“ปัญหาขยะพลาสติก” “กับดัก” ที่ประเทศไทยดิ้นไม่หลุด!

ปลาวาฬนำร่องเพศผู้ตัวหนึ่งเกยตื้นบริเวณปากคลองนาทับติดกับทะเลอ่าวไทยและมีอาการป่วยหนัก เจ้าหน้าที่คอยดูแลและพยายามช่วยชีวิตเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนที่ปลาวาฬตัวนี้จะสิ้นชีพในที่สุด

สิ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้กับทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป คือ จากการผ่าพิสูจน์ศพพบขยะพลาสติกในกระเพาะอาหารของวาฬตัวนี้มากถึง 80 ชิ้น น้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม

โดยก่อนที่มันจะตายได้ขย้อนถุงพลาสติกออกมา 5 ชิ้น นี่เป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้วาฬตัวนี้เสียชีวิต นอกเหนือจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

ภาพสะเทือนใจดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของผลกระทบจากปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกถือเป็นหัวข้อหลักในการรณรงค์ลดปริมาณขยะพลาสติกทั่วโลก ภายใต้สโลแกน “Beat Plastic Pollution if you can”t reuse it, refuse it” หรือ “จัดการกับมลพิษขยะพลาสติก หากคุณไม่สามารถนำมันกลับมาใช้ซ้ำได้ ก็ปฏิเสธที่จะใช้มันเสีย”

ซึ่งได้รับการพูดถึงในวันที่ 5 มิถุนายน หรือวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้

ไทยติดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด จากข้อมูลขององค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล ซึ่งระบุว่า แต่ละปีมีขยะพลาสติกราว 8 ล้านตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทร หรือเทียบเท่ากับรถบรรทุกขยะเต็มคันนำขยะไปเททิ้งลงทะเล ทุกนาที ในทุกๆ วัน

ขยะมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกมาจากประเทศในเอเชีย ได้แก่ จีน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

แต่ก็เป็นประเทศที่มีการผลิตและใช้ถุงพลาสติกมากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน

อีกทั้งยังขาดวิธีการจัดการขยะที่ได้มาตรฐาน

ความต้องการบริโภคถุงพลาสติกในประเทศไทยมีปริมาณค่อนข้างสูง

เห็นได้จากเมื่อเราไปซื้อสินค้าตามห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ก็จะได้ถุงพลาสติกกลับมาเป็นจำนวนมาก

แม้แต่การซื้อเครื่องดื่มข้างถนนก็ยังมีถุงหูหิ้วพลาสติกแถมมาให้ด้วย

ต่างจากในหลายประเทศที่มีข้อบังคับที่เข้มงวด คอยควบคุมและลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก

จากรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติระบุว่า ในตอนนี้มี 75 ประเทศทั่วโลกที่ออกมาตรการลดใช้ถุงพลาสติก

อาทิ การเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเมื่อซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า

การใช้ถุงที่ทำจากวัสดุทดแทน

การยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง จำพวกหลอดดูดน้ำ ไม้แคะหู ช้อน ส้อม และที่คนกาแฟ

เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่ออกนโยบายเก็บภาษีถุงพลาสติก เมื่อ พ.ศ.2536 โดยส่วนหนึ่งแบ่งเป็นกำไรให้กับร้านสะดวกซื้อ มาตรการดังกล่าวส่งผลให้การใช้ถุงพลาสติกในประเทศลดลงถึง 40% ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันชาวเดนมาร์กใช้ “ถุงพลาสติกซ้ำ” เฉลี่ย 70 ถุงต่อปี และใช้ “ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง” เฉลี่ยเพียง 4 ถุงต่อปี

นอกจากการเก็บภาษีถุงพลาสติกแล้ว ที่เดนมาร์กยังมีเครื่องรับซื้อพลาสติก ที่เพียงแค่นำขวดพลาสติกรีไซเคิลใส่เข้าไป เครื่องก็จะตรวจสอบวัสดุและพิมพ์สลิปออกมา

ซึ่งประชากรสามารถนำสลิปเหล่านั้นไปใช้แทนเงินสดสำหรับซื้อสินค้าได้ด้วย

ส่วนในประเทศเคนยา ก็ประกาศใช้กฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกเต็มรูปแบบเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งกินความรวมถึงการห้ามจำหน่าย ผลิต หรือใช้ถุงพลาสติก หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 38,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 ล้านบาท)

ถือเป็นกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกที่มีบทลงโทษรุนแรงที่สุดในโลก

ในประเทศไทย ยังไม่มีมาตรการโดยรวมที่ชัดเจนจากภาครัฐเพื่อจัดการปัญหาขยะถุงพลาสติก มีเพียงหน่วยงานเอกชนบางแห่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

อาทิ ใน พ.ศ.2558 ห้างสรรพสินค้า 16 แห่ง ประกาศงดบริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้าทุกวันที่ 15 ของเดือน ผลที่ได้คือ เพียงวันเดียวสามารถลดจำนวนถุงพลาสติกถึง 1.8 ล้านใบ

ความเคลื่อนไหวล่าสุด ภาครัฐ คือ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยกเลิกถุงพลาสติกสำหรับใส่ยาของทุกหน่วยงานในสังกัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้

พร้อมขอความร่วมมือให้ประชาชนนำถุงผ้ามาใส่ยากลับบ้านแทน คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ได้มากถึงปีละ 9 ล้านใบ

ในส่วนภาคเอกชนก็เริ่มตื่นตัวกับปัญหาขยะพลาสติก ทั้งการจัดกิจกรรมลดการใช้ถุงพลาสติกของบรรดาห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ

การรณรงค์ใช้ถุงผ้า โปรโมชั่นแจกแต้มสะสมสำหรับใช้เป็นส่วนลดหรือแลกซื้อสินค้า เมื่อลูกค้าปฏิเสธที่จะรับถุงพลาสติกขณะชำระเงิน

และการลดจำนวนวัสดุพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น หลอดดูดน้ำ พลาสติกห่อหลอด และพลาสติกซีลฝาขวดน้ำดื่ม

ปัญหาขยะพลาสติกอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับใครหลายคน แต่ความจริงนี่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

เพราะการทิ้งขยะพลาสติกลงแม่น้ำลำคลอง หากปล่อยทิ้งไว้ในระยะยาว จะทำให้เกิดสถานการณ์ขยะอุดตัน นำมาซึ่งปัญหาน้ำท่วมขัง และขยะเหล่านี้ยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคหลายชนิด ที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ

สิ่งสำคัญที่จะทำให้การลดใช้พลาสติกประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากการเก็บภาษีถุงพลาสติก การรณรงค์ และโครงการให้ความรู้ต่างๆ แล้ว ก็คือ การกระตุ้นจิตสำนึกและเปลี่ยนความคิดของคนในสังคม

หากทุกคนตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกอย่างแท้จริง โดยเริ่มต้นปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากตัวเราเองก่อน

เชื่อว่าประเทศไทยจะหลุดพ้นจาก “กับดักขยะพลาสติก” ได้ในที่สุด