ธุรกิจพอดีคำ : “ประหยัด คือหัวใจ”

ณ ห้องประชุมคณะกรรมการบริษัทแห่งหนึ่ง

ผู้บริหารกำลังนำเสนอโครงการธุรกิจใหม่ๆ ที่จะสร้างความเติบโตให้กับบริษัท

“เราเชื่อว่าโครงการนี้จะสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างแน่นอนครับ” ผู้บริหารกล่าวปิดการนำเสนอ

ห้องเงียบไปชั่วขณะ

จนกระทั่งกรรมการบริษัทท่านหนึ่งเอ่ยขึ้น

“ต้องขอโทษทีนะครับ เทคโนโลยีที่คุณพูดถึง ตอนนี้คนอื่นๆ เขาทำกันถึงไหนแล้ว”

ผู้บริหารท่านนี้ตอบอย่างมั่นใจ

“คู่แข่งของเรากำลังพัฒนาสิ่งคล้ายๆ กันอยู่ เพราะฉะนั้น เราจำเป็นต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว ไม่งั้นจะเสียโอกาสครับ”

ห้องเงียบไปอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับบรรยากาศ “อึดอัด” บอกไม่ถูก

“เทคโนโลยีตัวนี้ พวกผมที่เป็นกรรมการ ไม่มีความรู้เลย เราคงไม่สามารถตัดสินใจเพื่อรับความเสี่ยงนี้ได้”

ผู้บริหารที่นำเสนออึ้งไปชั่วขณะ ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ

กรรมการอีกท่านกล่าวเสริม

“พวกคุณพาเราไปดูงานได้มั้ย พวกเราจะได้เข้าใจแล้วช่วยคุณตัดสินใจได้ไงล่ะ”

ในยุคนี้ที่ธุรกิจขายของออนไลน์เป็นที่นิยมอย่างมาก

บริษัทอย่าง “อเมซอนดอทคอม (Amazon.com)” ผู้ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการอีคอมเมิร์ซ

หลายคนบอกว่า บริษัทแห่งนี้นี่แหละที่ล้มบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท “วอลมาร์ท (WalMart)” ได้สำเร็จ

สำหรับคนที่ที่ไม่เคยได้ยินชื่อวอลมาร์ท

บริษัทนี้เคยเป็นบริษัทที่ติดอันดับที่ “หนึ่ง” ในบริษัทที่ทำรายได้สูงสุดในโลก

เขาสร้าง “ร้านค้าลดราคาขนาดใหญ่” วางไว้ทั่วทุกหนแห่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา

เน้นที่ของราคาถูก รับประกันความพึงพอใจ

เป็นที่พึ่งพิงให้กับลูกค้ามากมายตามหัวเมืองต่างๆ

แน่นอนว่า “ยอดขาย” ของวอลมาร์ทตกลงอย่างมีนัยสำคัญ

AP Photo/Ted S. Warren, File)

ตั้งแต่ที่ “อเมซอนดอทคอม” ถือกำเนิด

คนเข้าร้านไป “ซื้อของ” น้อยลง

ซื้อของออนไลน์มากขึ้น

หากแต่ว่ามีหลักการทำงานที่ “เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos)” ผู้ก่อตั้งอเมซอนดอทคอม ขโมยมาจาก “วอลมาร์ท” อย่างชัดเจน

นั่นก็คือเรื่องของ “ความประหยัด (Frugality)”

อเมซอนดอทคอมนั้นโด่งดังด้านความประหยัดมาก

พนักงานจะเดินทางไปทำงาน ก็ต้องนอนด้วยกัน ไม่มีห้องเดี่ยว

จะเดินทางไปทำงาน ก็ต้องประหยัด เน้นตัวงาน ไม่เน้นความสะดวกสบาย

เน้นการ “ลดค่าใช้จ่าย” ที่ไม่จำเป็นของพนักงาน

เพราะเมื่อพนักงานประหยัดแล้ว ค่าใช้จ่ายที่ลดได้ในการดำเนินการก็จะถูกนำมา “ลดราคา” สินค้าในเว็บไซต์ของอเมซอนดอทคอม

เมื่อมีคนเข้ามาซื้อสินค้ามาก ก็สามารถต่อราคากับ “ร้านขายส่ง” ได้มาก

ก็จะสามารถลดราคาได้เพิ่มเติมขึ้นไปอีก

ทำให้ “ของลดราคา” มีให้เห็นมากมาย ราคาถูกกว่าที่อื่นอย่างชัดเจน

ที่ “วอลมาร์ท” นั้นก็มีนโยบายในด้านนี้คล้ายๆ กัน

เวลา “พนักงาน” จะเดินทางเพื่อไปซื้อของมาขาย

แซม วอลตัน (Sam Walton) เจ้าของบริษัทวอลมาร์ท ก็กำหนดนโยบายคุมไว้

ถ้าต้องเดินทางไปซื้อของมาขายจำนวนหนึ่งล้านบาท

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของพนักงานจะต้องไม่เกิน “หนึ่งหมื่นบาท”

หรือพูดง่ายๆว่า ไม่เกิน “หนึ่งเปอร์เซ็นต์” ของสินค้าที่จะซื้อเข้ามาขายนั่นเอง

การเดินทางไปทำงานนั้น พนักงานจะต้องประหยัด ไม่ได้อยู่อย่างสบาย

เพื่อสร้าง “ความสามารถทางการแข่งขัน” ขององค์กรเรื่อง “ขายของราคาถูก” ได้ดียิ่ง

อีกเรื่องหนึ่งที่วอลมาร์ททำในการขายสินค้า ทำให้สร้าง “แบรนด์” ได้อย่างรวดเร็ว

คือ การขายสินค้าบางชนิดแบบไม่เอากำไร

สินค้าที่ผู้คนทุกคนจะต้องใช้ เช่น ยาสีฟัน ยาแก้ปวดหัว สบู่ แชมพู เป็นต้น

เหล่านี้จะเป็นสินค้าที่เป็น “เหยื่อล่อ” ให้ลูกค้าคิดว่า “ร้านนี้ราคาถูกที่สุด”

ดึงลูกค้าเข้ามาในร้านได้มากขึ้น

ส่วนสินค้าอื่นๆ แม้ราคาจะถูก แต่ก็มีกำไรไม่ต่ำกว่า “สามสิบเปอร์เซ็นต์”

นี่แหละกลยุทธ์สร้างแบรนด์ และดึงคนเข้าร้านที่แยบยล

เรื่องของการขายของนั้น

Sam Walton, founder of Wal-Mart, US retail chain, shown in a photo dated 05 April 1992 taken in Little Rock. / AFP PHOTO / AFP FILES / LUKE FRAZZA

แซม วอลตัน เคยพูดติดตลกไว้ว่า

สินค้าใดที่คุณสามารถแขวนให้ห้อยลงมาจากเพดานได้

สินค้านั้นจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

แขวนกล้วยลงมาตรงกลางแผนกผลไม้

กล้วยนั้นจะขายหมด

แขวนไม้ถูบ้านลงมาจากเพดานในแผนกทำความสะอาด

ไม้ถูบ้านยี่ห้อนั้นจะขายดิบขายดี

เรื่องของการ “จัดวาง” สินค้า จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในธุรกิจค้าปลีก

แซม วอลตัน ดูงานมาทุกที่ทั่วประเทศ

เรียนรู้แล้วเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ทันทีกับ “วอลมาร์ท”

จนทำให้วอลมาร์ทเป็นตำนานบริษัทที่ร่ำรวยที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก

ก็เพราะเรื่องของ “ความประหยัด” และ “การเรียนรู้” จากบริษัทอื่น

ถือว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้ประกอบการในยุค 4.0 นี้

กลับมาที่บริษัทยักษ์ใหญ่

“ไปดูงานกันดีกว่า ที่อเมริกาได้มั้ย ไปติซิลิคอนวัลเลย์ ผมอยากเรียนรู้เรื่องบริษัทสตาร์ตอัพ เทคโนโลยี”

ผู้บริหารเงียบ ไม่ตอบ แต่คิดในใจ

“เดือนที่แล้วเพิ่งขอไปยุโรป ดูโรงงานอะไรสักอย่างนี่นา”

งานมีไว้ “ทำ” นะ

ไม่ได้มีไว้ “ดู”