นิธิ เอียวศรีวงศ์ : โทษประหารจากอีกมุมมองหนึ่ง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตัววิ่งบนจอทีวีบอกผลสำรวจของสำนักหนึ่งว่า ประชาชนไทยกว่า 90% เห็นว่าควรรักษาโทษประหารไว้ต่อไป ผมอ่านไม่ทันว่าสำนักโพลที่ทำการสำรวจคือใคร ได้แต่หวังว่าไม่ใช่นิด้า ถึงจะใช่หรือไม่ใช่ ผมก็ยอมรับว่าตัวเลขนี้ต้องสูงมากๆ แต่จะสูงขนาดนี้หรือไม่ผมไม่ทราบ เพราะเมื่อดูคอมเมนต์และความเห็นในสื่อโซเชียลแล้ว คนไทยจำนวนมากทีเดียวไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหาร

ในฐานะคนส่วนน้อย ผมอยากเสนอความเห็นต่อต้านโทษประหาร ที่แตกต่างจากที่เห็นในสื่อโซเชียล แต่ไม่ได้หมายความว่าของผมดีกว่านะครับ เพียงแต่ว่าความเห็นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นมีได้หลายแนวเสมอ ต่อต้านโทษประหารก็ด้วยเหตุผลได้หลายแนว สนับสนุนโทษประหารก็ด้วยเหตุผลได้หลายแนวเหมือนกัน

ถ้าเราหาเหตุผลหลายๆ ทางมาแลกเปลี่ยนกัน ฝ่ายเสียงข้างมากก็อาจมากน้อยลงหรือกลายเป็นเสียงส่วนน้อย หรือในทางกลับกัน เสียงส่วนน้อยจะยิ่งน้อยลงไปอีก ก็ได้ทั้งสองทาง

ศาสตราจารย์โรแบร์ต แลงกาต์ เขียนไว้ในบทนำของกฎหมายตราสามดวงถึงความ “ก้าวหน้า” ของกฎหมายไทยโบราณว่า กฎหมายไทยได้ก้าวพ้นไปจากการแก้แค้นแล้ว การแก้แค้นอาจเป็นพื้นฐานของกฎระเบียบทางสังคมของชุมชนดึกดำบรรพ์ทั้งหลาย นั่นคือเหตุผลที่ชุมชนของชาวปาปัวนิวกินีทำสงครามฆ่าฟันกันบ่อยมาก (Jared Diamond, The World Until Yesterday) เพราะสงครามการฆ่าฟันเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบทางสังคมที่ทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นได้ (ในระดับหนึ่ง)

กฎหมายตาต่อตา ฟันต่อฟัน ใช้กันทั่วไปในหลายสังคมโบราณ และในบางสังคมยังครอบงำความเห็นของตุลาการสืบมาจนทุกวันนี้ แม้ได้หันมาใช้กฎหมายแบบอื่นแล้ว หรือประชาชนยังปฏิบัติตามกฎหมายประเพณีโบราณอย่างเหนียวแน่น เช่น ใครละเมิดคนใน “กลุ่ม” ของตน ก็เป็นธรรมเนียมต้องลงมือปฏิบัติการเพื่อกู้คืนความเสียหายจากตัวผู้ละเมิดหรือ “กลุ่ม” ของผู้ละเมิด หากเขาฆ่าสมาชิกในกลุ่มเรา ก็ต้องเอาคืนด้วยการฆ่าฆาตกร หรือเรียกสินไหมทดแทน หรือหากไม่ได้ทั้งสองอย่าง ก็ฆ่าคนในกลุ่มนั้นทดแทน จนเกิดสงครามระหว่าง “เผ่า, สายสกุล, ชุมชน ฯลฯ” ขึ้น แล้วแต่ “กลุ่ม” จะถูกจัดองค์กรอย่างไรในประเพณีของคนในวัฒนธรรมนั้นๆ

หากไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้มีการละเมิดโดยไม่ล้างแค้น “กลุ่ม” ที่ตกเป็นเหยื่อก็สิ้นศักดิ์ศรี กลายเป็นเป้าให้คนในกลุ่มอื่นละเมิดได้ต่อไปอย่างง่ายๆ

ดังนั้น เมื่อผู้หญิงที่แต่งงานเข้ามาในสายสกุลไปมีชู้เข้า จึงต้องฆ่าทิ้ง เพื่อรักษาเกียรติยศของสายสกุลเอาไว้ เนื่องจากหญิงผู้นั้นได้ลบหลู่เกียรติของสายสกุลอย่างยิ่ง เมื่อคดีส่งถึงศาล ผู้พิพากษาเข้าใจวัฒนธรรมนี้อย่างดี ตัวเองก็เติบโตมาในวัฒนธรรมนี้ รู้สึกได้ถึงเกียรติของสายสกุลที่ถูกลบหลู่ว่ากระทบต่อชีวิตปรกติสุขของผู้ฆ่าอย่างไร จึงอาจลงโทษแต่น้อยหรือยกฟ้องไปเลยก็ได้

กฎหมายไทยโบราณเท่าที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ได้ก้าวพ้นวัฒนธรรมล้างแค้นเช่นนี้ไปแล้ว (เป็นส่วนใหญ่) การละเมิดผู้อื่นบางอย่างถือเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ไม่ใช่ความผิดต่อ “กลุ่ม” และพึงถูกแผ่นดินลงโทษ จะจำขัง, โบยตี, ประจาน, หรือประหารก็ตาม แต่ผู้ลงโทษคือ “แผ่นดิน” ไม่ใช่เผ่า, สายสกุล, หรือชุมชนอีกต่อไป

ประเด็นสำคัญที่ต้องสำเหนียกให้ดีก็คือ ทั้งสังคมที่ยังใช้กฎหมายล้างแค้นและสังคมแบบที่เลิกล้างแค้นแล้ว ต่างมองเห็น “ส่วนรวม” ด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่ “ส่วนรวม” ของสังคมล้างแค้นอาจแคบหน่อย เช่น เป็นแค่สายสกุล, ชุมชน, เผ่า, หรือโคตร, หรือวงศ์ ฯลฯ เท่านั้น ในขณะที่ “ส่วนรวม” ของสังคมที่เลิกกฎหมายล้างแค้นแล้ว ขยายใหญ่ไปรวมเอาคนจำนวนมากไว้ด้วยกันหมด โดยไม่จำแนกว่าเป็นเผ่า, โคตร, วงศ์, สายสกุล ฯลฯ อะไร

คนไทยโบราณเรียก “ส่วนรวม” อย่างนี้ว่า “แผ่นดิน” คนไทยปัจจุบันเรียกว่า “สังคม”

ที่เขายกให้สังคมซึ่งเลิกใช้กฎหมายล้างแค้นว่าก้าวหน้า ก็เพราะมันมีข้อดีกว่ากฎหมายล้างแค้นซึ่งวางอยู่บนความมั่นคงของบุคคลหรือของ “กลุ่ม” ผมขอสรุปข้อดีตามความเข้าใจของผมต่อไปข้างล่างนี้ แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่า นี่เป็นความเห็นเท่านั้น จะเถียงว่ากฎหมายล้างแค้นมีข้อดีกว่าก็ได้

ประการแรก กฎหมายไม่ล้างแค้นระงับการล้างแค้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีโอกาสที่จะล้างแค้นกันไปมาไม่หยุดเสียที บางสายสกุล (เช่น ในโรเมโอและจูเลียต) อาจล้างแค้นกันหลายชั่วโคตรก็ได้ อย่างน้อยก็ก่อการวิวาทบาดทะลุงกันจนเป็นอันตรายแก่คนอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้อง

ประการที่สอง สังคมที่ยกเลิกกฎหมายล้างแค้น ย่อมสามารถสร้างมาตรฐานของความผิดและการลงโทษขึ้นได้ ทำอะไรผิดหรือไม่ผิดกันแน่ ต้องชัดเจนแก่ทุกคน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุมผู้ใหญ่ของเผ่าเป็นคราวๆ ไป ควรมีโทษแค่ไหนก็เหมือนกัน มีมาตรฐานกำหนดไว้แล้วแต่ต้น ฝ่ายที่เป็นโจทก์ก็ต้องยอมรับหรือพอใจกับคำตัดสิน หรือถึงไม่พอใจก็ไม่ถือเป็นเหตุไปลงโทษเขาเพิ่มขึ้นกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น กฎหมายประเภทไม่มุ่งล้างแค้นและพ้นไปจากกลุ่ม จึงต้องบัญญัติกันก่อนที่จะมีการทำผิดเกิดขึ้น

นี่คือเหตุผลที่กฎหมายประเภทนี้จึงมักมีประวัติว่าพระเจ้ามอบให้ หรือมีใครเหาะไปลอกมาจากกำแพงจักรวาล เพราะกฎหมายอยู่เหนือเผ่า, สายสกุล, โคตร, วงศ์, ชุมชน ฯลฯ จึงไม่มีอคติให้แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือกฎหมายประเภทนี้ต้องการความชอบธรรมสูง (เพราะอยู่เหนือสัญชาตญาณดิบของมนุษย์) สมัยโบราณก็ต้องไปรับมาจากพระเจ้า ปัจจุบันก็ต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชน ใครใช้ปืนออกกฎหมายแล้วเรียกร้องให้คนอื่นเคารพกฎหมายนั้น จึงเหมือนพยายามเอาหัวเดินต่างตีน

ประการที่สาม สำนึกถึงส่วนรวมที่หมายถึงสังคมนี้มีประโยชน์มาก เพราะทำให้ “ส่วนรวม” ประกอบด้วยคนจำนวนมากขึ้น จึงทำให้ผู้คนในสังคมมีสมรรถภาพในการทำอะไรได้มากไปกว่ามีแต่สำนึกถึงกลุ่มย่อยๆ เช่น แทนที่จะปิ้งกล้วยให้หลานกินแค่สองคน ก็สามารถปิ้งขายในตลาดซึ่งมีคนนอกเผ่านอกสกุลอยากกินอีกมาก คุ้มที่จะพัฒนากล้วยปิ้งให้น่ากินยิ่งขึ้น เช่น ทำไม้ทับให้แบนเสมอกัน ปรุงน้ำกะทิมาราดหรือจุ้ม ฯลฯ แน่นอนไปทำอะไรอื่นมากกว่านี้ได้อีกแยะ เช่น สร้างถนนมิตรภาพให้แก่คนทุกสายสกุลจึงคุ้ม หากให้ใช้ได้เพียงบางสกุลก็ต้องถือว่าแพงเกินไป

…คิดไปเองเถิดครับ ว่าสังคมอำนวยสิ่งดีๆ ให้เราอะไรได้บ้าง

แต่อย่าลืมว่า สังคมก็อำนวยสิ่งที่ไม่ดีแก่ชีวิตเราเหมือนกัน ฉะนั้น หากมองข้อเสียของกฎหมายประเภทไม่ล้างแค้นก็มีเหมือนกัน เช่น เราต้องยกการพิจารณาตัดสินให้ใครก็ไม่รู้ ซึ่งไม่เคยเข้าใจความเสียหายของเราได้ลึกซึ้งจริงเหมือนตัวเรา ซ้ำมักเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้อะไรมากนักนอกจากกฎหมาย เช่น ไม่รู้ว่าสังคมไหนๆ ก็เต็มไปด้วยโครงสร้างอันอยุติธรรมต่อคนบางกลุ่ม ส่วนใหญ่ไม่รู้จักความยากจนจริง เพราะไม่เคยได้สัมผัสกับตนเองเลย หลายคนไม่รู้หรอกว่าความแค้นที่มันฝังอกเป็นอย่างไร ไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรอีกหลายอย่างของความเป็นมนุษย์อันหลากหลายซับซ้อน มนุษย์มีอยู่อย่างเดียวคือที่ถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานของกฎหมาย

กฎหมายล้างแค้นข้ามโรบอตเหล่านี้ไปสู่ความเป็น “คน” ที่แต่ละคนมีเท่ากัน แต่ไม่เหมือนกัน (อย่างที่หัวหน้าคณะรัฐประหารพูดแหละว่า ความบกพร่องของเขาคือเขามีความเป็น “คน” จึงนำไปสู่การ “ล้างแค้น” ต่างๆ หน้าไมโครโฟนได้มาก)

แม้กฎหมายล้างแค้นอาจมีข้อดีอยู่บ้าง แต่ผมอยากเตือนว่า คนไทยไม่อาจถอยกลับไปสู่สังคมที่ใช้กฎหมายล้างแค้นได้เสียแล้ว กฎหมายล้างแค้นจะคุ้มครองความมั่นคงให้แก่บุคคลได้ ก็ต้องมีกลุ่มที่เข้มแข็งหนุนอยู่เบื้องหลัง มีเพียงกลุ่มเดียวก็ไม่ได้ด้วย ทุกคนต้องมีกลุ่มของตนเอง เพื่อให้เกิดการถ่วงอำนาจกัน

แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่เราไม่มีเนื้อที่จะพูดได้ “กลุ่ม” ทางสังคมของไทย ไม่ว่าจะวางอยู่บนฐานอะไร ไม่มีความเข้มแข็งนัก อาจจะน้อยกว่ากลุ่มนิสิต-นักศึกษาเก่าของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปัจจุบันด้วยซ้ำ แม้กระนั้นสมาคมนิสิต-นักศึกษาเก่าคงไม่เข้มแข็งพอจะล้างแค้นให้แก่มวลสมาชิกเมื่อถูกผู้อื่นละเมิดได้ ยิ่งถ้าพูดถึงคนไทยทั่วไป กลุ่มที่มีอยู่ยิ่งเข้มแข็งน้อยลงไปกว่านั้นเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ, ซอยเดียวกัน, ที่ทำงานร่วมกัน, นักวิจารณ์หนังร่วมกัน, ฯลฯ

ฉะนั้น หากหันกลับไปใช้กฎหมายล้างแค้น คนไทยจึงขาดการคุ้มครองทางกฎหมายกันทั่วหน้า ยกเว้นแต่คนในกองกำลังติดอาวุธ แต่นั่นไม่ได้มาจากความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม (solidarity) หากมาจากสายบังคับบัญชาของระบบราชการ และเมื่อไรที่กองกำลังติดอาวุธต้อง “ล้างแค้น” กันเอง รับรองว่าเละไม่จืดเลย

หากเข้าใจตามนี้ โทษประหารเป็นโทษที่ “สังคม” หรือ “ส่วนรวม” กำหนดขึ้น ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยประกันความมั่นคงปลอดภัยแก่ทุกคนในสังคม ผู้เสนอให้ยกเลิกโทษประหารไม่ได้บอกว่าบุคคลไม่ควรมีความแค้น แต่บอกแก่สังคมว่า โทษประหารไม่ทำให้บรรลุเป้าหมายที่จะอำนวยความมั่นคงปลอดภัยแก่ทุกคน เป็นการฆ่าคนโดยเปล่าประโยชน์ บางคนอาจไปไกลถึงขั้นฆ่าคนในทุกกรณีล้วนเปล่าประโยชน์ทั้งนั้น แต่นั่นเป็นอีกข้อถกเถียงหนึ่งซึ่งผมขอไม่พูดถึง

ผู้สนับสนุนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย มันก็ข้ามเรื่องของบุคคลในกฎหมายล้างแค้นไปแล้ว ข้อถกเถียงที่ว่า ถ้าอยากยกเลิกโทษประหาร ก็ให้นำนักโทษประหารไปเลี้ยงดูที่บ้านเอง จึงเป็นข้อถกเถียงบนฐานคิดย้อนยุคของกฎหมายล้างแค้น นักโทษประหารละเมิดบุคคล ดังนั้น บุคคลหรือครอบครัวของเขาจึงควรได้รับการชดเชยด้วยชีวิตของผู้ละเมิด แต่กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันบัญญัติขึ้นเพื่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่เพื่อตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เป็นเหยื่อ

ระบบนิติทัณฑ์ในโลกปัจจุบันยังถูกกระทบด้วยทัศนะต่อมนุษย์อีกอย่างหนึ่งซึ่งก่อตัวมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นคือมนุษย์เป็นผู้กระทำด้วยจิตอิสระของตนเองหรือไม่ ที่ตัดสินใจเองนั้น เป็นเพราะคิดไตร่ตรองเองอย่างรอบด้าน หรือเพราะในเงื่อนไขทางสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรมที่เขาเผชิญอยู่ ทางเลือกมีอยู่จำกัด ซ้ำยัง “กำหนด” การตัดสินใจของเขาระดับหนึ่ง มากหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม

เอาง่ายๆ เช่น เติบโตมาท่ามกลางความยากจน ซึ่งให้ทางเลือกไว้ไม่มากนัก ในที่สุดก็อาจไม่มีงานทำพอจะเลี้ยงชีพได้สะดวก เขาตัดสินใจขโมยของเอง หรือสถานการณ์ต่างๆ (ความจนในระบบเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง และวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง บวกกับสถานการณ์ส่วนตัว เช่น ลูกร้องเพราะความหิว ฯลฯ) บีบบังคับหรือชี้นำให้เขาตัดสินใจเลือกทางขโมย, ค้ายาเสพติด, ฆ่าข่มขืน ฯลฯ

ความเชื่อว่าคนไม่ได้ตัดสินใจเอง แต่ถูก “กำหนด” จากสภาวะที่เขาเลือกไม่ได้ อาจไม่มีคนเชื่ออีกแล้ว แต่ไม่มีใครปฏิเสธว่าสภาวะภายนอกมีส่วนกำหนดอยู่เหมือนกัน มากน้อยแค่ไหนเถียงกันได้ รวมทั้งเข้าไปก่อรูปสภาวะภายในของบุคคลด้วย

เมื่อเขาละเมิดกฎหมาย เราจะลงโทษการตัดสินใจผิดของเขาแค่ไหนจึงเป็นธรรมแก่ความเป็นคนของเขา ซึ่งต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของสภาวะภายนอกต่างๆ ที่ต้องเผชิญอย่างเลือกไม่ได้

มองในแง่นี้ โทษประหาร “เด็ดขาด” เกินไปสำหรับมนุษย์หรือไม่?

ที่ร้ายกว่า “เด็ดขาด” เกินไปก็คือ ทำให้สังคมทั้งหมดละเลยที่จะพยายามเข้าไปแก้ไขสภาวะภายนอกที่กดดันให้มนุษย์เสี่ยงต่อการตัดสินใจพลาด (ละเมิดกฎหมาย) เช่น เราสามารถบรรเทาผลกระทบของความยากจนได้อย่างไรบ้าง เราสามารถทำให้เด็กและคนไทยทั่วไปไม่คุ้นชินกับการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาได้อย่างไร (และในแง่นี้แหละที่โทษประหารยิ่งทำให้สภาวะภายนอกเลวร้ายลง เพราะรัฐเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเองอย่างเปิดเผย) การปัดความรุนแรงที่เลวร้ายทั้งหลายลงไว้ใต้พรมหมด นับตั้งแต่ 6 ตุลามาจนถึงเมษา-พฤษภา 2553 มีอันตรายอย่างสูงแก่สังคม ไม่ใช่เพราะคนผิดได้ลอยนวลอย่างเดียว แต่เพราะทำให้สังคมเคยชินและอาจเห็นชอบกับการใช้ความรุนแรงจนไม่สนใจวิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายรัฐเท่านั้นนะครับที่คุ้นชิน แต่ฝ่ายต่อต้านรัฐก็จะคุ้นชินเหมือนกัน

เป็นที่ยอมรับโดยสถิติในหลายสังคมมาแล้วว่า โทษประหารไม่ช่วยยับยั้งอาชญากรรมรุนแรง แต่การลดเงื่อนไขที่บีบบังคับหรือชี้นำให้คนเลือกตัดสินใจละเมิดกฎหมายต่างหาก ซึ่งได้พิสูจน์ในหลายสังคมมาแล้วว่า ได้ผลในการลดอาชญากรรมได้มากกว่า

ผมและคนทั่วไปเข้าใจได้ไม่ยากหรอกครับว่า หากเป็นพ่อแม่พี่น้องหรือลูกหลานของเราถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เราย่อมเจ็บแค้นและอยากให้ผู้กระทำผิดตายตกไปตามกัน (หรือลงนรกด้วยยิ่งดี) แต่เมื่อพูดถึงเรื่องโทษประหาร มันไม่ใช่เรื่องของความแค้นของเราโดยส่วนตัว แต่เป็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของสังคมโดยรวม ซึ่งจะเป็นผลดีทั้งแก่ครอบครัวของเหยื่อและผู้ละเมิดกฎหมาย และแก่คนทั้งหมดในสังคมด้วย