หนุ่มเมืองจันท์ : “ความกล้า” ที่แท้จริง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”

เอ่ยชื่อนี้ในวันก่อน คงจะมีคนรู้จักไม่มากนัก

แต่วันนี้ชื่อของ “เอก” ธนาธร กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

นับตั้งแต่วันที่เขาตัดสินใจเล่นการเมืองในนามพรรคอนาคตใหม่

ผมเคยสัมภาษณ์ “เอก” ครั้งหนึ่งเมื่อ 10 กว่าปีก่อน

ไปสัมภาษณ์กับ “ติ๊ก” ธีรเดช เอี่ยมสำราญ ที่ห้องทำงานของเขาบนอาคารไทยซัมมิททาวเวอร์

บทสัมภาษณ์ชิ้นนั้นตีพิมพ์ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ด้วย

จำไม่ได้ว่าสัมภาษณ์เรื่องอะไร เพราะผ่านมานานมาก

ล่าสุด ผมนัดสัมภาษณ์ “เอก” ทาง facebook live ที่เพจ “หนุ่มเมืองจันท์”

ไม่ได้คุยเรื่องการเมือง

แต่คุยเรื่องธุรกิจ

เพราะผมเสียดายบทเรียนการบริหารธุรกิจของ “ธนาธร” กับ “ไทยซัมมิท” มาก

ความยิ่งใหญ่ของ “ไทยซัมมิท” ในวันนี้ ส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตกับ “สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ” คุณแม่ของ “ธนาธร” ที่เข้ามาดูแลกิจการแทนสามี

“สมพร” เป็น “ผู้หญิงเก่ง” มากคนหนึ่งของเมืองไทย

แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของ “ธนาธร”

โดยเฉพาะการขยายกิจการไปต่างประเทศ

เรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ต้องไปรับสืบทอดกิจการจากคุณพ่อที่เสียชีวิตกะทันหันตั้งแต่อายุ 23 ปี น่าสนใจมาก

“ธนาธร” นำพาบริษัททะยานไปสู่โลกกว้าง มีโรงงานอยู่ในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม

ดูจากจำนวนประชากรของแต่ละประเทศแล้ว

ประมาณครึ่งโลกครับ

ยอดขายล่าสุดของ “ไทยซัมมิท” คือ 80,000 ล้านบาท

กำไรประมาณ 6,000 ล้านบาท

โรงงานของเขามี “หุ่นยนต์” ประมาณ 1,800 ตัว

“เอก” ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามาก

พัฒนา AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ขึ้นมาเอง

เครื่องพิมพ์ 3 มิติก็สามารถผลิตเองได้

รวมทั้งการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่รัฐเคนทักกี เพื่อป้อนให้กับรถยนต์ไฟฟ้า “เทสลา” โมเดล 3

บริษัทของคนไทยทำชิ้นส่วนให้รถยนต์เทสลา ซึ่งถือกันว่าเป็นรถยนต์แห่งอนาคต

แบบนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน

ผมถาม “เอก” ว่าเคยเจอ “อิลอน มัสก์” ไหม

เขาบอกว่าไม่เคย

แต่ลูกน้องของเขาที่โรงงานเจอกับ “อิลอน มัสก์” ประจำ

โรงงานที่นี่มีถนนเป็นของตัวเองครับ

ชื่อ “ไทยซัมมิท”

“ธนาธร” เล่าว่าตอนที่หาสถานที่ตั้งโรงงาน เขาเลือกอยู่ 3 รัฐ

ผู้ว่าของแต่ละรัฐนัดคุยกับเขาเพื่อเชิญชวนให้ไปตั้งโรงงาน

ทุกรัฐพยายามยื่นข้อเสนอที่จูงใจ

แต่เขาเลือก “เคนทักกี”

เหตุผลหนึ่งก็คือ ผู้ว่าการรัฐเคนทักกีเสนอให้ชื่อถนน “ไทยซัมมิท”

ถือเป็นกลยุทธ์ที่ฉลาดมากเลยครับ

การให้ชื่อถนนเป็นข้อเสนอที่ไม่มีมูลค่าทางการเงิน

แต่มีมูลค่าทางใจ

ลองคิดดูสิครับ บริษัทของเรามีชื่อถนนเป็นของตัวเองอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

แค่คิดก็เท่แล้วครับ

ยิ่งคุยละเอียด ยิ่งรู้ว่าคนนี้เก่งมาก

ถ้ายังอยู่บนเส้นทางธุรกิจ “ไทยซัมมิท” ไประดับโลกแน่นอน

แต่ตอนเริ่มต้น “เอก” หนักมากเพราะต้องเข้ามารับดูแลกิจการ “ไทยซัมมิท” ตั้งแต่เพิ่งเรียนจบ

“ธนาธร” บอกว่าคุณพ่อไม่เคยสอนงานเขาเลย

ไม่เคยให้เขาเข้าประชุมบริษัท

แผนของบริษัทก็ไม่มี

เพราะทั้งหมดอยู่ในสมองของ “พัฒนา” คุณพ่อของเขา

เขาต้องเริ่มต้นจาก 0

ต้องเรียนรู้จาก “ความไม่รู้”

ตอนคุยกันนอกรอบ “เอก” เล่าว่าทำงานได้ไม่นานก็ต้องเจรจาธุรกิจมูลค่าพันล้านบาท

เด็กหนุ่มอายุแค่ 23 ปี ต้องเจรจาธุรกิจพันล้านบาท

“ตื่นเต้นไหม” ผมถาม

“คุยกันบนโต๊ะเหมือนปกติทั่วไปครับ แต่ถ้าใครก้มดูใต้โต๊ะ จะเห็นว่าขาผมสั่น”

ตอนนั้นความรู้ทางธุรกิจของเขาน้อยมาก

มีอยู่ครั้งหนึ่งต้องเจรจาเรื่องการซื้อกิจการ

เขาเสนอซื้อราคาหนึ่ง

บริษัทนั้นตั้งราคาขายสูงกว่าราคาที่ “เอก” เสนอประมาณ 300 ล้านบาท

คนขายก็เสนอให้ทำ “ดิวดิลิเจนซ์” หรือการเซ็นสัญญาเปิดทางให้ผู้ซื้อเข้ามาตรวจสอบฐานะการเงินเพื่อให้รู้ชัดๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

การเจรจาซื้อขายจะได้ง่ายขึ้น

“แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าดิวดิลิเจนซ์คืออะไร สมัยนั้นไม่มีกูเกิลให้เราถาม”

“ธนาธร” คิดว่าถ้าเซ็นสัญญาทำดิวดิลิเจนต์แล้วจะต้องซื้อในราคาที่คนขายเสนอมา

เขาเลยปฏิเสธไป

เป็นบทเรียนธุรกิจหนึ่งที่เขาจำได้ดี

จาก “ไม่รู้” เขาจึงเริ่มเรียนรู้

ถามว่ามีคำแนะนำอะไรสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวบ้าง

“ต้องลงมาดูหน้างานเยอะๆ คุยกับคนทำงาน”

เหตุผลก็คือ การดูรายงานที่ส่งเข้ามาในห้องประชุม ไม่มีทางที่จะเข้าใจสถานการณ์ ปัญหา หรือเงื่อนไขที่เกิดปัญหาได้เลย

ต้องลงไปสัมผัสกับสถานการณ์จริงจะทำให้เรามองภาพได้ชัด และตัดสินใจได้ถูกต้อง

“เอก” บอกว่าการรับสืบทอดกิจการตอนที่คุณพ่อไม่อยู่แล้ว มีทั้ง “ข้อเสีย” และ “ข้อดี”

“ข้อเสีย” คือ ไม่มีใครสอนงาน

“ข้อดี” คือ เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

“เพราะอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือผม ผมสามารถลองผิดลองถูกทฤษฎีบริหารของตัวเอง ไม่ติดกรอบอะไร”

เขาบอกว่าเพื่อนของเขาบางคนไปทำงานในธุรกิจครอบครัว มีความคิด มีความฝัน แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่

เพราะคุณพ่อยังดูแลกิจการอยู่

สำหรับเขาในความ “โชคร้าย” ก็มี “โชคดี”

วันนี้เมื่อ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ตัดสินใจลงเล่นการเมือง

การเริ่มต้นของเขาก็คล้ายกับตอนที่เริ่มต้นบนเส้นทางธุรกิจ

เขาต้องเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตนเอง

ไม่เข้าไปอยู่ใน “กรอบเก่า”

กระบวนท่าของเขาจึงไร้กระบวนท่า

นอกจากเรื่องธุรกิจและการบริหารงาน อีกเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจคุยกับ “เอก” ธนาธร คือ เรื่องการปีนเขา

เขาเป็นคนที่หลงใหลการผจญภัยมาก

ถามว่าได้อะไรจากการปีนเขาบ้าง

“เอก” บอกว่าสิ่งแรกที่ได้คือ ได้คุยกับตัวเองมากขึ้น

ช่วงเวลาที่ปีนเขา ฝ่าอากาศหนาว ลุยหิมะ ทั้งเหนื่อย ทั้งอันตราย

ช่วงเวลานั้นเขาจะได้คุยกับตัวเอง

ข้อสองคือ เขาได้เรียนรู้ว่าขีดจำกัดของเราทำได้แค่ไหน

ฟังดูเหมือนเขาจะบ้าบิ่น ไม่กลัวตาย

มีเหตุการณ์หนึ่งที่เขาประทับใจมาก

“เอก” ไปปีนเขากับเพื่อน

ออกจากที่พักตอนตีสี่

บ่ายสองเห็นยอดเขาอยู่แค่เอื้อม

“ถ้าเราเดินต่อ เราถึงยอดเขาแน่นอน”

แต่ตอนขาลงจะอันตราย เพราะเริ่มมืดแล้ว

วินาทีนั้น เขาต้องตัดสินใจ

จะเดินต่อให้ถึง “ความฝัน” ที่อยู่แค่เอื้อม

แต่อันตราย

หรือหยุด ไม่ไปต่อ

เพื่อความปลอดภัย

รู้ไหมครับว่า “เอก” ตัดสินใจอย่างไร

เขาตัดสินใจไม่ไปต่อครับ

…หยุด

แล้วเดินกลับ

ครับ “ความกล้าหาญ” ไม่ใช่ “ความบ้าบิ่น”

แต่ “ความกล้าหาญ” คือ รู้ว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำ

กล้าตัดใจ

และรู้จักรอคอย

เพราะ “ยอดเขา” ไม่หนีไปไหน

ยังอยู่ที่เดิม

พร้อมเมื่อไร ค่อยก้าวเดิน