อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : AFTERNOON PERSON ผลงานศิลปะไร้จริตมารยา เต็มเปี่ยมไปด้วยอิสรเสรีและพลังแห่งวัยเยาว์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสหยิบยกเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

AFTERNOON PERSON

นิทรรศการแสดงเดี่ยวของเต้ ภาวิต ศิลปินรุ่นใหม่ชาวไทย ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดที่นำเสนอเรื่องราวของคนใกล้ตัวที่แวดล้อมรอบตัว, วัตถุที่คุ้นเคย ตลอดจนมุมมองของคนยุคปัจจุบัน ด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันฉับพลัน, จริงใจ, ไร้การปรุงแต่ง ผ่านการแสดงออกอันรุนแรงของสีสัน ฝีแปรง เส้นสาย และรูปทรงได้อย่างโดดเด่น

ก่อนหน้านี้เขาเคยมีนิทรรศการแสดงเดี่ยว Awkward Relationship ที่หอศิลป์ JAM Cafe ในปี 2016 และ Mnusychati ที่หอศิลป์ Speedy Grandma ในปี 2017 และล่าสุดในนิทรรศการครั้งนี้นี่เอง

“จุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ ก่อนหน้านี้ประมาณหนึ่งปี ทางหอศิลป์ชวนผมมาแสดงงานที่นี่ ผมก็เริ่มทำงานตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เพื่อแสดงในงานนี้ ตอนทำเราก็ไม่ได้มีแนวคิดอะไรที่ตายตัวตั้งแต่แรก แค่คิดว่าเราอยากทำงานวาดภาพขนาดใหญ่ เพื่อแสดงในพื้นที่แสดงงานขนาดใหญ่แบบนี้ แล้วก็คิดว่าอยากลองทำประติมากรรมดู ก็เลยทำออกมา”

นิทรรศการ AFTERNOON PERSON ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่เล่าผ่านผลงานศิลปะสุดแสนอิสระที่ทำขึ้นจากสัญชาตญาณของศิลปิน โดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า อันเป็นลักษณะการทำงานที่คล้ายคลึงกับการทำงานศิลปะในแนวสตรีตอาร์ตที่มีความดิบ, สด, ฉับไว ที่เขาเคยทำตอนเป็นศึกษาด้านกราฟิกดีไซน์อยู่ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ก่อนที่จะหันเหจากการวาดรูปบนกำแพง มาวาดบนผืนผ้าใบอย่างที่เห็น

“จริงๆ ก่อนหน้านี้ผมก็สนใจอยากวาดรูปบนผ้าใบอยู่แล้ว แต่ช่วงที่เรียนที่โน่น เพื่อนๆ ที่คลุกคลีอยู่ด้วยเขาทำสตรีตอาร์ตกัน เราก็เลยทำกับเขาด้วย พอกลับมาเมืองไทยและได้มีโอกาสแสดงงานศิลปะ ผมก็เลยเลือกที่จะวาดภาพบนผ้าใบดู

เวลาวาดภาพ ผมจะวาดเรื่องราวที่เจอในชีวิตประจำวัน, บรรยากาศรอบๆ ตัว, เพลงที่ฟัง เรารู้สึกอะไร เราคิดอะไรอยู่ตอนนั้น เราก็ถ่ายทอดลงไปในภาพวาด

เวลาวาด ผมชอบวาดหัวก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ วาดเติมลงไปบนผ้าใบหรือกระดาษ ถ้าวาดอยู่แล้วเกิดผิดพลาด ผมก็แค่วาดต่อไป ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างที่มันเป็น”

ผลงานศิลปะที่สื่อสารความงามแปลกตาอันเกิดขึ้นจากความไม่จงใจ ไร้การบังคับควบคุมของเขาเหล่านี้ ชักชวนให้ผู้ชมรู้สึก ครุ่นคิด ตีความ และทำความเข้าใจกับผลงานของเขาอย่างเสรีตามแต่จินตนาการของแต่ละคนจะพาไป

“ผมชอบเวลาได้ยินคนอื่นบอกว่าเขาเห็นอะไรในงานของผม บางทีเขาเห็นสิ่งที่ต่างไปจากสิ่งที่ผมแสดงออกในงานอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผมว่าไม่เป็นไรนะ ผมชอบเวลาที่งานของผมมีชีวิตของมันเอง”

ผลงานในนิทรรศการ AFTERNOON PERSON สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ของศิลปินที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน ด้วยผลงานศิลปะหลากสื่อหลายแขนง ที่เขาทำในสตูดิโอตลอดระยะเวลาหกเดือน ผลงานศิลปะแต่ละชิ้นที่เล่าเรื่องราวเฉพาะตัว

แต่บางครั้งก็เชื่อมโยงกันแบบหลวมๆ ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่ปรากฏในผลงาน ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม, ภาพวาดลายเส้น, ประติมากรรมขนาดใหญ่ (ที่ดูดิบสดไม่แพ้ภาพวาดของเขา), แอนิเมชั่นและวิดีโอจัดวางเฉพาะพื้นที่

ไปจนถึงงานศิลปะกึ่งสำเร็จรูป ที่หยิบเอาข้าวของธรรมดารอบๆ ตัวทั่วๆ ไปอย่างแจกัน, กระถางต้นไม้, บล๊อกอิฐแก้วโปร่งแสง, ม้าหิน หรือแม้แต่โต๊ะหินพร้อมกระดานและตัวหมากรุกที่เราพบเห็นตามสวนสาธารณะทั่วไป ฯลฯ มาแต่งแต้มเส้นสายและสีสันในสไตล์ภาพวาดของเขา

หรือนำมาต่อประกอบกันเป็นประติมากรรมจัดวาง หรือเอามาวางในพื้นที่แสดงงานทั้งอย่างนั้นเลย

(ที่มันส์ยิ่งไปกว่านั้นก็คือตัวหนังสือชื่อนิทรรศการและเครดิตต่างๆ บนหน้าต่างกระจกหรือผนังหอศิลป์นั้น ศิลปินเล่นเขียนด้วยลายมือหวัดๆ ลุ่นๆ ลงไปเลย ดิบได้ใจจริงๆ!)

ผลงานศิลปะของเต้มีความโดดเด่นอยู่ที่การถ่ายทอดอารมณ์อันสดใส ไร้เดียงสา เต็มเปี่ยมไปด้วยอิสระและความสนุกสนาน

บางครั้งก็ดิบกระด้าง ไร้จริตมารยา ราวกับเป็นภาพวาดของเด็กๆ ซึ่งดูเผินๆ เหมือนง่าย ใครๆ ก็วาดได้ แต่ในความเป็นจริง ด้วยข้อจำกัดทางความคิดและการขาดอิสระทางอารมณ์ความรู้สึกมักจะเป็นตัวกีดขวางผู้ใหญ่อย่างเราๆ จนไม่สามารถทำงานแบบนี้ออกมาได้ (ไม่เชื่อก็ลองทำดูเอาเอง) แต่ผลงานของเขาถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างไร้จริตมารยา แปลกตาน่าพิศวง แต่ในขณะเดียวกันก็ดูคุ้นเคยและเข้าถึงง่ายเช่นกัน

“ผมคิดว่าผมโชคดีที่ผมยังมีธรรมชาติแบบนี้อยู่ อีกอย่าง อาจเป็นเพราะผมไม่ได้เรียนศิลปะมา ก็เลยไม่รู้ว่ามันมีกฎเกณฑ์อะไรบ้าง และเราก็ไม่คิดจะทำตามกฎนั้นด้วย ตอนเด็กๆ ผมชอบวาดการ์ตูน พอไปเรียนมัธยมที่นิวซีแลนด์ มีวิชาเลือกเป็นวิชาศิลปะ แต่เพื่อนๆ ในชั้นทุกคนวาดภาพแบบเหมือนจริง วาดสวยมากๆ ผมรู้สึกว่าผมวาดแบบนั้นไม่ได้ ก็เลยเลือกเรียนกราฟิกดีไซน์แทน แต่พอเรียนแล้ว ผมก็รู้ตัวว่าผมชอบทำงานศิลปะมากกว่า ผมก็เลยกลับมาวาดรูป แต่จะให้ไปวาดแบบเหมือนจริงแบบนั้นผมก็ทำไม่ได้ ซึ่งจริงๆ ผมก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องวาดแบบนั้นเท่านั้น ถึงจะเป็นศิลปะได้ ผมก็ทำในแบบของผมนั่นแหละนะ”

เมื่อได้ดูภาพวาดสีสันสดใส ฝีแปรงและเส้นสายอันรุนแรงฉับไว ดิบสด เปี่ยมพลังของเขา ทำให้เราอดนึกไปถึงผลงานของศิลปินชาวอเมริกันดาวรุ่งผู้ล่วงลับอย่าง ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) ไม่ได้

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราบอกว่าเขาก๊อบปี้งานของบาสเกียมาแต่อย่างใด

แต่เราหมายความว่า ผลงานของเขานั้นแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกอิสรเสรีและเต็มไปด้วยพลังแห่งวัยเยาว์เช่นเดียวกันกับงานของบาสเกียต่างหาก

ซึ่งอันที่จริงเต้เองก็มีพื้นเพคล้ายกับบาสเกียตรงที่เคยเป็นศิลปินสตรีตอาร์ตมาก่อนเหมือนกัน และบาสเกียเองก็เป็นศิลปินในดวงใจของเขาด้วยเหมือนกัน และเขาเองก็เคยศึกษางานของบาสเกียมาก่อนที่จะค้นหาเส้นทางของตัวเองเจอในที่สุด

นอกจากจะมีงานศิลปะหลากสื่อให้ดูกันให้เพลินตาเพลินใจแล้ว ในนิทรรศการยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้ผู้ชมเข้ามาร่วมเล่นอีกด้วย อย่างโต๊ะหมากรุกที่เห็นในห้องแสดงงาน ก็ไม่ได้ตั้งโชว์เอาไว้เฉยๆ หากแต่วางให้คนเข้ามานั่งเล่นกันได้จริงๆ แถมเขายังจัดการแข่งขันชิงรางวัลจากศิลปินกันเป็นเรื่องเป็นราวอีกด้วย

นอกจากนี้ในวันปิดงาน ยังมีการจัดแสดงดนตรีทดลอง โดยศิลปิน, นักประพันธ์เพลง และนักดนตรีแนวทดลองมากหน้าหลายตา อย่าง เจ วัฒนกุลจรัส, Kijjaz, Baby”s Breath, Silence O ฯลฯ มาร่วมเล่นดนตรีและสร้างเสียงประกอบผลงานในนิทรรศการกันสดๆ ในพื้นที่แสดงงาน ในวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาอีกด้วย

นิทรรศการ AFTERNOON PERSON SOUNDTRACK จัดแสดงที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ไปในวันที่ 28 เมษายน – 17 มิถุนายน 2018 น่าเสียดายที่กว่าบทความนี้จะตีพิมพ์นิทรรศการนี้ก็จบลงไปแล้ว

แต่ถ้ามีข่าวคราวเกี่ยวกับศิลปินผู้นี้อีกเมื่อไหร่ เราจะนำมารายงานให้ทราบกันอีกทีก็แล้วกันนะครับ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่