อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : สัญญาณจากเนปิดอว์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ควรยอมรับว่ามีสัญญาณไม่ดีนักจากเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศเมียนมา

มีปฏิกิริยาจากคณะผู้แทนเพื่อสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ ที่แสดงต่อการเจรจาระดับสูงของเมียนมา ฝ่ายหนึ่งคือ ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (State Counsellor) นางออง ซาน ซูจี กับอีกฝ่ายหนึ่ง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา

ความตึงเครียดของทั้งสองฝ่ายเกิดขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันในการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ (Rakhine) และบทบาทของคณะผู้แทนเพื่อสันติภาพขององค์การสหประชาชาติในการนำผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมเรือนหมื่นกลับจากบังกลาเทศสู่เมียนมาอย่างปลอดภัย

 

ไฟปะทุ

การประชุมฝ่ายความมั่นคงของเมียนมาเกิดขึ้นในเวลาอันสั้น หลังจากรัฐบาลพลเรือนเมียนมาแถลงว่า National Commission of Inquiry into human right ได้ละเมิดข้อตกลงช่วงการดำเนินการทางทหารในรัฐยะไข่ ตามมาด้วยการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายและกองกำลังป้องกันชายแดนของเมียนมาล้มตาย

การประชุมครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากมีการเซ็นบันทึกข้อตกลง (Memorandum of Understanding-MOU) ว่าด้วยแผนการขององค์การสหประชาชาติที่มีส่วนร่วมในการนำผู้ลี้ภัยกลับมา การตั้งถิ่นฐานของพวกเขาและการพัฒนารัฐยะไข่

แม้ว่ามีรายละเอียดของ MOU ประกาศออกไป แต่ก็มีเหตุให้เกิดความสงสัยและเกิดความโกรธเคืองระหว่างคนอะรากัน (Arakan) ในรัฐยะไข่กับทหารเมียนมา

ดังนั้น รัฐบาลพลเรือนจึงเก็บรายละเอียดเป็นความลับ เพราะเกรงว่าจะเกิดความแตกแยกต่อชุมชนต่างๆ ในรัฐยะไข่

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของ MOU คาดว่าจะมีการเผยแพร่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผลคือ การแทรกแซงคณะผู้แทนขององค์การสหประชาชาติจากนางออง ซาน ซูจี ซึ่งสามารถโน้มน้าวว่าการรักษาความลับเป็นการต่อต้าน

ประเด็นความไม่พอใจระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับทหารไม่ใช่เรื่องสัดส่วนผสมและการมีส่วนร่วมของผู้แทนต่างชาติแต่เป็นข้อสงสัยจากผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ อันเป็นการประณามทหารอย่างรุนแรง สิ่งนี้ถือว่า

“…มันเป็นเส้นแดงที่ไม่สามารถข้ามได้…” (1) และในที่ประชุมนั้น นางออง ซาน ซูจี กับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย มีปฏิกิริยาโกรธกันและจะทำแม้แต่การทำรัฐประหาร ถ้านางออง ซาน ซูจี ไม่สามารถบริหารประเทศได้ ดังนั้น ทหารจะต้องเข้ามามีอำนาจอีกครั้ง

สิ่งนี้มีการวางเงื่อนไขอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทหารสามารถใช้ “อำนาจบริหาร” ไม่ว่าในระดับชาติหรือระดับรัฐ ถ้าผู้บัญชาการทหารสูงสุดพิจารณาแล้วว่า ความมั่นคงของประเทศอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม

เราจะเห็นได้ว่าการใช้กฎอัยการศึกโดยประธานาธิบดีรักษาการ นายเต็ง เส่ง เคยเกิดขึ้นแล้วในปี ค.ศ.2012 และทหารได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในรัฐยะไข่

หลังจากการประชุมซึ่งจบลงอย่างกะทันหัน ทั้งสองฝ่ายเริ่มตระเตรียมการเผชิญหน้ากัน กองกำลังต่างๆ รวมทั้งกองกำลังจากบริเวณชายแดนย้ายมาอยู่ที่เมืองใหญ่ต่างๆ และมีปฏิบัติการที่ชะงักงั้นในภูมิภาคต่างๆ ตามชายแดนนอกเหนือจากรัฐยะไข่ เพื่อเน้นการเผชิญหน้ากันที่เนปิดอว์ (Nay Pyi Daw) เมืองหลวงของเมียนมา แม้ต้องเตรียมการเป็นเดือนๆ แต่ทหารก็ต้องเตรียมการ

การปฏิบัติการหยุดยิงและถอนกองกำลังจาก Kachin Independence Army-KIA กองพันทหารที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของกองกำลังอิสระคะฉิ่น มีการตั้งข้อสังเกตว่าการถอนกองกำลังนั้นยังมีเหตุผลมาจากหน้าฝนซึ่งทหารส่วนใหญ่มักจะหยุดปฏิบัติการ

แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปสำหรับกรณีนี้

 

ไฟที่ไม่เคยมอด

ประเด็นปัญหาการมีส่วนร่วมของต่างประเทศในคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติไม่ใช่ประเด็นหลัก ถึงแม้การดำเนินการของคณะกรรมการชุดนี้จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยุติความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การทำรัฐประหารในเมียนมาในอนาคตได้ ถึงกระนั้นก็ดี “ภัยคุกคาม” ยังไม่ได้มีการพูดถึง ภัยคุกคามยังคงอยู่ สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ ทั้งฝ่ายรัฐบาลพลเรือนและผู้นำทหารควรเริ่มต้นจากความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ควรตระหนักให้ดีว่า ระบบเศรษฐกิจการเมืองเมียนมาหลังการเลือกตั้ง ค.ศ.2010 ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก รัฐธรรมนูญยังให้อำนาจกองทัพเรื่องภัยคุกคามต่อความมั่นคง ดังนั้น ในทางกฎหมายทหารย่อมมีสิทธิชอบธรรม ภัยต่อความมั่นคงของเมียนมาไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือภัยจากกองกำลังชนกลุ่มน้อย ภัยจากชายแดน และตอนนี้ภัยเรื่องเชื้อชาติและศาสนาก็เข้ามาผสมโรงจากลัทธิสุดโต่ง (extremism) ด้วย อีกทั้งในโครงสร้างรัฐสภาของเมียนมาทหารก็มีที่นั่งอยู่

ประการที่สอง เราควรเข้าใจว่าเมียนมากำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ประชาธิปไตยที่เพิ่งเริ่มต้น” ประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังจากรัฐบาลพลเรือนมาก แต่รัฐบาลที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี ยังนำเสนอแต่ Rule of Law ผมไปร่วมประชุมที่ไหนๆ ในเมียนมา ใครๆ ก็พูดถึงแต่ Rule of Law แต่ประชาชนก็ต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจที่จับต้องได้ คนทั่วไปยังนับถือนางออง ซาน ซูจีอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่าคะแนนนิยมของเธอแผ่วเบาลงไปเรื่อยๆ

การประท้วงรายวันของประชาชนเรื่องต่างๆ นานาเป็นสัญญาณที่ดีของการแสดงสิทธิเสรีภาพ แต่การข้ามเส้นเขตแดนของความมั่นคงเป็นอันตรายมาก และมากกว่าที่คนภายนอกคิด

ลองถามคนเมียนมาดู

————————————————————————————————————
(1)Larry Jagan, “UN envoy averts possible military Coup in Myanmar” Bangkok Post 23 June 2018.