างไร มาแบบเชลยการเมือง หรือมีจิตสนิทเสน่หาซึ่งกันและกันช่วงไหน
ข้อสำคัญ บทบาทของเจ้านางแห่งเมืองเหนือ สามารถช่วย “หงายเมือง” จากกรุงธนไปสู่กรุงเทพด้วยวิธีใด ทุกประเด็นล้วนแฝงไปด้วยปริศนา

นามเจ้าครอก เจ้ารดจา ศิริรจนามาได้อย่างไร
นามเดิมของพระน้องนางแห่งช้างเหนือนั้น ในฐานะที่เป็นพระธิดาลำดับที่ 5ของเจ้าฟ้าชายแก้ว โดยมีพระญากาวิละเป็นพระเชษฐาองค์โต แห่งตระกูล “ทิพย์จักราธิวงศ์” หรือนิยมเรียกกันว่า “สกุลเชื้อเจ้าเจ็ดตน” (คือนับแต่ผู้ชาย ไม่นับเจ้าที่เป็นหญิง) นั้น ปรากฏนามว่า “เจ้าศรีอโนชา” หรือ “นางศรีอโนชา” ซึ่งภาษาล้านนาออกเสียงตัว “ช” เป็น “จ” จึงเรียกย่อๆ กันว่า “เจ้านางโนจา”
เมื่อได้สมรสกับพระยาเสือแห่งเมืองใต้แล้ว จาก “โนจา” ก็ได้รับการเปลี่ยนใหม่เป็น “ท่านผู้หญิงศิริรจนา” อันหมายถึง “ผู้มีรูปโฉมงดงาม” แต่คนเหนือก็ยังเรียกเป็นสำเนียงพื้นเมืองว่า “เจ้ารดจา” อยู่นั่นเอง
ครั้นเมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เจ้าพระยาสุรสีห์ได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อนั้นเอง เจ้ารดจาก็เลื่อนฐานันดรกลายเป็น “พระอัครชายาในกรม” หรือ เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา อันเป็นตำแหน่งสูงสุด และเป็นนามสุดท้าย
เจ้าครอก คำนี้สร้างความสงสัยแก่ผู้คนเป็นอย่างมาก ว่าทำไมถึงใช้คำดังกล่าว ถึงกับมีผู้พยายามแผลงเปลี่ยนใหม่ให้เป็น “เจ้าครอบฟ้า” หมายใจจะให้ฟังดูไพเราะขึ้น ด้วยคงไปนึกเปรียบเทียบกับคำว่า “ขี้ครอก” อะไรนั่น
แท้จริงแล้วสมัญญา “เจ้าครอก” ไม่ใช่คำที่ใช้เรียกเชิงดูถูกในความหมายเชิงลบ หากเป็นคำที่สะท้อนนัยพิเศษ สำหรับเจ้านายฝ่ายหญิงบางองค์ ดังนี้
กรณีแรก ใช้เรียกเจ้านายฝ่ายหญิงที่มีชาติวุฒิเชื้อสายเจ้าโดยกำเนิด คือไม่ใช่มีปูมหลังเป็นสามัญชน
กรณีที่สอง เจ้านายหญิงองค์นั้นน่าจะมีกองกำลังทัพเป็นของตนเอง
นอกเหนือจากเจ้าครอกฟ้าศรีอโนชาแล้ว สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังมี “เจ้าครอก” อีกหลายอนงค์ อาทิ “เจ้าครอกวัดโพธิ์” หรือสมเด็จพระน้องนางเธอ กรมหลวงนเรนทร ในรัชกาลที่ 1 ก็ถูกเรียกว่า “เจ้าครอก” ตามสถานที่ประสูติคือวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม เจ้านายหญิงพระองค์นี้ก็มีบทบาทในด้านกองทัพเช่นกัน
ยังมี “เจ้าครอกทองอยู่” ผู้เป็นอัครชายาของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์) หรือวังหลัง บ้างก็เรียกเจ้าทองอยู่ว่า “เจ้าครอกข้างใน” หรือ “เจ้าครอกใหญ่” ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่าอาจต้องมี “เจ้าครอกข้างนอก” หรือ “เจ้าครอกน้อย” ด้วยหรือไม่
การใช้คำว่า “เจ้าครอก” แทบไม่ปรากฏอีกเลยในปัจจุบัน หลักฐานล่าสุดคงเหลือแต่กรณีของหม่อมเจ้าหญิงสะบาย ลดาวัลย์ ซึ่งมีหลักฐานว่า พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธิสินีนาฏ (พระอิสริยยศเดิม หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์) ยังทรงเรียกอย่างให้เกียรติว่า “เจ้าครอกหญิงสะบาย”

รักที่ต้องเลือก การเมืองกับหัวใจ
เอกสารทั่วไปมักเลี่ยงที่จะกล่าวถึงปูมหลังของเจ้าศรีอโนชาว่าเคยสมรสมาแล้วกับภัสดาผู้มีเชื้่อสาย “เจ้าลาวพุงดำ” องค์หนึ่ง ซึ่งไม่มีผู้ใดทราบชื่อเสียงเรียงนาม
โดยมากเรารับรู้ว่า ขณะที่เจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปรบพม่าที่เชียงใหม่นั้นได้พบขนิษฐาของพระญากาวิละ ผู้มีรูปโฉมงาม จึงเกิดความพึงพอใจ พระเจ้าตากสินจึงได้ขอเจ้าศรีอโนชาให้สมรสกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ในขณะที่ฝ่ายชายมีอายุ 31 และฝ่ายหญิงอายุ 24 ปี
หรือไม่ก็ เป็นมุมมองในลักษณะที่ว่า หลังจากที่พระญากาวิละได้ถวาย “นัดดานารี” นางหนึ่งแด่พระเจ้าตากสินแล้ว ก็ได้ยกน้องสาวคนโตให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์ เพื่อเป็นการผูกมิตรภาพทางการเมือง ให้เกิดการไว้วางใจระหว่างสยามกับล้านนา
โดยไม่เคยเปิดเผยความจริงว่า ปูมหลังของเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นเอง ก็ตกพุ่มหม้าย เคยมีภรรยาและบุตร แต่เลิกร้างตายจากกันไปแล้ว
นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ชั้นยอด “ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม” เป็นผู้เดียวที่ได้เรียบเรียงเรื่องราวตอนนี้แตกต่างไปจากเอกสารเล่มอื่น โดยอ้างข้อมูลเชิงลึกจากหลายสำนักประกอบกัน หนึ่งในนั้นมีพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมอยู่ด้วย สรุปที่มาของความรักระหว่างวังหน้ากับเจ้าศรีอโนชาได้ดังนี้


วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นสามค่ำ พ.ศ. 2317 กองทัพสยามได้ล้อมเชียงใหม่ทุกด้าน ก่อนเชียงใหม่จะแตกได้ 8 วัน ขณะนั้นเจ้าศรีอโนชาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพิ่งแต่งงานกับเจ้าลาวพุงดำผู้หนึ่ง (คนล้านนานิยมสักหมึกดำ คนสยามจึงเรียกว่า “ลาวพุงดำ”)
ทหารได้จับตัวภัสดาของเจ้าศรีอโนชามาถวายเจ้าพระยาสุรสีห์ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ได้เห็นเจ้าศรีอโนชา เกิดมีพระทัยปฏิพัทธ์ รับสั่งให้นำตัวภัสดาไปจำตรวนไว้ และเกลี้ยกล่อมเจ้าศรีอโนชาว่าจะทรงเลี้ยงเป็นพระชายา อย่าได้คิดอาลัยกับผัวเดิม จากนั้นซักไซ้ไล่เลียงว่าอยู่กินกันมากี่ปี เจ้าศรีอโนชาตอบว่าเพิ่งแต่งงานได้ 8 วันก่อนเมืองเชียงใหม่แตก
อนึ่ง หากจะชุบเลี้ยงข้าเจ้าในฐานะบาทบาริจาริกานั้น ขอให้ปล่อยภัสดากลับไปบ้านเมืองของเขาเถิด อย่านำไปเป็นเชลยทางใต้ให้กินแหนงแคลงใจเลย
“เจ้าลาวพุงดำ” ผู้อาภัพรักคนนั้นคือใคร อยู่กินกับเจ้ารดจาได้เพียง 8 วันก็ต้องเจอราชภัยเสียแล้วฤๅ บางท่านกล่าวว่าเขาน่าจะมีเชื้อสายของพระองค์ฅำ (ใครคือพระองค์ฅำ?)
เยี่ยงนี้แล้ว เรายังจะคิดว่าการเสกสมรสระหว่างเจ้าศรีอโนชา กับเจ้าพระยาสุรสีห์ นำมาซึ่งความชื่นมื่นของวงศ์ตระกูลเจ้าเจ็ดตน คือความเต็มใจที่พระญากาวิละยินดีถวายพระน้องนางให้แด่พระเจ้าเสือแห่งเมืองใต้อยู่อีกล่ะหรือ
ความโศกเศร้าของเจ้าลาวพุงดำนั้นเล่า ได้รับการปลดปล่อยโซ่ตรวนสู่อิสรภาพ แต่ต้องแลกด้วยการสูญเสียคนรัก และสำนึกที่ต้องท่องให้ขึ้นใจจำว่า “การเสียสละภริยาของเจ้านั้น คือสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อพิสูจน์ให้สยามได้เห็น “ความภักดี” ของชาวล้านนา” แต่มิพักต้องมาเรียกร้องหาสมัญญาของคำว่า “วีรบุรุษผู้เสียสละ”
เรื่องราวของเจ้าลาวพุงดำผู้นี้ ได้มาปรากฏอีกครั้ง ในปี 2327 คราวมีงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระญากาวิละเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้พาพี่น้องวงศาคณาญาติลงมาเฝ้ารัชกาลที่ 1 และวังหน้าพร้อมร่วมงานเผาศพพระเจ้ากรุงธนบุรี
ครั้งนั้นเองที่เจ้าลาวพุงดำได้ติดตามลงมาด้วย และขอพบเจ้าศรีอโนชาอีกเป็นครั้งสุดท้าย ณ พระตำหนักวังหน้า โดยที่กรมพระราชวังบวรฯ ก็เปิดทางให้พบปะพูดคุยกันได้ เจ้าลาวพุงดำเอาแต่พิไรรำพัน ร่ำไห้ตีอกชกหัว
ในขณะที่เจ้าศรีอโนชากลับใจแข็ง (หรืออาจจะต้อง “แข็งใจ”) พูดปิดฉากความรักรันทดนั้นว่า
“ชาตินี้มีกรรมจึงพลัดพรากไม่ได้อยู่ด้วยกัน ให้กลับไปอยู่บ้านเถิด อย่าคิดอาลัยในตัวข้าเจ้าเลย ตัวของข้าเจ้าเองก็จะก้มหน้าสู้กรรมไปชาติหนึ่ง”

วีรกรรม “หงายเมือง” ระดมพลไทโยนจากปากเพรียว?
กรณีนี้ก็เช่นเดียวกันกับฉากการสมรสที่ถูกปรุงแต่งให้หวานชื่นระหว่างเจ้าศรีอโนชากับเจ้าพระยาสุรสีห์ อันเป็นการคัดลอกต่อๆ กันมาจากเว็บไซด์ ด้วยมุมมองเพียงด้านเดียว
นั่นคือข้อมูลที่ว่า เจ้าศรีอโนชาได้มีส่วนช่วยในการยกกองกำลังชาวไทยวนจากปากเพรียว สระบุรีมาปราบกบฏพระยาสรรค์ที่กรุงธนบุรี ซ้ำยังส่งคนไปแจ้งข่าวเชิญให้แม่ทัพสองพี่น้องคือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพกลับจากเขมร ทั้งๆ ที่ยังจัดการไม่แล้วเสร็จ
เรื่องราวตอนนี้สร้างภาพในทำนองว่า ขณะที่พระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังอยู่ในสภาพอ่อนแอปวกเปียกอย่างถึงขีดสุด ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ฝ่ายพระยาสรรค์ได้ลุแก่อำนาจทำการจองจำพระเจ้ากรุงธนบุรี ไม่มีใครสามารถปราบกบฏพระยาสรรค์ได้เลย
เว้นแต่เพียง วีรกรรมของเจ้าศรีอโนชา ซึ่งทำการส่งคนไปเกณฑ์ชาวไทยวน (หรือไทโยน มาจากคำว่าโยนก หมายถึงไทล้านนา) ที่อาศัยอยู่ที่ปากเพรียวหลายร้อยนายลงมา โดยมีข้อแม้แลกเปลี่ยนว่า ภายหลังจากเสร็จศึกครั้งนี้แล้ว ชาวเมืองปากเพรียวจะไม่ต้องถูกเกณฑ์มาเป็นไพร่สม พร้อมจักปูนบำเหน็จให้อยู่ดีกินดี
“ในเมื่อกูมีชีวิต กูบ่ให้สูได้ทำการบ้านการเมือง จักหื้อสูสะดวก ค้าขายกินตามสะบาย … ชาวปากเพียวอาสาเข้ายับเอาพระยาสิงห์ (?) พระยาสันได้แล้วฆ่าเสีย เจ้าคอกศรีอโนชา “หงายเมือง” ได้ไว้แล้ว ให้ไปเชิญเอาเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์สององค์พี่น้องเข้ามาผ่านพิภพขึ้นเสวยราชย์”
ข้อความตอนนี้คัดมาจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการกล่าวอ้างขยายผลไปต่างๆ นานา ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธบทบาทการมีส่วนช่วยการยันทัพกบฏพระยาสรรค์ของเจ้าศรีอโนชาในครั้งนี้ว่าคงมีส่วนจริงอยู่ไม่มากก็น้อย แต่ทว่าข้อความดังกล่าวมีสิ่งคลาดเคลื่อนอยู่หลายประการ จนทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ
นับแต่ “พระยาสิงห์” นั้นหมายถึงใคร ที่ว่าเป็นกบฏ
กรณีการฆ่ากบฏพระยาสรรค์ จากพงศาวดารฉบับอื่นๆ ล้วนแต่กล่าวว่าเป็นผลงานการตัดสินใจของเจ้าพระยาจักรีภายหลังกลับจากเขมรมาแล้ว หาใช่เกิดจากวีรกรรมที่เจ้าศรีอโนชาลงมือเองไม่
พระยาตากสินยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่ประหารพระเจ้าตากสินมิใช่พระยาสรรค์ แต่คือเจ้าพระยาจักรี
ข้อสำคัญ “ไทยวนปากเพียว (เพรียว)” คือใคร ถูกเกณฑ์จากเมืองเหนือมาอยู่ที่สระบุรีตั้งแต่เมื่อไหร่ ใกล้ชิดสนิทสนมกับเจ้าศรีอโนชาอย่างไร จึงสามารถเรียกเกณฑ์ได้ทันท่วงที ภายในวันเดียวที่พระยาสรรค์กำลังเผาพระนครธนบุรีลุกเป็นเพลิงไหม้
เนื้อที่หมดพอดี ดังนั้นของยกยอดปริศนาทั้งหมดนี้ไปวิเคราะห์อย่างละเอียดในตอนหน้า คลิกอ่าน