หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘พรุ่งนี้’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ควายป่า - เหลือเพียงประชากรกลุ่มเล็กๆ ในพื้นที่จำกัด วันพรุ่งนี้ของพวกมันไม่สดใสเท่าใดนัก

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

 

‘พรุ่งนี้’

 

สําหรับผม

ช่วงเวลาระหว่าง “เมื่อวาน” จนกระทั่งถึง “วันนี้” ยาวนานพอสมควร พบตัวเองอยู่ที่โน่นที่นี่ ราวกับจะตามหาบางสิ่งบางอย่าง

ซึ่งก็จริง ผมเริ่มต้นด้วยการตามหา

เวลาของ “เมื่อวาน” ทำให้รู้ว่า ผมไม่ได้ตามหาอะไร

แต่ “วันนี้” ผมกำลังทำความเข้าใจกับสิ่งที่มีอยู่ในตัวเอง

เรารับรู้กันมาเนิ่นนานแล้วว่า สิ่งที่ตามหาไปไกลแสนไกล นั่นคือสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ

รับรู้ แต่ไม่เข้าใจ เราจำนวนไม่น้อยจึงเริ่มออกเดินทาง

ใช้การเดินทางเป็นเครื่องมือ

หากวันนี้คนเรียนรู้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่มีอยู่ในตัวเอง

“พรุ่งนี้” ก็ดูจะไม่ใช่วันอันมืดมัว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเขียนถึงเรื่องพรุ่งนี้

เพราะรู้ว่า กับเหล่าสัตว์ป่า “พรุ่งนี้” ของพวกมันแตกต่างหรืออาจมาไม่ถึงด้วยซ้ำ

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมบอกบ่อยๆ คือ ทุกวันนี้ในหน่วยพิกษ์ป่ากลางป่าลึกหลายแห่ง ค่อนข้างเจริญแล้ว โดยเฉพาะหากคิดว่าที่ใดมีไฟฟ้าเข้าถึง นั่นคือที่เจริญ ในป่าอาจพูดได้ว่าเจริญกว่า เพราะทุกแห่งมีไฟฟ้าใช้จากพลังแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานสะอาด อันเป็นพลังงานทางเลือกในโลกปัจจุบัน

มีไฟฟ้าใช้ มีจานดาวเทียม หน่วยพิทักษ์ป่าก็คล้ายจะไม่ได้อยู่ในสภาพ “หลังเขา” สักเท่าใด

กระนั้น ในฤดูฝน แสงแดดมีน้อย พลังงานหมด หรือต้องสงวนไว้เพื่อใช้กับวิทยุสื่อสาร เราจึงต้องอาศัยแสงสว่างจากสิ่งเดิมๆ ที่เคยใช้บ้าง

ในฤดูฝน การได้พักอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่า แทนการนอนแคมป์ในป่า คือความสบาย

หลังจากเป่าตะเกียงกระป๋องดับ ปรับสายตาเข้ากับความมืด รอบๆ บ้านไม่มืดสนิทนัก ต้นไม้มองเห็นเป็นเงาตะคุ่ม ฟ้าแลบทางยาว ทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก

หนูวิ่งบนหลังคา เสียงกัดไม้กรอดๆ ดังชัดเจน อยู่ในความเงียบ

สลับกับเสียงครืนๆ ตามมา หลังจากฟ้าแลบทางทิศนั้น ฝนคงกำลังตก ไอเย็นๆ ปะปนมากับสายลม

ชุดลาดตระเวนหลายชุดจากหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ คงขดตัวนอนบนเปลใต้ผ้ายางที่น้ำฝนไหลซึม ห่วงเหล็กกลมๆ ที่ใช้ผูกต่อสายเปลให้เป็นที่ดักน้ำ กันไม่ให้น้ำไหลซึมถึงเปล

กองไฟดับมอด ยิ่งดึก สภาพอากาศทวีความเย็น อุณหภูมิในป่าระหว่างกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันหลายองศา

 

คนทำงานในป่า เรียกคนผู้แอบเข้าป่าเพื่อฆ่าสัตว์เอาอวัยวะเล่นๆ ว่า “นักท่องเที่ยว”

พวกเขาเป็น “นักท่องเที่ยว” มืออาชีพ เชี่ยวชาญการเดินป่า ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ ไม่มีการเฉาะ ฟันไม้ ตรงไหนมีหนามแหลม หรือรกทึบ พวกเขามุดๆ ไป แทบดูไม่ออกว่ามีคนเดินผ่านไปทางนี้

หลีกเลี่ยงการก่อไฟ เสบียงอาจมีแค่เนื้อย่าง ข้าวเหนียวแข็งๆ นอกจากบางคณะที่ดูจะ “บรรดาศักดิ์” ชุดลาดตระเวนจะพบเศษขยะที่ทิ้งไว้ เป็นพวกซองกาแฟ ขวดเครื่องดื่มชูกำลัง และซองบุหรี่ราคาแพง

พวกเขาใช้แค่ใบไม้ปูนอนข้างๆ ด่าน

เมื่อ “นักท่องเที่ยว” เป็นมืออาชีพ คนผู้ทำหน้าที่ปกป้องดูแลสัตว์ป่า ก็ต้องฝึกฝน เรียนรู้อย่างหนัก และเป็นมืออาชีพเช่นกัน การฝึกฝนและใช้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพเป็นเครื่องมือทำให้ชุดลาดตระเวนตรวจพบเจอแม้ร่องรอยเพียงเล็กน้อย

“เขาไม่ใช้ด่านหลักหรอกเวลาเดิน” ชัยพร หัวหน้าชุดหน่วยพิทักษ์ป่าลูกไม้แดง หรือเซซาโว่ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก พูดให้ฟัง

การเดินไปตามด่านเล็กๆ รกทึบ วกวน ขึ้นสันเขา ลงหุบ คือสิ่งที่การเดินลาดตระเวนต้องพบ

หลายครั้งพวกเขาตามไปพบตัว ปะทะกัน เกิดความสูญเสียบ้าง

ซากสัตว์ป่าขนาดใหญ่นอนขึ้นอืด อวัยวะถูกตัดไปบางส่วน

ก็เป็นอีกสิ่งที่พบ

 

ผมกดดูเวลาจากนาฬิกาข้อมือที่ถอดวางไว้ข้างหมอนผ่านเที่ยงคืนมาสิบนาที เสียงหนูกัดไม้ยังดังๆ หยุดๆ ตามเวลาสากล นี่เป็นวันใหม่แล้ว ในความเป็นจริง อีกนาน ขอบฟ้าจึงจะสว่าง

นอนไม่หลับ ค่ำคืนในป่าดูคล้ายจะยาวนานกว่าความเป็นจริง

สองวันก่อน ผมเดินทางจากหน่วยพิทักษ์ป่า เพื่อร่วมเคลียร์เส้นทางกับคนในหน่วย

เส้นทางในฤดูฝน ระยะทางเพียง 20 กิโลเมตร เราใช้เวลา 6 ชั่วโมง กอไผ่ถูกช้างดึงลงมา ไม้ใหญ่ล้มขวางหลายต้น เราเลื่อยต้นที่พอเลื่อยได้ ต้นไหนใหญ่เกินไป และมีที่พอเบี่ยง เราใช้วิธีเบี่ยงไป

เราถึงหมู่บ้านเกือบบ่าย 3 โมง

ขณะนำรถข้ามลำห้วย ที่ระดับน้ำสูงท่วมล้อ ผมหยุดริมฝั่ง ลงไปวักๆ น้ำใส่รถล้างโคลนออกบ้าง

หญิง-ชายหลายคนจากหมู่บ้าน ซักผ้าอยู่ในบริเวณนั้น ผู้ชายคนหนึ่งเดินมาหา ยกมือไหว้ทักทาย

“สวัสดีครับ พี่จำผมได้ไหม” เขาพูดสำเนียงแปร่งๆ

ผมรับไหว้ พยักหน้า เขาชื่ออ้าก ชื่อแปลกๆ ของเขาทำให้จำได้ดี เขาเคยเป็นคนงานในหน่วยพิทักษ์ป่าหลายปีก่อน เราทำงานร่วมกันบ่อย ครั้งที่พบกับเสือดาวอารมณ์ไม่ดีตัวหนึ่ง แยกเขี้ยวขู่คำราม เขายืนนิ่งใกล้ๆ ผม

เขาออกจากงาน มีเมียเป็นคนในหมู่บ้าน หลายคนรู้ดีว่า ถึงวันนี้เขาเป็น “นักท่องเที่ยว” ที่ชำนาญป่า

“ไอ้นี่แหละตัวดี มันรู้แหล่งสัตว์ด้วย เจอกันในป่าสนุกแน่ๆ”

คนในหน่วยพูดเป็นเสียงเดียว

“หัวหน้าเคยไปหามันที่บ้าน ขอให้หยุดซะ มันยิ้มๆ ไม่ตอบรับ ไม่ปฏิเสธ”

อ้ากกับเพื่อนๆ รวมทั้งญาติพี่น้อง หลายคนคิดเช่นเดียวกันว่า ป่าก็เหมือนสวนหลังบ้าน เข้าไปหาผลประโยชน์ได้

เนื้อและอวัยวะสัตว์ป่ามีมูลค่า

ความชำนาญและคุ้นเคยพื้นที่ดี ช่วยให้รอดพ้นจากการตรวจพบ

“ตอนนี้ ปลูกข้าวโพดครับ ปีนี้ฝนดี ค่อยยังชั่ว” เขาตอบคำถามที่ผมถามว่าทำอะไร

พื้นที่ปลูกข้าวโพดขยายเข้าใกล้ และลุกลามไปบนเขา ริมทางมีป้ายโฆษณาปุ๋ยที่เหมาะกับข้าวโพดที่ปลูกบนพื้นที่สูง รวมทั้งป้ายโฆษณายาฆ่าหญ้า

ประชากรเพิ่ม ความต้องการพื้นที่ของคนมากขึ้น

สัตว์ป่ามีพื้นที่อาศัยลดลง

ดูเหมือนว่า นี่คือปัญหาที่เหล่าสัตว์ป่าทั้งโลกกำลังเผชิญ

และทำให้วันพรุ่งนี้ของพวกมันอยู่ในความเลือนราง

 

เช้ามืด ฟ้ายังไม่สว่าง

ผมเดินออกจากหน่วยพิทักษ์ป่า เข้าซุ้มบังไพรมองผ่านช่องเล็กๆ ดูขอบฟ้าที่เปล่งประกายความงดงาม เป็นเช้าที่เมฆฝนผ่านพ้น บรรยากาศแจ่มใส

ห้วงเวลารอยต่อระหว่างวัน คือเวลาที่ท้องฟ้างดงาม ไม่ว่าเป็นเวลาใด เช้าหรือเย็น

หลายคนเฝ้ารอ เร่งรัดให้ถึงพรุ่งนี้

โดยลืม หรือละเลยกับช่วงรอยต่ออันมีระยะเวลาเพียงสั้นๆ เมื่อแสงอาทิตย์อันอบอุ่นยามเช้าเดินทางมาถึง ความงามที่มีอยู่ในเวลาสั้นๆ หายไป

คนเมื่อรอพรุ่งนี้จะมาถึง

แต่กับเหล่าสัตว์ป่า วัน “พรุ่งนี้”

ดูเหมือนหนทางยังอีกยาวไกล