โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/The Prince ของมาเคียเวลลี (1)

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

 

The Prince ของมาเคียเวลลี (1)

 

เมื่อ 500 ปีก่อน นิกโคโล มาเคียเวลลี ถือกำเนิดมาที่เมืองฟลอเรนซ์ มาเคียเวลลีเป็นนักเขียนและนักปกครอง

ถ้าจะเปรียบกับคนไทยในยุคนี้ก็คงจะประมาณคุณวิษณุ เครืองงาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มีบทบาทในรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย ผู้ได้สมญานามว่าเนติบริกร และเป็นนักเขียนมากฝีมือ

จะผิดกันก็แต่ว่างานเขียนมาเคียเวลลีไม่ใช่สารคดีหรือบันเทิงคดีทั่วๆ ไปแบบงานของท่านวิษณุ หากแต่เป็นงานชำแหละพฤติกรรมมนุษย์ในบริบทของการเมืองการปกครองที่ยังคงสะท้อนความจริงของการเมืองการปกครองทุกยุคทุกสมัยในทุกซีกโลกไม่ว่าจะเป็นตะวันตกหรือตะวันออก

ในคราที่การเมืองสงบนิ่ง การอ่าน The Prince ก็ไม่ค่อยมีรสมีชาติสักเท่าใด

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่การเมืองถึงยุคเข้าด้ายเข้าเข็ม ชิงดีชิงเด่น ชิงไหวชิงพริบ การอ่าน The Prince ก็ให้ความมันในอารมณ์

เหมือนการอ่านสามก๊ก ฉันใดก็ฉันนั้น

 

ในบรรยากาศที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามา และฉากการเมืองต่างๆ เริ่มเผยให้เห็นว่ากลุ่มการเมืองไหนกำลังจะเดินแต้มกันแบบไหน การ “ดูด” ส.ส. ในเขตต่างๆ เข้ามาร่วมพรรค การย้ายค่ายจากค่ายที่น่าจะเพลี่ยงพล้ำมาสู่ค่ายที่มีความหวังกว่า ก็ล้วนแต่เป็น “ความเป็นจริง” ของการให้ได้ชัยชนะในการเมืองโดยที่ “อุดมการณ์” ไม่มีความหมาย

ความเป็นอมตะของ The Prince จึงอยู่ที่มาเคียเวลลีไม่ใช่เจ้าทฤษฎีทางการเมือง แต่เขาแฉการเมืองที่เป็นอยู่และเป็นจริง (political reality) การเมืองต้องซื้อตัว การเมืองต้องใช้เงิน เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

เรื่องที่มาเคียเวลลีรักการเมืองอย่างลึกซึ้งเป็นเรื่องไม่มีอะไรต้องสงสัย

เขาเขียนไว้ว่า “เป็นความฝันของข้าพเจ้าที่ว่าตระกูลเมดิชีจะใช้บริการของข้าพเจ้า เป็นงานอะไรก็ได้แม้แต่งานเข็นก้อนหิน”

คนบางคนถนัดที่จะอยู่หลังฉากการเมือง จะเห็นได้จากตำแหน่งที่ปรึกษานักการมืองที่มีอยู่มากมาย

คนพวกนี้อาจมีบทบาทสูงในการ “ชง” งานต่างๆ ให้กับนักการเมือง

 

การเมืองฝังอยู่ในสายเลือดของมาเคียเวลลี เขาบอกว่า “ใครก็ตามที่ซื่อตรงมั่นคงต่อการเมืองมาเป็นเวลาถึง 43 ปี ยากที่จะเปลี่ยนธรรมชาติของตัวเอง”

นี่ทำให้เราเข้าใจถึงเสือสิงห์กระทิงแรดนักการเมืองเขี้ยวลากดินที่วนเวียนซ้ำซากอยู่ในวังวนแห่งการเมืองและไม่ยอมไปไหน

ไม่ว่าจะเป็นทักษิณ ชินวัตร ชวน หลีกภัย สุเทพ เทือกสุบรรณ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จตุพร พรหมพันธุ์ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รสชาติของการเมืองช่างหอมหวาน สุ่มเสี่ยงคุกตะรางและการด่าทอ แต่ก็คุ้มกับชื่อเสียง เงิน และอำนาจ

มาเคียเวลลีเป็นคนทำงานการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง เขาเลือกเป็นคนเบื้องหลัง อาจเป็นเพราะรู้ตัวดีว่าเป็นคนปากโป้ง ขวานผ่าซาก มีความสุขกับการได้คิด พูด เขียน อยู่เบื้องหลัง เป็นคนรู้ซึ้งถึงความปลิ้นปล้อนของผู้ปกครอง

เขาเลือกเองที่จะอยู่อย่างยากจน และวางตัวเป็นผู้วิเคราะห์ วิจารณ์ ตีแผ่

เขาบอกว่า “ความยากจนของข้าพเจ้าเป็นประจักษ์พยานที่ดีของความซื่อตรงและความดีงามของข้าพเจ้า”

 

มาเคียเวลลีต้องการเพียงให้ผู้ปกครอง “ฟัง” เขา เพราะเขาจริงใจกับบ้านเมือง “ข้าพเจ้ารักชาติมากกว่าดวงวิญญาณของตนเอง” เขากล่าว การเมืองเป็นดุจอาหารที่หล่อเลี้ยงเขา ถ้าหากไม่ให้ทำงานการเมืองก็คงจะตายเหมือนปลาขาดน้ำ

หนึ่งในแนวคิดของมาเคียเวลลีคือ ศาสนาก็ดี หรือศีลธรรมก็ดี ไม่มีที่อยู่ในการเมือง นอกจากว่ามันจะเป็นเครื่องมือให้การเมืองได้บรรลุวัตถุประสงค์ ความสำเร็จของนักการเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจ และการรักษาอำนาจนั้นไว้

ในคำอุทิศของมาเคียเวลลีใน The Prince เขาเขียนว่า “ใครก็ตามที่ต้องการชนะใจนักการเมืองจะต้องให้ของที่นักการเมืองโปรดปราน เช่น ม้า อาวุธ เสื้อผ้าแพรพรรณ ทอง เพชรนิลจินดา”

แต่สำหรับเขาแล้ว ไม่อยู่ในฐานะที่จะหาสิ่งเหล่านั้นได้ (เพราะความยากจน) เขาจึงอุทิศข้อเขียนให้กับผู้ปกครองแทน เป็นข้อเขียนจากความบากบั่นและผ่านภัยอันตราย เป็นข้อเขียนที่ไม่ได้ตกแต่งให้สวยงาม

 

ในบทที่มีชื่อว่า “วิธีปกครองเมืองและพลเมืองที่ก่อนการยึดเมืองมีกฎหมายของตัวเองอยู่แล้ว” มาเคียเวลลีให้มีคำอธิบายว่า เมื่อได้ครองประเทศที่เคยเป็นอิสระและมีกฎหมายของตนเองอยู่แล้วมีวิธีที่จะเข้าไปบริหารจัดการอยู่ 3 วิธี วิธีแรก คือทำลายเมือง ด้วยการทำลายโครงสร้างทางการปกครองและการเมือง วิธีที่สองคือส่งคนเข้าไปอยู่ วิธีที่ 3 คือให้เมืองยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายของตนเองและจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยคนที่จงรักภักดีต่อเรา (The Prince)

เมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกก็ใช้วิธีการแรกคือทำลายกรุงศรีอยุธยา กวาดต้อนผู้คน ทำลายการเมืองการปกครอง เมื่ออังกฤษได้พม่าเป็นอาณานิคมก็ได้ส่งผู้สำเร็จราชการมาครอง นี่คือวิธีการที่สอง ส่วนวิธีการที่ 3 นั้นคือวิธีการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เมื่อผนวกเอาหัวเมืองล้านนาเข้ามาอยู่ในสยาม

รัชกาลที่ 5 ทรงให้หัวเมืองล้านนาปกครองตนเองด้วยเข้าพระทัยดีถึงความคุ้นเคยของคนในเมืองนั้นๆ ที่เคยอยู่อย่างมีอิสระ

มาเคียเวลลีอธิบายต่อโดยเปรียบเทียบสปาร์ตากับโรมันว่า เมื่อสปาร์ตายึดครองธีปส์และเอเธนส์ ได้จัดตั้งรัฐบาลที่นั่นโดยใช้คนเอเธนส์ที่โปรสปาร์ตา แต่ในที่สุดก็สูญเสียทั้งสองเมืองในสงคราม ส่วนโรมันนั้นเมื่อยึดครองคาปัว คาร์เทจ และนูมันเชีย โรมันได้ทำลายเมืองทั้งสามลงหมดและยังคงยึดครองเมืองได้ เมื่อโรมันยึดครองกรีซ ได้ทำลายเมืองโครินท์และเอาประชาชนขายเป็นทาสแล้วผนวกกรีซเป็นหนึ่งในอาณาจักรโรมัน

คำถามคือ ประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อชนชั้นสูงใช้ คสช. มาสร้างความสงบในบ้านเมืองมา 4 ปี ไม่ว่าเพื่อไทยหรือพรรคของ คสช.จะได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลจะมีวิธีจัดการกับพรรคกลางๆ และพรรคเล็กพรรคน้อยที่มีเกือบ 100 พรรคอย่างไรต่อไป