สุรชาติ บำรุงสุข : ปฏิรูปความคิดทหาร – ปฏิรูปยุทธศาสตร์อาวุธ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ไม่มีชาติใดจะมีกองทัพใหญ่เพียงพอที่จะประกันต่อการโจมตีที่จะเกิดขึ้นในยามสันติ และใหญ่พอที่จะมั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะในยามสงคราม”

ประธานาธิบดี Calvin Coolidge

การปฏิรูปทหารเป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญในนโยบายด้านความมั่นคงของทุกประเทศ

แต่สำหรับนักการทหารที่ถูกครอบงำด้วยความคิดแบบอาวุธนิยมแล้ว

การปฏิรูปถูกทำให้มีความหมายเพียงการมีอาวุธมากขึ้น

หรือยืนอยู่บนพื้นฐานความเชื่อในเชิงปริมาณว่า “ยิ่งมาก-ยิ่งดี”

เพราะปริมาณของอาวุธเช่นนี้ถูกตีความโดยตรงว่าเป็นการสร้างศักยภาพกำลังรบ สมมติฐานเช่นนี้ท้าทายอย่างยิ่ง

สำนักอาวุธนิยม

การปฏิรูปกองทัพในทัศนะเช่นนี้ทำให้นักการทหารถูกความต้องการด้านยุทโธปกรณ์บดบังปัญหาทางยุทธศาสตร์ของประเทศ

หรือในอีกด้านหนึ่งก็เอาความต้องการมียุทโธปกรณ์เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร

อันทำให้พลังอำนาจทางยุทธศาสตร์ของรัฐถูกตีความอยู่ในกรอบแคบๆ ของการมียุทโธปกรณ์แบบใหม่ๆ ที่มีสมรรถนะสูง และเชื่ออย่างง่ายๆ ด้วยการละเลยปัจจัยอื่นๆ ในการพัฒนาศักยภาพกำลังรบ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเชื่ออย่างง่ายๆ ว่าอาวุธที่เหนือกว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินชัยชนะในการรบ ซึ่งก็คือความเชื่อแบบสุดโต่งว่า อาวุธคือ “ปัจจัยชี้ขาด” ในการสงคราม การปฏิรูปในมุมมองเช่นนี้จึงเป็นเรื่องของการพัฒนากองทัพด้วยการมีอาวุธเพิ่ม หรือเชื่อแบบสุดขั้วว่าการปฏิรูปคือ “เพิ่มอาวุธ”

ความเชื่อเช่นนี้มีลักษณะเป็น “สำนักอาวุธนิยม” และวิธีคิดดังกล่าวถูกฝังรากลึกอยู่ในหมู่ทหารหลายๆ คน เพราะอาวุธเป็นปัจจัยที่เป็นรูปธรรมที่บ่งบอกถึงความเหนือกว่าของคู่กรณี

แต่หากเราพิจารณาจากบทเรียนในประวัติศาสตร์สงคราม ก็จะตอบได้ทันทีว่าอาวุธเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการสงคราม

และในหลายชัยชนะในสงครามก็มิได้ถูกตัดสินด้วยความเหนือกว่าของอาวุธ หรือด้วยสมรรถนะที่สูงกว่าของยุทโธปกรณ์

ดังเช่นครั้งหนึ่ง พล.อ.นอร์แมน ชวาร์ตซคอปฟ์ (Gen. Norman Schwartzkopf) ผู้บังคับบัญชากองกำลังของฝ่ายพันธมิตร (Coalition Forces) ในสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ได้กล่าวด้วยความมั่นใจว่า แม้ทหารภายใต้บังคับบัญชาของเขาจำต้องแลกอาวุธกับฝ่ายอิรักแล้ว เขาก็ยังเชื่อว่าฝ่ายพันธมิตรจะยังคงเป็นผู้กำชัยชนะในสงครามครั้งนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

ฉะนั้น หากกองทัพพันธมิตรจะใช้อาวุธของกองทัพอิรักที่เห็นได้ชัดว่ามีสมรรถนะด้อยกว่า ก็จะไม่ทำให้ผลของการสงครามในปี 1991 เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อาวุธไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดสงคราม

คำกล่าวเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าชัยชนะในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งนั้นหาได้เกิดจากปัจจัยความเหนือกว่าของยุทโธปกรณ์ในกองทัพของสหรัฐแต่อย่างใดไม่

แต่สำหรับนักการทหารบางคนแล้วการเน้นให้เห็นอำนาจของยุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงเป็นคำอธิบายที่กลายเป็นสูตรสำเร็จในตัวเองภายใต้ชุดความคิดที่ว่า “อำนาจการยิง” ที่เหนือกว่าจะทำให้เป็นฝ่ายชนะ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ฝ่ายที่มีอาวุธที่ดีกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ การยึดติดอยู่กับชุดความคิดนี้ทำให้เราลืมนึกถึงองค์ประกอบอื่นที่สำคัญ โดยเฉพาะปัจจัยด้านคุณภาพของกำลังพล…

นักคิดในสำนักอาวุธนิยมมองเห็นแต่ “ความเหนือกว่าของอาวุธ” เป็นด้านหลัก และยิ่งเมื่อระบบอาวุธพัฒนามากขึ้นแล้ว ก็ยิ่งเชื่อว่าอำนาจทำลายของอาวุธสมรรถนะสูงเป็นเงื่อนไขแห่งชัยชนะแต่เพียงปัจจัยเดียว

การคิดเช่นนี้ละเลยประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การวางแผน “ยุทธศาสตร์ทหาร” ที่มีส่วนอย่างสำคัญต่อชัยชนะที่เกิดขึ้น

อีกกรณีหนึ่งที่ให้คำตอบไม่แตกต่างกันก็คือเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาอเมริกันได้สนทนากับหัวหน้าเสนาธิการของกองทัพอากาศอิสราเอล (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารอากาศ) ในปี 1983 ว่า ถ้าแม้นนักบินอิสราเอลจะต้องบินทำการรบด้วยเครื่องบินมิกของซีเรียแล้ว ฝ่ายอิสราเอลก็เชื่ออย่างมั่นใจว่า แม้นักบินซีเรียจะบินด้วยเครื่องบินแบบเอฟ-15 และเอฟ-16 ของอเมริกา ผลของสงครามด้วยอัตราการสูญเสียของซีเรียต่ออิสราเอลที่ 83 : 0 ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด (สงครามทางอากาศครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อกองทัพอิสราเอลบุกเลบานอนในปี 1982)

กล่าวคือ อาวุธไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะในการสงครามอย่างที่ “นักอาวุธนิยม” เชื่อมาโดยตลอด

อาวุธ vs คน

บทเรียนจากประวัติศาสตร์สงครามท้าทายต่อชุดความคิดแบบดั้งเดิม ดังจะพบว่ามีหลายการรบที่ฝ่ายที่มีอาวุธเหนือกว่าเป็นฝ่ายแพ้

ดังเช่นการรบในช่วงต้นของปี 1940 ในยุโรป กองทัพบกอังกฤษและฝรั่งเศสมีรถถังที่เหนือกว่ากองทัพบกเยอรมนี ไม่ว่าจะพิจารณาจากเกราะของรถถังหรืออำนาจการยิงก็ตาม

แต่ด้วยความเหนือกว่าทางความคิด (หรืออาจจะเรียกว่าแผนการยุทธ์) ของเยอรมนีภายใต้แนวคิด “สงครามสายฟ้าแลบ” ที่เปิดการรุกและเจาะแนวตั้งรับของกองทัพบกฝรั่งเศสและอังกฤษได้อย่างรวดเร็วนั้น ทำให้เยอรมนีเป็นฝ่ายกุมอำนาจความริเริ่มในการสงคราม

และด้วยการรุกอย่างรวดเร็วเช่นนี้ กองทัพบกเยอรมนีใช้ระยะเวลาไม่นานนัก ปารีสก็แตก… กำลังพลของอังกฤษและฝรั่งเศสต้องถอยร่นไปรอการอพยพครั้งใหญ่ที่ชายหาดของเมืองดังเคิร์ก

การสงครามทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีบทเรียนให้ต้องคิดในประเด็นเช่นนี้ ในช่วงปลายสงครามประมาณปี 1944-1945 กองทัพอากาศเยอรมนีมีเครื่องบินรบที่เหนือกว่าเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมาก ได้แก่เครื่องบินเจ๊ตแบบเอ็มอี-262 (Me-262)

แต่เครื่องบินเจ๊ตก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของสงครามได้

กองทัพอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็น “ผู้ครองอากาศ” และทำลายศักยภาพในการทำสงครามของเยอรมนี

และศักย์สงครามที่ถูกทำลายลงเช่นนี้ทำให้พลังอำนาจทางทหารของกองทัพเยอรมนีหมดลงจนไม่อาจดำรงสภาพในการทำสงครามต่อไปได้อีก

นอกจากนี้ ยังพบว่าเครื่องบินรบที่มีส่วนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามทางอากาศในยุโรปกลับเป็นเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ใบพัดแบบพี-51 (P-51 Mustang) และเป็นเครื่องบินราคาต่ำเมื่อเทียบกับราคาของเอ็มอี-262 เครื่องพี-51 ทำหน้าที่เป็นทั้งเครื่องคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดและเป็นเครื่องบินขับไล่ในขณะเดียวกัน

ด้วยสภาพเช่นนี้ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ “ครองอากาศ” ในสงครามยุโรปจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม เครื่องบินรบสมรรถนะสูงที่เป็นเครื่องบินเจ๊ตกลับไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มการสงครามได้แต่อย่างใด

และเครื่องพี-51 จึงได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะการสงครามทางอากาศในยุโรป

การกล่าวเช่นนี้มิได้ต้องการจะบอกว่ารัฐสามารถเข้าสู่สงครามได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านอาวุธ

หากแต่สิ่งที่นักการทหารจะต้องคิดเสมอก็คือ อาวุธไม่ว่าจะดีหรือมีสมรรถนะสูงเพียงใด แต่ทหารผู้ใช้คือมนุษย์ ดังนั้นการจะทำให้อาวุธมีประสิทธิภาพได้จึงต้องการผู้ใช้ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำการรบ

และขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกมาอย่างดีเพื่อทำให้การใช้อาวุธนั้นมีประสิทธิภาพ

สถานการณ์จริงที่เป็นข้อคิดในทางยุทธศาสตร์ก็คือ การรบของกองทัพอิรักที่โมซุลกับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ในช่วงกลางปี 2014 เป็นคำตอบที่ดีในกรณีนี้

กองทัพอิรักมีอาวุธที่เหนือกว่ากองกำลังติดอาวุธดังกล่าว และมีปริมาณกำลังพลมากกว่ากลุ่มรัฐอิสลามอย่างมาก

แต่อาวุธที่เหนือกว่าและกำลังพลที่มากกว่ากลับกลายเป็นปัจจัยที่ไม่ส่งผลต่อการชี้ขาดชัยชนะในสงครามครั้งนี้แต่อย่างใด

ทหารในกองทัพตัดสินใจหันหลังให้แก่ข้าศึก พวกเขาไม่ต้องการรบ ว่าที่จริงก็อาจไม่แตกต่างจากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 เท่าใดนัก ที่ทหารอิรักมียุทโธปกรณ์อย่างดีหลายชนิดของโซเวียต แต่พวกเขากลับใช้อาวุธเหล่านี้อย่างไร้ประสิทธิภาพ

และที่สำคัญอีกประการก็คือ หลังจากสงครามเกิดขึ้นจริงแล้ว ทหารอิรักส่วนหนึ่งดูจะไม่มีกำลังใจที่ สู้รบเท่าใดนัก

สถานการณ์เช่นนี้อาจจะไม่แตกต่างกับความพ่ายแพ้ของกองทัพสหรัฐในสงครามเวียดนาม…

ปัจจัยขวัญกำลังใจและความมุ่งมั่นที่จะรบของทหารเป็นสิ่งสำคัญ และบางทีอาจจะสำคัญมากกว่าปัจจัยของระบบอาวุธเสียด้วย

หากเชื่อว่าอาวุธเป็นปัจจัยชี้ขาดแล้ว เราจะอธิบายความพ่ายแพ้ของสหรัฐจากสงครามเวียดนามไม่ได้เลย ฉะนั้นหากต้องปฏิรูปชุดความคิดเก่าแทนที่จะตอบด้วยการมียุทโธปกรณ์ใหม่ ก็อาจต้องคิดถึงการวางยุทธศาสตร์ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

ปรับยุทธศาสตร์ใหม่

นักการทหารโดยทั่วไปมักชอบ “ยุทธศาสตร์เชิงรุก” (Offensive Strategy) และยุทธศาสตร์ถูกสร้างให้รองรับด้วยการมียุทโธปกรณ์ใหม่ๆ และยิ่งเป็น “อาวุธเชิงรุก” แล้ว ก็ยิ่งรับกับยุทธศาสตร์นี้

และเรือดำน้ำเป็นหนึ่งในตัวแบบที่ชัดเจนของวิธีคิดชุดนี้ ที่เชื่อว่าสงครามทางทะเลสมัยใหม่สามารถเอาชนะกองเรือข้าศึกได้ด้วยการมีเรือดำน้ำ

หรือนักคิดบางคนยังยึดอยู่กับโลกยุคอาณานิคมที่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงมาจากการ “ปิดปากอ่าว” ของรัฐมหาอำนาจในการกดดันรัฐบาลของชนพื้นเมือง และเรือดำน้ำจะใช้เป็นอาวุธในการทำลายการปิดล้อม

ทั้งที่ในโลกที่เป็นจริง การปิดปากอ่าวแบบยุคอาณานิคมแทบจะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป

หรือการตัดสินใจซื้ออาวุธอาจจะเป็นผลจากปัจจัยเพื่อนบ้าน ถ้าเพื่อนบ้านมีแล้ว เราจะต้องมี มิฉะนั้น ศักยภาพของเราจะเทียบกับเพื่อนบ้านไม่ได้

การถูกครอบด้วย “ยุทธศาสตร์อาวุธ” มักจะทำให้นักการทหารในสำนักนี้ละเลยต่อ “ยุทธศาสตร์การเมือง” และไม่ตระหนักว่าการเมืองคือแกนกลางของนโยบายยุทธศาสตร์…

ยุทธศาสตร์ที่ดีไม่ใช่การมีอาวุธใหม่ๆ อาวุธเป็นเพียงเครื่องมือในนโยบายนี้

การวางนโยบายการเมืองเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ และตัวอย่างของทิศทางการเมืองที่สำคัญ เช่น รัฐควรมีนโยบายหลีกเลี่ยงการทำสงคราม และการสร้างความเข้มแข็งของรัฐ อาจจะเป็นไปในแบบของการเน้นถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ

และยึดมั่นว่า “เราจะไม่เข้าสงครามตราบเท่าที่เราไม่ถูกโจมตี”

การยึดหลักการเช่นนี้ก็ด้วยตระหนักว่าสงครามเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีราคาแพงเกินไป และขณะเดียวกันการใช้เครื่องมือนี้ก็อาจให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ซึ่งแตกต่างจากการคิดถึงสงครามของโลกในอดีตขณะเดียวกันการใช้ยุทธศาสตร์เช่นนี้อาจจะมีส่วนต่อการช่วยลดค่าใช้จ่ายทางทหารของประเทศลงได้ในอนาคตด้วย

แม้แนวคิดนี้อาจจะไม่ถูกใจต่อสำนักอาวุธนิยม หรือนักการทหารสายเหยี่ยว ซึ่งมักต้องการผลักดันแนวคิดในแบบ “เสนานิยม” ในยุทธศาสตร์ของประเทศ มากกว่าการเน้นยุทธศาสตร์ทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ผู้นำทหารจะต้องตระหนักว่า ความต้องการยุทโธปกรณ์ของกองทัพจะต้องสอดรับกับยุทธศาสตร์ใหญ่ของประเทศ และรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่กองทัพ ฉะนั้น คำถามที่จะต้องตอบให้ได้ก็คือ เราจะซื้ออาวุธเพื่อรบกับใคร หรือในทำนองเดียวกัน ใครคือข้าศึกที่เราจะต้องเตรียมกำลังเพื่อทำสงครามด้วยในอนาคต โจทย์ยุทธศาสตร์เช่นนี้รัฐบาลต้องตอบและต้องการคำตอบที่เป็นจริง ไม่ต้องการคำตอบประเภทที่ว่าถ้าไม่ซื้อวันนี้แล้ว ถ้าเกิดปัญหาขึ้น จะซื้อไม่ทันการณ์ หรือถ้ามีแล้ว จะช่วยให้เกิดอำนาจกำลังรบที่เหนือกว่า แล้วเราเป็นฝ่ายได้เปรียบในการเจรจา ซึ่งก็ดูจะเป็นข้อเสนอที่เลื่อนลอยมากกว่าจะเป็นจริง

การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายถึงว่ารัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนในการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพ แต่ปัญหาที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนก็คือจะซื้ออะไรที่รองรับต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศในอนาคต เพราะระบบอาวุธที่ปราศจากความต้องการทางยุทธศาสตร์รองรับแล้ว ระบบอาวุธนั้นก็ดำรงอยู่อย่างไม่มีคุณค่าทางยุทธศาสตร์ และเป็นการลงทุนซื้อที่ไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ

สิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศเสมอ ไม่ว่าประเทศนั้นจะอยู่ในสถานะใดก็ไม่แตกต่างกัน

แต่ขณะเดียวกันทุกประเทศก็มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างกัน

อันอาจกล่าวได้ว่าไม่มีกองทัพของประเทศใดที่จะได้อาวุธทุกอย่างที่ต้องการ และรัฐบาลก็ไม่สามารถซื้ออาวุธทุกชนิดตามที่กองทัพต้องการได้

ปัญหานี้ก็คือหนึ่งในโจทย์ของการปฏิรูปทหาร… ทำอย่างไรที่จะปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์โดยมียุทธศาสตร์ที่แท้จริงรองรับ

และขณะเดียวกัน การซื้อจะต้องเกิดจากความต้องการทางยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ความมั่นคงของประเทศในอนาคต ไม่ใช่สนองตอบเพียงความต้องการอยากได้อาวุธของผู้นำทหารที่ไม่มีจุดจบ!