ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “พวาทอง” ต้นไม้ประเดิมปลูกที่สวนสราญรมย์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 5 ทรงประเดิมปลูกต้นไม้หลวงที่วังสราญรมย์ พระองค์ทรงเลือกที่จะปลูกต้น “พวาทอง” คำถามคือ เจ้าต้นที่ว่านี้คือไม้อะไร?

ต้น “พวา” ตามคำอธิบายในหนังสือ “ต้นไม้ในวรรณคดี” ของหลวงบุเรศบำรุงการ (ล่วงลับ) ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ชนิดหาตัวจับยาก ได้อธิบายว่า “พะวา” (พวา) คือ “ต้นหว้า”

วังสราญรมย์เป็นวังที่รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชสมัย เพื่อให้พระเจ้าลูกเธอได้ออกพระคลังข้างที่ และเล่าต่อๆ กันมาว่าทรงต้องการใช้เป็นที่ประทับหลังสละพระราชบัลลังก์ คือเป็น “พระพุทธเจ้าหลวง” น่าเสียดายที่วังแห่งนี้ยังสร้างไม่แล้วเสร็จดี รัชกาลที่ 4 ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้มีการสร้าง “สวน” ในพื้นอุทยานเดิมของวังสราญรมย์

และพระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ตามชื่อวังว่า “สวนสราญรมย์”

 

ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างและดูแลสวนlราญรมย์คือนายเฮนรี่ อลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) ต้นตระกูลเศวตศิลา ซึ่งมาเข้ารับราชการในสยามตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2416 และเคยเป็นล่ามในสถานทูตอังกฤษ

โดยมีคำบอกเล่าของพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ เศวตศิลา) บุตรชายของนายอลาบาสเตอร์ได้อ้างไว้ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพของท่านว่า รัชกาลที่ 5 เคยตรัสถามอลาบาสเตอร์ว่า ที่พักผ่อนหย่อนใจในต่างประเทศเป็นอย่างใดบ้าง

นายฝรั่งจึงกราบบังคมทูลกลับไปว่า มีสวนต้นไม้และสวนสัตว์ไว้ศึกษากันหลายชนิด และเป็นที่พักผ่อนของประชาชน

รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างสวนอย่างสวนพฤกษศาสตร์ (botanic garden) ขึ้นที่สวนสราญรมย์

จึงไม่น่าประหลาดใจที่สวนสราญรมย์จะจัดอย่างสวนฝรั่ง และมีพันธุ์ไม้จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จากคำบอกเล่าของพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ ในช่วงต้นสวนสราญรมย์มีทั้งน้ำพุ ถนนเล็กๆ เป็นทางวนเวียนไปมาในสวน เรือนกล้วยไม้ เฟิร์น กรงนกและสัตว์ป่าชนิดต่างๆ

แต่สวนสราญรมย์ที่จัดอย่างฝรั่งกลับประเดิมปลูกด้วย “ต้นหว้า” คือ “ต้นพวาทอง” และยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีกว่า คำว่า “ชมพูทวีป” ซึ่งตามปรัมปราคติในศาสนาพุทธและพราหมณ์นั้นหมายถึง “โลก” ก็มีความหมายแปลตรงตัวว่า “ทวีปแห่งต้นหว้า”

 

จอห์น เฟอร์รารี่ (G.R.F. John Ferrari) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรม ปรัชญา และกวีโวหาร กรีกโบราณ ศาสตราจารย์วิชาคลาสสิค (Professor of Classics) แห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า “สวน” ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของ “โลกในอุดมคติ” (utopia) มาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณแล้ว

ควรสังเกตด้วยว่า “สวน” ไม่ได้เป็นเพียงแค่ “โลก” แต่เป็น “โลกในอุดมคติ” เพราะโลกที่เราสามารถจับต้องได้ยังไม่สมบูรณ์พร้อม

ดังนั้น อาดัมกับอีฟ มนุษย์คู่แรกของโลกอาศัยอยู่ที่ “สวนอีเดน” ตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ในศาสนายูดาย และสืบทอดมาถึงศาสนาคริสต์กับอิสลาม จึงถูกเนรเทศลงมาจากสวนอีเดน เพราะอาดัมกับอีฟยังไม่มีบาป จนกระทั่งถูกซาตานล่อลวงไปกินผลแอปเปิล (ที่จริงแล้วเป็นลูก figue ซึ่งควรจะแปลว่ามะเดื่อ มากกว่า) ที่พระยะโฮวาห์สั่งห้ามไว้จนต้องถูกเนรเทศออกมาจากสวนอีเดน

ความชั่วร้ายจึงเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์บกพร่องไปจากอุดมคติ และถูกเนรเทศออกจากโลกในอุดมคติ คือสวนที่ว่า

ภารกิจตอนหนึ่งของเฮอร์คิวลิส (หรือเฮอร์ลาเคลส ในภาษากรีก) ตอนตามหาผลแอปเปิลทองคำในสวนของนางอัปสรเฮสเพริเดส อัปสรนางนี้เป็นบุตรีแห่งแอตลาส เทพไททันผู้แบกโลก และท้องนภาไว้บนบ่าทั้งสองข้างตามความเชื่อของชาวกรีกโบราณ

เฮอร์คิวลิสไม่รู้ว่าสวนอยู่ที่ไหน ต้องยอมแบกโลกแทนแอตลาสอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง (ก่อนจะใช้อุบายให้แอตลาสกลับมาแบกโลกเหมือนเดิม) เพื่อให้แอตลาสไปนำผลแอปเปิลในสวนลูกสาวของตนมาให้

 

เรื่องสวนแอปเปิลทองคำนี้ก็เกี่ยวข้องกับโลกไม่ต่างกับเรื่องสวนอีเดนเท่าไรนัก ซ้ำยังชวนให้นึกถึงเรื่องของพระกฤษณะตอนยกเขาโควรรธนะขึ้นบดบังฝนแห่งความพิโรธของพระอินทร์เพื่อปกป้องเหล่าคนเลี้ยงวัว จนพระอินทร์ต้องยอมแพ้พระกฤษณะไปในที่สุด โลกและท้องนภาบนบ่าของแอตลาสที่เฮอร์คิวลิสเคยไปแบกแทนอยู่ช่วงหนึ่งนั้นก็ไม่ต่างไปจากเขาโควรรธนะคือ ป่า, สวน หรือพื้นที่จำลอง ที่พระกฤษณะยกขึ้นบดบังฝนของพระอินทร์

แม้กระทั่งความในพระคัมภีร์ไบเบิลบางตอนยังเปรียบเปรยพระคริสต์ว่าเป็น “ชาวสวน”

เมื่อครั้งที่นางมารี แม็กดาลีน ได้พบพระคริสต์สำแดงพระองค์เป็นครั้งแรกหลังการฟื้นคืนชีพ และรับสั่งกับนางว่า “อย่าแตะต้องตัวเรา เพราะเรายังไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าพระบิดาของเรา” (Mark 16 : 9, John 20 : 14-18)

พระเยซูในฐานะชาวสวนเป็นสัญลักษณ์ของผู้ดูแล “สวน” คือ “โลก”

มีปรากฏเป็นภาพเขียนเรียกเป็นภาษาละตินว่า “Noli Me Tangere”

 

แนวคิดเรื่องสวนว่าเป็นโลกในอุดมคติยังพบอยู่ในของสยามด้วย ดังความที่ปรากฏในบทละคอนรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 ที่บรรยายไว้ว่า “สวน” ของ “พระพิราพ” ปลูกต้น “ชมพู่พวาทอง”

และกิจวัตรของพระพิราพก็ดูจะไม่มีอย่างอื่นนอกจากจะสั่งบริวารปลูกต้นชมพู่พวาทองอย่างขะมักเขม้น

ความตอนนี้ไม่มีในรามายณะของอินเดียเลยแม้แต่ฉบับเดียว นักภารตวิทยาบางท่านพยายามอธิบายว่าหมายถึงชมพู่แขกที่รัชกาลที่ 1 ได้รับถวายมา

แต่คำอธิบายที่ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าได้มาจากนักโบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่างคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เสนอคำว่า “ชมพู่” เป็นการพยายามเล่นกับศัพท์คำว่า “ชมพู” หมายถึง “ชมพูทวีป” ซึ่งก็หมายถึง “โลก” นั่นเอง

ข้อเสนอของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ สอดคล้องกับคำอธิบายของหลวงบุเรศบำรุงการที่ว่า “พวา” คือ “ต้นหว้า” และคำว่า “ชมพู่พวาทอง” ในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 จึงเป็นวรรณศิลป์ในการเล่นคำซ้ำเพื่อย้ำความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่าสวนของพระพิราพคือ “ชมพูทวีป”

โคลงรามเกียรติ์รอบระเบียงคด พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าวัดพระแก้ว เรียกต้นไม้ที่พระพิราพปลูกว่า “พวาทอง” อยู่ทุกที่โดยไม่มีคำว่า “ชมพู่” กำกับอยู่เลย

ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าความสำคัญอยู่ที่คำว่า “พวา” ไม่ใช่ “ชมพู่” อย่างที่นักวรรณคดีมักเข้าใจผิดกัน

เพราะแปลความกันตามบทละครรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 2 ซึ่งอธิบายความเรื่องชมพู่พวาทองแปลกไปจากที่อื่น เนื่องจากมุ่งเน้นที่จะพรรณนาถึงรสโอชาของชมพู่?

อย่าลืมนะครับว่าบทละครรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 2 นั้นแต่งขึ้นหลังบทละครเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ 1 แน่

แถมคนแต่งก็เป็นคนละคนกันอีกต่างหาก ก็ยิ่งไม่ต้องไปหวังว่าความเข้าใจในรายละเอียดจะตรงกันเสียหมด โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขของความพยายามในการเก็บเอาประเพณีและวัฒนธรรมของอยุธยามาเพื่อแสดงให้เห็นถึงการสืบทอดความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นทายาทของสังคมวัฒนธรรมกรุงศรีอยุธยาในยุครัชกาลที่ 1 กับการเขียนในยุคเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2

“สวน” สราญรมย์ของรัชกาลที่ 5 จึงปลูกต้น “พวาทอง” คือ “ต้นหว้า” เป็นประเดิม ไม่ต่างอะไรไปจากสวนของพระพิราพที่หมายถึง “ชมพูทวีป” คือ “โลกในอุดมคติ” เพราะแม้ว่าสวนสราญรมย์จะปลูกอย่างสวนฝรั่ง แต่สวนของฝรั่งก็จำลองโลกในอุดมคติไม่ต่างไปจากสวนของพระพิราพ สวนสราญรมย์ของรัชกาลที่ 5 จึงเป็นชมพูทวีปที่มีหน้าตาอย่าง “ยูโทเปีย” ของฝรั่ง