คุยกับทูต ‘ฟรานซิสกู วาช ปาตตู’ 500ปีแห่งมิตรภาพไทย-โปรตุเกส และเรื่องราวของ ‘อูคูเลเล่’

คุยกับทูต ฟรานซิสกู วาช ปาตตู ฉลอง 500 ปีสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าไทย-โปรตุเกส (จบ)

ดังที่ได้กล่าวมาตอนต้น โปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยและความสัมพันธ์ก็เจริญงอกงามอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วงตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตามลำดับ

การลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและการค้า (Pact of Friendship and Trade) ระหว่างสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา และราชทูตดูอาร์ตึ โกแอลยู (Duarte Coelho) ของกษัตริย์ (HM. D. Manuel) แห่งราชอาณาจักรโปรตุเกส ในปี ค.ศ.1518 นับเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่ไทยหรือสยามในยุคนั้นทำกับประเทศตะวันตก

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศจึงดำเนินมาบรรจบครบ 500 ปีในปีนี้พอดี

การเยือนไทยของนายเปโดร ซีซา วีไอรา (H.E. Mr. Pedro Siza Vieira) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองวันชาติสาธารณรัฐโปรตุเกส และครบ 500 ปีสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าไทย-โปรตุเกสฉบับแรก

จึงนับเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในหลายรอบปีของโปรตุเกส

นายเปโดร ซีซา วีไอ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส

นายเปโดร ซีซา วีไอรา กล่าวว่า

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติโปรตุเกส วันชาติของเราเป็นการระลึกถึงกวีผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโปรตุเกสคือ ลูอิช ดึ กามอยช์ (Luís de Camões) ซึ่งเดินทางมาทั่วเอเชีย รวมทั้งสยามประเทศในศตวรรษที่สิบหก บทกวีของกามอยช์ได้กล่าวถึงความงดงามของแผ่นดินสยาม และการติดต่อระหว่างคนโปรตุเกสและชุมชนคนเอเชีย”

นายเปโดร ซีซา วีไอ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐโปรตุเกส

“เช่นเดียวกับกามอยช์ คนโปรตุเกสหลายล้านคนได้จัดตั้งชุมชนไปทั่วโลก จากแคนาดาไปยังออสเตรเลีย จากเยอรมนีไปยังแอฟริกาใต้ จากสหรัฐอเมริกาไปยังบราซิล จากเวเนซุเอลาไปยังฝรั่งเศส ชาวโปรตุเกสนำอูคูเลเล่ (ukulele) ไปยังฮาวาย นำเทมปุระไปยังประเทศญี่ปุ่น นำชาไปอังกฤษ นำพิริ-พิริ (Piri Piri) คือพริกของชาวโปรตุเกสไปยังประเทศอินเดีย นำน้ำตาลไปยังยุโรป และนำฝอยทองมายังประเทศไทย”

อูคูเลเล่ (ukulele) แปลว่า ของขวัญที่ได้มา (จากชาวโปรตุเกส) เป็นเครื่องดนตรีที่มีขนาดเล็กสามารถพกพาได้สะดวก ที่นักดนตรีโปรตุเกสคนหนึ่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังชายฝั่งของฮาวาย และหอบเอาเครื่องดนตรีจิ๋วที่เรียกว่า Cavaquinho มาด้วย จนสร้างความสนใจให้ชาวพื้นเมืองฮาวายเป็นอย่างมากในสมัยนั้น

ต่อมามีการดัดแปลงเครื่องดนตรีจากโปรตุเกสดังกล่าวให้กลายเป็นอูคูเลเล่ และถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในหมู่เกาะฮาวายและทั่วโลก

“ดังนั้น ในงานวันชาติของเรา เราจึงให้เกียรติชุมชนดังกล่าวที่เสียสละและทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศโปรตุเกส และนำผลงานของชาวโปรตุเกสไปเผยแพร่ในประเทศที่พวกเขาได้ไปตั้งถิ่นฐานด้วย”

รัฐบาลโปรตุเกสถือเอาวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1580 เป็นวันชาติโปรตุเกส ซึ่งลูอิช ดึ กามอยช์ (Luís de Camões) กวีเอกชาวโปรตุเกสสมัยศตวรรษที่ 16 ได้ถึงแก่อนิจกรรม ดังนั้น วันที่ 10 มิถุนายนของทุกปีจึงเป็นทั้งวันของกามอยช์ (Dia de Camões) วันชาติโปรตุเกส (Dia de Portugal) และวันแห่งประชาคมโปรตุเกส (das Comunidades Portuguesas)

“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งให้เกียรติมาร่วมงานฉลองวันชาติโปรตุเกสและครบรอบ 500 ปีการจัดทำสนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างไทยกับโปรตุเกส ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย ซึ่งทำเนียบเป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2”

“รัฐบาลของเราเชื่อว่า ความไว้วางใจและการเป็นหุ้นส่วนที่ได้พัฒนาขึ้นระหว่างโปรตุเกสและไทยตลอดห้าศตวรรษที่ผ่านมานี้ เป็นรากฐานอันดีเยี่ยมในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนของเรา ประเทศของเราทั้งสองต่างส่งเสริมกันและกันทางเศรษฐกิจและแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพื่อการลงทุนและการส่งออก เราจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการลงทุนของไทยเพิ่มขึ้นในโปรตุเกส และหวังว่าจะมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป เช่นเดียวกับคนโปรตุเกสในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน”

“ผมได้พบกับ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ไปสนทนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์ต่อกันหลายเรื่องที่สำนักงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Federation of Thai Industries) สำนักงานคณะกรรมการการลงทุน (Board of Investment) และสำนักงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)”

เยี่ยมเยือนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

“อนึ่ง เมื่อปี ค.ศ.2017 เราได้เปิดหน่วยงานด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของโปรตุเกส (AICEP – Trade and Investment Agency) ขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมและสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน และยังได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ”

“ผมมองว่าความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนของเราจะเติบโตต่อไป จากประวัติศาสตร์อันลึกซึ้งระหว่างประเทศของเราทั้งสอง ที่ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างประชาชนและประเทศของเรา”

เยี่ยมเยือนสำนักงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

นายเปโดร ซีซา วีไอรา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโปรตุเกส กล่าวต่อว่า

“บริษัททางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโปรตุเกสหลายบริษัทเดินทางมายังประเทศไทยเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อประชุมธุรกิจซึ่งจัดโดย EU Business Avenues ในโครงการ South East Asia Programme และ Portugal”s Advertation รวมทั้งสนับสนุนการเจรจาเรื่องข้อตกลงการค้าเสรี และการปรับปรุงกลยุทธ์ในความร่วมมือระหว่างไทยและโปรตุเกสในด้านต่างๆ”

“เช่น ธุรกิจที่ออกแบบมาให้เติบโตอย่างรวดเร็ว (startup), ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน, ระบบและบริการ, การให้บริการของภาครัฐผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (E -Government), การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (Cyber Security), เมืองอัจฉริยะ (smart cities) และการค้าขายออนไลน์หรือทำการค้าออนไลน์ ( E-commerce)”

ด้วยเหตุที่บริษัทของโปรตุเกสไม่ได้กังวลเกี่ยวกับขีดจำกัดด้านความเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติในประเทศไทย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ที่สนใจในการลงทุนเพื่อเป็นหุ้นส่วนมากกว่า

แต่เน้นความจำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอาหารทะเลและการท่องเที่ยวอันเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องร่วมมือทันที

รวมทั้งการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตอล และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการทำงานร่วมกันในอนาคต จึงอาจทำให้ชาวโปรตุเกสแตกต่างจากนักลงทุนรายอื่นๆ

ส่วนเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย นายฟรานซิสกู วาช ปาตตู ก็ได้สรุปว่า

“เป็นที่น่ายินดีอย่างมากที่ได้เห็นการเพิ่มจำนวนบริษัทจากประเทศไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศโปรตุเกส ได้แก่ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), ซิกเซ้นส์ และอินโดรามา”

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโปรตุเกสและไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกด้าน ทั้งวัฒนธรรม การเมือง และโดยเฉพาะเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศของเราทั้งสองเติบโตขึ้นกว่า 10% ในปีที่แล้ว”

“เกือบ 1,000 ปีแห่งการดำรงเป็นรัฐชาติโปรตุเกส และใน 507 ปีโปรตุเกสได้แบ่งปันความสัมพันธ์กับประเทศไทย ประวัติศาสตร์ของเราตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้ เราได้ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาบนพื้นฐานของมิตรไมตรี การเจรจาตกลง และความผูกพันที่ลึกซึ้งระหว่างกัน”

“ขอแสดงความยินดีกับประเทศของเราทั้งสองในการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 500 ปีแห่งสนธิสัญญามิตรภาพและการค้าที่สุดพิเศษนี้… Congratulations/ Parab?ns!”