คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พุทธศาสนาและโทษประหารชีวิต

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“โทษประหารชีวิตได้ทำหน้าที่ในทางป้องกัน แต่ก็ชัดเจนว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของการแก้แค้นด้วย มันเป็นรูปแบบเฉพาะที่รุนแรงยิ่งของการลงโทษ ด้วยเหตุว่าทำให้ทุกอย่างสิ้นสุด ชีวิตมนุษย์ถูกทำให้จบลงและการประหารบุคคลได้ถอดถอนโอกาสที่จะแก้ไขฟื้นฟูการกระทำที่ชั่วร้ายหรือชดเชยการกระทำนั้น…ความเชื่อที่สำคัญที่สุดของข้าพเจ้านั้นคือ เป็นไปได้เสมอที่อาชญากรจะพัฒนาตนเอง และด้วยสิ่งนี้เองที่ขัดแย้งกับการประหารชีวิต ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงสนับสนุนองค์กรเหล่านี้และปัจเจกบุคคลผู้พยายามจะนำมาซึ่งการยุติการใช้โทษประหารชีวิต”

“ข้าพเจ้าเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้รุนแรงโหดร้ายโดยธรรมชาติ ไม่เหมือนสิงโตหรือเสือ เราไม่ได้มีความพร้อมตามธรรมชาติที่จะฆ่าด้วยฟันอันแหลมคมและกรงเล็บ”

“จากมุมมองของพุทธศาสนา ข้าพเจ้าเชื่อว่า ธรรมชาติพื้นฐานของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นบริสุทธิ์ นั่นคือธรรมชาติของจิตที่ลึกกว่านั้นมีบางสิ่งที่บริสุทธิ์อยู่ มนุษย์กลายเป็นสิ่งโหดร้ายรุนแรงก็เพราะความคิดในเชิงลบ (negative thoughts) ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ที่รายรอบพวกเขา…”

 

ข้อความข้างต้น เป็นบางส่วนจากแถลงการณ์ขององค์ทะไลลามะที่สิบสี่ ในหัวข้อ “แถลงการณ์สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิต” (MESSAGE SUPPORTING A MORATORIUM ON THE DEATH PENALTY) ลงวันที่ 7 ตุลาคม ปี 1998 เผยแพร่ในเว็บไซต์ http://www.engaged-zen.org/HHDLMSG.html

ที่จริงมีข้อถกเถียงจำนวนมากเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตอยู่แล้วในทางปรัชญา อาชญาวิทยา ประโยชน์สาธารณะ สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ทั้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งผมจะไม่เข้าไปในรายละเอียดเหล่านั้น (ที่จริงผมต้องกล่าวไว้ด้วยว่า น่าเศร้าที่การถกเถียงเรื่องนี้มักไม่ค่อยเป็น “เหตุผล” สักเท่าไหร่ แต่เป็นการโต้แย้งกันด้วยอารมณ์ความรู้สึกเสียมากกว่า)

แต่ที่ผมสนใจคือ มุมมองของพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนาหลักในบ้านเราต่อกรณีโทษประหารชีวิต

 

ผมออกจะประหลาดใจไม่น้อย เมื่อมีพระภิกษุหนุ่มที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งเขียนสเตตัสเฟซบุ๊กในทำนองว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนาแต่เป็นเรื่องบ้านเมือง

ในขณะที่พระภิกษุจากวัดเดียวกันให้สัมภาษณ์ในสื่อสั้นๆ ทำนองว่าการประหารชีวิตเป็นเรื่องของ “กรรม” ก็ควรปล่อยให้รับกรรมไปจึงสอดคล้องกับพุทธศาสนา

ผมคิดว่าแนวคิดเรื่องการประหารชีวิตนี้เราจะไม่ถกเถียงจากมุมศาสนาก็ได้ ซึ่งก็เห็นกันอยู่มาก

แต่น่าประหลาดที่พระภิกษุเห็นว่าเรื่องนี้ศาสนาไม่เกี่ยว นั่นทำให้ผมต้องกลับมาคิดถึงนิยามของ “การนับถือศาสนา” อีกครั้ง

เวลาเราบอกว่าเราเป็นศาสนิกหรือ “ผู้นับถือศาสนา” นั่นไม่ได้แปลว่า เราแค่ร่วมประกอบพิธีกรรมหรือยอมรับความเชื่อต่างๆ ของศาสนาเท่านั้นนะครับ

แต่หมายถึงเราได้รับเอา “ชีวทัศน์” คือมุมมองที่มีต่อชีวิต ทั้งของตนเองและผู้อื่นของศาสนานั้นๆ มาไว้ รวมทั้ง “โลกทัศน์” คือวิธีที่เรามองโลกเอาไว้ด้วย

มิฉะนั้นเราจะนิยามการนับถือศาสนาว่าอย่างไร หากไม่รวมเอาการมองโลกและชีวิตจากแง่มุมศาสนาที่เราสมาทานไว้กับตัว

แน่นอนว่า มุมมองต่อโลกและชีวิตนี้เป็นมุมมอง “ส่วนตัว” ของเรานะครับ ไม่ควรถูกถือว่าเป็นมุมมองที่ถูกต้องสูงสุดและต้องบังคับให้คนในสังคมต้องยึดถือตาม แต่เราก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยส่วนตัวจากมโนทัศน์ทางศาสนาของเราได้

ที่สำคัญ บางท่านก็อาจแย้งว่า แม้จะคิดจากกรอบศาสนาเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกันทุกอย่างก็ได้ เพราะแนวคำสอนทางศาสนาควรเปิดโอกาสให้เราตีความได้ต่างกัน อันนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง กระนั้นแม้ว่าเราจะสามารถตีความคำสอนต่างกัน แต่ในศาสนาหนึ่งๆ ก็มี “แกน” ของความเชื่อหรือท่าทีบางอย่างที่ไม่น่าจะแตกต่างกันมาก เช่น มุมมองที่มีต่อชีวิต

ผมถึงได้ประหลาดใจว่า เหตุใดพระภิกษุรูปนั้นถึงบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เพราะเรื่องนี้มันเป็นเรื่องมุมมองที่มีต่อ “ชีวิต” ซึ่งศาสนาทุกศาสนาสนใจมากๆ ผมจึงคิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวโดยตรงทีเดียว

นั่นทำให้เพื่อนของผมหลายคนรู้สึกแปลกใจในทำนองเดียวกันว่า ในสังคมไทยซึ่งมีประชากร นับถือพุทธศาสนาจำนวนมาก เขานับถือพุทธศาสนากันอย่างไร หากไม่สมาทานเอาโลกทัศน์และชีวทัศน์ของพุทธมาใช้?

 

ที่จริงมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงของ ศาสตราจารย์สมภาร พรมทา เรื่อง “โทษประหารกับพุทธศาสนา” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารพุทธศาสน์ศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อสรุปของอาจารย์สมภารท่านว่า พุทธศาสนาแบบเถรวาทน่าจะ “มีที่ทาง” สำหรับโทษประหารชีวิตได้ งานของอาจารย์ละเอียดลออทีเดียวในด้านการให้เหตุผล แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับอาจารย์หลายจุด แต่บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะโต้แย้งงานวิจัยนั้นโดยตรง เพียงแค่อยากเสนอจากมุมคิดพิเคราะห์ของผมเท่านั้นเอง

ใครสนใจจะอ่านต่อเพื่อความงอกงามทางปัญญา ไปหาอ่านเถอะครับ จะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็มีประโยชน์มากทีเดียว

ในความเข้าใจของผม เมื่อเรามองไปยังประเด็น “การฆ่า” หรือการไม่ฆ่า (หรืออาจเรียกว่าแนวคิดเรื่องอหิงสา) ในศาสนาของอินเดียมีแนวคิดหลักของเรื่องนี้อยู่สองกระแส กระแสแรกคือกระแสจากจารีตพระเวท (vedic tradition) คือศาสนาฮินดู กับสายสมณะหรือสายพรตนิยม (ascetic tradition) คือศาสนาไชนะและพุทธศาสนาที่เน้นการสละโลก

อหิงสาตามแนวคิดสายพระเวทนั้น มีจุดเด่นที่มี “ข้อยกเว้น” ในบางกรณีได้ เช่น การฆ่าเพื่อบูชายัญ ไม่นับเป็นบาป หรือการทำหน้าที่ตามหลัก “ธรรมแห่งตน” (สวธรรม)

แต่สายพรตนิยมนั้น อหิงสาหรือหลักการไม่ฆ่าและไม่เบียดเบียนจะต้องไม่มีข้อยกเว้นในกรณีเฉพาะใดๆ เพราะสายพรตนิยมไม่ได้แยกธรรมออกเป็นสองประเภทและไม่ได้ถือบัญญัติพระเวทตามแบบฮินดู อหิงสาจึงเป็นธรรมที่ต้องยึดถือในทุกสถานการณ์

ผมคิดว่าหลักปัญจศีลหรือศีลห้าที่ขึ้นต้นด้วยข้อ “ปาณาติบาต” เว้นจากการทำสิ่งที่มีปราณให้ล่วงไปนั้น เป็นการโต้ตอบกับหลักการสายจารีตพระเวทโดยตรง และเป็นหลักพื้นฐานที่สุดของพุทธศาสนา คือไม่ว่าในสถานการณ์ไหนคุณจะฆ่าไม่ได้

พุทธศาสนายืนยันว่าไม่ได้มีเพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีคุณค่าในตัวเอง แต่รวมถึงสัตว์ทั้งหลายด้วย ที่องค์ทะไลลามะมีแถลงการณ์ก็ยืนอยู่บนหลักนี้ กล่าวคือ ทุกชีวิตมี “บางสิ่ง” ที่มีคุณค่า ฝ่ายมหายานอาจเรียกสิ่งนี้ว่า “พุทธภาวะ” ซึ่งบริสุทธิ์อยู่โดยตัวมันเอง

ส่วนการกระทำความรุนแรงต่างๆ นั้น ท่านถือว่าไม่ได้เป็น “ธรรมชาติ” เดิมแท้ของเรา เป็นสิ่งจรที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมต่างๆ พุทธศาสนาจึงมีความหวังว่ามนุษย์จะแก้ไขตัวได้ การประหารจึงเท่ากับได้ตัดโอกาสนั้นไปหมดสิ้น

 

หากถามกลับไปว่า แล้วกรณีที่ผู้กระทำความผิดมีความโหดร้ายเนื่องด้วยความผิดปกติทางจิต ด้วยความเจ็บป่วย ซึ่งไม่อาจเยียวยา ในกรณีนี้ย่อมต่างออกไปเพราะเกิดจาก “ความเจ็บป่วยทางกาย” ในทางศาสนาหรือแม้ทางยุติธรรมเองก็ไม่ปรับโทษ ดังเราจะเห็นได้ว่าตามหลักพิจารณาคดี หากพิสูจน์ว่าเป็นผู้เจ็บป่วยทางจิตก็ไม่ต้องรับโทษ แม้ในพระวินัยก็ไม่ปรับอาบัติพระที่เจ็บป่วย ขาดสติแล้วกระทำความผิด

สมมุติถ้าเราถามพระพุทธะในเรื่องนี้ ผมคิดว่าท่านน่าจะไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร เพราะนอกจากมันขัดกับหลักพื้นฐานแล้ว หากเราเชื่อว่าท่านมี “มหากรุณาธิคุณ” อย่างไม่มีขอบเขตไม่มีประมาณ ก็น่าจะไม่เห็นด้วยกับโทษนี้อยู่แล้ว

อีกประการหนึ่ง กรณีที่คิดว่าการประหารเป็นการช่วยให้เกิดการ “ชดใช้กรรม” ที่ผู้กระทำผิดก่อขึ้น คิดแง่นี้จะสอดคล้องกับหลักพุทธศาสนาไหม ผมก็ว่าไม่น่าจะสอดคล้อง เพราะแนวคิดเรื่องกรรมและการใช้ผลกรรม พุทธศาสนาเองก็มองว่าเป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก กรรมและการให้ผลเป็นเรื่องลึกลับเรื่องหนึ่ง

การประหารชีวิตโดยรัฐ จะถือว่ารัฐทำหน้าที่แทนกรรมได้หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ได้ และในพุทธศาสนาก็ไม่เคยมีกรณีไหนอ้างได้ว่ามีใครเป็นตัวแทนของ “กรรม” ที่จะไปตัดสินใครได้เลย เพราะเราไม่ใช่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธ จะไปหยั่งรู้ได้อย่างไร

แนวคิดนี้กลับเป็นแนวคิดที่อันตรายเสียด้วยซ้ำ เพราะอาจเปิดโอกาสให้คนอ้าง “กรรม” แล้วตั้ง “ศาลเตี้ย” ลงโทษใครต่อใครนอกกฎหมายได้ ก็ใครจะไปรู้ล่ะครับว่าที่อ้างมาจริงหรือปลอม

 

ที่จริงเรื่องนี้ยังมีรายละเอียดข้อถกเถียงได้อีกมาก ผมเพียงนำเสนอในขั้นต้นเท่านั้น วอนท่านผู้อ่านรับฟังและไตร่ตรองด้วยเมตตาจิต

กระนั้นผมก็เข้าใจความโกรธเกรี้ยว (วัยรุ่นเขาว่า เก้วกาด) ของคนในสังคมนี้ได้นะครับ ว่าที่หลายคนเห็นด้วยกับโทษประหารนั้น

ก็ด้วยเพราะ “ความกลัว” และความกังวลใจหลายประการ ดังที่ออกมาในคำพูด เช่น รับเอาไปบ้านเองสิ เดี๋ยวออกมาก็ทำความผิดอีกจะให้ออกมาทำไม ฯลฯ

ความกลัวและความกังวลใจเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะรัฐไม่อาจรับประกันสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเราได้ เช่นดังที่เราทราบกันว่าระบบรักษาความปลอดภัยในบ้านเราเป็นอย่างไร ระบบการบังคับใช้กฎหมาย ตัวระบบยุติธรรมเอง ที่ไม่ได้ให้ความมั่นใจอะไรเลย และแม้แต่ในระบบการรับโทษที่ไม่ได้เป็นการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดที่เราจะมั่นใจได้ว่า ออกมาแล้วจะไม่กระทำผิดซ้ำ

ความไม่มั่นใจในอะไรเหล่านี้เลย จึงนำไปสู่การเลือกทางที่เด็ดขาดที่สุด รุนแรงที่สุด ด้วยเชื่อมั่นว่าจะแก้ปัญหาได้ หรืออย่างน้อยก็รู้สึกว่าปลอดภัยกว่าอย่างอื่น

เรื่องโทษประหารชีวิตจึงเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันมากจริงๆ ทั้งระบบ

แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น เรามาเริ่มด้วยการถกเถียงด้วยเหตุผลกันดีไหม? เหมือนที่มิตรสหายท่านหนึ่งของผมบอกว่า คิดเรื่องประหารชีวิต ก็อย่าประหารตรรกะไปด้วยเลย