กรองกระแส / ถนนการเมือง เสนอ 2 ทางเลือกสำคัญ เอา ไม่เอา คสช.

กรองกระแส

 

ถนนการเมือง

เสนอ 2 ทางเลือกสำคัญ

เอา ไม่เอา คสช.

 

ต้องยอมรับว่า ท่าทีไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อพรรคพลังประชารัฐมีความแจ่มชัด

เป็นท่าทีอย่างที่บางสื่อสรุปว่า “ปกป้อง”

นั่นก็คือ ปกป้องจากข้อร้องเรียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า การเคลื่อนไหวของนักการเมืองในกลุ่ม “สามมิตร” โดยโยงไปสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐนั้นอาจมีความผิด

1 รัฐธรรมนูญ มาตรา 169(4)และ 1 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 30 และมาตรา 31

ไม่ว่าอาการปกป้องอย่างที่บางสื่อสรุปออกมาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้สร้างความแจ่มชัดและอาจกลายเป็น “เส้นแบ่ง” ในทางการเมืองในกาลข้างหน้าต่อไป

เท่ากับค้ำประกันถึงสิทธิอันนักการเมืองใน “กลุ่มสามมิตร” สามารถทำได้ เท่ากับค้ำประกันถึงกระบวนการสร้าง “พรรคพลังประชารัฐ” ว่าถูกต้องชอบธรรม เปี่ยมด้วยหลักแห่งธรรมาภิบาล เดินตามแนวทางการเมืองใหม่ในยุคแห่งการปฏิรูปครบถ้วน สมบูรณ์

“เส้นแบ่ง” นี้ทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

 

กำหนดสัมพันธ์

ภายในพรรค คสช.

 

ต้องยอมรับว่านับแต่เปิดให้มีการจดแจ้งพรรคการเมืองในเดือนเมษายนเป็นต้นมา ก็เริ่มมีความแจ่มชัดในแนวทางและเส้นทางการเมืองของหลายพรรค

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคที่เห็นด้วยกับแนวทางของ “คสช.”

พรรคเหล่านี้ไม่เพียงแต่เห็นชอบด้วยกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หากแต่ยังเห็นชอบด้วยทุกประกาศและคำสั่งของ คสช. อันออกตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

และที่สำคัญที่สุดก็คือ สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ประชาชนจึงเห็นท่าทีอันเด่นชัดจากพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคทางเลือกใหม่ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ประชาชนก็มองเห็นเช่นเดียวกันว่ามีพรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ แสดงท่าทีออกมาอย่างเด่นชัดในลักษณะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับพรรคที่ระบุนามมาแล้วข้างต้น

นั่นก็คือ 1 มีพรรคที่เห็นด้วยกับ คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจ คสช. นั่นก็คือ มีพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับ คสช. ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ คสช.

 

2 ทิศทาง 2 แนวทาง

เสนอต่อประชาชน

 

ยิ่งโรดแม็ป “การเลือกตั้ง” เคลื่อนเข้ามาใกล้มากเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นภายในเดือนพฤษภาคม 2562 การเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมืองจะสะท้อนถึง 2 ทิศทาง 2 แนวทางอย่างแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

เหมือนกับพรรคพลังประชารัฐสร้างความแตกต่างกับพรรคเพื่อไทย เหมือนกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยสร้างความแตกต่างกับพรรคอนาคตใหม่

เหมือนกับพรรครวมพลังชาติไทยสร้างความแตกต่างกับพรรคประชาชาติ

ในท่ามกลางการเคลื่อนไหว 2 ทิศทาง 2 แนวทางในทางการเมืองเช่นนี้ จะก่อให้เกิดกระแสและความโน้มเอียงทางการเมืองเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไปในสังคมเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก่อให้เกิดกับพรรคพลังประชารัฐ

กระแสและความโน้มเอียงอันเป็นความแตกต่างระหว่างฝ่ายของ คสช. กับฝ่ายที่มิใช่ คสช. นี้เองที่จะนำไปสู่การดูดดึงและผลักตัวในทางความคิด

บรรดาพรรคที่ยังไม่มีความแจ่มชัดก็จะต้องติดตามและเฝ้ามอง

เป็นการเฝ้ามองเพื่อที่จะเลือกและตัดสินใจว่าจะก้าวไปในเส้นทางเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ หรือว่าจะก้าวไปในเส้นทางเดียวกับพรรคเพื่อไทย

อุณหภูมิจากความต้องการของประชาชนนั่นแหละจะช่วยให้มีการตัดสินใจ “เลือก”

 

จะเอากับ คสช.

หรือไม่เอา คสช.

 

สถานการณ์และข้อกำหนดอันมาจาก คสช. นั่นเองจะเป็นเครื่องช่วยให้ประชาชนจำเป็นต้องเลือก จำเป็นต้องตัดสินใจ

เป็น 2 แนวทางที่จะต้องตัดสินใจผ่าน “การเลือกตั้ง”

หากผลการเลือกตั้งออกไปในทิศทางใด นั่นเท่ากับสะท้อนเจตจำนงและจะกลายเป็นอาณัติอันทรงความหมายให้กับแต่ละพรรคการเมือง

หากประชาชนเลือกพรรคในแนวทาง คสช. ก็เท่ากับให้การรับรอง คสช.

หากประชาชนไม่เลือกพรรคในแนวทาง คสช. ก็เท่ากับไม่ได้ให้การรับรองและมีความหมายตรงตัวว่าเป็นการปฏิเสธ คสช.

ต้องยอมรับว่าทุกกระบวนการอันมาจาก คสช. ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อระดมคนและสร้างพรรคไปตามแนวทางของ คสช. นั่นแหละมีส่วนอย่างสำคัญทำให้ประชาชนได้เห็น ได้รับรู้และใช้วิจารณญาณในการเลือก

เป็นการให้คำตอบว่า 4 ปีที่ผ่านมา คสช.ประสบความสำเร็จ หรือว่าล้มเหลว