สุจิตต์ วงษ์เทศ / ก่อนมีความเป็นไทย ในสำเภาจีนที่อยุธยา

ก่อนสมัยอยุธยา บริเวณสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นศูนย์กลางของ 2 รัฐใหญ่ มีการค้าทะเลสมุทรผ่านอ่าวไทยและอ่าวเมาะตะมะ กระทั่งร่วมกันสถาปนาราชอาณาจักรสยามที่อยุธยา [แผนที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เรือน พ.ศ.1000 (ยุคทวารวดี) ราว 1,500 ปีมาแล้ว (โดย ทนงศักดิ์ หาญวงศ์ 2560)]

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ก่อนมีความเป็นไทย

ในสำเภาจีนที่อยุธยา

 

ประวัติศาสตร์ไทยของทางการ บอกว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก ครั้นหลังกรุงสุโขทัยล่มสลายจึงมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีที่สอง

ทั้งหมดนี้ไม่พบหลักฐานสนับสนุนทางประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่พยานต่างๆ กลับบอกตรงข้ามว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นราชอาณาจักรสยามแห่งแรก โดยความเป็นไทย “ในสำเภาจีน” มีขึ้นจากการค้าสำเภากับจีน

 

อยุธยามาจากสองรัฐใหญ่ ก่อนกรุงสุโขทัย

 

อยุธยามีก่อน พ.ศ. 1893 มาจากการร่วมสถาปนาของ 2 รัฐใหญ่ แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีทั้งร่วมมือและขัดแย้งเป็นปกติ จนต่อมามั่งคั่งขึ้นจากการค้าข้ามคาบสมุทร ระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน แล้วถูกเรียกจากนานาชาติว่า “ราชอาณาจักรสยาม”

ประชากรรัฐอยุธยาสมัยแรกๆ ไม่ไทย เพราะสืบเผ่าพันธุ์จากประชากร 2 รัฐใหญ่นั้น ต่อมากลายตนเป็นไทยเมื่อพูดภาษาไทยเป็นภาษากลางจนเป็นภาษาในชีวิตประจําวัน แล้วยอมรับอํานาจของวัฒนธรรมไทย

สองรัฐใหญ่ร่วมสถาปนาอยุธยา ได้แก่ รัฐสุพรรณภูมิกับรัฐละโว้ ต่างมีความเป็นมาเก่าแก่นับพันๆ ปีมาแล้ว

เอกสารจีนเรียกรัฐอยุธยา ว่า เสียนหลอ หรือ เสียมหลอ เพราะเกิดจากการรวมตัวของสองรัฐใหม่ ได้แก่ เสียม (เสียน) คือ รัฐสุพรรณภูมิ กับ หลอฮก (หลอหู) คือ รัฐละโว้

  1. รัฐสุพรรณภูมิ (จ. สุพรรณบุรี) เรียกกันทั่วไปตามหลักฐานว่า สยาม อยู่ฟากตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา สืบเนื่องจากบ้านเมืองเก่าแก่ในวัฒนธรรมสุวรรณภูมิ (เมืองอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) และบ้านเมืองหรือรัฐต่อจากนั้นที่เอกสารจีนเรียก เจินหลี่ฟู่ (อ. เมืองฯ จ. สุพรรณบุรี)

พูดตระกูลภาษาต่างๆ ที่ไม่ไทย แต่แล้วต่อมา พูดภาษาไทย (ตระกูลไต-ไท) ซึ่งเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน ถูกเรียกจากคนอื่นว่า สยาม เพราะเกี่ยวดองเป็นเครือญาติชาติภาษากับชาวสยามลุ่มน้ำโขง (เสียมกุก บนภาพสลักที่ปราสาทนครวัด) เอกสารจีนเรียก เสียน หรือ เสียม

พื้นที่รัฐสุพรรณภูมิแผ่ยาวลงทางทิศใต้ ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกับรัฐเพชรบุรี (จ. เพชรบุรี) ถึงคาบสมุทรตั้งแต่แดนรัฐนครศรีธรรมราช (จ. นครศรีธรรมราช) จนสุดแหลมมลายู

  1. รัฐละโว้ (จ. ลพบุรี) อยู่ฟากตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา สืบเนื่องจากบ้านเมืองเก่าแก่ในวัฒนธรรมทวารวดี

พูดภาษาเขมร มีวัฒนธรรมเขมร และเกี่ยวดองกับบ้านเมืองลุ่มน้ำมูลบนที่ราบสูงโคราช เป็นเครือญาติใกล้ชิดกับรัฐกัมพูชา (ที่โตนเลสาบ) เอกสารจีนเรียก หลอฮก หรือ หลอหู

 

สยามกับละโว้ ร่วมมือและขัดแย้ง

 

สยามกับละโว้มีทั้งร่วมมือและขัดแย้งสลับกันนับจํานวนแน่นอนไม่ได้ ตามลักษณะผลประโยชน์ทางศาสนา-การเมือง และการค้า นับแต่มีการค้าโลกแผ่ถึงอ่าวไทย ราวหลัง พ.ศ. 1000

[จึงไม่รวมกันครั้งเดียวอย่างราบรื่นเรียบร้อยเป็นกรุงศรีอยุธยาตามที่พบในเอกสารของทางการ]

การค้าสําเภากับจีนน่าจะมีส่วนกระตุ้นอย่างสําคัญต่อความสัมพันธ์ร่วมมือและขัดแย้งของ 2 รัฐใหญ่ ซึ่งมีขึ้นเมื่อหลังจีนแต่งสําเภาออกค้าขายโดยตรงกับบ้านเมืองใหญ่น้อย ตามชายฝั่งอ่าวไทยและอุษาคเนย์ (แต่ยังไม่พบหลักฐานตรงๆ)

สยามกับละโว้รวมกันหลายครั้งอย่างหลวมๆ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 1839 (ปีเดียวกับสร้างเมืองเชียงใหม่) พบหลักฐานจากเอกสารจีนในบันทึกของ โจว ต้า กวาน (บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ แปลจากภาษาจีน โดย เฉลิม ยงบุญเกิด สํานักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2543 หน้า 8)

ต่อมารวมกันอีกครั้งแล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1893 (มีบอกในพระราชพงศาวดาร) หลังจากนั้นก็แยกกันอีกระยะหนึ่ง

กระทั่งสยามจากรัฐสุพรรณภูมิกําจัดรัฐละโว้ครั้งใหญ่ (มีร่องรอยน่าเชื่อว่ารับสนับสนุนจากจีน) แล้วยึดครองอยุธยาสําเร็จ ราวหลัง พ.ศ. 1950 ต่อมานานาชาติทางตะวันตกเรียกอยุธยาเป็นครั้งแรกว่า “ราชอาณาจักรสยาม”

 

ชุมทางคมนาคมนานาชาติ

 

ก่อนสถาปนาอยุธยานานหลายร้อยปี สยามกับละโว้ทยอยยึดพื้นที่คนละฝั่งแม่น้ำ(บริเวณจะเป็นอยุธยาต่อไปข้างหน้า) เสมือนสถานีการค้ากับจีน

เพราะเป็นชุมทางเส้นทางคมนาคมหลายทิศทาง และเชื่อมแม่น้ำออกทะเลสมุทรอ่าวไทย สู่น่านน้ำนานาชาติ ซึ่งมีคนนานาชาติพันธุ์ไปมาค้าขายไม่ขาดสาย ที่จะส่งออกภายในสู่ภายนอก แล้วนําเข้าภายนอกสู่ภายใน

อยุธยาราวเรือน พ.ศ. 1000 (บางทีเรียกวัฒนธรรมทวารวดี ก่อนมีกรุงศรีอยุธยา) ยังไม่มีเกาะเมืองอยุธยา แต่พื้นที่เป็นดอนอันเกิดจากการทับถมของโคลนตมจากแม่น้ำหลายสายที่ไหลมาพบกันเป็นชุมทาง ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำน้อย, แม่น้ำลพบุรี, แม่น้ำป่าสัก (โดยมีคลองจําานวนมากเป็นเส้นทางตัดกันขวักไขว่เหมือนใยแมงมุม)

[ขณะนั้นปากน้ำเจ้าพระยาอยู่ลึกเข้าไปประมาณถนนบางนา-ตราด (ทางทิศตะวันออก) กับ ถนนพระราม 2 (ทางทิศตะวันตก)]

แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณบางกะจะ (สามแยกหน้าป้อมเพชร กับหน้าวัดพนัญเชิง อยุธยา) เป็นที่รวมแม่น้ำหลายสายที่มาบรรจบกัน แล้วไหลลงทิศใต้ออกอ่าวไทย

บางกะจะ ราวหลัง พ.ศ. 1000 เป็นชุมชนการค้าชั่วคราวของเรือขนสินค้าจากภายนอก ขึ้นล่องรัฐละโว้ นานไปก็เป็นชุมชนการค้าถาวรของคนค้าขายทางทะเลสมุทร ได้แก่ เจ๊กกับแขก

เจ๊ก เป็นคนกลางติดต่อกับจีนฮั่นซึ่งอยู่ทางตะวันออก ในที่นี่เจ๊กมักหมายถึงกลุ่มคนในมณฑลกวางสี-กวางตุ้ง เป็นพวกไม่จีน พูด 2 ภาษา คือ ภาษาฮั่น กับภาษาไต-ไท (เจ๊ก คําเดียวกับ แขก หมายถึงคนอื่น หรือคนแปลกหน้า)

แขก เป็นคนกลางติดต่อกับบ้านเมืองทางตะวันตก ได้แก่ อินเดีย, อาหรับ, เปอร์เซีย (อิหร่าน) ฯลฯ

แขกในที่นี้มักหมายถึงพวกมลายูที่ชํานาญทางทะเล ตั้งชุมชนอยู่ใกล้ทะเลและกลุ่มเกาะทั่วอุษาคเนย์ โดยมีเครือข่ายกว้างขวางในนาม “ศรีวิชัย” บางทีรู้จักในชื่อ จาม

 

ประวัติศาสตร์รักชาติ

 

รัฐบาลต้องการให้มีวิชาประวัติศาสตร์ไทย เพื่อปลูกฝังความรักชาติแบบรัฐพันลึก

ปัญหาอยู่ที่ประวัติศาสตร์ไทยแบบรัฐพันลึก มองข้ามประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี แต่เน้นสงครามของวีรบุรุษแบบนิยายละครน้ำเน่า เท่ากับหล่อหลอมครอบงำให้สังคมย้อนยุค แทนที่จะก้าวไป 4.0 ก็กลายกลับเป็น 0.4