จิตต์สุภา ฉิน : เอไอ ทำนายวันตาย

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

“ความตาย” แค่ได้ยินหรือได้อ่านก็ชวนทำให้รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยวไปหมด เรารู้ดีว่าทุกคนล้วนต้องตาย แต่ก็ไม่ทันได้คิดกันหรอกว่า แล้วตัวเราเองล่ะ เวลาของเราจะมาถึงเมื่อไหร่

หรือหากเราสามารถล่วงรู้ได้ว่าวันหมดอายุบนโลกใบนี้ของเราคือวันไหน เราจะอยากรู้หรือเปล่า

ปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเพราะศักยภาพอันน่าเกรงขามของมันดูจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว รื้อโครงสร้าง ขุดรากถอนโคนของทุกวงการไปหมด ไม่เว้นแม้แต่วงการการแพทย์

ซึ่งนับจากนี้ไปปัญญาประดิษฐ์นี่แหละที่จะเป็นผู้ทำนายวันตายของเรา

 

การหยิบเอาปัญญาประดิษฐ์มาอยู่ในประโยคเดียวกันกับคำว่า “วันตาย” ฟังดูไม่น่าจะเป็นเรื่องดีสักเท่าไหร่ และทำให้นึกถึงภาพยนตร์ไซไฟที่เคยดูมาทั้งหลาย แต่อันที่จริงแล้วการที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถทำนายวันตายของเราได้นั้นอาจเป็นข่าวดีที่จะช่วยชีวิตเราได้เช่นเดียวกันค่ะ

กูเกิลได้พัฒนาอัลกอริธึ่มปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถทำนายว่าผู้ป่วยจะตายเมื่อไหร่ โดยมีความแม่นยำสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าความแม่นยำ 83 เปอร์เซ็นต์จากการใช้โมเดลการทำนายแบบเดิมที่มีชื่อว่า เออร์ลี่ วอร์นิ่ง สกอร์ (Early Warning Score)

ตัวเลข 95 เปอร์เซ็นต์นี้มาจากการทำวิจัยด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิลกับข้อมูลจำนวนมหาศาลที่รวบรวมมาจากผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่กว่า 216,000 คน ซึ่งได้รับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

โดยข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ ประกอบไปด้วยอายุของผู้ป่วย เชื้อชาติ เพศ ผนวกรวมเข้ากับสาเหตุที่เข้ารับการรักษาตัว ผลการวินิจฉัยครั้งก่อน สัญญาณชีพปัจจุบัน และผลจากห้องทดลองต่างๆ

สิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์สามารถทำนายออกมาได้คือ ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต ความเสี่ยงที่จะกลับมารักษาตัวในโรงพยาบาลอีกครั้ง ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยอาจจะต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าที่คาด และการวินิจฉัยอาการผู้ป่วย

ก็อย่างที่ได้บอกไว้เลยค่ะ ปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิลสามารถทำนายออกมาได้อย่างแม่นยำมากทีเดียว

 

ในรายงานผลการวิจัย ทีมนักวิจัยได้บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่เข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย คอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลทำนายความน่าจะเป็นที่ผู้ป่วยหญิงคนนี้จะเสียชีวิตในระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลเอาไว้ที่ 9.3%

ในขณะที่เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ของกูเกิลทำนายไว้ที่ 19.9 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นไม่กี่วันผู้ป่วยคนนี้ก็เสียชีวิตลง

ความเก่งของปัญญาประดิษฐ์นี้มาจากการที่กูเกิลสามารถนำข้อมูลจำนวนมหาศาลในวงการการแพทย์มารวมกันและใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ถูกเก็บไว้เฉยๆ มีทั้งข้อมูลในรูปแบบลายมือเขียน (ลองนึกภาพลายมือหมอที่ผู้ป่วยไม่เคยเข้าใจว่าพยาบาลอ่านรู้เรื่องได้ยังไง) และข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บแยกออกจาdกันโดยเด็ดขาด ทำให้บ่อยครั้งผลจากการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลหนึ่ง ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วยในอีกโรงพยาบาลหนึ่ง เพราะข้อมูลไม่ถูกเชื่อมเข้าหากันนั่นเอง

แน่นอนว่าคำถามที่จะต้องเกิดขึ้นคือ การที่ปัญญาประดิษฐ์ทำนายเวลาตายได้ หรือทำนายได้ว่าผู้ป่วยจะต้องกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้งหรือเปล่า จะมีประโยชน์อะไรบ้าง ซู่ชิงพยายามจะหาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง แต่ยังไม่มีที่ไหนที่ระบุว่าหมอสามารถนำข้อมูลไปทำอะไรได้บ้างอย่างละเอียด บอกแต่เพียงว่าหมอผู้รักษาสามารถนำข้อมูลการคาดการณ์เหล่านี้ไปใช้ในการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น เพราะหมอจะมีข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้น

อันนี้คุณผู้อ่านที่เป็นหมอน่าจะมีไอเดียเรื่องนี้ชัดเจนกว่าซู่ชิงค่ะ

 

อีกคำถามที่จะตามมาคือ การที่หมอรู้ว่าผู้ป่วยที่โรงพยาบาลเพิ่งจะรับเข้ามามีโอกาสรอดน้อยนิด หรืออาจจะมีชีวิตอยู่ต่อได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมงด้วยซ้ำ จะทำให้ไม่สนใจรักษาผู้ป่วยและเลือกเอาเวลาไปอยู่กับคนที่มีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าหรือเปล่า

แม้ในทางสถิติแล้วนี่จะเป็นตัวเลือกที่ดูสมเหตุสมผล แต่ในทางปฏิบัติก็จะดูโหดร้ายและไม่เหลือพื้นที่ให้ความน่าจะเป็นที่ปัญญาประดิษฐ์อาจจะทำนายผิดพลาดเลย

คุณหมอท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ในรายการทางช่องฟ็อกซ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ถ้าหากปัญญาประดิษฐ์ให้ตัวเลขว่าคนไข้มีโอกาสรอดไม่สูงนัก สิ่งที่หมอผู้รักษาจะต้องทำคือหาสาเหตุว่าทำไมจึงได้เป็นตัวเลขนี้ออกมา หมอจะต้องตรวจสอบการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ทุกครั้ง เนื่องจากจักรกลก็สามารถทำผิดพลาดได้

และบ่อยครั้งความผิดพลาดนั้นมาจากข้อมูลที่ผิดตั้งแต่ต้น จึงจำเป็นต้องมีมนุษย์ตรวจทานอีกรอบหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้สามารถสรุปได้ด้วยว่าอาชีพหมอจะไม่ถูกทดแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์ในเร็วๆ นี้แน่นอน เพราะการรักษาคนไข้เป็นทั้งวิทย์ทั้งศิลป์ไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ คุณหมอท่านนี้ก็ยังขยายความเพิ่มเติมว่า ตัวเขาเองคิดว่าหมอจะสามารถใช้ประโยชน์จากการคาดการณ์ของปัญญาประดิษฐ์ได้ ในกรณีอย่างเช่น ใช้ในการตัดสินใจว่าจะให้ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลซึ่งผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อและทำให้อาการแย่ลง หรือจะส่งกลับไปรักษาตัวที่บ้านซึ่งสามารถกินยาเองได้แบบเดียวกับการรักษาในโรงพยาบาล

เมื่อตัดสินใจได้ถูกต้องก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยนั่นเอง

 

คําถามสุดท้ายแต่คงไม่ใช่คำถามท้ายสุดเกี่ยวกับประเด็นนี้ ถ้าหากต่อไปจะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการคาดการณ์สถานของผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ แล้วใครเป็นเจ้าของข้อมูลที่ปัญญาประดิษฐ์ทำนายออกมา

ข้อมูลที่นำมาใช้เป็นข้อมูลที่ได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่

เจ้าของข้อมูลรู้หรือไม่ว่าข้อมูลของตัวเองถูกบริษัทหยิบมาใช้

ข้อมูลผู้ป่วยมีความปลอดภัยแค่ไหน ฯลฯ

ความอ่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็พิสูจน์มาให้เห็นในหลายกรณีแล้วว่านี่เป็นประเด็นที่มิควรละเลยเพราะอาจนำไปสู่เรื่องใหญ่ได้ในที่สุด

ในตอนนี้เราในฐานะคนทั่วไปที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการแพทย์

ก็ได้แต่หวังว่าบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีจะมุ่งมั่นในการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในมือให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากกว่าผลกำไรของบริษัท

ส่วนใครที่ชอบเล่นควิซทำนายวันตายบนเฟซบุ๊กทั้งหลาย ต่อไปจะมีตัวช่วยทำนายที่แม่นเป๊ะๆ ให้ได้ขนลุกเกรียวกันแล้วละค่ะ