วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / ยุคคณะราษฎร : โมเดิร์นที่หายไป (1)

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

ยุคคณะราษฎร

: โมเดิร์นที่หายไป (1)

 

ความตื่นตัวใน “ศิลปะยุคคณะราษฎร” ซึ่งเกิดขึ้นเพราะถูกปิดกั้นมานานหลายสิบปี

อาจจะเริ่มก่อตัวตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และหลังการรัฐประหาร 2557

ศิลปะกลุ่มนี้ก็ยังถูกลบเลือนอีกหลายครั้ง เช่น ทุบตึกศาลอาญาที่สนามหลวง และย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่บางเขน จนคนรู้สึกได้ว่าจงใจ ผลจึงเป็นไปในด้านกลับ คือหันมาสนใจมากขึ้น

นอกจากนั้น ปัญหาการเลือกตั้งและการใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำให้บทบาทของประชาธิปไตยในสมัยแรกเป็นที่น่าติดตาม

คำพูดของฝ่ายไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เช่น “คนไทยพร้อมหรือยัง?” เหมือนไปตอกย้ำข้อหา “ชิงสุกก่อนห่าม” ที่คณะราษฎรเคยได้รับเมื่อ 86 ปีมาแล้ว

เฉพาะปีนี้ ใกล้กับ 24 มิถุนายน อันเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือวันยึดอำนาจของคณะราษฎร มีการจัดนิทรรศการและพูดคุยกันเรื่องนี้ไม่ต่ำกว่า 6 แห่ง

“ของ(คณะ)ราษฎร” หรือ Revolution Things เป็นนิทรรศการที่แสดงสิ่งของยุค 2475-2490 ผู้จัดคือกิตติมา จารีประสิทธิ์ และชาตรี ประกิตนนทการ

เสาะหาสิ่งของในชีวิตประจำวันของราษฎรสมัยนั้น เช่น โอ่งน้ำ โคมไฟ สิ่งพิมพ์ แผ่นเสียง กล่องใส่บุหรี่ ขวดน้ำ เครื่องถม และรูปปั้นนางฟ้า ฯลฯ มาแสดง

ซึ่งนอกจากจะงดงามในทางศิลปะ ยังน่าสนใจทั้งในแง่อุดมการณ์และสไตล์ ทั้งในระดับรัฐและสามัญชน

ที่สำคัญ แสดงว่าชีวิตและผลงานของคณะราษฎรได้กลับมาเป็น “อดีตที่ร่วมสมัย” ซึ่งหมายถึง ผู้จัดมีความหวังว่าผู้ดูจะได้กลับไปมองเห็นสปิริตของการปฏิวัติในสิ่งของที่แปดสิบปีและค้นพบเนื้อหาของการเปลี่ยนแปลงในสิ่งของเหล่านั้น

 

นับว่าตรงกับกระแสโลกทศวรรษ 1930 ซึ่งเป็นยุคเดียวกับคณะราษฎรกำลังกลับมา ความสนใจในภาวะเศรษฐกิจตกตํ่า การแย่งชิงทรัพยากร และการคุกรุ่นของสงครามกำลังเพิ่มขึ้น

หนังหลายเรื่องในรอบสองปีนี้ เช่น Darkest Hours, Dunkirk รวมทั้ง The Crown ซีรี่ส์อังกฤษ และ Charite ซีรี่ส์เยอรมัน จะบอกว่านี่เป็นยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงมาก แนวคิดใหม่ๆ เช่นชาตินิยมและลัทธิทหารกำลังครอบงำโลก ความขัดแย้งของอำนาจฝ่ายต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งในที่สุดก็จะระเบิดเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง

หนังสืออีกหลายเล่ม เช่น The Thirties : An Intimate History ของ Juliet Gardiner และ Grave New World ของ Stephen King พูดถึงเรื่องเดียวกันในหลายๆ มิติ

เมื่อปีที่แล้ว The Guardian หนังสือพิมพ์ชื่อดังของอังกฤษได้ทำซีรี่ส์บทความชุด The 1930s revisited โดยเชิญหลายคนมาพูดถึงสิ่งที่เกิดกับโลกยุคนั้น

เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและสงครามโลกครั้งที่สอง

บางคนพูดตามสูตรคือนับวันไปสู่สงครามโลกครั้งที่สองอันเป็นสงครามที่รุนแรงที่สุด

บางคนจะแตกต่างก็ตรงที่พูดถึงความผิดพลาดและบทเรียนมากขึ้น

บางคนเปรียบเทียบชีวิตและงานของวินสตัน เชอร์ชิลล์ กับจอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนฝ่ายอนุรักษนิยมและเสรีนิยม ที่เป็นคนร่วมชาติและร่วมสมัยเดียวกัน

บางคนบอกว่านี่เป็นยุคที่โปรประกันด้าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

โลกเต็มไปด้วยข่าวสารที่บิดเบือนของเยอรมนี รัสเซีย

และตามมาด้วยโฆษณาชวนเชื่อของอังกฤษและอเมริกา

ซึ่งถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้ก็คงต้องถูกเรียกว่า fake news หรือ alternative facts

บางคนบอกว่า เหมือนปัจจุบันตรงที่มหาอำนาจเดิมกำลังเสื่อม เช่น อังกฤษกำลังถดถอย ในขณะที่มหาอำนาจใหม่เช่นสหรัฐก็ยังไม่ขึ้นมาสักที และเพื่อป้องกันสงคราม ใครๆ กำลังเรียกหาองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ

ที่สำคัญ สถาบันกษัตริย์กำลังสั่นคลอนและการสละราชบัลลังก์ได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ ยิ่งทำให้สงครามและการเมืองระหว่างประเทศเข้มข้นขึ้น ใน The Crown และ Charite จะพูดถึงเรื่องนี้ไว้มาก

 

ในสังคมไทย โมเดิร์นเข้ามาพร้อมกับการปฏิวัติ 2475 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกฟ้าควํ่าแผ่นดิน ในแง่ที่สถาปนารัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาและล้มระบบเดิมลงไป

ยุคนี้มีหลายสิ่งเกิดขึ้นพร้อมกัน ชาตรี ประกิตนนทการ หนึ่งในผู้จัดนิทรรศการ สนใจด้านสถาปัตยกรรมและอนุสาวรีย์ ผู้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับศิลปะยุคคณะราษฎร เช่น “การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม” (มติชน 2554) มองคำนี้อย่างกว้างที่สุดคือ มีการลดทอนและระบบโมดูลาร์

โมเดิร์นจึงหมายถึงตึกคอนกรีตที่มีผิวหน้าที่เรียบเกลี้ยง ไม่ตกแต่ง และใช้เส้นตรงและโค้งมาก

นอกจากนั้น ชาตินิยมและการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของชาติซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลก ก็เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของสยาม และถูกสอดแทรกเข้าไปในการออกแบบสิ่งของจำนวนมาก

ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่ค้ำจุนโมเดิร์นคือชาตินิยม และเมื่อนโยบายกลายเป็นรัฐนิยม งานศิลปะแบบใหม่ก็จะแสดงออกมากขึ้น

เนื้อหาสำคัญคือสามัญชนและความเสมอภาค พูดอีกอย่าง โมเดิร์นต่อต้านระบบศักดินาหรือราชานิยม และเป็นสาเหตุหนึ่งที่มีการดัดแปลงองค์ประกอบให้เรียบง่าย ทั้งในสิ่งก่อสร้างและลวดลายของวังและวัด

 

ประเด็นของนิทรรศการคือ การมีส่วนร่วมของคนจากทั่วประเทศ ชาตรีพูดถึงการปฏิวัติครั้งนั้นว่า “ไม่ใช่เรื่องที่จำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคล หรือเป็นการแย่งชิงอำนาจในคนกลุ่มเล็กๆ”

การที่ข้าวของเหล่านี้แพร่กระจายไปมาก

แสดงให้เห็นว่าคนธรรมดามีสำนึกและตอบรับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วร่วมกันเฉลิมฉลองด้วยการผลิตสิ่งของเหล่านี้ขึ้นมา

ในแง่อุดมการณ์ สัญลักษณ์ที่จะถูกใช้อย่างมากทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดคือรูปพานรัฐธรรมนูญ และหลัก 6 ประการ คือ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา

และนอกจากแสดงสิ่งของที่ผลิตโดยรัฐและเอกชนแล้ว ยังมีที่ผลิตขึ้นเพื่อเป็นองค์ประกอบในศาสนสถาน

เช่น หน้าบันรูปเทวดาถือพานรัฐธรรมนูญ ฝ้าเพดานภายในโบสถ์ที่เป็นรูปพานรัฐธรรมนูญล้อมรอบด้วยดาว 6 ดวง พนักพิงธรรมาสน์ที่มีรูปพานรัฐธรรมนูญ

 

ในขณะเดียวกันสิ่งพิมพ์และโฆษณาจำนวนมากได้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้เขียนได้เคยพูดถึง 2475 ไปแล้วหลายครั้งว่าเป็นยุคกำเนิดของกรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มมีป้ายบอกทางและชื่อร้านค้าตามถนนต่างๆ ในฐานะเมืองใหม่ และยุคกำเนิดของหนังสือพิมพ์ นิตยสาร นิยาย ซึ่งได้แก่ ประชาชาติ ไทยใหม่ และนิยายสิบสตางค์ ในฐานะสื่อใหม่

รวมทั้งตัวพิมพ์แบบต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นอัตลักษณ์แห่งยุคโมเดิร์นของไทย