เกษียร เตชะพีระ : เห็บสยามบนหลังมังกรจีน

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (14) : เห็บสยามบนหลังมังกรจีน

ผมเริ่มเรียบเรียงความคิดขณะอ่านวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตเรื่อง “สี่ทศวรรษนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีน : นโยบาย ปัจจัยและข้อเสนอแนะ” (พ.ศ.2560) ของ ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช เทียบเคียงไปกับหนังสือ Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China (ค.ศ.2017) ของ Benjamin Zawacki ด้วยคำถามชี้นำว่า :

อะไรคือเหล่าปัจจัยที่รองรับความต่อเนื่องทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีน (policy continuity) ผ่านข้ามโครงสร้างการเมืองในระบอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งหรือเผด็จการทหารนับแต่ช่วงหลังสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา? (ตามข้อสรุปสังเกตของเจษฎาพัญ ดู “อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน” ตอน 2 & 7)

คำตอบที่ Benjamin Zawacki เสนอไว้คือ :

“การเคลื่อนย้าย (ของไทย) เข้าไปในเขตอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน (และออกจากเขตอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐ) นั้นได้กลายเป็น ฉันทามติแห่งชาติทางสถาบันและวัฒนธรรม มันไม่เพียงข้ามพ้นเส้นแบ่ง “เหลืองกับแดง” ภายในประเทศไทยเท่านั้น หากยังกระทั่งเป็นสัญญาที่หาได้ยากระหว่างเหลืองกับแดงด้วย” (BZ, p.4)

การค้นคิดสืบต่อของผมคือ ก็แล้วเหล่าปัจจัยที่รองรับฉันทามติแห่งชาติจนเกิดเป็นความต่อเนื่องทางนโยบายเศรษฐกิจของไทยต่อจีนนั้นที่สำคัญได้แก่อะไรบ้างเล่า?

ผมคิดว่าก่อนอื่นคือโครงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ในระดับโลกและระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์ (A new global and regional economic opportunity structure) ภายหลังจีนปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดประเทศและเข้าเป็นภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกในที่สุดเมื่อปลายปี ค.ศ.2001

ผลของมันทำให้เศรษฐกิจส่งออกของจีนโดยเฉพาะที่ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาหลังจากนั้นเติบโตระเบิดเถิดเทิงดังที่ Arthur R. Kroeber บันทึกไว้ใน China”s Economy : What Everyone Needs to Know (Oxford University Press, 2016), Chapter 3 Industry and the Rise of the Export Economy, pp.49-50. ว่า :

“การเข้าเป็นภาคีสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนปลายปี ค.ศ.2001 ทำให้จีนเข้าถึงตลาดโลกแผ่กว้างขึ้น การย้ายฐานสมรรถภาพการประกอบชิ้นส่วนเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันจำนวนมากมายังแผ่นดินใหญ่ ทำให้บรรดาผู้ส่งออกที่ตั้งฐานอยู่ในจีนได้ประโยชน์โภคผลเกินสัดส่วนปกติจากอุปสงค์ต่อเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นอย่างระเบิดเถิดเทิงในโลก มิหนำซ้ำเศรษฐกิจโลกยังโตขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีในช่วงปี ค.ศ.2003-2007 ซึ่งสูงกว่าอัตราเติบโตระยะยาวโดยเฉลี่ยโขอีกด้วย ระหว่างปี ค.ศ.2001 และ 2008 การส่งออกของจีนจึงเติบโตในอัตราที่น่าตื่นตกใจถึงปีละ 27 เปอร์เซ็นต์ คือเพิ่มขึ้นหกเท่าจาก 266 พันล้านดอลลาร์เป็น 1.4 ล้านล้านดอลลาร์”

(แปลและเน้นโดยผู้เขียน)

จังหวะนั้นเองที่เห็บสยามกระโดดแหม็บเข้าเกาะหลังมังกรจีน ตามแนวทางที่อดีตปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ เคยชี้แจงไว้ใน “ชูเห็บสยามโมเดลกู้เศรษฐกิจ” (3 ส.ค. 2559) ว่า :

“โมเดลเศรษฐกิจไทยส่วนตัว ผมมองว่าควรเป็น “เห็บสยามโมเดล” คือ เติบโตไปกับประเทศต่างๆ แต่ไม่ทรุดตัวไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ คือเราจะไปเกาะประเทศที่โตดี เช่น จีน อินเดีย หรือแอฟริกาใต้ หากประเทศเหล่านี้โตเราจะโตตามไปด้วย กินจนเราอ้วน แต่เมื่อเกิดเศรษฐกิจขาลง เราจะย้ายไปโตกับประเทศอื่นแทน โดยถือเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับทุกประเทศ ไม่ใช่เป็นคู่แข่งของประเทศใด”

(https://www.thairath.co.th/content/680071)

ดร.เจษฎาพัญสรุปโครงสร้างการค้าระหว่างไทยและจีนในทำนองเห็บสยามโมเดลไว้ที่ น.416-417 ว่า :

“โครงสร้างการค้าระหว่างไทยและจีนยังคงเหมือนเดิมในช่วงก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ เป็นสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) ที่จีนนำเข้าเพื่อไปประกอบและผลิตเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย (finished goods) ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน นั่นคือมูลค่าการส่งออกของไทยขึ้นอยู่กับภาวะการส่งออกของจีนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จีนเป็นประเทศที่เป็นแหล่งตลาดส่งออกของไทยในอันดับที่ 2 ทำให้เมื่อจีนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การค้าระหว่างไทยและจีนจึงได้รับผลกระทบไปด้วย… จะเห็นได้ว่าอัตราการเติบโตทางการค้าของไทยต่อจีนลดลงอย่างมากในระหว่างปี ค.ศ.2008-2009”

โดยเธออธิบายเชื่อมโยงไว้ให้เห็นชัดที่ น.400 ว่า :

“…ไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐในปี ค.ศ.2008 (วิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก-ผู้เขียน) เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยทำให้ปริมาณการส่งออกไปสหรัฐลดลง นอกจากนี้ ไทยยังได้รับผลกระทบอีกทางจากการนำเข้าของจีนที่ลดลง เนื่องจากสหรัฐที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของจีนลดปริมาณการนำเข้าลง และพลอยทำให้การส่งออกจากไทยไปจีนลดลงด้วย”

ความเชื่อมโยงเกาะติดหลังจีนในโครงสร้างเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบบนี้เองที่ผมเรียกตามศาสตราจารย์ Hung Ho-fung ว่าไทยตัดสินใจเข้าร่วมทีม “คณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย” (https://newleftreview.org/II/60/ho-fung-hung-america-s-head-servant) ในสมัยรัฐบาลทักษิณและปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันทุกรัฐบาลข้ามโครงสร้างการเมืองในประเทศระบอบต่างๆ ภายในกรอบใหญ่ของโครงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและโลกที่มีจีนเป็นขั้วหลักขั้วหนึ่งซึ่งครอบงำกำกับอยู่

จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่เริ่มปะทุขึ้นเมื่อเดือนมกราคมและระเบิดลามขยายเมื่อเดือนมีนาคมศกนี้เป็นต้นมา (https://en.wikipedia.org/wiki/Trump_tariffs) ไทยในฐานะเสี่ยวเอ้อส่งออกร่วมทีมตั่วเฮียหรือเห็บเกาะหลังมังกรในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีนจึงย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย

(ดูภาพประกอบด้านบนจากบทความ “สงครามมากับทรัมป์ อุณหภูมิการค้าโลกปะทุ สินค้าจีน 6 หมื่นล้านดอลลาร์จ่อถูกกั้น ไทยเจอหางเลขสินค้าห่วงโซ่จีนถูกกระทบ”, 30 มี.ค. 2018, https://www.marketingoops.com/news/biz-news/world-trade-war/)