พระธาตุเจ้าดอยตุงเปลี่ยนไป ผ่าตัดเปลือกนอกให้เห็นเนื้อใน!

เพ็ญสุภา สุขคตะ

จากคอลัมน์ “ปริศนาโบราณคดี” ในนิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์” ตอนที่ ๓๒ เดือนพฤษภาคมปี ๒๕๕๔

เชื่อว่าใครที่ได้มีโอกาสไปเห็นพระธาตุเจ้าดอยตุงที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในช่วง ๗-๘ ปีที่ผ่านมานี้ คงรู้สึกประหลาดใจไม่น้อย ที่จู่ๆ รูปโฉมของพระธาตุเจ้าดอยตุงทั้งสององค์ก็เปลี่ยนไปจากเดิม

คนที่เพิ่งมาเป็นครั้งแรกอาจไม่รู้สึกอะไร เพราะไม่มีภาพความทรงจำเก่าให้เปรียบเทียบ แต่แฟนพันธุ์แท้ที่เคยไปหลายหนย่อมนึกโมโหโกรธากรมศิลปากรอยู่ตะหงิดๆ

ก็ไหนอ้างตัวว่าเป็นต้นตำรับของนักอนุรักษ์ที่เชื่อถือได้มากที่สุดในแผ่นดินนี้ แล้วไยอุกอาจมาบูรณะพระธาตุดอยตุงด้วยรูปแบบใหม่เสียจนผิดเพี้ยน เปลี่ยนจากเดิมไปเป็นคนละองค์เลย หากสถาบันที่เป็นเสาหลักด้านศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทยไร้จุดยืน นึกจะทำอะไรก็ทำ ถ้าเช่นนั้นเมื่อชาวบ้าน-พระสงฆ์เขารื้อวิหารหรือซ่อมเจดีย์ใหม่ครอบทับของเก่า กรมศิลป์จะเอาเครดิตจากไหนไปต่อว่าต่อขานใครได้

ช้าก่อนขอได้โปรดสดับตรับฟัง ก่อนที่เลือดจะพุ่งขึ้นหน้ามากไปกว่านี้ ปริศนาของรูปลักษณ์พระธาตุเจ้าดอยตุงที่แปลกเปลี่ยน เรื่องนี้มีที่มาที่ไป…

พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง เจดีย์องค์แรกของล้านนา?

พระธาตุเจ้าดอยตุงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง” อันคำว่า “ตุง” ก็คือคำเดียวกันกับ “ธุง” หรือ “ธง” เนื่องจากเมื่อแรกสร้างได้มีการปักธงผืนใหญ่ไว้บนยอดดอยคู่กับเจดีย์

ปัญหาที่ชวนให้ขบคิดก็คือว่าพระธาตุเจ้าดอยตุงเป็นพระสถูปที่เก่าแก่ที่สุดบนแผ่นดินล้านนาจริงหรือ?

ก่อนหน้านั้นหลายคนเคยเชื่อว่าพระธาตุหริภุญไชยที่ลำพูน คือพระเจดีย์องค์แรกในภาคเหนือ เนื่องจากสร้างตั้งแต่ยุคหริภุญไชยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์อื่นๆ นั้นล้วนแล้วแต่สร้างตามมาภายหลังในสมัยล้านนาไม่เกิน ๗๐๐ ปีทั้งสิ้น ไม่ว่าพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุจอมทอง พระธาตุช่อแฮ และคงรวมไปถึงพระธาตุเจ้าดอยตุงด้วยกระมัง

แต่ครั้นเมื่อไปพลิกตำนานสิงหนวัติ กลับพบว่ากรณีของพระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุงนั้นมีอายุเก่าแก่กว่าพระธาตุหริภุญไชยอย่างน่าพิศวง ไม่ใช่ตัวเลขที่สูสี แต่อายุห่างกันลิบลับนับเป็นพันปีเลยทีเดียว

ตำนานพระธาตุเจ้าดอยตุงเล่าว่า เมื่อพุทธศักราช ๕๖๑ ในสมัยพระญาอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (สันนิษฐานว่าเมืองนี้อยู่แถวอำเภอแม่จัน ปัจจุบันเป็นเวียงหนองล่มจมหายไปภายใต้บึงน้ำขนาดใหญ่) พระมหากัสสปะเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ถวายมอบให้พระญาอชุตราช และเลือกหาสถานที่มงคลอันสมควรเพื่อสร้างมหาสถูป ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสพยากรณ์ไว้ ณ ดอยดินแดง

หรือดอยสามเส้า อันมีลักษณะเป็นดอย ๓ ลูกเรียงกันตั้งแต่ใต้ไปทางทิศเหนือ ดอยลูกแรกนั้นคือ “ดอยปู่เจ้า” (ดอยตุง) ถัดไปเป็น “ดอยย่าเจ้า” และ “ดอยทา” อยู่เหนือสุด ถิ่นฐานนี้เป็นของชนเผ่าลัวะ โดยมีปู่เจ้าลาวจกเป็นหัวหน้า

เมื่อพระญาอชุตราชทรงรับมอบพระบรมสารีริกธาตุแล้ว พระมหากัสสปะก็อธิษฐานคันตุง (ธง) ยาว ๑ โยชน์ กับผืนตุงที่ทอด้วยผ้ายาว ๗๐๐๐ วา กว้าง ๕๐๐๐ วา กางบูชาพระธาตุเจ้า ณ ทิศตะวันออกทางขวา และเมื่อผืนตุงปลิวไปถึงจุดใด ให้กำหนดหมายเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น ครั้นคนทั้งหลายเห็นตุงทิพย์โบกสะบัดจึงพากันเรียกว่าพระธาตุเจ้าดอยตุง

ปริศนามีอยู่ว่า ใครคือพระญาอชุตราช มีตัวตนจริงหรือไม่ พระมหากัสสปะองค์ไหนเสด็จมา แคว้นโยนกนาคพันธุ์มีอยู่จริง​ หรือเป็นเพียงเรื่องเล่าในตำนาน นำไปสู่คำถามสุดท้ายที่ต้องครุ่นคิดกันอย่างหนักว่า ยังมีแคว้นใดในภาคเหนือที่มีอายุเก่าแก่เกินกว่าอาณาจักรหริภุญไชยของพระนางจามเทวีอีกล่ะหรือ

คำถามร้อยแปดพันเก้านี้ ยังไม่มีคำตอบ เหตุเพราะตำนานทิ้งนัยไว้แต่เพียงว่าแคว้นโยนกนาคพันธุ์นี้ ได้ถล่มจมหายไปในหนองน้ำเหตุเพราะแม่ม่าย-ปลาไหลเผือกเสียแล้ว ดูจากศักราชก็รู้ว่าเนิ่นนานเพียงใด

เหตุฉะนี้เมื่อมีใครถามว่าพระธาตุเจดีย์องค์ที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนาคือองค์ไหนกันแน่ ระหว่างพระธาตุหริภุญไชยกับพระธาตุเจ้าดอยตุง ก็คงยากที่จะตอบ เพราะองค์หนึ่งปรากฏอยู่จริงอย่างเป็นรูปธรรม แต่อีกองค์เป็นการกล่าวอ้างไว้ในตำนาน

พระธาตุเจ้าดอยตุง บนเส้นทางการบูรณะและปรับเปลี่ยนโฉม

คงเป็นการยากเกินจะคาดเดาได้ว่า รูปแบบดั้งเดิมสุดของพระธาตุเจ้าดอยตุง ในยุคที่สร้างโดยพระญาอชุตราชแห่งราชวงศ์สิงหนวัตินั้น มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เพราะหากสถูปองค์นี้มีอยู่จริงตามตำนาน ก็ย่อมมีอายุเก่าแก่เกือบสองพันปี แล้วจะมีร่องรอยอะไรเหลือให้เห็น

อย่าว่าแต่จะให้สันนิษฐานรูปทรงดึกดำบรรพ์ของพระธาตุเจ้าดอยตุงยุคสิงหนวัติ ซึ่งไม่เคยมีใครรู้ว่าศิลปกรรมแห่งแคว้นโยนกนาคพันธุ์นั้นมีลักษณะอย่างไรเลย เอาแค่ยุคสมัยที่ตำนานระบุไว้ชัดว่าพระญากือนากษัตริย์เชียงใหม่แห่งราชวงศ์มังรายได้ทำการฟื้นฟูพระธาตุเจ้าดอยตุงขึ้นมาใหม่ราว พ.ศ. ๑๙๒๐ นั้นก็ยังยากที่จะจินตนาการรูปแบบได้

เหตุเพราะกษัตริย์ล้านนาอีกหลายพระองค์ได้มาบูรณะพระธาตุเจ้าดอยตุงอย่างต่อเนื่อง นับแต่พระญาแสนเมืองมา พระเมืองแก้ว จนกระทั่งพระเมืองเกษเกล้า แต่ละองค์เสริมนู่นนิด ขยายนี่หน่อยจนมาสำเร็จในยุคพระเมืองเกษเกล้า ที่ได้ฝากผลงานรูปโฉมของพระธาตุเจ้าดอยตุงองค์ที่เราเห็นในปัจจุบัน

รูปแบบดังกล่าวนี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยม ศิลปกรรมล้านนาตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งนิยมปรับมุมขององค์ระฆังจากทรงกลมให้กลายเป็นหลายเหลี่ยม ตั้งแต่แปดเหลี่ยมไปจนถึงสิบสองเหลี่ยม เช่น พระธาตุดอยสุเทพก็มีมุมมากถึงสิบสองเหลี่ยม

สำหรับส่วนยอดนั้น อาจได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์แบบพม่า ประกอบด้วยบัลลังก์แปดเหลี่ยม ก้านฉัตร ปล้องไฉน ปลีทรงกรวยยาว

ต่อจากนั้นมา ก็ได้มีการบูรณะพระธาตุเจ้าดอยตุงอีกหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย ราวปี พ.ศ.๒๔๗๐ แต่ยังคงมีรูปแบบใกล้เคียงกับของโบราณ เพียงแต่ใช้ปูนโบกครอบทับหุ้มองค์เดิมไว้ภายใน

กระทั่งการบูรณะครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ กระทรวงมหาดไทยได้มาสร้างเจดีย์ทรงปราสาทยอดครอบทับพระธาตุองค์เดิม ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมกระทรวงมหาดไทยจึงเข้ามาก้าวก่ายงานของกรมศิลปากรได้ในยุคนั้น?

กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ อาจารย์จิตร บัวบุศย์ นามเดิมประกิต บัวบุศย์ ศิลปินใหญ่ผู้บุกเบิกโรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้ออกแบบ ถือเป็นการปฏิสังขรณ์พระธาตุเจ้าดอยตุงครั้งสำคัญยิ่ง เพราะได้มีการเปลี่ยนรูปแบบจากเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมมาเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด รูปทรงที่สะท้อนให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐสยามที่ใช้กดข่มท้องถิ่น ช่วงปลายกระแสรัฐราชาชาตินิยมที่กำลังแผ่วโรยก่อนที่จะผลิบานสะพรั่งอีกครั้งในปี ๒๕๑๙

อาจารย์จิตร บัวบุศย์ นำรูปแบบเจดีย์ทรงปราสาทยอดนี้มาจากไหน เป็นการผสมผสานกันระหว่างรัตนโกสินทร์กับล้านนา กล่าวคือนำเจดีย์สี่เหลี่ยมประดับซุ้มจระนำสี่ทิศตามอย่างกลุ่มเจดีย์ที่เมืองเชียงแสน เช่นวัดป่าสักมาใช้เป็นส่วนฐาน แต่รายละเอียดของส่วนยอดที่มีปล้องไฉนซ้อนสามชั้น กับปลียอดประกอบฉัตรตอนบนนั้น ทำตามรูปแบบรัตนโกสินทร์

การบูรณะครั้งนั้นใช้วัสดุสมัยใหม่ที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำเป็นชิ้นส่วนสำเร็จรูป ภายนอกประดับด้วยกระเบื้องโมเสก แล้วนำไปประกอบสวมทับพระธาตุองค์เดิม โชคดีที่การครอบครั้งนั้นยังคงรักษาสภาพพระเจดีย์องค์เดิมไว้ภายใน

ให้ประชาชนตัดสินใจ เลือกรูปแบบไหน “ใหม่” – “เก่า”

เมื่อกรมศิลปากรมีดำริจะบูรณะพระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุงราวปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้เปิดเวทีถามใจประชาชนชาวเชียงรายว่าต้องการให้บูรณะอย่างไร ระหว่างรูปแบบเดิมสมัยพระเมืองเกษเกล้า หรือจะเอารูปแบบใหม่ของกระทรวงมหาดไทยที่ให้อาจารย์จิตร บัวบุศย์ออกแบบ

กล่าวอีกนัยหนึ่งชัดๆ ก็คือให้ชาวเชียงรายตัดสินใจเอาเองระหว่าง “เจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยม” กับ “เจดีย์ทรงปราสาทยอด” หรือแท้ที่จริงแล้วหากถามกันแบบเปิดใจให้ถึงแก่นก็คือ ขอให้เลือกว่าจะเอาจิตวิญญาณแบบใด “ล้านนา” หรือ “รัตนโกสินทร์” ?

คำตอบที่ได้รับอย่างเป็นเอกฉันท์ของการทำประชามติชาวเชียงรายในวันนั้นคือ ขอรูปแบบดั้งเดิมที่เป็นอัตลักษณ์ของล้านนาที่เคยถูกครอบทับในยุคเผด็จการแบบมัดมือชกไม่เคยถามชาวบ้าน กลับคืนมา

นำมาซึ่งการใช้เลื่อยไฟฟ้ารื้อถอนคอนกรีตประดับโมเสกออกเป็นชิ้นๆ โดยไม่กระทบกระเทือนกับองค์ใน พลันภาพเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยมปรากฏขึ้นมาแทนที่ จากนั้นทำการปฏิสังขรณ์เสริมความแข็งแรงตั้งแต่ส่วนฐานจรดยอด ขั้นสุดท้ายได้นำแผ่นทองจังโกอันสุกปลั่งมาปิดหุ้มโดยรอบองค์เจดีย์ตามความนิยมของศิลปกรรมล้านนา

กรณีศึกษาระหว่างเปลือกนอกกับเนื้อใน

ต้องขอปรบมือดังๆ ให้ชาวเชียงรายในกรณีทีี่ยินยอมให้บูรณะพระธาตุเจ้าดอยตุงด้วยรูปแบบเก่า ทั้งๆ ที่คนรุ่นหลังปี ๒๕๑๖ ไม่เคยเห็นเจดีย์องค์เดิมมาก่อนในชีวิต นับว่ามีความอาจหาญและใจถึงยิ่ง กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ยินดีลบภาพพระธาตุองค์สูงใหญ่ตระหง่านที่คุ้นตามานานกว่าห้าทศวรรษให้เหลือขนาดเล็กลงเกือบเท่าตัวโดยไม่ได้สนใจในเรื่องความอลังการของสัดส่วน

มาย้อนดูกรณีศึกษาเรื่องราวทำนองเดียวกันนี้กับชุมชนอื่นๆ อีกหลายแห่งในภาคเหนือ ทุกครั้งที่มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์ ไม่ว่าจากพายุถล่มแผ่นดินทลาย หรือเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ก่อนจะบูรณะกรมศิลป์มักถามความสมัครใจของชุมชนว่าอยากได้องค์ที่อยู่ด้านในซึ่งเป็นศิลปกรรมโบราณกลับคืนมาไหม อุตส่าห์ลงทุนร่างแบบสเก็ตช์ให้ดู แต่แล้วแทบไม่มีชุมชนไหนกล้าเสี่ยง มันเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจินตนาการหรือเช่นไร คนเฒ่าคนแก่บอกว่าอย่าเปลี่ยนเลย ใจหาย เพราะตั้งแต่เกิดมาก็เคยเห็นแต่รูปแบบนี้เท่านั้น

การที่คนในอดีตนิยมครอบเจดีย์องค์ใหม่สวมทับองค์เดิมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด เหตุเพราะไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเปลือกนอกที่มองเห็นด้วยตาเนื้อเท่ากับแก่นแท้ของพระธรรมหรือตัวองค์พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ภายในผอบ เมื่อเห็นว่าพระเจดีย์ทรุดโทรมก็มีย่อมเอาปูนพอกทับเป็นธรรมดา บ้างก็สร้างองค์ใหม่ครอบบนพื้นฐานของความศรัทธา

นี่คือความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ระหว่างการที่ชาวบ้านมองสถูปวิหารเป็น “ปูชนียสถาน” แต่กรมศิลป์กลับมองเป็น “โบราณสถาน”

คำว่า “อนุรักษ์” ตามความหมายแบบ Conservation นี้เป็นคำใหม่ที่ชาวตะวันตกโดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส นำมาสถาปนาในอินโดจีน ชาวสยามเพิ่งรู้จักกันในช่วงไม่เกิน ๑๐๐ ปีมานี้เอง เทียบเท่ากับอายุของกรมศิลปากรที่เพิ่งครบรอบ ๑๐๐ ปีพอดี ก่อนหน้านั้นประเทศแถบอุษาคเนย์ทั้งหมดไม่เคยให้ความสำคัญต่อเปลือกนอก เพราะไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีคุณค่าอย่างไรต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะของแต่ละยุคสมัย

เห็นได้จากชาวพม่าทุกวันนี้ยังคงเอาน้ำปูนขาวลูบไล้โบกทับพระเจดีย์ให้ดูใหม่เอี่ยมอ่องอยู่เสมอ โดยไม่รู้ว่านั่นคือการทำลายหลักฐานทางโบราณคดีอย่างยับเยิน

ด้วยเหตุนี้ ในยุคก่อนที่จะมีกระแสอนุรักษ์โบราณสถานตามความหมายของ Conservation นั้น คงต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลยทั้งหมด กรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่งคือ

กรณีของครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อท่านจาริกธุดงค์ไปพบเห็นสถูปวิหารที่ไหนใกล้จะพังทลาย ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ ท่านก็อนุรักษ์ไปตามกำลังในยุคที่ยังไม่มีกรมศิลป์ให้ปรึกษา

มุมหนึ่งในแง่พระศาสนา ท่านคือนักอนุรักษ์ผู้เสียสละ แต่เมื่อมองจากอีกมุม ท่านเองก็อาจมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ไม่น้อย

แต่ดังที่ได้บอกแล้วว่า กระบวนการอนุรักษ์แบบครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นมีมาก่อนกระบวนการอนุรักษ์แบบตะวันตก เราคงต้องมองข้ามและยกไว้เหนือข้อวิจารณ์

ว่าแต่ว่าคนในยุคสมัยของเราหลังจากที่มีกรมศิลปากรเกิดขึ้นแล้วตั้ง ๑๐๐ ปีนี่สิ ไยจึงไม่ตีความคำว่า “อนุรักษ์” กันให้ถูกต้องตามหลักสากล

เจดีย์บางแห่งที่ฟ้า(อุตส่าห์) ผ่าฟาดให้เห็นเนื้อในรูปทรงเดิมสมัย ๕๐๐ ปีก่อน ซึ่งถูกครอบทับในยุคหลังเมื่อ ๘๐ ปีที่ผ่านมา ตอนจัดประชามติก็กลับโนโหวตไม่กล้าเสี่ยงที่จะเปิดเปลือกนอกเอาเนื้อในกลับคืนมา (กลุ่มนี้มีวัดพันอ้น เชียงใหม่ กับวัดดอนตอง ที่แม่แรง ป่าซาง ลำพูน)

ส่วนบางกรณีเจดีย์องค์ที่มองเห็นโดยตาเนื้อซึ่งยังไม่เคยถูกครอบมาก่อน วันดีคืนดีก็ยัง (อุตส่าห์) เอาเปลือกนอกใหม่ไร้หัวนอนปลายเท้าจากไหนก็ไม่รู้มาครอบปิดตำนานเดิมเสียอีก มันอะไรกันนักหนา นานๆ ทีจะมีกรณีประทับใจเหมือนกับพระธาตุเจ้าดอยตุง ซึ่งยอมเป็นหนังหน้าไฟรายแรก

แต่เชื่อว่าตอนนี้ไม่มีใครบ่นหรือต่อว่าต่อขาน ว่าพระธาตุเจ้าดอยตุง “เปี๊ยนไป๋” อีกแล้ว