จรัญ มะลูลีม : ดะโต๊ะ ศรี มหฎิร โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 และคนที่ 7 ของมาเลเซีย (1)

จรัญ มะลูลีม

นายกรัฐมนตรีมาเลเซียหลายคนนับจากตุนกู อับดุรเราะห์มาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย (1957-1970) ล้วนมีเชื้อสายผสมแตกต่างกันไปตั้งแต่เชื้อสายไทย ตุรกี อินเดียไปจนถึงอาหรับ

จนถึงปัจจุบันผู้นำเชื้อสายมาเลย์ที่มีเชื้อสายของบรรพบุรุษจากประเทศต่างๆ และมีความผูกพันกับศาสนาอิสลาม จะใช้ชื่อที่มาจากภาษาอาหรับ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ทั้งนี้ ผมขอย้อนกล่าวถึงผู้นำมาเลเซียแต่ละคนโดยสังเขปดังนี้

 

ตุนกู อับดุรเราะห์มาน (1957-1970) ถือกำเนิดที่รัฐเคดะฮ์ มาจากครอบครัวราชนิกุลของมาเลเซียและจากมารดาที่เป็นคนไทย จบการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์และศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ สังกัดพรรคอัมโน และนิยมตะวันตก

ตุนกู อับดุล รอซัก (1970-1979) เกิดที่รัฐปาหัง (Pahang) มาจากครอบครัวข้าราชการชั้นสูงแห่งบูกิส จบการศึกษาที่วิทยาลัยมาเลย์ (Malay College) และการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่อังกฤษ สังกัดพรรคอัมโน เป็นรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นสูงมาก่อน มีโลกทัศน์แบบตะวันตกและยึดถือสายกลาง

ดะโต๊ะ ฮุสเซน ออน (1976-1981) เป็นบุตรชายของผู้ก่อตั้งพรรคอัมโน เชื้อสายตุรกี เรียนที่วิทยาลัยการทหาร จบการศึกษาที่เมืองเดห์รา ดูน (Dehra Dun) อินเดีย และการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากอังกฤษ เป็นนักกฎหมายของพรรคอัมโน เป็นรัฐมนตรีและข้าราชการชั้นสูงมาก่อน และมีโลกทัศน์ด้านความเป็นเอกภาพของโลกอิสลาม

ดะโต๊ะ อับดุลลอฮ์ อะห์มัด บะดาวี ถือกำเนิดที่รัฐเคดะฮ์ เช่นเดียวกับมหฎิร ครอบครัวของเขาสืบเชื้อสายมาจากรัฐปีนัง (Penang) เข้าเรียนที่โรงเรียนการฝึกฝนผู้นำทางศาสนา (Religious Leader) การศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ประเทศมาเลเซีย เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและรัฐมนตรีของพรรคอัมโนมาก่อน โลกทัศน์ของเขาคือความก้าวหน้าตามแนวทางอิสลาม (Progressive Islam)

ดะโต๊ะ ศรี นาญิบ ตุน รอซัก (2008-2018) ซึ่งการดำเนินนโยบายด้านการเงินและการคอร์รัปชั่นทำให้เขาหลุดจากอำนาจไปในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2018 ถือกำเนิดที่รัฐปาหัง มาจากครอบครัวที่มีบิดา ตุนกู อับดุล รอซัก เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่สองของมาเลเซีย เข้าศึกษาที่สถาบันเซนต์จอห์น และระดับอุดมศึกษาที่อังกฤษ

เป็นรัฐมนตรีของพรรคอัมโนและเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของรัฐมาก่อน โลกทัศน์ของเขาอยู่ที่การเปลี่ยนผ่านรูปแบบเศรษฐกิจแนวใหม่ (New Economic Model) และการเคลื่อนสู่ความเป็นกลางในระดับโลก แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น

60 ปีที่ผ่านมานโยบายต่างประเทศของมาเลเซียได้รับการพิจารณาว่าเป็นกลาง (neutral) ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (non-aligned) เป็นอิสระ (independent) กระตือรือร้น (active) โลกที่สาม (Third World) และความเป็นสายกลาง (moderate) มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ยังคงมีความมุ่งมั่นอยู่กับสันติภาพและความมั่นคง

กระนั้นเมื่อสถานการณ์เป็นใจ มาเลเซียก็จะมีความยืดหยุ่นและให้ความสำคัญกับความเป็นภูมิภาคนิยมและวิถีเอเชีย (ASEAN WAY)

เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นสากลว่าในบรรดานายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่มีความโดดเด่นมากที่สุด ได้แก่ มหฎิร โมฮัมมัด

มหฎิร โมฮัมมัด ดำรงตำแหน่งมาแล้วทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีคลัง ชื่อของมหฎิรอยู่ในเวทีระหว่างประเทศติดต่อกันมาถึง 2 ทศวรรษ จากปี 1981-2003 และขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียอีกครั้งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา

ซึ่งหักปากกานักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซียไปเป็นจำนวนมาก

 

ดะโต๊ะ ศรี มหฎิร โมฮัมมัด (ซึ่งคนไทยคุ้นเคยที่จะเรียกมหาธีร์) ถือกำเนิดที่รัฐเคดะฮ์ มีบิดาเป็นครูใหญ่ของโรงเรียน เข้าศึกษาที่วิทยาลัยสุลฏอน อับดุล หะมิด และวิทยาลัยแรฟเฟิลส์ ประเทศสิงคโปร์ ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่สิงคโปร์ เป็นนายแพทย์ที่ออกทำงานด้านการแพทย์และเป็นรัฐมนตรีมาก่อน

โลกทัศน์ของเขาคือการให้ความสำคัญกับตะวันออก โลกที่สาม รวมทั้งนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อประเทศยากจนและมโนทัศน์ 2020 (Vision 2020)

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มหฎิรยืนหยัดเป็นตัวของตัวเองมาตลอดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ซึ่งมีความมุ่งมั่นและจริงจัง มหฎิรเป็นผู้คนในยุคสมัยของตนเองอย่างแท้จริง หากมองในแง่ของการวางนโยบายแล้ว สิ่งที่มหฎิรทำไว้นั้นยากที่ผู้นำคนใดของมาเลเซียจะทำได้

นโยบายที่มหฎิรได้ฝากไว้ได้แก่นโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ซื้อสินค้าจากอังกฤษเป็นประเทศสุดท้าย (Buy British Last) ความร่วมมือระหว่างประเทศยากจน (South-South Cooperation) มโนทัศน์ 2020 (Vision 2020) มาเลเซียของเพื่อนบ้าน (Thy Neighbours) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออก (East Asia Economic Cooperation) และหุ้นส่วนที่สง่างาม (Smart Partnership)

รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากประเทศเยอรมนี และสหภาพยุโรป

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปเช่นเดียวกันว่าความยิ่งใหญ่ของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพและความสามารถของผู้นำประเทศ

ประเทศจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับบทบาทของผู้นำ

ผู้นำทางการเมืองของมาเลเซียที่มีความสำคัญและมีบทบาทอยู่ในประเทศและในเวทีโลก ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ชุมชนระหว่างประเทศมีอยู่ 2 คน

คนแรกคือ ตุนกู อับดุรเราะห์มาน

และคนที่สองคือ มหฎิร โมฮัมมัด ตุนกู อับดุรเราะห์มาน เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย และเป็นหัวหน้าของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อให้มาเลเซียเป็นเอกราชจากอังกฤษ

หลังจากตนกู อับดุรเราะห์มาน ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะพบว่ารูปแบบของผู้นำมาเลเซียได้นำเอาความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาสู่มาเลเซียในหลายๆ ด้าน

โดยผู้นำทางการเมืองที่เป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดอีกคนหนึ่งก็คือมหฎิร โมฮัมมัด ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาสู่อำนาจเมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี

ในสมัยของนายกรัฐมนตรีฮุสเซน ออน เมื่อปลายทศวรรษที่ 1970 มหฎิรกลายเป็นนักการเมืองไฟแรงของมาเลเซียและค่อยๆ รุกกลับเข้าสู่พรรคอัมโน

ตุนกู อับดุรเราะห์มาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย เคยขับไล่มหฎิร โมฮัมมัด ออกจากพรรคมาก่อน เนื่องจากชอบวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำที่นิยมอังกฤษอย่างโผงผาง และประสบความล้มเหลวในการปกป้องผลประโยชน์ของมาเลเซีย

แต่การได้รับความนิยมในพรรคในเวลาต่อมา ได้ขับเคลื่อนมหฎิร โมฮัมมัด ไปสู่ตำแหน่งผู้นำในปี 1981 เมื่อฮุสเซน ออน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพสละตำแหน่ง

ตลอดทศวรรษที่ 1980 ด้วยสไตล์ของมหฎิร โมฮัมมัด เอง เขาได้ดึงมาเลเซียเข้าสู่โลกแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ในลักษณะเด่นที่ครอบคลุมอยู่เหนือสมัยของมหฎิร โมฮัมมัด นับตั้งแต่ปี 1981 ถึงปี 2003 ได้แก่ การย้ำในความสำคัญของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ของสังคม มหฎิร โมฮัมมัด ถือว่าในการต่อสู้ทางการเมืองของเขา เรื่องของเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

สำหรับมหฎิร โมฮัมมัด เขาถึงกับโยงเอาเอกราชอันแท้จริงเข้ากับความสำเร็จในทางเศรษฐกิจทีเดียว เขาได้รับแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่นในการที่ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นมหาอำนาจของโลกหลังสงครามเพื่อปรากฏตัวขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมและการค้า

นอกจากนี้ เขายังมีความประทับใจต่อแนวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ อันเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวพ้นความล้าหลังขึ้นมาได้ด้วยตนเอง และเข้าไปอยู่ใน “ตำแหน่งของประเทศที่ได้รับการพัฒนาแล้ว”

มหฎิร โมฮัมมัด มีความคิดว่า ความรุ่งเรืองของญี่ปุ่นและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนแปลงสมดุลทางเศรษฐกิจของโลก ประเทศทั้งสองซึ่งมิได้เป็นประเทศทุนนิยมได้รับความเคารพจากตะวันตก

มหฎิร โมฮัมมัด พบว่าตรรกะในเรื่องความเปลี่ยนแปลงในสมดุลด้านเศรษฐกิจของโลก แต่มิใช่ทางทหารนั้นเกิดจากการแข่งขันของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ (และประเทศ NICS ต่างๆ ของเอเชีย) เขาวิพากษ์วิจารณ์ตะวันตกว่าเป็นพวกที่ใช้สองมาตรฐานดังที่เขาได้กล่าวว่า

“การที่ตะวันตกรณรงค์ในเรื่องต่างๆ เช่น แรงงานและสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้มาจากความจริงใจ”

 

ในปี 1982 มหฎิร โมฮัมมัด ได้กล่าวสุนทรพจน์แก่พรรคอัมโนว่า “นับเป็นศตวรรษๆ มาแล้วที่เราถูกความหวาดหวั่น อันเนื่องมาจากความเข้มแข็งและความสามารถของตะวันตก เราไม่เพียงแต่ถูกกดขี่เท่านั้น แต่เรายังยอมรับทรรศนะที่ว่าเป็นไปไม่ได้สำหรับเราหรือชาติตะวันออกใดๆ ที่จะแข่งขันกับตะวันตกได้”

การเอาอย่างบรรดาผู้ได้รับความสำเร็จและปลุกเร้าผู้ซึ่งได้รับความล้มเหลวเป็นหนึ่งในหัวใจของเรื่องที่มหฎิร โมฮัมมัด ชื่นชอบ ห้าปีหลังจากการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี มหฎิร โมฮัมมัด ได้สรุปถึง “เผ่าพันธุ์ในตะวันออก” ซึ่งวิธีการของพวกเขาในการพัฒนาประเทศ ได้นำเอาความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มาให้

เขากล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่อุมมะฮ์ (ประชาชาติผู้ศรัทธา) ที่จะหลีกเลี่ยงประเพณีแห่งวิธีการ และแนวคิดแบบเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) เสียที ส่วนเหตุผลและวิธีการที่ชาวมาเลเซียจะใช้ต่อไปนั้นเขาพบว่ามันอยู่ใน “ตะวันออก”